ประมวลกฎหมายอาญา-มาตรา-83-ตัวการร่วม

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 (ตัวการร่วม)

ภาค 1, ประมวลกฎหมายอาญา, กฎหมายอาญา1, กฎหมาย, สรุปจากตำรา

 

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา หนังสือประมวลกฎหมายอาญา point

ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป

มาตรา ๘๓

หมวด ๖ ตัวการและผู้สนับสนุน

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป

หมวด ๖ ตัวการและผู้สนับสนุน

 

     มาตรา ๘๓  ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น



คำอธิบาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83


ตัวการในการกระทำความผิด คือ บุคคลที่มีการกระทำร่วมและเจตนาร่วมกับบุคคลอื่นในการกระทำความผิดอาญา
การกระทำร่วมกันอาจเป็นกรณีที่บุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปร่วมกระทำส่วนใดส่วนหนึ่งอันเป็นองค์ประกอบความผิด หรือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ หรือร่วมอยู่ในที่เกิดเหตุในลักษณะที่สามารถเข้าช่วยเหลือผู้กระทำคนอื่นทันทีก็ได้ ผู้กระทำความผิดทุกคนมีเจตนาร่วมกัน ได้รู้ถึงการกระทำของกันและกัน และต่างถือเอาการกระทำของคนอื่นเป็นการกระทำของตนเอง การรับโทษของตัวการแต่ละคนต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการกระทำที่เป็นความผิดนั้น แต่อาจจะรับโทษเท่ากันหรือไม่ก็ได้

ดังนั้น หลักเกณฑ์ของการเป็น "ตัวการร่วม" คือ
1. มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
2. ได้ร่วมกันกระทำความผิดด้วยกัน
3. มีเจตนาที่จะร่วมกันกระทำความผิดนั้น

1. ต้องมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เพราะหากมีบุคคลคนเดียวกระทำความผิด ผู้นั้นก็ต้องรับโทษฐานเป็นผู้กระทำความผิดนั้นๆ อยู่แล้ว แต่หากเป็นบุคคลหลายคนร่วมกันทำความผิด จึงถือว่า เป็นตัวการ หากต่างคนต่างทำ เช่น ร้านขายของสะดวกซื้อ นาย ก เดินเข้าไปขโมยบุหรี่ นาย ข ที่ไม่รู้จักนาย ก เห็นเช้า ก็ถือโอกาสตอนเจ้าของร้านเผลอ ขโมยเหล้าไป ดังนี้ เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดในการกระทำของตนเอง

ดังนั้น การที่จะเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดนั้น ต้องเป็นบุคคลตั้งแต่ 2 คนร่วมกันในความผิดนั้นๆ เช่น การตกลงกันที่จะเข้าไปลักทรัพย์ 2 คนเป็นต้น

2. ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ซึ่งอาจเป็นการแบ่งหน้า
ที่กันทำเพื่อให้ความผิดนั้นสำเร็จ ในการกระทำที่ร่วมกันนั้น บางหน้าที่นั้น บางการกระทำก็เป็นความผิดในตัวมันเอง เช่น นาย ก ตีหัวนาย ข และให้นาย ค เป็นคนล้วงเงินในกระเป๋าและปลดสร้อย ก็ถือเป็นการร่วมกันกระทำความผิด ฐาน ชิงทรัพย์ บางหน้าที่อาจไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย เช่น นาย ก ต้องการจะยิงนาย แต่เนื่องจากอยู่ในที่มืด นาย ค ซึ่งเตรียมการมาแล้วกับนาย ก จึงฉายไฟไปยังคนที่ต้องการจะยิง นาย ข ถูกยิงถึงแก่ความตาย นาย ก และนาย ค มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกัน ฆ่านาย ข

3. มีเจตนาที่จะร่วมกันกระทำความผิดนั้น หมายความว่า บุคคล 2 คนขึ้นไป ร่วมกันกระทำความผิด จะต้องมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิด คือ ต้องรู้สึกในการกระทำและประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น แต่หากไม่มีเจตนาร่วมกันมาตั้งแต่แรก ก็ไม่ถือว่าเป็นตัวการร่วม อาจเป็นผู้กระทำความผิดในอีกฐานความผิดหนึ่ง หรือเป็นผู้สนับสนุนในฐานความผิดนั้นๆ ที่เข้าร่วมได้


คำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1423/2535

คำพิพากษาย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 8 (1) กำหนดให้ศาลคดีเด็กและเยาวชนมีอำนาจเช่นเดียวกับศาลจังหวัดในคดีอาญาที่มีข้อหาว่า เด็กหรือเยาวชนกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเว้นแต่คดีอาญาที่มีข้อหาว่า เยาวชนซึ่งอายุเกินสิบหกปีบริบูรณ์กระทำความผิดในเหตุฉกรรจ์บางประเภทตามที่ระบุไว้รวมทั้งความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยที่ 5 มีอายุเกินกว่าสิบหกปีบริบูรณ์และกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้จะกระทำความผิดในท้องที่ที่มีศาลคดีเด็กและเยาวชนเปิดดำเนินการแล้วก็ตาม เมื่อเป็นความผิดที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จำเลยที่ 5 ร่วมกับพวกอีก 4 คน พากันขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารขณะที่พวกจำเลยทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอยู่นั้น จำเลยที่ 5 ยืนโหนบันไดรถบังไม่ให้คนอื่นเห็นการปล้นทรัพย์ที่พวกจำเลยกระทำอยู่เป็นการร่วมกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 5จึงเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานปล้นทรัพย์ การกำหนดโทษและการไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย สำหรับความผิดที่ร่วมกันเป็นตัวการปล้นทรัพย์ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุในลักษณะคดี เมื่อศาลฎีกาพิพากษาลดมาตราส่วนโทษและลดโทษให้จำเลยที่ฎีกา ย่อมมีอำนาจพิพากษาเลยไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าโดยจำเลยที่ 3 มีมีดเป็นอาวุธร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 371, 83 คืนของกลางแก่เจ้าของ ริบมีดปลายแหลม และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อีกกระทงหนึ่ง จำเลยที่ 5กระทำผิดเมื่ออายุ 17 ปีเศษ มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแล้วไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 15 ปี จำเลยที่ 3 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานปล้นทรัพย์ จำคุก 15 ปี ฐานพาอาวุธมีดไปในเมืองโดยไม่มีเหตุสมควรปรับ 90 บาท ทางนำสืบของจำเลยทุกคนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยคนละหนึ่งในสามแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 10 ปี จำเลยที่ 3 จำคุก 10 ปีและปรับ 60 บาท คืนนาฬิกาของกลางให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ริบมีดปลายแหลม คำขอนอกจากนี้ให้ยก บังคับค่าปรับจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 8 (1) กำหนดให้ศาลคดีเด็กและเยาวชนมีอำนาจเช่นเดียวกับศาลจังหวัดในคดีอาญาที่มีข้อหาว่า เด็กหรือเยาวชนกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเว้นแต่คดีอาญาที่มีข้อหาว่า เยาวชนซึ่งอายุเกินสิบหกปีบริบูรณ์กระทำความผิดในเหตุฉกรรจ์บางประเภทตามที่ระบุไว้รวมทั้งความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยที่ 5 มีอายุเกินกว่าสิบหกปีบริบูรณ์และกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์แม้จะกระทำความผิดในท้องที่ที่มีศาลคดีเด็กและเยาวชนเปิดดำเนินการแล้วก็ตาม เมื่อเป็นความผิดที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชนศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
จำเลยที่ 5 ร่วมกับพวกอีก 4 คน พากันขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารขณะที่พวกจำเลยทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอยู่นั้น จำเลยที่ 5 ยืนโหนบันไดรถบังไม่ให้คนอื่นเห็นการปล้นทรัพย์ที่พวกจำเลยกระทำอยู่เป็นการร่วมกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานปล้นทรัพย์
การกำหนดโทษและการไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย สำหรับความผิดที่ร่วมกันเป็นตัวการปล้นทรัพย์ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็นเหตุในลักษณะคดี เมื่อศาลฎีกาพิพากษาลดมาตราส่วนโทษและลดโทษให้จำเลยที่ฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาเลยไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยทั้งห้าคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ให้จำคุกคนละ 8 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยทั้งห้าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78 ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 5 ปี 4 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้พิพากษา
เพ็ง เพ็งนิติ
เจริญ นิลเอสงฆ์
บุญธรรม อยู่พุก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6764/2545

คำพิพากษาย่อสั้น
การกระทำความผิดโดยประมาทเป็นการกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา จึงไม่อาจมีการร่วมกันกระทำในลักษณะที่เป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 83 นั้น ไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา แต่ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 , 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบน่าเชื่อว่าไฟที่เกิดจากกองไม้ที่จำเลยทั้งสองเผาได้ลุกลามเข้าไปทางกอไผ่แล้วลุกไหม้สวนยางพาราของโจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งอยู่ติดกัน แม้จำเลยทั้งสองเผากองไม้ในที่ดินของบิดาจำเลยที่ 1 แต่ขณะเกิดเหตุเป็นช่วงหน้าแล้งและติดกับที่ดินของบิดาจำเลยที่ 1 มีสวนยางพาราของผู้อื่นอยู่ด้วย จำเลยทั้งสองควรจะใช้ความระมัดระวังป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามไหม้ทรัพย์สินของผู้อื่น แต่จำเลยทั้งสองหาได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง
อนึ่ง การกระทำความผิดโดยประมาทเป็นการกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา จึงไม่อาจมีการร่วมกันกระทำในลักษณะที่เป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 ประกอบมาตรา 83 และศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน นั้นไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาแต่ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225 จำคุกคนละ 2 ปี และปรับจำเลยทั้งสองคนละ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติรวม 6 ครั้ง ตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด ให้จำเลยทั้งสองกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 20 ชั่วโมง ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยทั้งสองเห็นสมควร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9
ผู้พิพากษา
สบโชค สุขารมณ์
ชูชาติ ศรีแสง
ธีระวัฒน์ ภัทรานวัช



ข้อสังเกต


ตัวการในการกระทำความผิด คือ บุคคลที่มีการกระทำร่วมและเจตนาร่วมกับบุคคลอื่นในการกระทำความผิดอาญา
การกระทำร่วมกันอาจเป็นกรณีที่บุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปร่วมกระทำส่วนใดส่วนหนึ่งอันเป็นองค์ประกอบความผิด หรือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ หรือร่วมอยู่ในที่เกิดเหตุในลักษณะที่สามารถเข้าช่วยเหลือผู้กระทำคนอื่นทันทีก็ได้ ผู้กระทำความผิดทุกคนมีเจตนาร่วมกัน ได้รู้ถึงการกระทำของกันและกัน และต่างถือเอาการกระทำของคนอื่นเป็นการกระทำของตนเอง การรับโทษของตัวการแต่ละคนต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการกระทำที่เป็นความผิดนั้น แต่อาจจะรับโทษเท่ากันหรือไม่ก็ได้

ประมวลกฎหมายอาญา-มาตรา-83




 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 59)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 59 ปีการศึกษา 2549
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 24 กันยายน 2549

 

คำถาม


ข้อ 5.   นายแก่น นายกล้า และนายเขียววางแผนจะไปปล้นทรัพย์ที่บ้านนายรวยโดยตกลงกันว่า ให้นายแก่น เป็นผู้เข้าไปควบคุมและทําร้ายนายรวยเพื่อความสะดวกในการปล้นทรัพย์ หากขัดขืนก็ให้ฆ่านายรวยได้ คืนต่อมา ทั้งสามคนได้เข้าไปในบ้านของนายรวย นายแก่นตามหานายรวยไม่พบ เพราะนายรวยแอบไปอยู่บนหลังคาบ้าน เมื่อนายกล้าและนายเขียวเอาทรัพย์ไปจนเป็นที่พอใจแล้ว ขณะที่กําลังจะออกจากบริเวณบ้าน สุนัขของนายรวยเห่านายแก่นกับพวก นายแก่นจึงเอาอาวุธมีดที่นําติดตัวไปด้วย ฟันสุนัขของนายรวยตาย
ให้วินิจฉัยว่า นายแก่น นายกล้า และนายเขียวมีความผิดฐานใด หรือไม่


ธงคำตอบ

 แม้นายแก่น นายกล้า และนายเขียวเจตนาไปปล้นทรัพย์นายรวยก็ตาม แต่เมื่อบุคคลทั้งสามไม่ได้ใช้กําลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้ายบุคคลใดในการลักทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ดังนั้น แม้จะร่วมกระทําความผิดตั้งแต่สามคนขึ้นไปย่อมไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 คงมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและร่วมกระทําความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปในเคหสถานตามมาตรา 335 (1), (7), (8) วรรคสอง และมีความผิดฐานบุกรุกตามมาตรา 365 (2), (3) ประกอบมาตรา 364
การที่นายแก่นใช้มีดฟันสุนัขของนายรวยจนตาย บุคคลทั้งสามย่อมมีความผิดฐานร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358, 83 อีกด้วย (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 375/2533)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 60)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 60 ปีการศึกษา 2550
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 30 กันยายน 2550

 

คำถาม


ข้อ 3.  นายชมและนายชิตวางแผนกันไปฆ่านายชื่น นายชมจัดหาปืนให้นายชิตเพื่อให้ใช้ยิงนายชื่น โดยนายชมจะทําหน้าที่ดูต้นทาง นายชมและนายชิตไปดักซุ่มยิงอยู่ตรงบริเวณที่นายชื่นจะเดินมา เมื่อนายชื่นมาถึง นายชิตใช้ปืนนั้นยิงไปที่นายชื่นแต่ยังไม่ถูก นายชมซึ่งดูต้นทางอยู่ใกล้ๆ กลัวความผิดจึงวิ่งหนีกลับไปบ้านเสียก่อน ส่วนนายชิตได้ติดตามนายชื่นไปโดยลําพังและใช้ปืนกระบอกนั้นยิงนายชื่นถึงแก่ความตาย
ให้วินิจฉัยว่า นายชิตและนายชมจะมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  นายชิตมีความผิดฐานฆ่านายชื่นโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) เพราะนายชิตวางแผนกับนายชมไปฆ่านายชื่นและไปดักยิง (คําพิพากษาฎีกาที่ 433/2546)
นายชมเป็นตัวการร่วมกับนายชิตในความผิดฐานพยายามฆ่านายชื่นเท่านั้น เพราะนายชมมีการกระทําร่วมกันและมีเจตนาร่วมกันกับนายชิตในขณะที่การกระทําของนายชิตต่อนายชื่นอยู่ในขั้นพยายามฆ่า นายชมจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 83
แต่นายชมเป็นผู้สนับสนุนนายชิต ในความผิดที่นายชิตกระทําต่อนายชื่นฐานฆ่านายชื่นโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพราะปืนที่นายชิตใช้ยิงนายชื่นนั้น นายชมเป็นผู้จัดหาให้ เป็นการช่วยเหลือก่อนการกระทําความผิด นายชมจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 86 ด้วย

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 60)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 60 ปีการศึกษา 2550
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 30 กันยายน 2550

 

คำถาม


ข้อ 5.   นางสวยและนางสดเดินทางกลับจากไปเที่ยวต่างจังหวัด ระหว่างเดินอยู่ในซอยเปลี่ยวก่อนถึงบ้าน นายหนึ่ง ขับรถจักรยานยนต์ซึ่งมีนายสองและนายสามนั่งซ้อนท้ายมาจอดที่นางสวยและนางสด นายสองและนายสามซึ่งไม่รู้จักกับนางสวยและนางสดลงจากรถจักรยานยนต์ โดยนายสองเดินไปที่นางสวย ส่วนนายสามเดินไปที่นางสด นายสอง พูดกับนางสวยว่า ขอเงินใช้หน่อย นางสวยตอบว่า ไม่มี นายสองพูดในลักษณะขึงขังว่า อย่าให้ค้นเจอนะ แล้วใช้มือตบกระเป๋ากางเกงนางสวย นางสวยกลัวจึงส่งเงินให้ 100 บาท ส่วนนายสามพูดกับนางสดด้วยเสียงดังว่า มีเงินไหม นางสดรีบล้วงเงินจากกระเป๋ากางเกงส่งให้นายสาม 500 บาท ด้วยความกลัว จากนั้นนายสองและนายสามกลับไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์แล้วนายหนึ่งรีบขับรถออกไปทันที
ให้วินิจฉัยว่า นายหนึ่ง นายสอง และนายสามมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 นายหนึ่ง นายสองและนายสามนั่งรถจักรยานยนต์มาด้วยกันแล้วนายหนึ่งขับรถตรงเข้าหานางสวย และนางสดในซอยเปลี่ยว จากนั้นนายสองและนายสามลงจากรถไปพูดขอเงินจากนางสวยและนางสดโดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อนนั้น แม้นายสองและนายสามจะไม่ได้พูดว่าหากไม่ส่งเงินให้จะทําร้ายนางสวยและนางสด แต่การแสดงออกของนายสองและนายสามเป็นการคุกคามนางสวยและนางสดให้กลัวว่าจะถูกทําร้ายหากไม่ให้เงิน การที่นายสองพูด กับนางสวยว่าอย่าให้ค้นเจอนะ แล้วใช้มือตบกระเป๋ากางเกงนางสวยนั้นเป็นการขู่เข็ญนางสวยทั้งกิริยาและวาจา โดยมีความหมายว่าถ้านางสวยไม่ให้เงินแก่นายสอง หากนายสองค้นใด้นางสวยจะถูกทําร้าย และการที่นายสาม พูดด้วยเสียงอันดังทําให้นางสดต้องรีบล้วงเงินมาส่งให้ด้วยความกลัว การกระทําดังกล่าวเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้น จะใช้กําลังประทุษร้ายเพื่อให้นางสวยยื่นให้ซึ่งทรัพย์เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ และการที่นายหนึ่งขับรถจักรยานยนต์ ตรงมาหานางสวยและนางสดแล้วนายสองกับนายสามลงจากรถแยกไปเอาเงินจากนางสวยและนางสด เมื่อได้เงินแล้ว นายหนึ่งขับรถพานายสองและนายสามไปจากที่เกิดเหตุทันที ถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทํา อันเป็นการร่วมกันกระทําความผิด นายหนึ่ง นายสองและนายสาม จึงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก, 340 ตรี , 83

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 61)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 61 ปีการศึกษา 2551
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 22 กันยายน 2551

 

คำถาม


ข้อ 5.   นายก้างกับนายกรอบยืนดักคอยล้วงกระเป๋าผู้ที่เข้าไปพักผ่อนหย่อนใจและชมการแสดงดนตรีในสวนสาธารณะแห่งหนึ่ง ขณะนั้นนางสาวผุดผ่องกําลังยืนดูดนตรีกับนายกล้ามคนรัก นายก้างบอกให้นายกรอบเข้าไปกระตุกสร้อยคอของนางสาวผุดผ่องที่ห้อยออกมานอกเสื้อ นายกรอบทําท่าลังเล นายก้างจึงเข้าไปกระตุกสร้อยคอวิ่งหนีไป ส่วนนายกรอบถูกนายกล้ามจับตัวไว้ จึงร้องตะโกนเรียกให้นายก้างช่วย นายก้างจึงย้อนกลับไป ใช้อาวุธมีดที่นําติดตัวมาขู่นายกล้ามว่า หากไม่ยอมปล่อยตัวนายกรอบจะแทงให้ตาย นายกล้ามกลัวจึงปล่อยตัวนายกรอบไป
ให้วินิจฉัยว่า นายก้างและนายกรอบมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 การที่นายก้างตัดสินใจเข้าไปกระตุกสร้อยคอของนางสาวผุดผ่องตามลําพังเป็นการฉกฉวยเอาทรัพย์ไปซึ่งหน้า นายก้างจึงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ส่วนนายกรอบ มิได้มีเจตนาร่วมในการกระตุกสร้อยคอด้วย จึงไม่เป็นตัวการในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ คงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (7) เท่านั้น หลังจากนั้น นายก้างได้ย้อนกลับไปใช้อาวุธมีดขู่ นายกล้ามว่าจะแทงให้ตายหากไม่ยอมปล่อยตัวนายกรอบ จึงเป็นการขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กําลังประทุษร้าย เพื่อให้นายกรอบพ้นจากการจับกุม โดยการขู่เข็ญเกิดจากการขอร้องของนายกรอบและยังไม่ขาดตอนจากการวิ่งราวทรัพย์ (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 600/2544) การกระทําของนายก้างและนายกรอบจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตามมาตรา 339, 83 เมื่อร่วมกันกระทําความผิดตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป และกระทําโดยมีอาวุธ ต้องด้วยลักษณะที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 335 (7) นายก้างและนายกรอบ จึงต้องรับโทษตามมาตรา 339 วรรคสอง

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 62)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 62 ปีการศึกษา 2552
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 27 กันยายน 2552

 

คำถาม


ข้อ 3.   นายเขียว นายม่วง และนายเหลืองไม่ชอบหน้านายฟ้า ระหว่างที่ทั้งสามคนกําลังยืนคุยกันอยู่ นายฟ้าเดินผ่านมาพอดี ทั้งสามคนจึงร่วมกันแกล้งนายฟ้าโดยนายเหลืองมอบปืนให้แก่นายเขียว นายเขียวใช้ปืนกระบอกนั้นยิ่งลงไปที่พื้นดิน 1 นัด ในขณะที่นายฟ้ากําลังเดินมาหานายเขียวและอยู่ห่างจากนายเขียวประมาณ 2 วา ขณะที่นายเขียวยิงปืน นายม่วง ทําหน้าที่ยืนบังอยู่ใกล้ ๆ ไม่ให้บุคคลอื่นเห็นการกระทําของนายเขียว ส่วนนายเหลืองไปดูลาดเลาอยู่ห่างจากจุดที่นายเขียวยิงประมาณ 120 เมตร โดยจุดนั้นไม่สามารถมองเห็นการยิงปืนได้ ปรากฏว่ากระสุนปืนที่นายเขียวยิ่งไปที่พื้นดินดังกล่าวถูกนายฟ้าได้รับอันตรายแก่กาย นายเขียวตกใจที่เหตุการณ์เป็นเช่นนั้นและสํานึกผิดด้วยการพานายฟ้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจนนายฟ้าปลอดภัย
ให้วินิจฉัยว่า นายเขียว นายม่วง และนายเหลืองมีความผิดฐานใด หรือไม่


ธงคำตอบ

  การที่นายเขียวใช้ปืนยิงลงไปที่พื้นดิน 1 นัด ในขณะที่นายฟ้ากําลังเดินมาหานายเขียวและอยู่ห่างจากนายเขียวประมาณ 2 วา นายเขียวย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทําได้ว่า กระสุนปืนอาจถูกนายฟ้าใต้ เมื่อกระสุนปืนถูกนายฟ้าได้รับอันตรายแก่กาย ถือว่านายเขียวมีเจตนาทําร้ายร่างกายนายฟ้า นายเขียวจึงมีความผิดฐานทําร้ายร่างกายนายฟ้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 (คําพิพากษาฎีกาที่ 234/2529)
นายม่วงทําหน้าที่ยืนบังอยู่ใกล้ ๆ ไม่ให้บุคคลอื่นเห็นการกระทําของนายเขียวเป็นการร่วมกระทําความผิดโดยการแบ่งหน้าที่กันทํา จึงเป็นตัวการร่วมกันในการทําร้ายร่างกายนายฟ้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบ มาตรา 83 (คําพิพากษาฎีกาที่ 1423/2535)
นายเหลืองอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุถึง 120 เมตร และจุดนั้นไม่สามารถมองเห็นที่เกิดเหตุได้ จึงไม่ใช่การกระทําร่วมกัน ในขณะกระทําความผิด (คําพิพากษาฎีกาที่ 346/2529) นายเหลืองจึงไม่เป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ในความผิดตามมาตรา 295 แต่นายเหลืองเป็นผู้สนับสนุนให้กระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 ประกอบ มาตรา 86 เพราะช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนการกระทําความผิดของนายเขียวด้วยการมอบปืนให้แก่นายเขียว และนายเขียวใช้ปืนกระบอกนั้นยิงลงไปที่พื้นดิน
การที่นายเขียวสํานึกผิดพานายฟ้าไปรักษาพยาบาลจนปลอดภัยไม่ใช่การกลับใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 เพราะจะเป็นการกลับใจได้ การกระทําของนายเขียวต้องอยู่ในขั้นพยายามกระทําความผิด และนายเขียวกลับใจ แก้ไข ไม่ให้การกระทํานั้นบรรลุผล เมื่อการกระทําของนายเขียวบรรลุผลเป็นความผิดสําเร็จฐานทําร้ายร่างกายนายฟ้าแล้ว กรณีจึงไม่ใช่การกลับใจตามมาตรา 82 แต่อย่างใด

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 63)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 63 ปีการศึกษา 2553
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 26 กันยายน 2553

 

คำถาม


ข้อ 4.   นายปิงกับนายวังร่วมกันแจ้งต่อนางหวานเจ้าหน้าที่ปกครอง สํานักงานทะเบียนอําเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธรว่า นายวังชื่อนายน่าน เป็นบุตรของนายปิง ขอทําบัตรประจําตัวประชาชนใหม่ เนื่องจากบัตรเดิมสูญหาย นางหวานจึงให้บุคคลทั้งสองไปพบนายเค็มปลัดอําเภอเลิงนกทาเพื่อทําการสอบสวน นายเต็มสอบสวนแล้วแจ้งให้นายปิงไปหาบุคคลมารับรองตัวนายวัง นายปิงจึงไปตามนายยมมา และนายยมได้ลงชื่อรับรองในบันทึกคําให้การรับรองบุคคลด้านหลังคําขอมีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจําตัวประชาชนว่านายวังชื่อนายน่าน โดยนายปิง นายวัง และนายยม รู้ว่านายน่านถึงแก่ความตายไปแล้ว ก่อนที่นายปิงกับนายวังมาแจ้งต่อนางหวานและนายเค็มผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานบัตรประจําตัวประชาชน
ให้วินิจฉัยว่า นายปิง นายวัง และนายยมมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 การที่นายปิงกับนายวังร่วมกันแจ้งต่อนางหวานเจ้าหน้าที่ปกครองและนายเค็มปลัดอําเภอผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานบัตรประจําตัวประชาชนว่า นายวังชื่อนายน่านเป็นบุตรของนายปิง ขอทําบัตรประจําตัวประชาชนใหม่เนื่องจากบัตรเดิมสูญหาย โดยนายปิงกับนายวังรู้ว่านายน่านถึงแก่ความตายไปก่อนแล้วจึงเป็นการแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทําการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สําหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ เจ้าพนักงานซึ่งอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายด้วย นายปิงกับนายวังจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 137 ประกอบมาตรา 83
ส่วนนายยมแม้รู้ว่านายน่านถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว แต่นายยมเป็นเพียงแต่ลงชื่อรับรองตัวบุคคลโดยที่มิได้ร่วมกับนายปิงและนายวังแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ การกระทําของนายยมจึงเป็นการกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิด นายยม จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 137 ประกอบมาตรา 86 (คําพิพากษาฎีกาที่ 2502/2550)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 66)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 66 ปีการศึกษา 2556
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 29 กันยายน 2556

 

คำถาม


ข้อ 3.   นายมั่นขับรถจักรยานยนต์ให้นายคงนั่งซ้อนท้ายแล่นไปตามถนนเพื่อวิ่งราวทรัพย์ นายคงกระชากกระเป๋าของนางสาวบีได้ นายมั่นขับรถจักรยานยนต์หลบหนี นายเอเห็นเหตุการณ์จึงขับรถยนต์ติดตามรถจักรยานยนต์ของนายมั่นไปเพื่อจับกุม นายคงเห็นว่านายเอขับรถยนต์ตามมาจึงชักอาวุธปืนยิงไปที่ นายเอ 1 นัด กระสุนไม่ถูกผู้ใด และนายมั่นไม่ทราบว่านายคงมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย
ให้วินิจฉัยว่า นายมั่นและนายคงมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  นายมั่นและนายคงเป็นตัวการร่วมกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 โดยการแบ่งหน้าที่กันทําในการกระชากกระเป๋าของนางสาวบี จึงมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามมาตรา 336 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เมื่อมีการใช้รถจักรยานยนต์เพื่อสะดวกแก่การกระทําผิด การพาทรัพย์นั้น
ไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม จึงต้องระวางโทษหนักกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้อีกกึ่งหนึ่งตามมาตรา 336 ทวิ
นายคงชักปืนยิงนายเอเพื่อให้พ้นจากการจับกุม จึงเป็นลักทรัพย์โดยการใช้กําลังประทุษร้าย เพื่อให้พ้นจากการจับกุม นายคงจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ เมื่อเป็นการลักทรัพย์ตามมาตรา 335 (7) จึงมีความผิด ตามมาตรา 339 วรรคสอง และเป็นการชิงทรัพย์โดยมีอาวุธปืน จึงต้องระวางโทษหนักกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้อีกกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 340 ตรี เมื่อนายคงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ด้วยอีก ส่วนนายมั่นไม่มีการกระทําร่วมกันและไม่มีเจตนาร่วมกันในการกระทําความผิดดังกล่าวกับนายคง นายมั่นจึงไม่ เป็นตัวการตามมาตรา 83 ร่วมกับนายคงในความผิดในส่วนนี้ด้วย
นายคงใช้อาวุธปืนยิงนายเอเพื่อจะเอาหรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทําความผิดอื่น และได้ลงมือกระทําไปตลอดแล้ว แต่การกระทําไม่บรรลุผล นายคงจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (7) ประกอบมาตรา 80 แต่นายคงกระทําผิดฐานนี้ตามลําพัง นายมั่นไม่ทราบว่านายคงมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย และไม่ได้คบคิดกับนายคงมาก่อน และไม่มีการกระทําร่วมกับนายคง จึงไม่เป็นตัวการตามมาตรา 83 นายมั่นไม่มีความผิดฐานนี้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 896/2545)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 67)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 67 ปีการศึกษา 2557
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 28 กันยายน 2557

 

คำถาม


ข้อ 4.   นายอรุณได้ปลอมใบรับรองเงินฝากว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2556 นายอรุณมีเงินฝากอยู่ในบัญชีเงินฝากของธนาคารไทย จํากัด (มหาชน) จํานวน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ครบกําหนดจ่ายคืนผู้ฝากหรือผู้ถือใบรับรองเงินฝากหรือตามคําสั่งในวันที่ 16 เมษายน 2557 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันออกใบรับรอง เงินฝากถึงวันครบกําหนดจ่ายเงินคืน ใบรับรองเงินฝากนี้สามารถเปลี่ยนมือได้ แบ่งแยกและซื้อขายได้ นายอรุณนำใบรับรองเงินฝากดังกล่าวใส่ซองเอกสารของธนาคารมอบให้นายรุ่งเพื่อนสนิทซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารเป็นผู้นําส่งไปยังประเทศอังกฤษ โดยผ่านแผนกไปรษณียภัณฑ์ของธนาคาร นายรุ่งซึ่งทราบดีว่าใบรับรองเงินฝากดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ได้เขียนชุดใบนำส่งไปรษณีย์มอบให้แก่นางสาววันดี พนักงานธนานารผู้มีหน้าที่จัดส่ง เอกสารตามวิธีการของธนาคาร นางสาววันดีตรวจเห็นข้อพิรุธจนพบว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารปลอมจึงไม่จัดส่งเอกสารดังกล่าว ข้อเท็จจริงได้ความว่าธนาคารไม่เคยออกใบรับรองเงินฝากให้นายอรุณเลย
ให้วินิจฉัยว่า นายอรุณ และนายรุ่ง มีความผิดฐานได้หรือไม่


ธงคำตอบ

  การที่นายอรุณเป็นผู้ปลอมใบรับรองเงินฝากจํานวน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นทั้งฉบับ เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ทําให้สามารถใช้เอกสารใบรับรองงินฝากนั้นรับเงินฝากคืนจากธนาคารไทย จํากัด (มหาชน) ทั้งสามารถเปลี่ยนมือแบ่งแยกและซื้อขายได้ มีลักษณะเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ จึงเป็นเอกสารที่ก่อให้เกิดสิทธิดังกล่าวแก่นายอรุน ใบรับรองเงินฝากดังกล่าวจึงเป็นเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) การที่นายอรุณปลอมเอกสารใบรับรองเงินฝากเช่นนี้ เป็นการกระทําในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ธนาคาร ผู้อื่น หรือประชาชนแล้ว จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ตามมาตรา 265 และการที่นายอรุณนําใบรับรองเงินฝากดังกล่าวใส่ของ เอกสารของธนาคารมอบให้นายรุ่ง เป็นผู้น้าส่งไปยังประเทศอังกฤษ โดยผ่านแผนกไปรษณียภัณฑ์ของธนาคาร จึงเป็นการใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 อีกด้วย และโดยที่นายอรุณ เป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอมร่วมกับนายรุ่ง จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 และมาตรา 83 แต่กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง
ส่วนนายรุ่ง พนักงานของธนาคารไทย จํากัด (มหาชน) ซึ่งทราบดีว่าใบรับรองเงินฝากเป็นเอกสารสิทธิปลอม แล้วยังจัดส่งเอกสารสิทธิปลอมดังกล่าวไปยังต่างประเทศผ่านแผนกไปรษณียภัณฑ์ในธุรกิจของธนาคาร โดยการปิดผนึกซอง เขียนชุดใบนําส่งไปรษณีย์มอบให้แก่นางสาววันดี พนักงานของธนาคาร ผู้มีหน้าที่จัดส่งเอกสารของธนาคาร การกระทําของนายรุ่งจึงเป็นการลงมือใช้หรืออ้างเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารปลอม ถือเป็นความผิดสําเร็จโดยไม่ต้องรอผลของการใช้หรืออ้างให้ผู้รับหรือผู้ถูกอ้างจะได้รับเอกสารสิทธิปลอม ที่จัดส่งไปเสียก่อน เพราะเมื่อนายรุ่งได้ใช้หรืออ้างเอกสาร การกระทําของนายรุ่งถือได้ว่ากระทําไปในประการ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ธนาคาร ผู้อื่น หรือประชาชนแล้ว ดังนั้น นายรุ่งจึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิริปลอม ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 และมาตรา 83 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1422/2554)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 68)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 68 ปีการศึกษา 2558
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 27 กันยายน 2558

 

คำถาม


ข้อ 1.   นายชัยเป็นเจ้าพนักงานสรรพากรตําแหน่งนักตรวจสอบภาษีชํานาญการมีหน้าที่ตรวจสอบเก็บภาษีในพื้นที่เขตรับผิดชอบ นายชัยได้รับแจ้งจากนายต้นพนักงานขับรถตามสัญญาจ้างเหมาว่ามีผู้ร้องเรียนว่า “ร้านอาหารของนายรวยซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตรับผิดชอบหลบเลี่ยงการเสียภาษี ไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้ลูกค้า” นายชัยจึงชวนนายต้นไปนั่งรับประทานอาหาร ที่ร้านของนายรวยซึ่งในขณะนั้นมีลูกค้าจํานวนมาก นายต้นเรียกนายรวยมาเก็บเงินค่าอาหาร นายชัยพูดขึ้นว่า “เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเก็บภาษีมากินอาหารแค่นี้ต้องเก็บเงินด้วยหรือ” นายรวยเกรงว่าจะถูกตรวจสอบเก็บภาษี จึงไม่เก็บเงินค่าอาหาร วันต่อมานายชัยได้ออกหนังสือราชการเชิญนายรวยไปพบที่สํานักงานสรรพากรพื้นที่นายรวยไปพบตามหนังสือเชิญ นายชัยได้นําหนังสือร้องเรียนให้นายรวยดูและบอกกับนายรวยว่า “ถ้าไม่อยากยุ่งยากเสียเงินห้าหมื่นบาทให้ผมก็จบเรื่อง” นายต้นซึ่งอยู่ในห้องของนายชัยได้พูดเสริมว่า “หากมีเจ้าหน้าที่คนอื่นมาตรวจสอบเก็บภาษีจะเสียเงินเป็นแสน” ซึ่งความจริง นายรวยออกใบเสร็จรับเงินค่าอาหารให้ลูกค้าถูกต้องตามกฎหมายแต่ไม่อยากมีเรื่อง จึงให้เงินแก่นายชัยห้าหมื่นบาท
ให้วินิจฉัยว่า นายชัยและนายต้นมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  นายชัยเจ้าพนักงานสรรพากรตําแหน่งนักตรวจสอบภาษีชํานาญการ มีหน้าที่ในการตรวจสอบเก็บภาษี พูดกับนายรวยเจ้าของร้านว่า “เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเก็บภาษีมากินอาหารแค่นี้ต้องเก็บเงินด้วยหรือ” การกระทําของนายชัยจึงไม่ได้ใช้อำในตําแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจให้นายรวยไม่เก็บค่าอาหาร เพราะนายรวยจะเก็บเงินค่าอาหารหรือไม่ก็ได้ ไม่เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 670/2521)
การที่นายชัยได้นําหนังสือร้องเรียนให้นายรวยดู และพูดกับนายรวยว่า "ถ้าไม่อยากยุ่งยากเสียเงินห้าหมื่นบาทให้ผมก็จบเรื่อง” โดยนายต้นพูดเสริมว่า “หากมีเจ้าหน้าที่คนอื่นมาตรวจสอบภาษีจะเสียเงินเป็นแสน” ซึ่งความจริง นายรวยออกใบเสร็จรับเงินค่าอาหารให้ลูกค้าถูกต้องตามกฎหมาย การกระทําของนายชัยเป็นการใช้อํานาจในตําแหน่งโดยมิชอบ จูงใจเพื่อให้นายรวยมอบเงินให้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1663/2513) และเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามมาตรา 157 ด้วย
ส่วนนายต้นเป็นพนักงานขับรถตามสัญญาจ้างเหมาไม่ใช่บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ จึงไม่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวอันเป็นองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 148 และไม่อาจเป็นตัวการร่วมกับนายชัยในการกระทําความผิดตามมาตรา 148 ประกอบมาตรา 83 ได้ แต่คําพูดดังกล่าวของนายต้นเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทําความผิดของนายชัย ดังนั้น นายต้นจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานใช้อํานาจในตําแหน่งโดยมิชอบ ตามมาตรา 148 ประกอบมาตรา 86

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 68)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 68 ปีการศึกษา 2558
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 27 กันยายน 2558

 

คำถาม


ข้อ 3.  นายหนึ่งและนายสองไปเดินเที่ยวด้วยกัน ได้พบนายอ้วนคู่อริของนายหนึ่งโดยบังเอิญ นายหนึ่งเดินเข้าไปหานายอ้วนและหน้าหาเรื่อง นายอ้วนแสดงท่าทางไม่พอใจ นายสองเกรงว่าจะเกิดเรื่อง จึงชวนนายหนึ่งกลับบ้าน แต่นายหนึ่งไม่เชื่อ เมื่อนายหนึ่งตรงเข้าจะทําร้ายนายอ้วน นายสองดึงตัวนายหนึ่งไว้เพื่อไม่ให้ไปทําร้ายนายอ้วน แต่นายหนึ่งสะบัดหลุดแล้วเข้าไปชกนายอ้วนจนนายอ้วนฟันหัก 1 ซี่ ทันใดนั้นนายหนึ่ง ชักอาวุธปืนจ้องจะยิงนายอ้วน นายสองซึ่งไม่รู้ว่านายหนึ่งมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย จึงร้องบอกนายหนึ่งว่าอย่าทํา และรีบเข้าปัดปืน ทําให้ปืนลั่น กระสุนปืนถูกนายผอมซึ่งอยู่ห่างประมาณ 30 เมตร ถึงแก่ความตาย
ให้วินิจฉัยว่า นายหนึ่งและนายสองมีความผิดฐานใดบ้าง


ธงคำตอบ

  นายหนึ่งชกนายอ้วนจนนายอ้วนฟันหัก 1 ซี่ นายหนึ่งมีความผิด ฐานทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295
นายหนึ่งชักอาวุธปืนจ้องจะยิงนายอ้วน จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านายอ้วนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 การที่กระสุนปืนลั่นไปถูกนายผอมถึงแก่ความตาย เป็นการกระทําโดยมีเจตนาฆ่าโดยพลาด นายหนึ่งจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 60
นายสองไม่มีความผิดดังกล่าวข้างต้นร่วมกับนายหนึ่งด้วย เพราะมิได้เป็นตัวการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ผู้ใช้ ตามมาตรา 84 หรือ ผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 ในการกระทําความผิดของนายหนึ่ง
การที่นายสองเข้าปัดปืนทําให้ปืนลั่นไปถูกนายผอมถึงแก่ความตาย นายสองไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เพราะไม่มีเจตนาฆ่านายผอม และไม่มีความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 291 เพราะนายสองมิได้กระทําโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ เพราะเหตุบุคคลในภาวะเช่นนายสองในขณะนั้น ย่อมไม่อยู่ในวิสัยและพฤติการณ์ที่อาจจะใช้ความระมัดระวังให้มากไปกว่านั้นได้ เนื่องจากเป็นการกระทําในภาวะฉุกเฉิน

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 71)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 71 ปีการศึกษา 2561
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 23 กันยายน 2561

 

คำถาม


ข้อ 3.   นายเอกวางแผนที่จะฆ่านายโทศัตรูของตน จึงเตรียมอาวุธปืนไว้เพื่อจะใช้ยิงนายโท นายเอกชวนนายตรีศัตรูอีกคนหนึ่งของนายโทมาร่วมด้วย โดยบอกนายตรีแต่เพียงว่าจะไปดักทําร้ายนายโท นายตรีไม่รู้ว่านายเอกมีปืนจะไปฆ่านายโท จึงยอมตกลงร่วมไปทําร้ายด้วย โดยนายเอกบอกให้นายตรีเป็นคนดูต้นทางใกล้ ๆ ส่วนนายเอกจะเป็นคนลงมือทําร้าย เมื่อนายโทเดินมาบริเวณนั้น นายเอกใช้ปืนยิงนายโทแต่กระสุนพลาดไปถูก นายจัตวาถึงแก่ความตาย
ให้วินิจฉัยว่า นายเอกและนายตรีมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  นายเอกมีความผิดฐานพยายามฆ่านายโทโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และมีความผิดฐานฆ่านายจัตวาโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาดตามมาตรา 289 (4) ประกอบ มาตรา 60
นายตรีไม่ทราบมาก่อนว่านายเอกมีเจตนาฆ่านายโทและพกพาอาวุธปืนติดตัวมาด้วย จึงไม่เป็นตัวการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ร่วมกับนายเอกในความผิดฐานพยายามฆ่านายโทและความผิดฐานฆ่า นายจัตวาโดยพลาด
แต่นายตรีมีความผิดฐานร่วมกันพยายามทําร้ายร่างกายนายโทโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 83 และฐานร่วมกันทําร้ายนายจัตวาโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจนเป็นเหตุให้นายจัตวาถึงแก่ความตายโดยพลาด ตามมาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 60 และมาตรา 83 (คําพิพากษาฎีกาที่ 6020/2559)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 71)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 71 ปีการศึกษา 2561
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 23 กันยายน 2561

 

คำถาม


ข้อ 4.   นายชิต นายชัย และนายชอบกับพวกอีก 3 คน ประชุมหารือร่วมกันและตกลงกันว่าจะไปวางเพลิงเผาบ้านที่พักอาศัยของนายมั่นที่มีข้อพิพาทเรื่องที่ดินอยู่กับนายชิต ในวันเกิดเหตุนายชัยกับพวกอีก 3 คนดังกล่าว ร่วมกันไปวางเพลิงเผาบ้านของนายมันสําเร็จตามแผนการ ระหว่างเดินทางกลับ เมื่อผ่านมาถึงหน้าร้านขายอาหารของนายคง ซึ่งเป็นเพิงไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง เป็นห้องโล่ง ปลูกอยู่ริมถนน ไม่มีผู้ใดพักอาศัยและรอบ ๆ ไม่มีบ้านเรือนบุคคลอื่นอยู่ นายชัยซึ่งมีสาเหตุส่วนตัวกับนายคงได้วางเพลิงเผาร้านขายอาหารขอนายคงเสียด้วย เป็นเหตุให้โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วยชามภายในร้าน ไม้และกระเบื้องของร้านได้รับความเสียหาย รวมราคาทรัพย์ทั้งสิ้น 5,000 บาท
ให้วินิจฉัยว่า นายชิต นายชัย และนายชอบมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 นายชิต นายชัย และนายชอบกับพวกอีก 3 คน ประชุมหารือร่วมกันและตกลงกันว่าจะไปวางเพลิงเผาบ้านที่พักอาศัยของนายมั่น อันเป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา นายชิต นายชัย และนายชอบจึงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคสอง เมื่อนายชัยกับพวกอีก 3 คนดังกล่าวไปวางเพลิงเผาบ้านของนายมั่นสําเร็จตามแผนการ นายชัยจึงมีความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาโรงเรือนที่คนอยู่อาศัยตามมาตรา 218 (1) ประกอบมาตรา 83 แม้นายชิตและนายชอบจะไม่ได้ไปด้วย เมื่อนายชิตและนายชอบอยู่ด้วยในที่ประชุม แต่ไม่ได้คัดค้านในการตกลงให้กระทําความผิดนั้น จึงมีความผิดฐานร่วมกันวางเพลิงเผาโรงเรือนที่คนอยู่อาศัย ตามมาตรา 218 (1) ด้วย
นายชัยวางเพลิงเผาร้านขายอาหารของนายคง ซึ่งเป็นเพิงไม้ชั้นเดียวยกพื้นสูง เป็นห้องโล่ง ปลูกอยู่ริมถนน ไม่มีผู้ใดพักอาศัยและรอบ ๆ ไม่มีบ้านเรือนบุคคลอื่นอยู่ เป็นเหตุให้โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วยชามภายในร้าน ไม้และกระเบื้อง ของร้านได้รับความเสียหาย รวมราคาทรัพย์ทั้งสิ้นเพียง 5,000 บาท ถือว่าเป็นทรัพย์ที่มีราคาน้อย ทั้งขณะเกิดเหตุ ไม่มีบุคคลอยู่อาศัย ย่อมไม่น่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่น การกระทําของนายชัยจึงเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 223 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 10647/2554)
นายชิตและนายชอบไม่ต้องรับผิดในการกระทําดังกล่าวด้วย เพราะการกระทําดังกล่าวของนายชัยเป็นเรื่องนอกเหนือแผนการที่ตกลงกันไว้ (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1103 - 1104/2492)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 72)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 29 กันยายน 2562

 

คำถาม


ข้อ 1.   นายพอนคนลาวมีบ้านอยู่ในนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โทรศัพท์ไปบอกนายแดงคนไทย ซึ่งมีบ้านอยู่ที่อําเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ว่า นางบัวซึ่งมีบ้านอยู่ติดกันกับบ้านนายพอนที่นครเวียงจันทน์ เก็บทองคําจํานวนมากไว้ที่บ้าน ให้นายแดงกับพวกไปปล้น นายแดงวางแผนการปล้นกับนายดําและพวกซึ่งเป็นคนไทยที่บ้านของนายแดง จากนั้นนายดํากับพวกใช้เรือที่นายแดงจัดเตรียมไว้ให้แล่นข้ามแม่น้ำโขงไปพบนายพอน นายพอนพานายดํากับพวกไปปล้นสําเร็จ แล้วแยกกันหลบหนี นายดํานําทองคําที่ปล้นได้ไปเก็บไว้ที่บ้านของนายดําเพื่อรอแบ่งกัน นางบัวร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ให้ดําเนินคดีแก่นายแดง นายดํา และนายพอน
ให้วินิจฉัยว่า นายแดง นายดํา และนายพอนจะต้องรับโทษในราชอาณาจักรหรือไม่


ธงคำตอบ

 นายแดงร่วมวางแผนการปล้นทรัพย์ที่บ้านของนายแดงซึ่งตั้งอยู่ที่อําเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แต่ไม่ได้ไปร่วมในการปล้นทรัพย์ด้วย จึงไม่เป็นตัวการในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ประกอบมาตรา 83 แต่การใช้บ้านของตนเป็นสถานที่วางแผนในการปล้นทรัพย์และจัดเตรียมเรือไว้ให้นายดํากับพวก ใช้แล่นข้ามแม่น้ำโขงไปปล้น เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นายดํากับพวกในการกระทําความผิดฐานปล้นทรัพย์ ก่อนมีการกระทําความผิด เมื่อนายดํากับพวกกระทําความผิดฐานปล้นทรัพย์ นายแดงจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้อื่นซึ่งกระทําความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามมาตรา 340 ประกอบมาตรา 86 จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ตามมาตรา 4 วรรคแรก
นายดําคนไทยร่วมกับพวกกระทําความผิดฐานปล้นทรัพย์นางบัว คนต่างด้าวนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นความผิดดังระบุไว้ในมาตรา 8 วรรคสอง (9) เมื่อนางบัวได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรท่าบ่อให้ดําเนินคดีแก่นายดํา อันถือได้ว่านางบัวได้ร้องขอให้ลงโทษนายดํา ในราชอาณาจักรตามมาตรา 8 วรรคแรก (ก) นายดําจึงต้องรับโทษในราชอาณาจักร
, นายพอนคนต่างด้าวกระทําความผิดฐานปล้นทรัพย์นางบัวคนต่างด้าวนอกราชอาณาจักร แม้จะได้ร่วมกระทําความผิดกับนายดําและพวกซึ่งเป็นคนไทย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ประกอบมาตรา 83 แต่เมื่อนางบัวผู้เสียหายมิได้เป็นคนไทย ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะขอให้ลงโทษนายพอนในราชอาณาจักรได้ตามมาตรา 8 วรรคแรก (ข) จึงลงโทษนายพอนในราชอาณาจักรไม่ได้

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 72)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 29 กันยายน 2562

 

คำถาม


ข้อ 4.  นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินจากนางโท 500,000 บาท โดยมีที่ดินของตนเป็นประกันหนี้เงินกู้ และมีนายตรีซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางโทลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงิน แต่นายเอกไม่สบายจึงมอบโฉนดที่ดินของตนให้นางโทไปจดทะเบียนจํานองเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้เอง นายเอกจึงทําหนังสือมอบอํานาจโดยมิได้กรอก ข้อความมอบให้แก่นางโท ในวันรุ่งขึ้น นางโทกรอกข้อความในหนังสือมอบอํานาจว่านายเอกมอบอํานาจให้นางโท ไปจดทะเบียนขายที่ดินให้แก่นางโท และนางโทให้นายตรีลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอํานาจ แล้วนายตรีเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนนางโทนําหนังสือมอบอํานาจและโฉนดที่ดินดังกล่าวไปดําเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นของตนที่สํานักงานที่ดิน
ให้วินิจฉัยว่า นางโทและนายตรีมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด หรือไม่


ธงคำตอบ

 นายเอกได้กู้ยืมเงินจากนางโท 500,000 บาท และทําหนังสือมอบอํานาจโดยมิได้กรอกข้อความมอบให้แก่นางโท ก็เพื่อให้นางโทไปจดทะเบียนจํานองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ แต่นางโทกลับไปกรอกข้อความว่า นายเอกมอบอํานาจให้นางโทไปจดทะเบียนขายที่ดินให้แก่นางโท เป็นการกระทําโดยฝ่าฝืนคําสั่งของนายเอก และการที่นางโทนําหนังสือมอบอํานาจดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายเอก จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 264
ส่วนนายตรีเป็นสามีนางโทและลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน แสดงว่านายตรีรู้เรื่องที่นายเอกกู้ยืมเงินจากนางโท และทําหนังสือมอบอํานาจให้นางโทไปจดทะเบียนจํานองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ ดังนั้น การที่นายตรีได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอํานาจที่นางโทได้กรอกข้อความ โดยฝ่าฝืนคําสั่งของนายเอกดังกล่าว พฤติการณ์ถือได้ว่านายตรีเป็นตัวการร่วมกับนางโทในการปลอมหนังสือมอบอํานาจด้วย และการปลอมหนังสือมอบอํานาจดังกล่าวก็โดยมีเจตนาจะนําไปใช้ในการจดทะเบียนโอนที่ดินมาเป็นของนางโท แม้นายตรีจะไม่ได้ไปด้วยในวันที่นําหนังสือมอบอํานาจปลอมไปจดทะเบียนโอนที่ดิน เนื่องจากเดินทางไปต่างประเทศ แต่เมื่อนายตรีร่วมกระทําผิดกับนางโทมาตั้งแต่ต้น ทั้งเป็นสามีภริยากันมีส่วนได้เสียในที่ดินที่รับโอน ถือได้ว่านายตรีเป็นตัวการร่วมในการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมด้วย จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 264, 83 (คําพิพากษาฎีกาที่ 176/2537)

ประมวลกฎหมายอาญา-มาตรา-83-ตัวการร่วม
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ตัวการร่วม

   ตัวการในการกระทำความผิด คือ บุคคลที่มีการกระทำร่วมและเจตนาร่วมกับบุคคลอื่นในการกระทำความผิดอาญา
การกระทำร่วมกันอาจเป็นกรณีที่บุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปร่วมกระทำส่วนใดส่วนหนึ่งอันเป็นองค์ประกอบความผิด หรือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ หรือร่วมอยู่ในที่เกิดเหตุในลักษณะที่สามารถเข้าช่วยเหลือผู้กระทำคนอื่นทันทีก็ได้ ผู้กระทำความผิดทุกคนมีเจตนาร่วมกัน ได้รู้ถึงการกระทำของกันและกัน และต่างถือเอาการกระทำของคนอื่นเป็นการกระทำของตนเอง การรับโทษของตัวการแต่ละคนต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการกระทำที่เป็นความผิดนั้น แต่อาจจะรับโทษเท่ากันหรือไม่ก็ได้

0 0 votes
Article Rating
(Visited 6,256 times, 1 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments