10369-2559-ลักทรัพย์นายจ้าง-ทนายความ-นาวิน-ขำแป้น

ลักทรัพย์นายจ้าง คำพิพากษาฎีกาที่ 10369/2559

คำพิพากษาศาลฎีกา

 

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา หนังสือประมวลกฎหมายอาญา point

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

มาตรา ๓๓๕

หมวด ๑ ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์

ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

หมวด ๑ ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์

 

     มาตรา ๓๓๕  ผู้ใดลักทรัพย์

    (๑) ในเวลากลางคืน

    (๒) ในที่หรือบริเวณที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัยแก่รถไฟ หรือยานพาหนะอื่นที่ประชาชนโดยสาร หรือภัยพิบัติอื่นทำนองเดียวกันหรืออาศัยโอกาสที่มีเหตุเช่นว่านั้น หรืออาศัยโอกาสที่ประชาชนกำลังตื่นกลัวภยันตรายใด ๆ

    (๓) โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ หรือโดยผ่านสิ่งเช่นว่านั้นเข้าไปด้วยประการใดๆ

    (๔) โดยเข้าทางช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า หรือเข้าทางช่องทางซึ่งผู้เป็นใจเปิดไว้ให้

    (๕) โดยแปลงตัวหรือปลอมตัวเป็นผู้อื่น มอมหน้าหรือทำด้วยประการอื่นเพื่อไม่ให้เห็นหรือจำหน้าได้

    (๖) โดยลวงว่าเป็นเจ้าพนักงาน

    (๗) โดยมีอาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป

    (๘) ในเคหสถาน สถานที่ราชการหรือสถานที่ที่จัดไว้เพื่อให้บริการสาธารณะที่ตนได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือซ่อนตัวอยู่ในสถานที่นั้นๆ

    (๙) ในสถานที่บูชาสาธารณะ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถ หรือเรือสาธารณะ สาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า หรือในยวดยานสาธารณะ

    (๑๐) ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์

    (๑๑) ที่เป็นของนายจ้างหรือที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง

    (๑๒) ที่เป็นของผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์ หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม หรือได้มาจากการกสิกรรมนั้น

    ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

    ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไปผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

    ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกล หรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาท

    ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจหรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๓๔ ก็ได้

* มาตรา ๓๓๕  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ หน้า ๖๙ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)



คำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2698/2554

1. จำเลยเป็นพนักงานขายสินค้าของบริษัท อ. จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสียหาย เมื่อวันที่ 5 และวันที่ 19 มีนาคม 2546 จำเลยอ้างต่อ จ. ผู้จัดการฝ่ายขายของผู้เสียหายว่า ร้าน ร. สั่งซื้อสินค้าของผู้เสียหายตามในเสนอราคาและต้องการสินค้าด่วน จำเลยขอรับสินค้าไปส่งเอง ผู้เสียหายจึงมอบสินค้าดังกล่าวแก่จำเลยเพื่อนำไปส่งให้แก่ร้าน ร. โดยจำเลยใช้รถยนต์กระบะของจำเลยมาบรรทุกสินค้าไป ความจริงแล้วร้าน ร. ไม่ได้สั่งซื้อสินค้าตามที่จำเลยอ้างและจำเลยไม่ได้นำสินค้าดังกล่าวไปส่งให้แก่ร้านดังกล่าวและไม่ปรากฏว่าจำเลยนำสินค้าดังกล่าวไปส่งให้แก่ลูกค้าของผู้เสียหายที่ไหน อัยการโจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 91, 334, 335, 336ทวิ
2. จำเลยให้การปฏิเสธ
3. ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335(11) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 จำเลยอุทธรณ์ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
4. คดีขึ้นสู่ศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานขายสินค้าของผู้เสียหายอ้างว่า ร้าน ร. สั่งซื้อสินค้าและต้องการด่วน จำเลยขอรับสินค้าไปส่งเองทั้งที่ความจริงร้าน ร. ไม่ได้สั่งซื้อ จำเลยไม่ได้นำสินค้าดังกล่าวไปส่งให้และไม่ปรากฏว่าจำเลยไปขายสินค้าดังกล่าวให้แก่ใคร สินค้าดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยประสงค์ต่อผลเอาสินค้าดังกล่าวของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรกแสดงว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ทรัพย์ของผู้เสียหาย ซึ่งผู้เสียหายไม่ได้อนุญาตให้จำเลยกระทำการดังกล่าวได้ แล้วจำเลยพาทรัพย์เคลื่อนที่ไปจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาทุจริตเพื่อให้ได้ทรัพย์ของผู้เสียหายดังกล่าวไป การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์
คดีนี้ จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ตาม ป.อ. มาตรา 335(11) ประกอบมาตรา 336 ทวิ (ลักทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะ) และเป็นความผิดหลายกรรมเนื่องจากจำเลยกระทำผิดกรรมแรกเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2546 และอีกกรรมหนึ่งวันที่ 19 มีนาคม 2546


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4345/2545

จำเลยเป็นลูกจ้างธนาคารโจทก์ร่วมในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วน มีหน้าที่ควบคุมดูแลงานด้านกู้เงินระยะสั้นโดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินรวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้อาศัยโอกาสในหน้าที่ของจำเลยทำเอกสารใบถอนเงินของโจทก์ร่วมระบุโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้าอันเป็นเท็จ และโอนเงินของโจทก์ร่วมเข้าบัญชีของ ส. พวกของจำเลย หลังจากนั้นก็ร่วมกับพวกเบิกถอนเงินดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ของตนกับพวก ซึ่งการที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ร่วมยอมให้มีการโอนเงินไปตามเอกสารใบถอนเงินที่จำเลยทำขึ้นนั้น มิได้ขึ้นอยู่กับข้อความในเอกสารว่าเป็นจริงหรือเท็จ แต่เป็นการโอนเงินไปเพราะเอกสารใบถอนเงินที่จำเลยได้รับมอบอำนาจให้กระทำมีรายการครบถ้วนและมีลายมือชื่อกับรหัสประจำตัวของจำเลยซึ่งหากจำเลยไม่กระทำด้วยวิธีการดังกล่าว ย่อมไม่อาจเอาเงินออกไปจากบัญชีของโจทก์ร่วมได้ ดังนั้น การที่อนุมัติให้โอนเงินออกไปจากบัญชีของโจทก์ร่วมจึงมิได้เกิดจากการที่จำเลยหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความในเอกสารอันเป็นเท็จและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ร่วม แต่เป็นกรณีที่จำเลยทำเอกสารใบถอนเงินโดยมีข้อความอันเป็นเท็จแล้วเสนอไปตามขั้นตอนเพื่อให้มีการอนุมัติโอนเงินตามเอกสารนั้น อันเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยเอาเงินของโจทก์ร่วมออกไปจากบัญชีของโจทก์ร่วมโดยทุจริตได้ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่ความผิดฐานฉ้อโกง แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10369/2559

จำเลยขายสินค้าของผู้เสียหายได้รับเงินค่าสินค้ามา แทนที่จำเลยจะรวบรวมนำส่งเงินไปฝากธนาคาร แต่จำเลยนำเงินนั้นไปเป็นของจำเลยแล้วใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้ยอดสินค้าในระบบคอมพิวเตอร์ตรงกับจำนวนเงินที่ผู้เสียหายควรได้รับมาจากการจำหน่าย #อันเป็นวิธีการที่ผู้เสียหายจะไม่ทราบว่าจำเลยไม่ได้นำส่งเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย ต่อเมื่อตรวจสอบสต๊อกสินค้าแล้วจึงจะทราบว่าจำนวนสินค้าไม่ตรงกับจำนวนเงินที่มีการจำหน่าย ดังนี้เงินที่จำเลยรับมาจากลูกค้าซึ่งได้จากการจำหน่ายสินค้า เป็นการรับเงินไว้ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของลูกจ้างของผู้เสียหาย เพียงแต่ให้จำเลยยึดถือไว้ชั่วคราวอำนาจในการครอบครองควบคุมดูแลทรัพย์สินยังเป็นของนายจ้างผู้เสียหายไม่ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยเอาเงินของผู้เสียหายไป #จึงเป็นการเอาเงินไปโดยเจตนาทุจริตเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหายที่เป็นนายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335(11) วรรคแรก มิใช่ความผิดฐานยักยอก

อาญา-มาตรา-335




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1082/2549

คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันของผู้เสียหายเข้ามาจอดที่บริเวณบ้านของจำเลยที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะดูดออกจากถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ 2 ขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้คีมตัดลวดและซีลซึ่งใช้ปิดฝาถังน้ำมันเพื่อเปิดฝาถังน้ำมันออก โดยจำเลยที่ 2 ถือถังน้ำมันเตรียมไว้รองรับน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะลักมาขายให้ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุม การที่จำเลยที่ 2 เตรียมถังน้ำมันไว้รองรับน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะลักจากรถยนต์บรรทุกน้ำมัน จำเลยที่ 2 ได้กระทำไปโดยมีเจตนาจะรับซื้อน้ำมันจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกน้ำมันเข้ามาจอดในบริเวณบ้านของตนเป็นการกระทำโดยเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการลักทรัพย์
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 80, 83, 33 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) วรรคแรก, 80 จำคุก 1 ปี คำให้การจำเลยที่ 1 ชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 9 เดือน ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 รีบคีมของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) วรรคแรก, 80, 86 จำคุก 8 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันเกิดเหตุบรรทุกน้ำมันของบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย มาจอดที่บ้านที่เกิดเหตุ ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุมจำเลยทั้งสองขณะจำเลยที่ 1 กำลังพยายามลักน้ำมันจากถังน้ำมันบนรถยนต์บรรทุกดังกล่าว คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ยุติ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษมาหรือไม่ โจทก์นำสืบโดยมีร้อยตำรวจตรีสมศักดิ์ วงศ์พรหม เบิกความว่า พยานเป็นผู้จับกุมจำเลยทั้งสอง โดยพยานเห็นรถยนต์บรรทุกน้ำมันคันที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับแล่นเลี้ยวลงไปที่ถนนข้างทางตรงไปที่บ้านของจำเลยที่ 2 พยานจึงลงจากรถไปแอบซุ่มดู เนื่องจากโดยปกติรถยนต์บรรทุกน้ำมันจะไม่จอดแวะที่ใดหากไม่ใช่สถานีบริการน้ำมัน พยานเห็นจำเลยที่ 1 ปีนรถขึ้นไปบนถังน้ำมันเพื่อเปิดฝาถังน้ำมัน โดยการใช้คีมตัดลวดและซีลซึ่งใช้ปิดฝาถังน้ำมันออก และขณะนั้นพยานพบจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุถือถังน้ำมันเดินมาจากข้างรถ เพื่อนำถังมารองรับน้ำมัน พยานจึงจับกุมจำเลยทั้งสองและแจ้งข้อหาว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 พยายามลักทรัพย์โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์ จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ป.จ.2 เห็นว่า ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวได้ความเพียงว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันของผู้เสียหายเข้ามาจอดที่บริเวณบ้านของจำเลยที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะดูดออกจากถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ 2 ขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้คีมตัดลวดและซีลซึ่งใช้ปิดฝาถังน้ำมันเพื่อเปิดฝาถังน้ำมันออก โดยจำเลยที่ 2 ถือถังน้ำมันเตรียมไว้รองรับน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะลักมาขายให้ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุม การที่จำเลยที่ 2 เตรียมถังน้ำมันไว้รองรับน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะลักจากรถยนต์บรรทุกน้ำมัน จำเลยที่ 2 ได้กระทำไปโดยมีเจตนาจะรับซื้อน้ำมันจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่อาจจะถือได้ว่าการที่จำลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกน้ำมันเข้ามาจอดในบริเวณบ้านของตนเป็นการกระทำโดยเจตนาช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการลักทรัพย์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมา พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาช่วยเหลือหรือให้สะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ก่อนหรือขณะกระทำความผิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานพยายามลักทรัพย์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้พิพากษา
พรเพชร วิชิตชลชัย
รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์
ปราโมทย์ พิพัทธ์ปราโมทย์



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2972/2563

# โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างและในเวลากลางคืน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้าง ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอก จึงพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ต่อมาก่อนพนักงานอัยการโจทก์ยื่นฎีกา ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์และศาลชั้นต้นอนุญาตจำหน่ายคดีไปแล้ว หลังจากนั้นอัยการสูงสุดอนุญาตให้พนักงานอัยการโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง กรณีเช่นนี้ ศาลฎีกาจะรับวินิจฉัยฎีกาของพนักงานอัยการโจทก์ได้หรือไม่

*ฎีกาที่ 2972/2563 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) รวม 58 กรรม และฐานลักทรัพย์ของนายจ้างในเวลากลางคืน ตามมาตรา 335 (1) (11) รวม 15 กรรม อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดินและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างตามมาตรา 335 (11) รวม 73 กรรม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 จึงพิพากษาลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ฉะนั้น เมื่อยังไม่มีคำพิพากษาศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ก็ต้องถือว่าคดีนี้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัวตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา การที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลชั้นต้นก่อนโจทก์ยื่นฎีกาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์แล้วนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) และจำหน่ายคดีไปแล้ว ดังนั้น คำพิพากษาศาลล่างก็ย่อมระงับไปในตัวไม่มีผลบังคับต่อไป กรณีไม่มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่โจทก์จะยื่นคัดค้านได้อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2562

การกระทำโดยเล็งเห็นผล หมายความว่า ผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนเท่าที่บุคคลในภาวะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้ มิใช่เพียงเล็งเห็นว่าผลนั้นอาจเกิดขึ้นได้

การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายอย่างแรง เป็นเพียงวิธีการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น รถจักรยานอาจจะล้มหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น แม้รถจักรยานของผู้เสียหายจะล้มลง ก็เป็นผลมาจากแรงกระชากกระเป๋าของจำเลยที่ 2 หาใช่จำเลยทั้งสองกระทำโดยมีเจตนาเล็งเห็นผลที่จะใช้กำลังประทุษร้ายแก่ผู้เสียหายแต่อย่างใด ทั้งผู้เสียหายก็ไม่มีบาดแผลจากการล้มลงปรากฏให้เห็น ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องว่าแรงกายภาพที่จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำนั้น ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหาย สภาพเช่นนี้จึงยังไม่พอให้ถือว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย ตามความหมายของ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (6) การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดตามมาตรา 335 (1)(7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5215/2557

จำเลยมิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย แม้จำเลยร่วมกันลักทรัพย์กับ น. ซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายก็ตาม จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) ทั้งนี้เพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของ น. จึงไม่มีผลไปถึงจำเลยด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12888/2558

จำเลยทั้งสองร่วมกันลักเงินของโจทก์ร่วมไป จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นลูกจ้างย่อมไม่อาจร่วมกันลักทรัพย์ของนายจ้างได้ แต่ก็ถือว่าร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไปผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2387/2564

จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหาย มีหน้าที่ขายรถยนต์ให้ลูกค้าของผู้เสียหายและเก็บเงินจากลูกค้าไม่ว่าจะเป็นเงินค่าจองรถ ค่าดาวน์รถกับค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายรถซึ่งได้รับจากลูกค้าที่ซื้อรถจากผู้เสียหาย เงินจำนวนต่าง ๆ ที่จำเลยรับไว้จากลูกค้า เป็นการรับเงินไว้ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ในฐานะลูกจ้างผู้เสียหาย ซึ่งมีหน้าที่ติดต่อกับลูกค้าผู้มาซื้อรถ จำเลยเพียงแต่รับเงินและยึดถือไว้ชั่วคราวก่อนจะนำส่งมอบให้ผู้เสียหายเท่านั้น อำนาจในการครอบครองควบคุมดูแลเงินดังกล่าวจึงเป็นของผู้เสียหาย เมื่อจำเลยรับเงินจากลูกค้าของผู้เสียหายรวม 7 ครั้งแล้วเอาเงินดังกล่าวไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก
________________
คดีนี้ไม่เข้ายักยอกทรัพย์เพราะ : เซลล์มีหน้าที่ขาย ไม่ได้มีหน้าที่รับเงินจากลูกค้า เงินที่ลูกค้าจ่ายมาจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัททันที จึงไม่เป็นการที่เซลล์ครอบครองเงินแทนบริษัท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7508/2562

จำเลยตะโกนเรียกชื่อ ค. หลายครั้งที่หน้าบ้านเพื่อจะขอซื้อสุรา จากนั้นจำเลยงัดหน้าต่างบ้านโดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้วลักลอบเข้าไปในยามวิกาลโดยคาดว่าไม่มีบุคคลใดอยู่บ้านถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะลักทรัพย์ผู้เสียหาย เมื่อจำเลยเข้าไปในบ้านได้แล้ว จำเลยเดินลงไปที่ชั้นล่างซึ่งเป็นบริเวณร้านขายของชำทันทีแม้จำเลยจะยังไม่ได้แตะต้องตัวทรัพย์ก็ตาม การกระทำของจำเลยถือว่าใกล้ชิดต่อผลที่จะเอาทรัพย์ไปได้ ถือว่าอยู่ในขั้นลงมือกระทำความผิดแล้วเพียงแต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะมีผู้มาพบจำเลยก่อนที่จำเลยจะลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปจำเลยมีความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืน โดยเข้าทางช่องทางซึ่งทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (4) (8) วรรคสอง ประกอบ มาตรา 336 ทวิ, 80

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 57)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 57 ปีการศึกษา 2547
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 3 ตุลาคม 2547

 

คำถาม


ข้อ 6.   นายชายหลงรักนางสาวหญิง แต่นางสาวหญิงไม่สนใจคืนวันหนึ่งนายชายเดินผ่านหน้าบ้านนางสาวหญิงเห็นนางสาวหญิงอยู่บ้านคนเดียวจึงเข้าไปหาเพื่อจะลวนลาม นางสาวหญิงตกใจร้องเรียกให้คนช่วย นายชายจึงขู่ไม่ให้ร้อง มิฉะนั้นจะฆ่าให้ตาย นางสาวหญิงกลัวจึงหยุดร้องแต่ในขณะนั้นเองสร้อยข้อมือที่นางสาวหญิงใส่อยู่ขาดตกลงบนพื้น นายชายเห็นสร้อยข้อมือของนางสาวหญิงตก จึงกัมลงหยิบแล้วหลบหนีไป
ให้วินิจฉัยว่า นายชายมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  การที่นายชายเข้าไปในบ้านของนางสาวหญิงเพื่อจะลวนลามนั้นเป็นการเข้าไปในเคหสถานของนางสาวหญิงโดยไม่มีเหตุอันควร ส่วนการขู่มิให้ร้อง มิฉะนั้นจะฆ่าให้ตายถือเป็นการขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของนายชายจึงเป็นการกระทำผิดฐานบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (3) ประกอบมาตรา 364 (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4066/2545)
และการที่นายชายขู่ไม่ให้นางสาวหญิงร้องมิฉะนั้นจะฆ่าให้ตายนั้น ยังเป็นการขู่เข็ญให้นางสาวหญิงกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิตจนนางสาวหญิงผู้ถูกข่มขืนใจจำต้องหยุดร้องซึ่งเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก แต่เนื่องจากการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายของนายชายดังกล่าวมิได้ประสงค์ต่อทรัพย์ คือสอยข้อมือของนางสาวหญิง นายชายเพิ่งมีเจตนาทุจริตเมื่อเห็นสร้อยข้อมือขาดตกลงบนพื้นอันเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลังการที่นายชายเอาสร้อยข้อมือของนางสาวหญิงไปจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (8) วรรคสอง

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 59)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 59 ปีการศึกษา 2549
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 24 กันยายน 2549

 

คำถาม


ข้อ 5.   นายแก่น นายกล้า และนายเขียววางแผนจะไปปล้นทรัพย์ที่บ้านนายรวยโดยตกลงกันว่า ให้นายแก่น เป็นผู้เข้าไปควบคุมและทําร้ายนายรวยเพื่อความสะดวกในการปล้นทรัพย์ หากขัดขืนก็ให้ฆ่านายรวยได้ คืนต่อมา ทั้งสามคนได้เข้าไปในบ้านของนายรวย นายแก่นตามหานายรวยไม่พบ เพราะนายรวยแอบไปอยู่บนหลังคาบ้าน เมื่อนายกล้าและนายเขียวเอาทรัพย์ไปจนเป็นที่พอใจแล้ว ขณะที่กําลังจะออกจากบริเวณบ้าน สุนัขของนายรวยเห่านายแก่นกับพวก นายแก่นจึงเอาอาวุธมีดที่นําติดตัวไปด้วย ฟันสุนัขของนายรวยตาย
ให้วินิจฉัยว่า นายแก่น นายกล้า และนายเขียวมีความผิดฐานใด หรือไม่


ธงคำตอบ

 แม้นายแก่น นายกล้า และนายเขียวเจตนาไปปล้นทรัพย์นายรวยก็ตาม แต่เมื่อบุคคลทั้งสามไม่ได้ใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้ายบุคคลใดในการลักทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ดังนั้น แม้จะร่วมกระทําความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไปย่อมไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 คงมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและร่วมกระทําความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเคหสถานตามมาตรา 335 (1), (7), (8) วรรคสอง และมีความผิดฐานบุกรุกตามมาตรา 365 (2), (3) ประกอบมาตรา 364
การที่นายแก่นใช้มีดฟันสุนัขของนายรวยจนตาย บุคคลทั้งสามย่อมมีความผิดฐานร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358, 83 อีกด้วย (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 375/2533)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 59)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 59 ปีการศึกษา 2549
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 24 กันยายน 2549

 

คำถาม


ข้อ 6.   นายมืดแอบเข้าไปลักโคของนายขาวจากฝูงในขณะที่นายขาวเผลอ หลังจากที่นายมืดลักโคไปได้ประมาณ 10 นาที นายขาวทราบจึงออกติดตามไปในทันที อีกสองชั่วโมงต่อมาก็ตามไปทัน นายมืดใช้อาวุธปืนยิงขู่ เพื่อไม่ให้นายขาวติดตาม โคของนายขาวตกใจเพราะเสียงปืนจึงวิ่งหนีเข้าไปในป่าบริเวณนั้น ส่วนนายมืดหลบหนีไปอีกทางหนึ่ง นายขาวตามหาโคอยู่หลายวันแต่ไม่พบ นายเหลี่ยมเพื่อนบ้านจึงหลอกนายขาวว่าตนทราบว่านายมืด นําโคไปซ่อนไว้ ณ ที่ใด หากนายขาวประสงค์จะได้โคคืน จะต้องนําเงินค่าไถ่ไปให้นายมืด 5,000 บาท ซึ่งความจริงแล้วนายเหลี่ยมไม่ทราบว่าโคอยู่ ณ ที่ใด และไม่เคยรู้จักนายมืด นายขาวหลงเชื่อจึงมอบเงินให้นายเหลี่ยมไป
ให้วินิจฉัยว่า นายมืดและนายเหลี่ยมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด หรือไม่


ธงคำตอบ

  หลังจากนายมืดลักโคของนายขาวไปแล้ว นายขาวได้ออกติดตามในทันที การลักทรัพย์จึงยังไม่ขาดตอน การที่นายมืดใช้อาวุธปืนยิงขู่เพื่อไม่ให้นายขาวติดตามเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้ายอยู่ในตัว นายมืดจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ประกอบด้วยมาตรา 335 (7) เพราะมีอาวุธปืน ต้องรับโทษตามมาตรา 339 วรรคสอง และนายมืดยังต้องรับโทษหนักขึ้นอีกกึ่งหนึ่งของความผิดดังกล่าว เพราะมีหรือใช้อาวุธปืนตามมาตรา 340 ตรี
ส่วนนายเหลี่ยมไม่มีความผิดฐานรับของโจร เพราะไม่ได้รับโคจากนายมืดหรือช่วยนายมืดในการจําหน่ายทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทําความผิด แต่มีความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 เพราะกระทําโดยทุจริตหลอกลวง นายขาวด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทําให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินของนายขาว (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 6863/2543)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 60)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 60 ปีการศึกษา 2550
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 30 กันยายน 2550

 

คำถาม


ข้อ 6.  นายแหลมทราบว่า นายชายลูกจ้างขับรถยนต์ส่งน้ำมันของบริษัทค้าน้ำมันแห่งหนึ่งชอบลักลอบเอาน้ำมันของบริษัทไปขายในราคาถูกในระหว่างนําน้ำมันไปส่งตามจุดต่าง ๆ นายแหลมจึงติดต่อขอซื้อน้ำมันจากนายชาย เมื่อนายชายนํารถยนต์บรรทุกน้ำมันมาจอดบริเวณจุดนัดพบซึ่งอยู่ในเส้นทางที่จะนําน้ำมันไปส่ง นายชายใช้คีมตัดลวดและซีลซึ่งปิดฝาน้ำมันแล้วเปิดฝาน้ำมันออก จากนั้นใช้หลอดยางดูดน้ำมันออกมาจากถังลงสู่ภาชนะที่นายแหลมเตรียมไว้ น้ำมันที่ซื้อไหลลงถังได้ไม่กี่หยดเนื่องจากในหลอดดูดมีฟองอากาศ นายเบิ้มเป็นพนักงานของบริษัทดังกล่าวได้ตามมาพบ นายชายวิ่งหลบหนีไป ส่วนนายแหลมได้ชกใบหน้าของนายเบิ้มจนปากแตกเพราะกลัวว่าจะถูกจับกุมแล้วหลบหนีไป
ให้วินิจฉัยว่า นายชายและนายแหลมมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  นายชายเป็นลูกจ้างของบริษัทมีหน้าที่ขับรถบรรทุกน้าน้ำมันไปส่งให้ลูกค้าตามจุดต่างๆ ความครอบครอง ในน้ำมันยังอยู่ที่บริษัทนายจ้าง (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 229/2510) การที่นายชายนําน้ำมันไปขาย แม้น้ำมันจะไหลลงสู่ภาชนะของนายแหลมผู้ซื้อเพียงไม่กี่หยด ก็เป็นการลักทรัพย์สําเร็จแล้ว เมื่อการลักน้ำมัน ดังกล่าวของนายชายได้ใช้คีมตัดลวดและซีลซึ่งใช้ปิดฝาน้ำมันเพื่อเปิดฝาน้ำมันออก เป็นการทําอันตรายสิ่งกีดกั้นสําหรับคุ้มครองทรัพย์ และเมื่อน้ำมันที่ลักเป็นของนายจ้างจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3), (11) วรรคสอง
นายแหลมไม่เป็นตัวการหรือผู้สนับสนุนในการลักทรัพย์ (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1082/2549) แต่มีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ดังนั้น การที่นายแหลมใช้กําลัง ประทุษร้ายนายเพิ่มเพื่อมิให้ถูกจับกุมอันเกิดจากการกระทําความผิดฐานรับของโจร การกระทําของนายแหลม ย่อมไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ คงมีความผิดฐานทําร้ายร่างกายผู้อื่นตามมาตรา 295 ด้วย

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 61)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 61 ปีการศึกษา 2551
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 22 กันยายน 2551

 

คำถาม


ข้อ 5.   นายก้างกับนายกรอบยืนดักคอยล้วงกระเป๋าผู้ที่เข้าไปพักผ่อนหย่อนใจและชมการแสดงดนตรีในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง ขณะนั้นนางสาวผุดผ่องกําลังยืนดูดนตรีกับนายกล้ามคนรัก นายก้างบอกให้นายกรอบเข้าไปกระตุกสร้อยคอของนางสาวผุดผ่องที่ห้อยออกมานอกเสื้อ นายกรอบทําท่าลังเล นายก้างจึงเข้าไปกระตุกสร้อยคอวิ่งหนีไป ส่วนนายกรอบถูกนายกล้ามจับตัวไว้ จึงร้องตะโกนเรียกให้นายก้างช่วย นายก้างจึงย้อนกลับไป ใช้อาวุธมีดที่นําติดตัวมาขู่นายกล้ามว่า หากไม่ยอมปล่อยตัวนายกรอบจะแทงให้ตาย นายกล้ามกลัวจึงปล่อยตัวนายกรอบไป
ให้วินิจฉัยว่า นายก้างและนายกรอบมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 การที่นายก้างตัดสินใจเข้าไปกระตุกสร้อยคอของนางสาวผุดผ่องตามลําพังเป็นการฉกฉวยเอาทรัพย์ไปซึ่งหน้า นายก้างจึงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ส่วนนายกรอบ มิได้มีเจตนาร่วมในการกระตุกสร้อยคอด้วย จึงไม่เป็นตัวการในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ คงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (7) เท่านั้น หลังจากนั้น นายก้างได้ย้อนกลับไปใช้อาวุธมีดขู่ นายกล้ามว่าจะแทงให้ตายหากไม่ยอมปล่อยตัวนายกรอบ จึงเป็นการขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย เพื่อให้นายกรอบพ้นจากการจับกุม โดยการขู่เข็ญเกิดจากการขอร้องของนายกรอบและยังไม่ขาดตอนจากการวิ่งราวทรัพย์ (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 600/2544) การกระทําของนายก้างและนายกรอบจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามมาตรา 339, 83 เมื่อร่วมกันกระทําความผิดตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป และกระทําโดยมีอาวุธ ต้องด้วยลักษณะที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 335 (7) นายก้างและนายกรอบ จึงต้องรับโทษตามมาตรา 339 วรรคสอง

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 64)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 64 ปีการศึกษา 2554
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 25 กันยายน 2554

 

คำถาม


ข้อ 1.   นายชัย คนไทยเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถยนต์ของสถานทูตไทยในประเทศปานากัว นายเด่นเป็นข้าราชการประจําสถานทูตไทยมีหน้าที่รับเรื่องการซ่อมยานพาหนะและกรอกข้อความในใบสั่งซ่อมรถยนต์เพื่อเสนอนายเก่งอุปทูตลงลายมือชื่อในใบสั่งซ่อมรถยนต์ นายเด่นใช้ให้นายชัยขับรถของสถานทูตไปส่งของส่วนตัวของตนที่สนามบิน นายชัยขับรถด้วยความคึกคะนอง รถเสียหลักเฉี่ยวชนต้นไม้ข้างทางได้รับความเสียหายโคมไฟหน้ารถหลุดจึงลักเก็บเอาไว้เป็นของตน นายชัยขับรถกลับมาสถานทูตและขอให้นายเด่นออกใบสั่งซ่อมรถยนต์ นายเด่นเกรงว่าผู้บังคับบัญชาจะรู้ว่าตนใช้ให้นายชัยนำรถราชการไปใช้ส่วนตัวจนรถได้รับความเสียหาย นายเด่นจึงนําใบสั่งซ่อมรถยนต์ที่ตนรับผิดชอบมากรอกข้อความว่า รถเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ราชการแล้วลงลายมือชื่อนายเก่งปลอมในใบสั่งซ่อมรถยนต์เสียเอง แต่ยังไม่ทันได้มอบให้นายชัย นายเก่งทราบเรื่องทั้งหมดเสียก่อน ต่อมานายชัย นายเด่นจึงถูกส่งตัวกลับมาประเทศไทย และนายเก่งเดินทางกลับประเทศไทย แล้วแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีแก่นายชัยและนายเด่น
ให้วินิจฉัยว่า นายชัยและนายเด่นมีความผิดฐานใด และต้องรับโทษในราชอาณาจักรหรือไม่


ธงคำตอบ

  นายชัยคนไทย เป็นลูกจ้างไม่ได้เป็นเจ้าพนักงาน ขับรถยนต์ของสถานทูตไทยชนต้นไม้ ทําให้รถยนต์ได้รับความเสียหายและลักเอาโคมไฟหน้ารถไปเป็นของตนนั้น การกระทําของนายชัยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์เบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างตามมาตรา 335 (11) นอกราชอาณาจักร และนายเก่งอุปทูตคนไทยเป็นผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ นายชัยต้องรับโทษในราชอาณาจักร ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (ก) และวรรคสอง (8)
นายเด่นเป็นข้าราชการสถานทูตไทยในประเทศปานากัว จึงเป็นเจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยมีหน้าที่ทําเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารใบสั่งซ่อมรถยนต์ เพื่อเสนอนายเก่งอุปทูตลงลายมือชื่อในใบสั่งซ่อมรถยนต์ ใด้กระทําการกรอกข้อความลงในใบสั่งซ่อมรถยนต์อันเป็นเท็จและปลอมลายมือชื่อของนายเก่งอุปทูต การกระทําของนายเด่นจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทําเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารกระทําการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 635/2507) และมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตามมาตรา 157 ด้วย (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 265/2543) นายเด่นเป็นเจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยกระทําความผิดดังกล่าวนอกราชอาณาจักร อันเป็นความผิดที่ระบุไว้ในมาตรา 9 นายเด่นจึงต้องรับโทษในราชอาณาจักร
นอกจากนั้น นายเด่นยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 ฐานปลอมเอกสารราชการ ซึ่งความผิดดังกล่าวระบุไว้ในมาตรา 8 วรรคสอง (2) ซึ่งนายเก่งผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษแล้ว ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (ก) นายเด่นจึงต้องรับโทษตามมาตรา 265 ในราชอาณาจักรด้วย

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 66)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 66 ปีการศึกษา 2556
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 29 กันยายน 2556

 

คำถาม


ข้อ 3.   นายมั่นขับรถจักรยานยนต์ให้นายคงนั่งซ้อนท้ายแล่นไปตามถนนเพื่อวิ่งราวทรัพย์ นายคงกระชากกระเป๋าของนางสาวบีได้ นายมั่นขับรถจักรยานยนต์หลบหนี นายเอเห็นเหตุการณ์จึงขับรถยนต์ติดตามรถจักรยานยนต์ของนายมั่นไปเพื่อจับกุม นายคงเห็นว่านายเอขับรถยนต์ตามมาจึงชักอาวุธปืนยิงไปที่ นายเอ 1 นัด กระสุนไม่ถูกผู้ใด และนายมั่นไม่ทราบว่านายคงมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย
ให้วินิจฉัยว่า นายมั่นและนายคงมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  นายมั่นและนายคงเป็นตัวการร่วมกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โดยการแบ่งหน้าที่กันทําในการกระชากกระเป๋าของนางสาวบี จึงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามมาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เมื่อมีการใช้รถจักรยานยนต์เพื่อสะดวกแก่การกระทําผิด การพาทรัพย์นั้น
ไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จึงต้องระวางโทษหนักกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้อีกกึ่งหนึ่งตามมาตรา 336 ทวิ
นายคงชักปืนยิงนายเอเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จึงเป็นลักทรัพย์โดยการใช้กําลังประทุษร้าย เพื่อให้พ้นจากการจับกุม นายคงจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ เมื่อเป็นการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (7) จึงมีความผิด ตามมาตรา 339 วรรคสอง และเป็นการชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืน จึงต้องระวางโทษหนักกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้อีกกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 340 ตรี เมื่อนายคงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ด้วยอีก ส่วนนายมั่นไม่มีการกระทําร่วมกันและไม่มีเจตนาร่วมกันในการกระทําความผิดดังกล่าวกับนายคง นายมั่นจึงไม่ เป็นตัวการตามมาตรา 83 ร่วมกับนายคงในความผิดในส่วนนี้ด้วย
นายคงใช้อาวุธปืนยิงนายเอเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทําความผิดอื่น และได้ลงมือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทําไม่บรรลุผล นายคงจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (7) ประกอบมาตรา 80 แต่นายคงกระทําผิดฐานนี้ตามลําพัง นายมั่นไม่ทราบว่านายคงมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย และไม่ได้คบคิดกับนายคงมาก่อน และไม่มีการกระทําร่วมกับนายคง จึงไม่เป็นตัวการตามมาตรา 83 นายมั่นไม่มีความผิดฐานนี้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 896/2545)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 67)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 67 ปีการศึกษา 2557
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 28 กันยายน 2557

 

คำถาม


ข้อ 6.   นายคึกกจอดรถยนต์ทิ้งไว้ข้างถนนโดยเปิดประตูรถทิ้งไว้ แล้วเดินไปซื้อของฝั่งตรงข้ามห่างจากรถยนต์ 30 เมตร โดยหันหน้าไปทางรถยนต์ จึงเห็นนายแสบคว้าเอากล้องถ่ายรูปจากด้านที่เปิดประตูรถทิ้งไว้ นายคึกร้องว่า “ขโมย ๆ" แล้ววิ่งข้ามถนนตามไป นายเก่งซึ่งอยู่บริเวณนั้น เข้าไปคว้าข้อมือของนายแสบเพื่อจะจับตัวไว้ แต่นายแสบปัดมือนายเก่งแล้ววิ่งหนีไปโดยไม่ดูให้ดีชนรถจักรยานยนต์ของนายดีที่จอดไว้ล้มไป ไฟหน้ารถแตก ส่วนนายคึกถูกรถยนต์ที่นายเฮงขับมาชนตายในขณะวิ่งข้ามถนนเพราะนายคึกวิ่งตัดหน้าอย่างกระทันหัน
ให้วินิจฉัยว่า นายแสบและนายเฮงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดบ้าง


ธงคำตอบ

  การที่นายแสบเอากล้องถ่ายรูปไปต่อหน้านายคึก แต่อยู่ห่างถึง 30 เมตร จึงไกลเกินกว่าที่จะปกป้องทรัพย์ของตนได้ ถือว่ามีได้ฉกฉวยเอาซึ่งหน้า จึงไม่มีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 10344/2550) คงมีลักษณะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตามมาตรา 334 และการคว้า เอากล้องถ่ายรูปจากในรถด้านที่เปิดประตูรถทิ้งไว้ ย่อมมิใช่เป็นการกระทําโดยผ่านสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ ตามมาตรา 335 (3) วรรคแรก เมื่อนายแสบลักทรัพย์ได้แล้ว ขณะที่พาทรัพย์หนี ได้ปัดมือนายเก่ง เป็นการใช้กําลังประทุษร้ายเพื่อมิให้นายเก่งจับกุมในขณะที่ยังไม่ขาดตอนจากการลักทรัพย์ นายแสบจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามมาตรา 339 วรรคแรก
ส่วนที่นายแสบวิ่งชนรถจักรยานยนต์ของนายดีล้ม ไฟหน้ารถแตกเสียหาย เป็นการกระทําโดยไม่เจตนา และแม้จะฟังว่าเป็นการกระทําโดยประมาทก็ไม่เป็นความผิดเพราะการทําให้เสียทรัพย์โดยประมาทไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด
สำหรับความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 นั้น ต้องได้ความว่า ความตายเกิดจากความประมาทโดยตรงของนายเฮง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเฮงไม่อาจใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์ได้ เพราะนายคึกวิ่งตัดหน้ารถยนต์อย่างกะทันหัน ความตายของนายคึกจึงมิได้เกิดจากความประมาทของนายเฮง ไม่ว่านายเฮง จะมีหรือไม่มีใบอนุญาตขับขี่ก็ตาม ความตายของนายคึก ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เช่นเดิม นายเฮงจึงไม่มีความผิดฐานนี้ (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 294/2501 และ 988/2516)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 70)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2560
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 24 กันยายน 2560

 

คำถาม


ข้อ 5.   นายค่อมหลงรักเด็กหญิงติ๋มอายุ 12 ปี 11 เดือนซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้กัน นายค่อมเข้าใจว่าเด็กหญิงติ๋ม อายุ 16 ปี เพราะมีรูปร่างอวบและตัวใหญ่ เช้าวันหนึ่งนายค่อมโทรศัพท์ชวนให้เด็กหญิงติ๋มมารับประทานผลไม้ที่บ้าน โดยตั้งใจจะล่วงเกินทางเพศ เมื่อเด็กหญิงติ๋มเข้ามาในบ้านแล้ว ยังไม่ทันที่จะส่วงเกิน นางสัมมารดาของเด็กหญิงติ๋มมาตามให้กลับบ้าน ขณะที่เด็กหญิงติ๋มเดินออกจากบ้านหันหลังให้ นายค่อมอาศัยโอกาศที่เด็กหญิงติ๋มเผลอกระตุกเอาสร้อยเส้นเล็ก ๆ ที่คอไป แล้วนําไปซ่อนไว้ที่หัวเตียง ตอนเย็นนางส้มไปทวงสร้อยคืนเพราะเชื่อว่านายค่อมเป็นผู้เอาไป นายค่อมปฏิเสธ ชกต่อยและเตะนางส้มจนปากแตกฟันหัก 1 ซี่
ให้วินิจฉัยว่า นายค่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดบ้าง


ธงคำตอบ

  การที่นายค่อมชวนเด็กหญิงติ๋มไปที่บ้านของตนเพื่อล่วงเกินทางเพศ การชวนเป็นการพรากเด็กหญิงติ๋มไปจากนางส้มมารดาผู้ดูแลแล้ว และเป็นการกระทําโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพราะเพื่อการอนาจาร นายค่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ทั้งจะอ้างความเข้าใจผิดในอายุของเด็กหญิงติ๋มไม่ได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 321/1 ซึ่งบัญญัติว่า การกระทําความผิดตามมาตรา 317
หากเป็นการกระทําต่อเด็กอายุไม่เกินสิบสามปี ห้ามอ้างความไม่รู้อายุของเด็กเพื่อให้พ้นจากความผิดนั้น
การฉกฉวยเอาซึ่งหน้าที่จะเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์นั้น หมายถึง กิริยาที่หยิบหรือจับเอาทรัพย์ไปโดยเร็วรวมเป็นการกระทําอันเดียวกับการเอาไป และขณะที่ถูกเอาทรัพย์ไป ผู้นั้นรู้สึกตัวหรือเห็นการฉกฉวยเอาทรัพย์นั้น (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 919/2503, 10976/2554) เมื่อนายค่อมกระตุกสร้อยคอ ไปจากเด็กหญิงติ๋มในขณะเผลอ จึงไม่เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ดังนั้น นายคอมจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 แต่ไม่เป็นการลักทรัพย์ในเคหสถานตามมาตรา 335 วรรคแรก (8) เพราะกระทําในเคหสถานของตนเอง มิได้เข้าไปในเคหสถานโดยไม่ได้รับอนุญาต
การที่นายค่อมทําร้ายร่างกายนางส้มแม้จะกระทําเพื่อยึดถือเอาทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ นายค่อมไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 เพราะการทําร้ายร่างกายขาดตอนไปจากความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว นายค่อมจึงมีความผิดฐานทําร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายตามมาตรา 296 ประกอบกับมาตรา 289 (7) เพราะเป็นการทําร้ายเพื่อจะเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทําความผิด

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 72)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 29 กันยายน 2562

 

คำถาม


ข้อ 5.  ในช่วงเดือนที่ผ่านมามีฝนตกหนักชาวบ้านต้องขนของออกจากบ้านไปปลูกกระโจมพักอาศัยอยู่บนเนินสูง นายขาวเป็นชาวบ้านคนหนึ่งที่ต้องหนีน้ำและกระทําเช่นนั้นโดยนํากระถางต้นไม้แสดงแนวเขตที่ตนอยู่ไว้ คืนวันหนึ่ง นายแสดได้แอบเข้าไปในกระโจมของนายขาวแล้ววางยาจนนายขาวสลบ นายแสดเอาสร้อยคอทองคําของนายขาวที่อยู่ในกระโจมและเป็ดสองตัวของนายขาวที่เลี้ยงไว้ข้างกระโจมไป ต่อมาอีกหกเดือนเป็ดสองตัวออกไข่มาหลายฟอง นายแสดได้นําไข่เป็ดไปให้นายเทาที่เป็นเพื่อนรักโดยบอกด้วยว่าเป็นไข่เป็ดที่ได้มาจากเป็ดที่นายแสดขโมยมา
ให้วินิจฉัยว่า นายแสดและนายเทามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด หรือไม่


ธงคำตอบ

 กระโจมที่นายขาวปลูกใช้เป็นที่อยู่อาศัยรวมทั้งบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (4) การที่นายแสดเข้าไปลักสร้อยคอทองคําและเป็ดของนายขาวในเคหสถานเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร นายแสดจึงมีความผิดฐานบุกรุก ตามมาตรา 364 และเมื่อการบุกรุกกระทําในเวลากลางคืน นายแสดต้องรับโทษหนักขึ้น ตามมาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 364
นายแสดลักสร้อยคอทองคําและลักเป็ดของนายขาว โดยใช้วิธีวางยาจนนายขาวสลบเป็นการใช้กําลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (6) เป็นเหตุให้นายขาวได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ นายแสดจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตามมาตรา 339 โดยกระทําในเวลากลางคืน และในเคหสถาน ต้องด้วยลักษณะตามมาตรา 335 (1) และมาตรา 335 (8) ต้องรับโทษตามมาตรา 339 วรรคสอง เมื่อการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้นายขาวได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ นายแสดย่อมมีความผิดและต้องรับโทษ ตามมาตรา 339 วรรคสาม
สําหรับเป็ดสองตัวที่นายแสดลักมาจากนายขาวเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทําความผิดฐานลักทรัพย์ ย่อมเป็นของโจร ส่วนไข่ของเป็ดดังกล่าวเป็นดอกผลตามธรรมชาติที่เกิดจากตัวเป็ดในภายหลัง ย่อมไม่ทําให้ไข่เป็ด เป็นของโจรไปด้วย ดังนั้น นายเทาจึงไม่มีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

มาตรา ๓๕๒

หมวด ๕ ความผิดฐานยักยอก

ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

หมวด ๕ ความผิดฐานยักยอก

 

     มาตรา ๓๕๒  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

* มาตรา ๓๕๒  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๒ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

คำพิพากษาฎีกาที่ 10369/2559 ลักทรัพย์นายจ้าง (อาญา)
คำพิพากษาฎีกาที่ 10369/2559 ลักทรัพย์นายจ้าง (อาญา)

จำเลยขายสินค้าของผู้เสียหายได้รับเงินค่าสินค้ามา แทนที่จำเลยจะรวบรวมนำส่งเงินไปฝากธนาคาร แต่จำเลยนำเงินนั้นไปเป็นของจำเลยแล้วใช้วิธีการเปลี่ยนแปลงรายการสินค้าในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้ยอดสินค้าในระบบคอมพิวเตอร์ตรงกับจำนวนเงินที่ผู้เสียหายควรได้รับมาจากการจำหน่าย อันเป็นวิธีการที่ผู้เสียหายจะไม่ทราบว่าจำเลยไม่ได้นำส่งเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย ต่อเมื่อตรวจสอบสต๊อกสินค้าแล้วจึงจะทราบว่าจำนวนสินค้าไม่ตรงกับจำนวนเงินที่มีการจำหน่าย ดังนี้เงินที่จำเลยรับมาจากลูกค้าซึ่งได้จากการจำหน่ายสินค้า เป็นการรับเงินไว้ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะของลูกจ้างของผู้เสียหาย เพียงแต่ให้จำเลยยึดถือไว้ชั่วคราวอำนาจในการครอบครองควบคุมดูแลทรัพย์สินยังเป็นของนายจ้างผู้เสียหายไม่ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยเอาเงินของผู้เสียหายไป จึงเป็นการเอาเงินไปโดยเจตนาทุจริตเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ของผู้เสียหายที่เป็นนายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335(11) วรรคแรก มิใช่ความผิดฐานยักยอก

สารบัญ ประมวลกฎหมายอาญา

0 0 votes
Article Rating
(Visited 10,185 times, 1 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments