หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เปลี่ยนคำขอโทษเป็นเงินสด

ข้อสอบเก่า, ภาค 2, ประมวลกฎหมายอาญา, เรียนเนติบัณฑิต, ภาค 3, ประมวลกฎหมาย, กฎหมายอาญา2

 

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา หนังสือประมวลกฎหมายอาญา point

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๑ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง

มาตรา ๓๒๖

หมวด ๓ ความผิดฐานหมิ่นประมาท

ลักษณะ ๑๑ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง

หมวด ๓ ความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

     มาตรา ๓๒๖  ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๒๖  แก้ไขโดย มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๕๓๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๓ หน้า ๑ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕)



คำอธิบาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326


ด่าว่า "รัฐบาลฆาตกร" ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะ รัฐบาล ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมาย
มีพิธีการรายการ ถกไม่เถียง และ คุณศรีสุวรรณ แย้งว่า
รัฐบาลย่อมหมายความรวมถึง คณะบุคคลหรือคณะรัฐมนตรีด้วย
ดังนั้น รัฐมนตรี ผู้หนึ่งผู้ใด ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย
เรื่องนี้ ผมได้อธิบายในรายการไว้แล้วว่า
ความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องเฉพาะเจาะจงตัวบุคคล อย่างชัดเจน หรืออย่างน้อย ก็ต้องชี้ได้ว่า คนพูดหมายถึงใคร
ถ้าไม่ได้เจาะจงว่าผู้ใดผู้หนึ่ง แม้จะมีบุคคลในองค์กรนั้น รู้สึกว่าได้รับความเสียหาย หรือถูกพาดพิง ก็ ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
เช่น ด่าว่า ตำรวจนายหนึ่ง ในกองปราบปราม
ตำรวจในกองปราบ คนใดคนหนึ่ง ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
หรือกล่าวว่า หมอชายที่โรงพยาบาลศิริราช ชั่วช้า โดยไม่ได้เจาะจง
หมอชาย คนใดคนหนึ่งก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย
เมื่อเทียบกับคำว่า รัฐบาล ที่ไม่มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย คณะรัฐมนตรี ทั้งหมด หรือ คนใดคนหนึ่งก็ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย

ทนายความเกิดผล แก้วเกิด
31 กรกฎาคม 2564 19:12 น.

ความแตกต่าง ระหว่าง ดูหมิ่น(393) กับ หมิ่นประมาท(326)
=================================
ดูหมิ่น (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393)
-------------------------------------------
1. การดูถูก ดูแคลน เหยียดหยาม ทำให้อับอาย การด่า การสบประมาท
2. ผู้กระทำเป็นผู้ดูหมิ่นผู้เสียหาย
3. ไม่จำต้องกล่าวต่อบุคคลที่สาม
4. การด่าผู้อื่นไม่ทำให้ผู้ถูกด่าเสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่นก็ได้ ตรงกันข้าม กลับทำให้ผู้ด่านั้นเองเสียชื่อเสียงที่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่เป็นผู้ดี เป็นที่ดูหมิ่นของผู้ฟังด้วยซ้ำไป ดังนั้นการดูหมิ่นจึงอาจไม่ถึงหมิ่นประมาท
5. เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้
----------------------------------------------
หมิ่นประมาท (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326)
----------------------------------------------
1. การใส่ความ ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
2. บุคคลที่สามเป็นผู้ดูหมิ่น หรือเกลียดชังผู้เสียหาย
3. ต้องกล่าวต่อบุคคลที่สาม
4. การหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำหยาบคายอาจเป็นการดูหมิ่นไปในตัวได้ จึงเป็นกรรมเดียวผิดฐานดูหมิ่นบทหนึ่งฐานหมิ่นประมาทอีกบทหนึ่ง แต่การหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำสุภาพย่อมไม่เป็นการดูหมิ่น
5. เป็นความผิดอันยอมความได้


คำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734/2503

มารดาจำเลยถูกขว้างด้วยก้อนอิฐ จำเลยไม่เห็นคนขว้าง แต่ได้กล่าวต่อหน้าคนหลายคนว่า "ไม่มีใครนอกจากไอ้แก้ว (โจทก์) อ้ายชาติหมา อ้ายฉิบหาย" ดังนี้ ตามพฤติการณ์แสดงว่า เป็นแต่คาดคะเนไม่มีเจตนาใส่ความโจทก์ ไม่ผิดตามมาตรา 326


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2530

คำพิพากษาย่อสั้น
การที่จำเลยให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการซึ่งผู้บังคับบัญชาของจำเลยแต่งตั้งขึ้นเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้กล่าวหา ส. ว่าประพฤติและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกล่าวว่า จำเลยได้ยิน ข่าวเล่าลือว่า ส. กับโจทก์เดินด้วยกันนอกโรงเรียนและมีความสัมพันธ์ถึงขั้นได้เสียกับโจทก์นั้น เป็นการกล่าวในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปให้ถ้อยคำเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอันเป็นส่วนรวม และเป็นการกล่าวไปตามข่าวลือ ไม่ยืนยันว่าเป็นความจริง และไม่ตั้งใจให้ผู้ฟังเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมตามข่าวลือนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326.
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่าการกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่จำเลยกล่าวว่าเห็นนายเสนาะ จันทร์สุริยา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมกุฎกษัตริย์อยู่ในห้องผู้อำนวยการโรงเรียนกับโจทก์ตามลำพังในเวลาเช้า เย็น และหลังเวลาราชการบ่อย ๆ ...จำเลยได้ยินข่าวเล่าลือกันว่า นายเสนาะ จันทร์สุริยา กับโจทก์เดินด้วยกันนอกโรงเรียน และเคยได้ยินครูและนักเรียนพูดกันว่า นายเสนาะ จันทร์สุริยา มีความสัมพันธ์ถึงขึ้นได้เสียกับโจทก์นั้น เป็นการกล่าวในการให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการที่อธิบดีกรมสามัญศึกษาแต่งตั้งขึ้นเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่มีกล่าวหาว่านายเสนาะ จันทร์สุริยา ประพฤติและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์เป็นกรณีที่จำเลยกล่าวในฐานะที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาถูกถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปให้ถ้อยคำเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอันเป็นส่วนรวม ทั้งข้อความที่จำเลยกล่าวเป็นการกล่าวตามข่าวลือไม่ยืนยันว่าเป็นความจริง ส่อแสดงว่าจำเลยไม่ได้ตั้งใจจะให้ผู้ฟังเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมดังข่าวลือนั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ตามฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.
ผู้พิพากษา
คำนึง อุไรรัตน์
ดุสิต วราโห
สวัสดิ์ รอดเจริญ



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551

การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด
ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใดบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง มิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2563

*จำเลยเขียนข้อความซึ่งเป็นบทกลอนลงในโปรแกรม Facebook พร้อมภาพประกอบ แต่ไม่มีข้อความตอนใดระบุถึงผู้เสียหายหรือทำให้เข้าใจว่าหมายถึงผู้เสียหาย อีกทั้งเมื่อผู้เสียหายไปสอบถามจากเพื่อนร่วมงานของจำเลยว่าบุคคลที่จำเลยลงข้อความพร้อมภาพนั้น หมายถึง ผู้เสียหายใช่หรือไม่ เพื่อนของจำเลยตอบว่า “แล้วแต่จะคิด” กรณีนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าหมายถึงผู้เสียหายหรือไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ฎีกาที่ 2673/2563
การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความ เป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่า หมายถึง บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

ข้อความซึ่งเป็นบทกลอนที่จำเลยลงในโปรแกรม Facebook พร้อมภาพไม่มีข้อความตอนใดระบุถึงผู้เสียหายโดยตรงหรือทำให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงผู้เสียหาย ประกอบกับได้ความจาก ป. พยานโจทก์ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน กับผู้เสียหายและจำเลยว่าผู้เสียหายมาสอบถามพยานว่าบุคคลที่จําเลยลงข้อความพร้อมภาพนั้นหมายถึงผู้เสียหายใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “แล้วแต่จะคิด” อันเป็นการไม่ยืนยันข้อเท็จจริงว่าหมายถึงผู้เสียหายหรือไม่ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายนำข้อความพร้อมภาพที่จำเลยลงในโปรแกรม Facebook พร้อมข้อความและภาพอื่น ๆ มารวมเข้าด้วยกันแล้วสรุปว่าเป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหายนั้น จึงเป็นเพียงความเข้าใจของผู้เสียหาย หาใช่เป็นความเข้าใจของบุคคลทั่วไปไม่ บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความพร้อมภาพและข้อความพร้อมภาพอื่น ๆ ย่อมไม่ทราบหรือเข้าใจได้ว่าข้อความพร้อมภาพทั้งหมดที่จำเลยลงในโปรแกรม Facebook มานั้นหมายความถึงผู้ใด หากต้องการทราบความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วจะเป็นผู้เสียหายจริงหรือไม่และในกรณีที่สืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงผู้เสียหาย ก็เป็นการทราบจากการที่บุคคลนั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง ดังเช่นที่ ป. เบิกความว่าพยานขอนัดจำเลยมาเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นแก่จำเลย หาได้ทราบโดยอาศัยข้อความที่จำเลยลงในโปรแกรม Facebook แต่เพียงลำพังไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทหรือพยายามหมิ่นประมาทผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2180/2531

ฎีกาที่ 2180/2531 และ ฎีกาที่ 1201/2505
จำเลยซึ่งเป็นตำรวจไปจับแผ่นกระดาษจดหมายเลขสลากกินรวบที่นางพีเป็นผู้ขาย ก่อนจับได้ก็มีการยื้อแย่งกันและจับได้บนบ้านของโจทก์ จำเลยพูดกับโจทก์ว่า เดี๋ยวจับเป็นอันธพาลทั้งพ่อทั้งลูก (โจทก์ที่2 เป็นบุตรสาวของโจทก์ที่1) ดังนี้ ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานใส่ความหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เพราะจำเลยมิได้กล่าวว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลอันธพาล เป็นคำขู่เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสองเข้าขัดขวางช่วยเหลือผู้กระทำผิดเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2505

ฎีกาที่ 2180/2531 และ ฎีกาที่ 1201/2505
จำเลยซึ่งเป็นตำรวจไปจับแผ่นกระดาษจดหมายเลขสลากกินรวบที่นางพีเป็นผู้ขาย ก่อนจับได้ก็มีการยื้อแย่งกันและจับได้บนบ้านของโจทก์ จำเลยพูดกับโจทก์ว่า เดี๋ยวจับเป็นอันธพาลทั้งพ่อทั้งลูก (โจทก์ที่2 เป็นบุตรสาวของโจทก์ที่1) ดังนี้ ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานใส่ความหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา326 เพราะจำเลยมิได้กล่าวว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลอันธพาล เป็นคำขู่เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสองเข้าขัดขวางช่วยเหลือผู้กระทำผิดเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3493/2562

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2562)

ความผิดฐานหมิ่นประมาท ถึงแม้ไม่ได้ระบุชื่อ แต่คนทั่วไปรู้ว่าหมายถึงใคร หากถ้อยคำนั้นเป็นการใส่ความคนอื่น ก็ผิดฐานหมิ่นประมาทได้
---------------------
แม้ข้อความที่ลงพิมพ์ดังกล่าวจะมิได้ระบุชื่อหรือชื่อ สกุลของโจทก์หรือชื่อร้านค้าของโจทก์ แต่เมื่อร้านขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้าม บริษัท ค. มีร้านค้าของโจทก์เพียงร้านเดียว การที่หนังสือพิมพ์ ท. ลงพิมพ์ข้อความว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ตรงข้ามบริษัท ค. ขายอาหารบังหน้า แต่เบื้องหลังปล่อยยาบ้า บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความดังกล่าวย่อมทราบหรือเข้าใจได้ทันที่ว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวของโจทก์จำหน่ายยาเสพติดซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ท. ดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามทำให้โจทก์เสื่อมเสีย ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และมิไช่เป็น การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความ โดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์
--------------------
คำพิพากษาย่อสั้น
พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ผู้พิมพ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ "ผู้โฆษณา" หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า "บรรณาธิการ" หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดของบุคคลผู้เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รับผิดชอบในการพิมพ์ และรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ ท. จึงต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ท. มิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เมื่อกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณามีหน้าที่กระทำการดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบ คัดเลือก หรือควบคุมข่าวที่ลงพิมพ์ โดยปล่อยให้มีการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ ท. ที่ไม่เป็นความจริง กระทบสิทธิและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการไม่รักษาจริยธรรมของสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำการโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคท้าย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและต้องรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์ หากข้อความนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 83
ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ป.อ. มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ดังนั้น แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์ โดยมิได้มีคำขอให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อเป็นอำนาจของศาล การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ ท. 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 327 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันลงโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบมาตรา 83 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 คำขออื่นให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ประกอบอาชีพค้าขาย โดยใช้บ้านของโจทก์ ซึ่งเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวด้านหน้าเป็นร้านค้าขายก๋วยเตี๋ยว อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าเบ็ดเตล็ด เปิดร้านตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกา ถึง 22 นาฬิกา ด้านหลังใช้พักอาศัย บ้านของโจทก์ตั้งอยู่ริมถนนโพธาราม - ช่องพราน ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวัน "ไทยรัฐ" โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับปีที่ 66 ฉบับที่ 20986 วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2558 คอลัมน์ห้องร้องทุกข์หน้าที่ 10 ย่อหน้าสุดท้ายลงข้อความว่า "สุดท้าย ที่หมู่ 1 ต.ท่าชุมพล อ.โพธาราม จังหวัดราชบุรี มีร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น เป็นบริษัททำรั้วสำเร็จรูป ขายอาหารบังหน้า แต่เบื้องหลังปล่อยยาบ้า กลางคืนลูกค้าเพียบ! แจ้ง! สภ.โพธาราม ก็เฉย ฝาก! คสช. ลงพื้นที่ปราบหน่อย" ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ได้มีเจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นร้านค้าของโจทก์ดังกล่าว ผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ภายหลังจำเลยที่ 1 ได้ลงแก้ข่าวให้แก่โจทก์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะมีความผิดอาญา หากข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อร้านค้าของโจทก์ถูกตรวจค้นจากการที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงข้อความดังกล่าวในคอลัมน์ห้องร้องทุกข์ที่ระบุเพียงหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อ ไม่ปรากฏชื่อผู้รับผิดชอบคอลัมน์ โจทก์จึงโทรศัพท์ไปยังหมายเลขที่ระบุในคอลัมน์ห้องร้องทุกข์เพื่อสอบถามถึงชื่อผู้แจ้งข่าวและผู้เขียนบทความ แต่ก็ถูกปฏิเสธไม่ได้รับคำตอบ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ผู้พิมพ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ "ผู้โฆษณา" หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า "บรรณาธิการ" หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหา ข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์ โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดของบุคคลผู้เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รับผิดชอบในการพิมพ์ และรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจึงต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ที่จำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ โดยมีหน้าที่เพียงติดต่อกับบุคคลหรือองค์กรภายนอก เข้าร่วมประชุม เข้าร่วมสัมมนา รับรางวัลในฐานะตัวแทนของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไม่มีหน้าที่ตรวจข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ การดูแลข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นหน้าที่บรรณาธิการข่าวแต่ละแผนกเป็นผู้ดูแลนั้น ก็ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีเพียงจำเลยที่ 2 ที่มีชื่อเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาแต่ผู้เดียว เมื่อกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณามีหน้าที่กระทำการดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบ คัดเลือก หรือควบคุมข่าวที่ลงพิมพ์ โดยปล่อยให้มีการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ไม่เป็นความจริง กระทบสิทธิและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการไม่รักษาจริยธรรมของสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำการโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคท้าย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและต้องรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์ หากข้อความนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาร่วมกับผู้เขียนข้อความในการกระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ และของจำเลยที่ 2 อีกหลายข้อ แต่เมื่อคู่ความได้สืบพยานมาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และของจำเลยที่ 2 ไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า บ้านของโจทก์ที่พักอาศัยอยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ด้านหน้าเปิดเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยว อาหาร เครื่องดื่ม ด้านหลังใช้พักอาศัย ร้านที่ขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้ามบริษัทดังกล่าวมีร้านเดียวคือร้านของโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่า ร้านขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด มีร้านอื่นนอกจากร้านของโจทก์ด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ ดังนั้น แม้ข้อความที่ลงพิมพ์ดังกล่าวจะมิได้ระบุชื่อหรือชื่อสกุลของโจทก์ หรือชื่อร้านค้าของโจทก์ แต่เมื่อร้านขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด มีร้านค้าของโจทก์เพียงร้านเดียว การที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงพิมพ์ข้อความว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น ขายอาหารบังหน้า แต่เบื้องหลังปล่อยยาบ้า บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความดังกล่าวย่อมทราบหรือเข้าใจได้ทันทีว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวของโจทก์จำหน่ายยาเสพติดซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ดังนั้น แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์ โดยมิได้มีคำขอให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อเป็นอำนาจของศาล การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ภายหลังจากที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการได้ลงพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทโจทก์แล้วปรากฏว่าได้มีการลงแก้ข่าวให้แก่โจทก์ในภายหลัง นับว่าเป็นการพยายามแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้แก่โจทก์ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบมาตรา 83 ส่วนโทษให้บังคับคดีจำเลยที่ 2 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

ผู้พิพากษา
ชัยเจริญ ดุษฎีพร
วรงค์พร จิระภาค
ชูชีพ ปิณฑะสิริ





ข้อสังเกต


สื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก บางท่านใช้งานอย่างสนุกสนายจนลืมไปว่า มีกฎหมายคุ้มครองการใช้งานอยู่หลายประการ สิ่งพื้นฐานที่ทุกคนควรรู้ และ สำนึกในความรับผิดชอบและใช้งานอย่างมีขอบเขต

  กฎหมายที่เกี่ยวข้องมากที่สุดคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ,มาตรา 328 และ มาตรา 393

แต่หากผู้เสียหายไปแจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาการกลั่นแกล้งแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ก็อาจจะถูกดำเนินคดีกลับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ได้เช่นกัน


ประมวลกฎหมายอาญา-มาตรา-326




 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 58)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 58 ปีการศึกษา 2548
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 25 กันยายน 2548

 

คำถาม


ข้อ 6.   นายเอกชวนนางสาวสมร อายุ 16 ปี ซึ่งเป็นคนรักไปเที่ยวชายทะเลด้วยกัน โดยนายเอกมิได้ขออนุญาตนายโท บิดาของนางสาวสมร จนกระทั่งสองยามจึงพานางสาวสมรกลับบ้าน นายโทโกรธจึงต่อว่านายเอกว่า เป็นผู้ชายที่ชอบหลอกลวงผู้หญิงไปกระทำอนาจาร เป็นเสือผู้หญิงไว้ใจไม่ได้ ต่อหน้านางสาวสมรและนางแต๋ว เด็กรับใช้ โดยทราบดีว่าข้อความที่ตนกล่าวไม่เป็นความจริง นายเอกรู้สึกอายจึงนอนคิดทบทวนแล้วตัดสินใจที่จะฟันแขนเทียมทั้งสองข้างที่นายโทใช้แทนแขนจริงมานานแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นจึงไปดักซุ่มอยู่ที่หน้าบ้าน พอนายโทออกจากบ้านมา นายเอกใช้อาวุธมีดฟันแขนเทียมของนายโททั้งสองข้างจนขาด เป็นเหตุให้นายโทไม่อาจใช้แขนทำงานตามปกติได้ถึง 40 วัน เพราะต้องรอทำแขนเทียมอันใหม่เสร็จ
ให้วินิจฉัยว่า นายเอกและนายโทมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 การที่นายเอกชวนนางสาวสมร ซึ่งอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของนายโทให้ออกจากบ้าน แม้นางสาวสมรจะเต็มใจก็เป็นการพรากตามกฎหมายแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่านางสาวสมรอายุ 16 ปี เต็มใจไปกับนายเอก และนายเอกมิได้มีเจตนานำนางสาวสมรไปเพื่อการอนาจาร เพียงแต่ชวนไปเที่ยวเท่านั้น จึงไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก แขนเทียมของนายโทมิใช่แขนที่แท้จริงอันเป็นอวัยวะของร่างกายเป็นเพียงทรัพย์เท่านั้น ดังนั้นแม้นายเอกจะฟันจนกระทั่งขาดก็ไม่เป็นความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (3) นายเอกคงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 สำหรับนายโททราบดีว่า ถ้อยคำที่ตนกล่าวออกไปนั้นไม่เป็นความจริง จึงเป็นการกล่าวโดยไม่สุจริตและเป็นข้อความที่อาจทำให้นายเอกถูกดูหมิ่นเหยียดหยามหรือเกลียดชัง แม้จะเป็นการกล่าวต่อนายเอกโดยตรง แต่ก็เล็งเห็นผลได้ว่านางสาวสมรและนางแต๋วซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นย่อมได้ยิน จึงเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สามแล้ว นายโทจึงมี
ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2541)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 61)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 61 ปีการศึกษา 2551
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 22 กันยายน 2551

 

คำถาม


ข้อ 6.   นายแสงชัย นายอําเภอสาระขัณฑ์ ถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่าประพฤติตนและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นายสมศักดิ์ ปลัดอําเภอในอําเภอดังกล่าวซึ่งถูกคณะกรรมการเรียกไปเป็นพยาน ได้ให้ถ้อยคําต่อคณะกรรมการว่า ตนได้ยินข่าวลือว่านายแสงชัยชอบเรียกนางสาวขวัญใจผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าไปอยู่ในห้องนายอําเภอตามลําพังในเวลาเช้าและหลังเวลาราชการเกือบทุกวัน เคยได้ยินข้าราชการในอําเภอพูดกันมากว่านายอําเภอและนางสาวขวัญใจมีความสัมพันธ์ถึงขั้นได้เสียกัน ต่อมานายชวลิตนักข่าว เขียนข่าวลงในหนังสือพิมพ์ว่า นายอําเภอสาระขัณฑ์ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเรื่องความประพฤติ พยานใกล้ชิดระดับปลัดอําเภอให้ถ้อยคํายืนยันชนิดดิ้นไม่หลุดว่า นายอําเภอได้เสียกับผู้ใต้บังคับบัญชาในห้องทํางานเป็นประจํา งานนี้ตําแหน่งนายอําเภอ คงสั่นคลอนอย่างแน่นอน
ให้วินิจฉัยว่า นายสมศักดิ์และนายชวลิตมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 การที่นายสมศักดิ์ให้ถ้อยคําต่อคณะกรรมการซึ่งผู้บังคับบัญชาของตนแต่งตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่นายแสงชัยนายอําเภอสาระขัณฑ์ ถูกกล่าวหาว่าประพฤติและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถ้อยคําที่นายสมศักดิ์กล่าวเป็นการกล่าวในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปให้ถ้อยคํา เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอันเป็นส่วนรวมและเป็นการกล่าวไปตามข่าวลือไม่ได้ยืนยันว่าเป็นความจริง และไม่ตั้งใจให้ผู้ฟังเชื่อว่านายแสงชัยมีพฤติกรรมตามข่าวลือนั้น นายสมศักดิ์จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 2034/2530)
สําหรับนายชวลิตเขียนข่าวยืนยันข้อเท็จจริงให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เชื่อว่าพยานใกล้ชิดเหตุการณ์ที่เป็นปลัดอําเภอให้ถ้อยคํายืนยันว่า นายแสงชัยได้เสียกับผู้ใต้บังคับบัญชาในห้องทํางานซึ่งเป็นข้อความที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นายชวลิตเป็นนักข่าวสมควรตรวจสอบข้อเท็จจริงที่อาจทําให้ผู้อื่นเสียหายให้รอบคอบก่อนนําไปเขียนเป็นข่าว การกระทําของนายชวลิตเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงใส่ความนายแสงชัยด้วยการเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์โดยประการที่น่าจะทําให้นายแสงชัยเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมิใช่เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) แต่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนายแสงชัยโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามมาตรา 328 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 3520/2543)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 72)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 29 กันยายน 2562

 

คำถาม


ข้อ 6.  นางสาวสดเป็นคนมีชื่อเสียง ได้ว่าจ้างนางหวานซึ่งเป็นผดุงครรภ์เป็นเงิน 10,000 บาท ให้มาทําแท้งที่ห้องนอนในบริเวณบ้านของตน จากการทําแท้งปรากฏว่า เด็กคลอดออกมาแล้วส่งเสียงร้อง ขณะนั้นนางสาวสดมีอาการเคลิ้มๆ จึงไม่ได้ยินเพราะนางหวานให้ทานยาบางชนิดเข้าไปก่อนทําแท้ง นางหวานจึงอาศัยโอกาสนี้ใช้มือบีบจมูกเด็ก จนถึงแก่ความตายเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงกัน เมื่อนางหวานได้รับเงินค่าจ้างแล้ว ขณะที่กําลังออกจากบ้านของนางสาวสด นางหวานได้พบกับนางแต๋วคนรับใช้ของนางสาวสดซึ่งรู้จักกันมาก่อน นางแต่วถามนางหวานว่า “พี่มาทําอะไร” นางหวานตอบว่า “แกอย่าบอกใครนะนายแกท้องหาพ่อเด็กไม่ได้เลยให้ฉันมาทําแท้งให้"
ให้วินิจฉัยว่า นางสาวสดและนางหวานมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด หรือไม่


ธงคำตอบ

 นางสาวสดยินยอมให้นางหวานทําแท้งให้ แต่เด็กคลอดออกมามีชีวิต นางสาวสดจึงมีความผิดฐานพยายามยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ประกอบมาตรา 80 ส่วนนางหวานมีความผิดฐานพยายามทําให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมตามมาตรา 302 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 ทั้งนางสาวสดและนางหวานไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 304 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดเพียงแต่พยายามกระทําความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 วรรคแรก ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
นางหวานใช้มือบีบจมูกเด็กที่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกจนถึงแก่ความตาย นางหวานจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
การที่นางหวานนําเรื่องการทําแท้งของนางสาวสดไปเล่าให้นางแต๋วฟัง เป็นการใส่ความนางสาวสดต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้นางสาวสดเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง นางหวานจึงมีความผิดฐาน หมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 อีกด้วย

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๑ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง

มาตรา ๓๒๘

หมวด ๓ ความผิดฐานหมิ่นประมาท

ลักษณะ ๑๑ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง

หมวด ๓ ความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

     มาตรา ๓๒๘  ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท

* มาตรา ๓๒๘  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๕๓๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๓ หน้า ๒ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕)



คำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3520/2543

คำพิพากษาย่อสั้น
ข้อความที่ตีพิมพ์โฆษณาว่า ผู้เสียหายอนุมัติให้จัดจ้างโดยวิธีพิเศษฝ่าฝืนมติที่ประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคครั้งล่าสุดห้ามไม่ให้ผู้เสียหายดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และข้อความว่าผู้เสียหายเจตนากำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาที่ปรากฏอยู่ในเงื่อนไขทั่วไป ส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายหนึ่งที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับผู้เสียหายมานานข้อความทั้งสองประการดังกล่าวไม่ได้อ้างถึงข้อความจริงอันเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เชื่อว่า ผู้เสียหายอนุมัติให้จัดจ้างโดยวิธีพิเศษฝ่าฝืนต่อมติที่ประชุมคณะกรรมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้เสียหายเจตนากำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์แก่เอกชนที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็รับมาในฎีกาว่าเป็นข้อความที่คลาดเคลื่อนไปจริง ข้อความทั้งสองประการดังกล่าวจึงเป็นข้อความที่ยืนยันข้อเท็จจริงใส่ความผู้เสียหายด้วยการเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์โดยประการที่ น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง หาใช่เป็น การแสดงข้อความโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน ย่อมกระทำไม่ จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้เสียหาย โดยการโฆษณาด้วยเอกสาร
เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 แล้วไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามมาตรา 326 อีก
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2539 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันร่วมกับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ดังกล่าว เขียนและโฆษณาตีพิมพ์ข้อความใส่ความหมิ่นประมาทนายจุลพงศ์ จุลเกศผู้เสียหายต่อประชาชนโดยทั่วไปลงในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันฉบับประจำวันที่ 4 เมษายน 2539 ความว่า "จุลพงศ์" หน้ามืดไม่สนคุก หวังพ้นผิดเอาใจเทศบาลเชียงใหม่ลงนามป้อนโรงไฟฟ้าถึงขั้นไม่กลัวอาญา งบจ้างเหมาเคเบิล 92.2 ล้านบาท อนุมัติเกินอำนาจพบไม่โปร่งใสเพียบทุกอย่างแล้วเสร็จภายในวันเดียว ไม่แคร์มติบอร์ดห้ามจัดซื้อจัดจ้างพิเศษ และมีรายละเอียดประกอบว่าเมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา นายจุลพงศ์ จุลเกศ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้อนุมัติให้มีการดำเนินการจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้ารอบคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ด้วยวิธีพิเศษในลักษณะ TURN KEY ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมติที่ประชุมของคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคครั้งล่าสุด ห้ามมิให้นายจุลพงศ์จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษโดยเด็ดขาด แต่ปรากฏว่านายจุลพงศ์ ไม่ยอมปฏิบัติแต่อย่างใด ฯลฯ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวไม่อยู่ในแผนการลงทุนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปี 2539 แต่อย่างใด แต่นายจุลพงศ์พยายามผลักดันโดยการให้สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 ภาคเหนือ เป็นผู้เสนอโครงการขึ้นมาโดยอ้างเหตุผลว่าเป็นความต้องการเร่งด่วน และยังมีการหมกเม็ดโดยการเขียนบันทึกในการอนุมัติว่าอนุมัติในหลักการเสนอคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (บอร์ดเล็ก) เพื่อเลี่ยงมิให้บอร์ดยับยั้งโครงการนี้ รายงานข่าวแจ้งต่อไปว่าได้มีการเสนอหลักการและเหตุผลของโครงการนี้ว่าเป็นความร่วมมือเทศบาลนครเชียงใหม่ในการฉลองวาระครบ 700 ปี ของเมืองเชียงใหม่ในปี 2539 โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการ 92.2 ล้านบาท รายงานข่าวแจ้งว่ายังมีการกำหนดวงเงินค่าก่อสร้างจำนวน 92.2 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการในชั้นต้นประมาณ 70 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งมีส่วนต่างกันถึง 22 ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาที่ปรากฏอยู่ในเงื่อนไขทั่วไปที่เป็นเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญาตามเงื่อนไขข้อ 1.4 จะต้องมีประวัติเป็นคู่สัญญากับทางราชการหรือองค์การของรัฐหรือผู้รับจ้างช่วงโดยมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท เท่ากับเป็นการปิดทางเอกชนรายอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์ในงานวางระบบเคเบิลใต้ดิน แต่ไม่เคยมีประวัติในฐานะคู่สัญญาของหน่วยราชการมาก่อน และส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายหนึ่งที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับนายจุลพงศ์มายาวนานยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งว่าในวันที่ 22 มีนาคม 2539 เป็นวันที่นายชาญ ถิระศุภะ ผู้อำนวยการฝ่ายเร่งรัดโครงการได้รับหนังสือจากกองจัดการโครงการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแล้วอนุมัติเสนอต่อนายจุลพงศ์ แล้วมีการลงนามในวันเดียวกันโดยไม่มีขั้นตอนในการพิจารณารอบคอบแต่อย่างใด รายละเอียดข้อความดังกล่าวปรากฏในสำเนาภาพถ่ายหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเอกสารท้ายฟ้อง หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวได้วางจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วราชอาณาจักร ข้อความดังกล่าวมีความหมายเป็นการใส่ความผู้เสียหายต่อบุคคลที่สามว่าผู้เสียหายซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ผิดระเบียบ มีเงื่อนงำ เร่งรัดจ้างเหมาโดยวิธีพิเศษ กำหนดประมาณการวงเงินค่าก่อสร้างปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้ารอบคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่สูงผิดปกติ เป็นการอนุมัติวงเงินเกินอำนาจโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและกำหนดเงื่อนไขพิเศษต่างหากเพื่อให้โอกาสกับบริษัทเอกชนที่เป็นพรรคพวกได้รับงานประมูลการก่อสร้างดังกล่าว ซึ่งไม่เป็นความจริงทำให้ผู้เสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ทั้งทางด้านส่วนตัวและทางการปฏิบัติหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326,328 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484มาตรา 48 จำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน และประกอบอาชีพการงานเป็นหลักแหล่ง เห็นควรให้โอกาสแก่จำเลยที่ 2โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่าจำเลยที่ 2กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้เสียหายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุได้มีข้อความเรื่องการอนุมัติโครงการก่อสร้างปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้ารอบคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ของผู้เสียหายตามฟ้องตีพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา สำหรับข้อความที่ตีพิมพ์โฆษณาว่าผู้เสียหายอนุมัติโครงการเกินวงเงินที่ผู้เสียหายมีอำนาจ งบจ้างเหมาเคเบิลพิเศษ 92.2ล้านบาท สูงกว่าประมาณการขั้นต้นประมาณ 70 ล้านบาทเท่านั้น โครงการนี้ไม่อยู่ในแผนการลงทุนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปี 2539 แต่ผู้เสียหายพยายามผลักดันเพื่อเลี่ยงมิให้บอร์ดยับยั้งโครงการและการอนุมัติของผู้เสียหายเป็นการดำเนินการที่เกินอำนาจตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายชัดเจนผู้เสียหายไม่มีอำนาจดำเนินการอนุมัติการจัดซื้อ จัดจ้างในวงเงิน 92.2 ล้านบาทโดยไม่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะข้อความที่ตีพิมพ์โฆษณาว่า ผู้เสียหายอนุมัติให้จัดจ้างโดยวิธีพิเศษฝ่าฝืนมติที่ประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคครั้งล่าสุดห้ามไม่ให้ผู้เสียหายดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และข้อความว่าผู้เสียหายเจตนากำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาที่ปรากฏอยู่ในเงื่อนไขทั่วไป ส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนรายหนึ่งที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับผู้เสียหายมานานจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่เห็นว่า ข้อความทั้งสองประการดังกล่าว มิได้อ้างถึงข้อความจริงอันเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เชื่อว่าผู้เสียหายอนุมัติให้จัดจ้างโดยวิธีพิเศษฝ่าฝืนต่อมติที่ประชุมคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้เสียหายเจตนากำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์แก่เอกชนที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับผู้เสียหายซึ่งจำเลยที่ 2 ก็รับมาในฎีกาว่าเป็นข้อความที่คลาดเคลื่อนไปจริง ข้อความทั้งสองประการดังกล่าวจึงเป็นข้อความที่ยืนยันข้อเท็จจริงใส่ความผู้เสียหายด้วยการเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง หาใช่เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าพนักงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพูดกันว่า คณะกรรมการเคยมีมติห้ามผู้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ จำเลยที่ 2 ในฐานะสื่อมวลชนต้องการเสนอข่าวโดยฉับไวและเข้าใจว่าคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีมติห้ามผู้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษเป็นการเข้าใจคลาดเคลื่อนเพราะฝ่ายบริหารของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพยายามปกปิดข้อมูลนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะต้องเสนอข่าวโดยฉับไว แต่ข้อความที่ตีพิมพ์โฆษณาก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง จำเลยที่ 2 มิได้ตีพิมพ์โฆษณาว่าพนักงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพูดกันว่าคณะกรรมการการไฟฟ้าภูมิภาคเคยมีมติห้ามผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษเท่าที่ได้ข่าวมา แต่กลับตีพิมพ์โฆษณายืนยันข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายอนุมัติให้จัดจ้างโดยวิธีพิเศษฝ่าฝืนต่อมติคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ไม่เป็นการตีพิมพ์โฆษณาโดยเข้าใจคลาดเคลื่อนดังที่อ้างและที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ตีพิมพ์โฆษณาข้อความว่าผู้เสียหายเจตนาจัดทำคุณสมบัติผู้เสนอราคาส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์แก่เอกชนที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับผู้เสียหาย จากพฤติกรรมการอนุมัติโครงการก่อสร้างปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้ารอบคูเมืองจังหวัดเชียงใหม่ของผู้เสียหายที่บกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและขัดต่อระเบียบข้อบังคับของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายจัดทำคุณสมบัติผู้เสนอราคาเป็นการกระทำคนละส่วนกับการอนุมัติโครงการก่อสร้าง การที่จำเลยที่ 2 ตีพิมพ์โฆษณาข้อความว่าผู้เสียหายเจตนาจัดทำคุณสมบัติผู้เสนอราคาส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์แก่เอกชนที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับผู้เสียหาย โดยไม่มีข้อมูลหรือข้อเท็จจริงชี้ให้เห็นว่าผู้เสียหายได้กระทำดังที่ตีพิมพ์โฆษณาจริงย่อมเป็นการแสดงเจตนาชัดแจ้งว่ามุ่งประสงค์ใส่ความผู้เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้เสียหายโดยการโฆษณาด้วยเอกสารเฉพาะข้อความสองประการดังที่วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นแต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดเฉพาะข้อความสองประการจากที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเป็นความผิดทุกข้อความตามฟ้องเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 เป็นผลร้ายน้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ก็ควรเปลี่ยนไปในทางลดลงจากที่ศาลชั้นต้นกำหนดมาด้วย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาก็แก้ไขโดยกำหนดโทษให้เหมาะสมได้
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 มาด้วยนั้น เห็นว่า ยังไม่ถูกต้อง เพราะในความผิดฐานหมิ่นประมาทเมื่อจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามมาตรา 328 แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องยกมาตรา 326 ขึ้นปรับบทลงโทษอีก"
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 ลงโทษจำเลยที่ 2 จำคุก 1 เดือนและปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้พิพากษา
สมศักดิ์ เนตรมัย
กนก พรรณรักษา
ปรีดี รุ่งวิสัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1325/2498

กรณีกล่าวถึง ในลักษณะเป็นกลุ่มบุคคล โดยไม่ได้เจาะจงถึงผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะในกลุ่มบุคคลนั้น จะถือว่าทุกคนเป็นผู้เสียหายไม่ได้

ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1325/2498 กรณีที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทข้อความที่กล่าวจะต้องมุ่งเจาะจงถึงบุคคลใดโดยเฉพาะ และโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความถึงบุคคลผู้ถูกหมิ่นประมาทนั้นด้วย
เมื่อในคำโฆษณามีความหมายเฉพาะนายแพทย์ชายคนหนึ่ง ไม่มีกินความถึงนายแพทย์ทุก ๆ คนของโรงพยาบาลศิริราช ทั้งโจทก์หาได้นำสืบถึงนายแพทย์คนที่ถูกใส่ความหมิ่นประมาทก็ย่อมทราบไม่ได้ว่านายแพทย์คนใดเป็นผู้เสียหาย
เมื่อตามคำฟ้องไม่มีช่องทางแสดงให้เห็นว่าจำเลยมุ่งหมายกล่าวใส่ความถึงนายแพทย์เฉลิม นายแพทย์เฉลิมจึงมิใช่ผู้เสียหายอันจะพึงร้องทุกข์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10839/2557

การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า จำเลยซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัวตรงหมายเลข 966 ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลยซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนอาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัล แต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1612/2564

การแจ้งหรือไขข่าวลงในกลุ่มไลน์ไม่ถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา แต่ผิดหมิ่นประมาท
ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณะชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์ นี้เท่านั้นจึงยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณะชนหรือประชาชนทั่วไปการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 คงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

คำพิพากษาฎีกาที่ 1612/2564
พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี โจทก์
นาย บ. โจทก์ร่วม
นาย ช. จำเลย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรื่อง อุทธรณ์ฎีกา ห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (มาตรา 218)
แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ไขทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษ อันเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่จำเลยส่งข้อความเข้าไปในกลุ่มไลน์มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์เท่านั้นเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริง ฎีกาของโจทก์ทำนองว่ามิได้มีเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในไลน์เท่านั้น เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชันไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์เท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2560 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาประกาศให้ประชาชนทั่วไปทราบด้วยตัวอักษร โดยการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเทอร์เน็ตผ่านสังคมออนไลน์ในแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "เพื่อน.พฤกษา.20" โดยทำให้ปรากฎข้อความอักษรใส่ความนาย บ. ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้เสียหายคนหนึ่งในบรรดาผู้เสียหายจำนวนหลายคนที่ถูกจำเลยใส่ความเผยแพร่ให้แก่นางสาว ด. นาย ก. และบุคคลผู้เป็นสมาชิกในกลุ่มดังกล่าวซึ่งเป็นบุคคลที่สามซึ่งสามารถเห็นและอ่านข้อความบทสนทนาได้ โดยข้อความเท็จดังกล่าวมีเนื้อหาใส่ความว่า "แผนที่ให้คนของตัวเองมาเป็นประธานหรือหัวหน้า 48 คน ก็เพราะซูเอี๋ยระหว่างผู้มีอำนาจในเทศบาลกับบริษัทพฤกษา ซึ่งเงินก้อนใหญ่ ประมาณ 20 ล้าน ก็จะหายไปกับสายลมทั้งๆ ที่บริษัทพฤกษาต้องนำมาปรับปรุงถนน ท่อระบายและอื่นๆ จากนั้นเมื่อโอนเรียบร้อยเทศบาลก็หางบประมาณลงมาทำให้เพราะตอนนี้พฤกษา 20 ยังไม่โอน เทศบาลยังกล้าทำแผนพัฒนาเตรียมงบมาลง" ซึ่งทำให้บุคคลที่สามและบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่าผู้เสียหายมีพฤติกรรมที่ทุจริตเงินแผ่นดิน มีการสมยอมกับบริษัทเอกชนยักยอกเงินหลวง จำนวน 20 ล้านบาท แล้วนำมาแบ่งกันระหว่างผู้เสียหายกับบริษัทเอกชนดังกล่าว อันเป็นการกระทำโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้อ่านหรือประชาชนทั่วไปได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นาย บ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 จำคุก 2 ปีให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ลงโทษปรับ 20,000 บาท
สถานเดียว ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปรากฎว่าโจทก์ฎีกาทั้งปัญหาข้อกฎหมายและปัญหาข้อเท็จจริง กล่าวคือ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำมาสืบรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 จำคุก 2 ปี จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่าโจทก์ร่วมเป็นนายกเทศมนตรีเมืองลำสามแก้ว ส่วนจำเลยเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองลำสามแก้ว เขต 2 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 บริษัทพฤกษา เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) มีหนังสือถึงสภาเทศบาลเมืองลำสามแก้ว ขอให้พิจารณารับโอนที่ดินแปลงสาธารณูปโภคโครงการบ้านพฤกษา 20 เป็นสาธารณประโยชน์และอยู่ในพื้นที่การปกครองดูแลของเทศบาลเมืองลำสามแก้ววันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ที่ประชุมสภาเทศบาลเมืองลำสามแก้วมีมติเห็นชอบรับโอนที่ดินแปลงสาธารณูปโภคโครงการบ้านพฤกษา 20 ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของจำเลยให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่เทศบาลเมืองลำสามแก้ว วันที่ 27 มกราคม 2560 โจทก์ร่วมในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองลำสามแก้วมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการบริการสาธารณะหมู่บ้านพฤกษา 20 จำนวน 48 คน นาย ช. เป็นผู้พักอาศัยในหมู่บ้านพฤกษา 20 และเป็นผู้ตั้งกลุ่มในแอปพลิเคชันไลน์ ชื่อ "เพื่อน.พฤกษา.20" จำเลยเป็นหนึ่งในสมาชิกจำนวน 344 คน ของแอปพลิเคชันไลน์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2560 จำเลยส่งข้อความเข้าไปในแอปพลิเคชันไลน์ดังกล่าวว่า "แผนที่ให้คนของตัวเองมาเป็นประธานหรือหัวหน้า 48 คน ก็เพราะซูเอี๋ยระหว่างผู้มีอำนาจในเทศบาลกับบริษัทพฤกษาซึ่งเงินก้อนใหญ่ประมาณ 20 ล้าน ก็จะหายไปกับสายลมทั้งๆ ที่บริษัทพฤกษาต้องนำมาปรับปรุงถนน ท่อระบายและอื่นๆ จากนั้นเมื่อโอนเรียบร้อยเทศบาลก็หางบประมาณลงมาทำให้ เพราะตอนนี้พฤกษา 20 ยังไม่โอน เทศบาลยังกล้าทำแผนพัฒนาเตรียมงบมาลง" ต่อมา นาวาอากาศเอก ก. ที่ปรึกษาหัวหน้าคณะทำงานบริหารจัดการบริการสาธารณะหมู่บ้านพฤกษา 20 ส่งข้อความดังกล่าวเข้าไปในกลุ่มแอปพลิเคชันไลน์ ชื่อ "พฤกษา 20 เฟส 1 " ซึ่งมีนาย ก. หัวหน้าคณะทำงานดังกล่าวเป็นสมาชิกอยู่ด้วย นาย ก. บันทึกหน้าจอข้อความดังกล่าวแล้วส่งต่อให้แก่นางสาว ด. รองนายกเทศมนตรีเมืองลำสามแก้ว นางสาว ด.ส่งข้อความดังกล่าวต่อให้แก่โจทก์ร่วม แล้วศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยต่อไปว่า การที่จำเลยส่งข้อความเข้าไปในแอปพลิเคชันไลน์กลุ่ม เพื่อน.พฤกษา.20 มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์ดังกล่าวไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไปการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 พิพากษาแก้ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ลงโทษปรับ 20,000 บาท สถานเดียว โจทก์ฎีกาว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 328 ด้วย โดยฎีกาทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายรวมกันมา กล่าวคือฎีกาว่า การที่จำเลยส่งข้อความดังกล่าวทางแอปพลิเคชันไลน์ในกลุ่มชื่อ เพื่อน.พฤกษา.20 ปรากฎว่ามีสมาชิกในกลุ่มถึง 344 คน ถือว่าเป็นกลุ่มแอปพลิเคชันไลน์ที่มีสมาชิกจำนวนมากผู้ที่รับข้อความหมิ่นประมาทจึงมีจำนวนมากเหมือนการโพสต์ข้อความแบบสาธารณะ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมอย่างแพร่หลาย อีกทั้งกลุ่มไลน์ดังกล่าวก็อาจเพิ่มจำนวนได้โดยการรับเพื่อนเพิ่มเติมเข้ามาได้อีกถ้ามิใช่กลุ่มปิด ข้อความที่ส่งก็จะคงอยู่ในไลน์นั้นตลอดไปหากมีผู้เซฟข้อความเอาไว้ ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าข้อความนั้นอาจมีผู้อื่นอ่านได้ถึง 344 คน หรือมากกว่านั้นถ้าสมาชิกในกลุ่มส่งข้อความให้บุคคลภายนอกกลุ่มผู้รับข้อความก็จะเพิ่มมากขึ้นได้อีก การส่งข้อความในไลน์กลุ่มจึงมิใช่การไขข่าวเฉพาะกลุ่ม แต่มีบุคคลภายนอกกลุ่มอาจรับรู้ได้ด้วย และกลุ่มไลน์ที่มีสมาชิกในกลุ่มเป็นจำนวนมากถึงพันคนหรือหมื่นคนก็มี ทั้งบุคคลในกลุ่มก็อาจไม่ได้รู้จักกันทุกคน การส่งข้อความทางกลุ่มไลนซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากอาจมีผู้อ่านไลน์มากกว่าการโพสต์แบบสาธารณะเสียอีก จำเลยย่อมเล็งเห็นผลและประสงค์ต่อผลในการกระทำของตนได้ว่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการโฆษณาต่อสาธารณชน การส่งข้อความของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อสาธารณชนโดยการโฆษณาอันเป็นความผิดตามมาตรา 328 แล้วนั้น เห็นว่า แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ไขทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษ อันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าที่จำเลยส่งข้อความเข้าไปในกลุ่มไลน์นี้มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์นี้เท่านั้นเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริง การที่โจทก์ฎีกาดังกล่าวเป็นการฎีกาทำนองว่ามิได้มีเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในไลน์นี้เท่านั้นเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงส่วนที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย ที่ฎีกาว่า การที่จำเลยส่งข้อความดังกล่าวทางแอปพลิเคชันไลน์ในกลุ่มชื่อเพื่อน.พฤกษา.20 ซึ่งมีสมาชิกกลุ่มถึง 344 คน ถือว่าเป็นกลุ่มไลน์ที่มีสมาชิกจำนวนมาก ผู้ที่รับรู้ข้อความหมิ่นประมาทจึงมีจำนวนมากเหมือนการโพสต์ข้อความแบบสาธารณะซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมอย่างแพร่หลายนั้น เห็นว่า ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชันไลน์นี้ ซึ่งข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังมาดังกล่าวแล้วว่ามีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์นี้เท่านั้น ดังนั้น จึงยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในส่วนปัญหาข้อกฎหมายนี้ ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
(ประทีป ดุลพินิจธรรมา โสภณ บางยี่ขัน กษิดิศ มงคลศิริภัทรา)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5276/2562

การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 ต้องเป็นการใส่ความระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าบุคคลที่ถูกใส่ความเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ​
ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชั่นไลน์กลุ่มโพสท์นิวส์ออนไลน์ มีลักษณะเป็นเพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์เท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป คดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3877/2565

#หมิ่นประมาททางเฟสบุ๊ก

แม้จะโพสต์ข้อความไม่ระบุชื่อใคร แต่ถ้าเป็นการใส่ความผู้อื่นยืนยันรู้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือได้ความว่าเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะย่อมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้
.
ฎีกาที่ 3877/2565 ข้อความและภาพถ่ายที่ดิน ที่จำเลยโพสต์ใน Facebook ของจำเลยไม่ได้ระบุชื่อโจทก์ผู้ถูกใส่ความไว้โดยตรง แต่เมื่อนำมาพิจารณาประกอบความเห็นของจำเลยที่ตอบคำถามของเพื่อนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า “คนที่จำเลยกล่าวถึงนั้นหมายถึงใคร ” จำเลยตอบคำถามของเพื่อนว่า “ คือคนข้างบ้านของจำเลย” เมื่อ น และ ธ คนในหมู่บ้านเดียวกับโจทก์และจำเลย ซึ่งเป็นบุคคลที่สามรับทราบเรื่องดังกล่าวก็เข้าใจได้ทันทีว่าจำเลยหมายถึงโจทก์การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ผู้กระทำต้องเผยแพร่ข้อความ ภาพ และเสียง อันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณะชน หรือประชาชนทั่วไป การที่จำเลยโพสต์ข้อความและภาพลงใน Facebook ของจำเลย มีลักษณะเป็นเพียงการแจ้งหรือไข่ขาวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลที่เป็นเพื่อนของจำเลยใน Facebook เท่านั้น ยังไม่ถึงกับมีเจตนากระจายข่าวไปสู่สาธารณะชนหรือประชาชนทั่วไป จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
.
ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการหมิ่นประมาทดังกล่าวไม่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม หรือติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ อันเป็นข้อยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 329(1)(3) แต่อย่างใด



ข้อสังเกต


สื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก บางท่านใช้งานอย่างสนุกสนายจนลืมไปว่า มีกฎหมายคุ้มครองการใช้งานอยู่หลายประการ สิ่งพื้นฐานที่ทุกคนควรรู้ และ สำนึกในความรับผิดชอบและใช้งานอย่างมีขอบเขต

  กฎหมายที่เกี่ยวข้องมากที่สุดคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ,มาตรา 328 และ มาตรา 393

แต่หากผู้เสียหายไปแจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาการกลั่นแกล้งแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ก็อาจจะถูกดำเนินคดีกลับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ได้เช่นกัน


ประมวลกฎหมายอาญา-มาตรา-328




 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 61)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 61 ปีการศึกษา 2551
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 22 กันยายน 2551

 

คำถาม


ข้อ 6.   นายแสงชัย นายอําเภอสาระขัณฑ์ ถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่าประพฤติตนและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นายสมศักดิ์ ปลัดอําเภอในอําเภอดังกล่าวซึ่งถูกคณะกรรมการเรียกไปเป็นพยาน ได้ให้ถ้อยคําต่อคณะกรรมการว่า ตนได้ยินข่าวลือว่านายแสงชัยชอบเรียกนางสาวขวัญใจผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าไปอยู่ในห้องนายอําเภอตามลําพังในเวลาเช้าและหลังเวลาราชการเกือบทุกวัน เคยได้ยินข้าราชการในอําเภอพูดกันมากว่านายอําเภอและนางสาวขวัญใจมีความสัมพันธ์ถึงขั้นได้เสียกัน ต่อมานายชวลิตนักข่าว เขียนข่าวลงในหนังสือพิมพ์ว่า นายอําเภอสาระขัณฑ์ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเรื่องความประพฤติ พยานใกล้ชิดระดับปลัดอําเภอให้ถ้อยคํายืนยันชนิดดิ้นไม่หลุดว่า นายอําเภอได้เสียกับผู้ใต้บังคับบัญชาในห้องทํางานเป็นประจํา งานนี้ตําแหน่งนายอําเภอ คงสั่นคลอนอย่างแน่นอน
ให้วินิจฉัยว่า นายสมศักดิ์และนายชวลิตมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 การที่นายสมศักดิ์ให้ถ้อยคําต่อคณะกรรมการซึ่งผู้บังคับบัญชาของตนแต่งตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่นายแสงชัยนายอําเภอสาระขัณฑ์ ถูกกล่าวหาว่าประพฤติและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถ้อยคําที่นายสมศักดิ์กล่าวเป็นการกล่าวในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปให้ถ้อยคํา เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอันเป็นส่วนรวมและเป็นการกล่าวไปตามข่าวลือไม่ได้ยืนยันว่าเป็นความจริง และไม่ตั้งใจให้ผู้ฟังเชื่อว่านายแสงชัยมีพฤติกรรมตามข่าวลือนั้น นายสมศักดิ์จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 2034/2530)
สําหรับนายชวลิตเขียนข่าวยืนยันข้อเท็จจริงให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เชื่อว่าพยานใกล้ชิดเหตุการณ์ที่เป็นปลัดอําเภอให้ถ้อยคํายืนยันว่า นายแสงชัยได้เสียกับผู้ใต้บังคับบัญชาในห้องทํางานซึ่งเป็นข้อความที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นายชวลิตเป็นนักข่าวสมควรตรวจสอบข้อเท็จจริงที่อาจทําให้ผู้อื่นเสียหายให้รอบคอบก่อนนําไปเขียนเป็นข่าว การกระทําของนายชวลิตเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงใส่ความนายแสงชัยด้วยการเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์โดยประการที่น่าจะทําให้นายแสงชัยเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมิใช่เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) แต่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนายแสงชัยโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามมาตรา 328 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 3520/2543)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 66)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 66 ปีการศึกษา 2556
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 29 กันยายน 2556

 

คำถาม


ข้อ 6.   นางแต๋วปรับทุกข์กับนายหาญผู้สื่อข่าวคนรักของตน ว่านางสาวสคราญนายของตนเป็นดาราภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีความสัมพันธ์ในทางชู้สาวกับชายหลายคน ควรจะแนะนําอย่างไรดี นายหาญไม่ออกความเห็น วันต่อมากลับโทรศัพท์ไปหานางสาวสคราญ สั่งให้นางสาวสคราญไปพบที่โรงแรมแห่งหนึ่งกลางดึก มิฉะนั้นจะนําพฤติกรรมของนางสาวสคราญดังกล่าวเปิดเผยสู่สาธารณะ นางสาวสคราญตอบปฏิเสธ นายหาญจึงเขียนข่าวลงในหนังสือพิมพ์รายวัน
ให้วินิจฉัยว่า นางแต๋วและนายหาญมีความผิดหรือไม่ และศาลจะมีคําสั่งให้โฆษณาคําขอขมาของนายหาญได้หรือไม่


ธงคำตอบ

  นางสาวสคราญเป็นดาราภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง จึงเป็นบุคคลที่อาจถูกติชมด้วยความเป็นธรรมตามวิสัยของประชาชนได้ แต่ผู้ติชมต้องแสดงความคิดเห็นนั้นโดยสุจริต จึงจะไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) นางแต๋วติขมนายของตนด้วยความเป็นห่วง หาทางที่จะบรรเทามิให้ความเสียหายเกิดขึ้น นางแต๋วจึงไม่มีความผิด
การที่นายหาญข่มขืนใจนางสาวสคราญให้ไปพบตนในโรงแรมแห่งหนึ่งเวลากลางคืน มิฉะนั้นจะทําให้ นางสาวสคราญเสียชื่อเสียง ถือเป็นการข่มขู่ให้นางสาวสคราญไปพบตนในที่และเวลาไม่เหมาะสม อันเป็นการข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทําการหรือไม่กระทําการ เป็นความผิดต่อเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก เมื่อนางสาวสคราญปฏิเสธ การกระทําของนายหาญไม่บรรลุผลนายหาญจึงมีความผิดฐานพยายาม ตามมาตรา 309 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 เท่านั้น
เมื่อนางสาวสคราญไม่ยอมทําตามที่ถูกข่มขืนใจ นายหาญจึงนําข้อเท็จจริงดังกล่าวที่จะทําให้ นางสาวสคราญเสียชื่อเสียงไปเขียนลงข่าวลงในหนังสือพิมพ์ เป็นการกระทําที่ไม่สุจริต ย่อมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อกระทําโดยการโฆษณาจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 แต่ศาลจะพิพากษาบังคับให้ลงโฆษณาคําขอขมาในคําพิพากษาไม่ได้ เพราะมาตรา 332 ให้อํานาจศาลสั่งให้โฆษณาคําพิพากษาทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนเท่านั้น (คําพิพากษาฎีกาที่ 3/2542)

ภาค 3 ลหุโทษ

มาตรา ๓๙๓

ลหุโทษ

ลหุโทษ

 

     มาตรา ๓๙๓  ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๙๓  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ.๒๕๕๘ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๐ ก หน้า ๔๖ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘)



คำอธิบาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393


ความแตกต่าง ระหว่าง ดูหมิ่น(393) กับ หมิ่นประมาท(326)
=================================
ดูหมิ่น (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393)
-------------------------------------------
1. การดูถูก ดูแคลน เหยียดหยาม ทำให้อับอาย การด่า การสบประมาท
2. ผู้กระทำเป็นผู้ดูหมิ่นผู้เสียหาย
3. ไม่จำต้องกล่าวต่อบุคคลที่สาม
4. การด่าผู้อื่นไม่ทำให้ผู้ถูกด่าเสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่นก็ได้ ตรงกันข้าม กลับทำให้ผู้ด่านั้นเองเสียชื่อเสียงที่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่เป็นผู้ดี เป็นที่ดูหมิ่นของผู้ฟังด้วยซ้ำไป ดังนั้นการดูหมิ่นจึงอาจไม่ถึงหมิ่นประมาท
5. เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้
----------------------------------------------
หมิ่นประมาท (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326)
----------------------------------------------
1. การใส่ความ ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
2. บุคคลที่สามเป็นผู้ดูหมิ่น หรือเกลียดชังผู้เสียหาย
3. ต้องกล่าวต่อบุคคลที่สาม
4. การหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำหยาบคายอาจเป็นการดูหมิ่นไปในตัวได้ จึงเป็นกรรมเดียวผิดฐานดูหมิ่นบทหนึ่งฐานหมิ่นประมาทอีกบทหนึ่ง แต่การหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำสุภาพย่อมไม่เป็นการดูหมิ่น
5. เป็นความผิดอันยอมความได้


คำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8919/2552

การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยามสบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า "ตอแหล" ว่าเป็นคำด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาท ผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
-----------------
ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายว่า “อีตอแหล มาดูผลงานของแก” เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่า ถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวหรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า “ตอแหล” ว่า เป็นคำด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ปรับ 200 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ) มาตรา 30 (กักขังแทนค่าปรับ)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2102/2521

จำเลยถ่มน้ำลายไปทางผู้เสียหายและด่าผู้เสียหายว่า พวกอีดอกดำ คำว่าอีดอก เป็นถ้อยคำหยาบคาย สามัญชนฟังแล้วเข้าใจได้ชัดเจนอยู่ในตัวเองว่าผู้ถูกด่า เป็นหญิงไม่ดี จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ปรับ 500 บาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5257/2548

จำเลยด่าว่าผู้เสียหายว่า อีเหี้ย อีสัตว์ อีควาย มึงคิดว่าเมียกูกินเงินไปหรือไง และชี้มือไปที่ผู้เสียหาย ถ้อยคำดังกล่าวนอกจากจะเป็นคำหยาบคายแล้ว ยังมีลักษณะเป็นการเปรียบเทียบผู้เสียหายเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สี่เท้า และกล่าวหาผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายว่าภริยาจำเลยของจำเลยเอาเงินของกลุ่มแม่บ้านไปใช้เป็นการส่วนตัว ถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ), มาตรา 30 (กักขังแทนค่าปรับ)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1631/2538

หลังจากประธานที่ประชุมกล่าวเปิดประชุมแล้ว จำเลยได้พูดในที่ประชุมซึ่งมีโจทก์และบุคคลอื่นรวมแล้วประมาณ 30 คน เข้าร่วมประชุมว่า "ผมข้องใจว่าไอ้ผู้อำนวยการกองอุทธรณ์มันมานั่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการ อ.ก.พ.นี้ได้อย่างไร ผมไม่เคยเสนอชื่อมัน" เมื่อประธานในที่ประชุมได้ชี้แจงให้ทราบแล้ว จำเลยได้พูดขึ้นอีกว่า "ไอ้ระยำ มันไปล็อบบี้มาเพื่อจะมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการเพื่อเอาเบี้ยประชุมไปกินเปล่า ๆ" และจำเลยยังพูดอีกว่า "ไอ้เบื๊อก ไอ้ตัวแสบ มันแส่เข้ามานั่งหาอาวุธด้ามยาวอะไรในที่นี้" เพราะไม่พอใจโจทก์ แม้จำเลยจะชี้หรือไม่ชี้หน้าโจทก์ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เมื่อผู้อำนวยการกองอุทธรณ์และร้องทุกข์มีเพียงตำแหน่งเดียวคือโจทก์ จำเลยย่อมมีความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 และฐานกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายต่อหน้าธารกำนัล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551

การดูหมิ่นผู้อื่นอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326
ตามพจนานุกรมให้หมายความคำว่า "เฮงซวย" ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยพูดใส่ผู้เสียหายด้วยความไม่พอใจว่า "ไอ้ทนายเฮงซวย" จึงเป็นถ้อยคำที่จำเลยด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นทนายความเฮงซวย เป็นความผิด ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ), มาตรา 30 (กักขังแทนค่าปรับ)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2256/2537

จำเลยว่าผู้เสียหายที่ 1 ว่าเป็น ผู้หญิงต่ำ ๆ ต่อหน้าผู้อื่นซึ่งเป็นคำพูดที่เหยียดหยามผู้เสียหายที่ 1 ว่า เป็นผู้หญิงไม่ดี มีศักดิ์ศรีต่ำกว่าผู้หญิงทั่วไป เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ 1ซึ่งหน้า หาใช่เป็นคำพูดในเชิงปรารภปรับทุกข์ไม่ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ปรับ 1,000 บาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2527

จำเลยว่าโจทก์ว่า "พระหน้าผี พระหน้าเปรต ไปฟ้องกู กูไม่กลัว" โจทก์เป็นพระภิกษุซึ่งเป็นบุคคลที่ประชาชนทั่วไปถือว่าควรเคารพ การที่จำเลยว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำดังกล่าว จึงเป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3226/2565

คำว่า มารศาสนา ตามความหมายในพจนานุกรม หมายถึง บุคคลผู้มีใจบาปหยาบช้า คอยกีดกันไม่ให้ผู้อื่นทำบุญและกีดกันบุญกุศลที่จะมาถึงตน ซึ่งเป็นบุคคลประเภทที่สาธารณชนย่อมรังเกียจที่จะคบหาสมาคมด้วย จำเลยพูดว่าผู้เสียหายด้วยถ้อยคำดังกล่าวต่อหน้าผู้เสียหาย จึงต้องมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบอธิบายความหมายอีก เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับ 1,000 บาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7572/2542

การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อโจทก์ร่วมว่า "มึงเข้าไปในที่ของกูได้อย่างไร กูจะแจ้งข้อหาบุกรุกมึง มึงเป็นผู้ใหญ่บ้านได้อย่างไร ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้หน้าที่ ไอ้หน้าโง่ มึงต้องเจอกับกูแน่ที่ศาล" นั้น เห็นได้ว่าสรรพนามที่จำเลยใช้แทนตัวจำเลยและโจทก์ร่วมว่า กูและมึงนั้น เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพ ส่วนถ้อยคำในทำนองว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่มีอำนาจหน้าที่ ไม่รู้กฎหมายและจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมนั้น เป็นเพียงถ้อยคำต่อว่าโจทก์ร่วมที่เข้าไปในที่ดินของพ่อตาจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต และแสดงเจตนาที่จะดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมเท่านั้น ไม่ใช่ถ้อยคำที่ดูถูกเหยียดหยามโจทก์ร่วม แต่ที่จำเลยว่าโจทก์ร่วมว่าไอ้หน้าโง่ นั้น ถ้อยคำดังกล่าวแสดงอยู่ในตัวถึงการหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ร่วม แม้จะเป็นการกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นโจทก์ร่วมในขณที่จำเลยและโจทก์ร่วมทะเลาะกันก็ต้องถือว่าจำเลยกล่าวโดยมีเจตนาดูหมิ่นโจทก์ร่วม พิพากษาปรับจำเลย 1,000 บาท


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2495

ด่าเขาว่า "อีร้อย.... อีดอกทอง" เป็นคำด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทซึ่งหน้าตาม กฎหมายลักษณอาญามาตรา 339(2)




กฎหมายลักษณอาญา-มาตรา-339






คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3711/2557

คำพิพากษาย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายกับจำเลยอยู่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าว ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า

คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 จำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายและจำเลยทำงานที่สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 18 (บางวัน พังงา) ผู้เสียหายเป็นลูกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ส่วนจำเลยเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าสถานี ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายเพื่อทวงถามเอกสารจากผู้เสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า จำเลยโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหาย ด่าว่าและทวงเอกสารจากผู้เสียหาย ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอยู่ที่สถานีบริการขนส่ง (บขส.) ตำบลท้ายช้าง อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา จำเลยอยู่ที่ส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นสถานที่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าวดูหมิ่น ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

ผู้พิพากษา
จิรนิติ หะวานนท์
พรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว
พิศิฏฐ์ สุดลาภา




ข้อสังเกต


คำพูดที่ผิดกฎหมาย "ดูหมิ่นซึ่งหน้า"

ป-อาญา-มาตรา-393




อีดอก - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2102/2521 จำเลยถ่มน้ำลายไปทางผู้เสียหายและด่าผู้เสียหายว่า พวกอีดอกดำ คำว่าอีดอก เป็นถ้อยคำหยาบคาย สามัญชนฟังแล้วเข้าใจได้ชัดเจนอยู่ในตัวเองว่าผู้ถูกด่า เป็นหญิงไม่ดี จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ปรับ 500 บาท


อีเหี้ย-อีสัตว์ -อีควาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5257/2548 จำเลยด่าว่าผู้เสียหายว่า อีเหี้ย อีสัตว์ อีควาย มึงคิดว่าเมียกูกินเงินไปหรือไง และชี้มือไปที่ผู้เสียหาย ถ้อยคำดังกล่าวนอกจากจะเป็นคำหยาบคายแล้ว ยังมีลักษณะเป็นการเปรียบเทียบผู้เสียหายเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สี่เท้า และกล่าวหาผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายว่าภริยาจำเลยของจำเลยเอาเงินของกลุ่มแม่บ้านไปใช้เป็นการส่วนตัว ถ้อยคำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 (ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ), มาตรา 30 (กักขังแทนค่าปรับ)


อีตอแหล คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8919/2552 ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อผู้เสียหายว่า "อีตอแหล มาดูผลงานของแก" เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่า ถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวหรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า "ตอแหล" ว่า เป็นคำด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ปรับ 200 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ) มาตรา 30 ( กักขังแทนค่าปรับ)


ไอ้ระยำ-ไอ้เบื๊อก-ไอ้ตัวแสบ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1631/2538 หลังจากประธานที่ประชุมกล่าวเปิดประชุมแล้ว จำเลยได้พูดในที่ประชุมซึ่งมีโจทก์และบุคคลอื่นรวมแล้วประมาณ 30 คน เข้าร่วมประชุมว่า "ผมข้องใจว่าไอ้ผู้อำนวยการกองอุทธรณ์มันมานั่งเป็นผู้ช่วยเลขานุการ อ.ก.พ.นี้ได้อย่างไร ผมไม่เคยเสนอชื่อมัน" เมื่อประธานในที่ประชุมได้ชี้แจงให้ทราบแล้ว จำเลยได้พูดขึ้นอีกว่า "ไอ้ระยำ มันไปล็อบบี้มาเพื่อจะมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการเพื่อเอาเบี้ยประชุมไปกินเปล่า ๆ" และจำเลยยังพูดอีกว่า "ไอ้เบื๊อก ไอ้ตัวแสบ มันแส่เข้ามานั่งหาอาวุธด้ามยาวอะไรในที่นี้" เพราะไม่พอใจโจทก์ แม้จำเลยจะชี้หรือไม่ชี้หน้าโจทก์ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เมื่อผู้อำนวยการกองอุทธรณ์และร้องทุกข์มีเพียงตำแหน่งเดียวคือโจทก์ จำเลยย่อมมีความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ตาม ป.อ.มาตรา 393 และฐานกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอายต่อหน้าธารกำนัล ตาม ป.อ. มาตรา 397


เฮงซวย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1623/2551 การดูหมิ่นผู้อื่นอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าวถึง หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวถึงอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นการใส่ความให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326


ตามพจนานุกรมให้หมายความคำว่า "เฮงซวย" ว่า เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ คุณภาพต่ำ ไม่ดี ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยพูดใส่ผู้เสียหายด้วยความไม่พอใจว่า "ไอ้ทนายเฮงซวย" จึงเป็นถ้อยคำที่จำเลยด่าผู้เสียหายเป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นทนายความเฮงซวย เป็นความผิด ฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 (ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ), มาตรา 30( กักขังแทนค่าปรับ)


ผู้หญิงต่ำๆ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2256/2537 จำเลยว่าผู้เสียหายที่ 1 ว่าเป็น ผู้หญิงต่ำ ๆ ต่อหน้าผู้อื่นซึ่งเป็นคำพูดที่เหยียดหยามผู้เสียหายที่ 1 ว่า เป็นผู้หญิงไม่ดี มีศักดิ์ศรีต่ำกว่าผู้หญิงทั่วไป เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายที่ 1ซึ่งหน้า หาใช่เป็นคำพูดในเชิงปรารภปรับทุกข์ไม่ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ปรับ1,ooo บาท


พระหน้าผี-พระหน้าเปรต คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10/2527 จำเลยว่าโจทก์ว่า "พระหน้าผี พระหน้าเปรต ไปฟ้องกู กูไม่กลัว" โจทก์เป็นพระภิกษุซึ่งเป็นบุคคลที่ประชาชนทั่วไปถือว่าควรเคารพ การที่จำเลยว่าโจทก์ด้วยถ้อยคำดังกล่าว จึงเป็นการดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393


มารศาสนา คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3226/2525 คำว่า มารศาสนา ตามความหมายในพจนานุกรม หมายถึง บุคคลผู้มีใจบาปหยาบช้า คอยกีดกันไม่ให้ผู้อื่นทำบุญและกีดกันบุญกุศลที่จะมาถึงตน ซึ่งเป็นบุคคลประเภทที่สาธารณชนย่อมรังเกียจที่จะคบหาสมาคมด้วย จำเลยพูดว่าผู้เสียหายด้วยถ้อยคำดังกล่าวต่อหน้าผู้เสียหาย จึงต้องมีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 โดยโจทก์ไม่ต้องนำสืบอธิบายความหมายอีก เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับ 1,000 บาท


ไอ้หน้าโง่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7572/2542 การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อโจทก์ร่วมว่า "มึงเข้าไปในที่ของกูได้อย่างไร กูจะแจ้งข้อหาบุกรุกมึง มึงเป็นผู้ใหญ่บ้านได้อย่างไร ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้หน้าที่ ไอ้หน้าโง่ มึงต้องเจอกับกูแน่ที่ศาล" นั้น เห็นได้ว่าสรรพนามที่จำเลยใช้แทนตัวจำเลยและโจทก์ร่วมว่า กูและมึงนั้น เป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพ ส่วนถ้อยคำในทำนองว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่มีอำนาจหน้าที่ ไม่รู้กฎหมายและจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมนั้น เป็นเพียงถ้อยคำต่อว่าโจทก์ร่วมที่เข้าไปในที่ดินของพ่อตาจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต และแสดงเจตนาที่จะดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมเท่านั้น ไม่ใช่ถ้อยคำที่ดูถูกเหยียดหยามโจทก์ร่วม แต่ที่จำเลยว่าโจทก์ร่วมว่าไอ้หน้าโง่ นั้น ถ้อยคำดังกล่าวแสดงอยู่ในตัวถึงการหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ร่วม แม้จะเป็นการกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นโจทก์ร่วมในขณที่จำเลยและโจทก์ร่วมทะเลาะกันก็ต้องถือว่าจำเลยกล่าวโดยมีเจตนาดูหมิ่นโจทก์ร่วม พิพากษาปรับจำเลย 1,000 บาท


อีร้อย...(ตามด้วยคำลามก), อีดอกทอง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1442/2495 ด่าเขาว่า "อีร้อย.... อีดอกทอง" เป็นคำด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทซึ่งหน้าตาม กฎหมายลักษณะอาญามาตรา 339(2)



กฎหมายลักษณอาญา-มาตรา-339




ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๓ ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม

มาตรา ๑๗๒

หมวด ๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม

ลักษณะ ๓ ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม

หมวด ๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม

 

     มาตรา ๑๗๒  ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๑๗๒  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๕๔ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา

  สื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก บางท่านใช้งานอย่างสนุกสนายจนลืมไปว่า มีกฎหมายคุ้มครองการใช้งานอยู่หลายประการ สิ่งพื้นฐานที่ทุกคนควรรู้ และ สำนึกในความรับผิดชอบและใช้งานอย่างมีขอบเขต

  กฎหมายที่เกี่ยวข้องมากที่สุดคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ,มาตรา 328 และ มาตรา 393

แต่หากผู้เสียหายไปแจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาการกลั่นแกล้งแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ก็อาจจะถูกดำเนินคดีกลับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ได้เช่นกัน

หมิ่นประมาท

0 0 votes
Article Rating
(Visited 10,663 times, 3 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments