รู้ได้อย่างไรว่า-คดีแพ่ง-คดีอาญา

รู้ได้อย่างไร ว่า เป็น “คดีแพ่ง” หรือ “คดีอาญา”

กฎหมาย, ข่าวสาร, ทั่วไป

 

รู้ได้อย่างไรว่า-คดีแพ่ง-คดีอาญา
รู้ได้อย่างไรว่า-คดีแพ่ง-คดีอาญา

       นักกฎหมาย จะแยก คดีแพ่ง และ คดีอาญา ออกจากกันได้ไม่ใช่เรื่องยากเนื่องจากเป็นพื้นฐานของวิชาชีพกฎหมาย แต่สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว คงจะสับสนมิใช่น้อย ว่า เรื่องที่เกิดเป็นคดีขึ้นนั้น เป็นเรื่องทางแพ่ง หรือทางอาญากันแน่?

      หากเกิดเหตุการณ์  “รถชนกัน” เกิดความเสียหายขึ้นแต่เพียง รถ ของทั้งสองฝ่าย และทั้งสองฝ่าย ก็มิได้ทำประกันไว้เลยทั้งคู่ ถามว่าใคร? จะรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์นี้เป็นเพียงความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น

 ถ้าความเสียหายนี้ยัง ไม่มี “คนตาย” หรือ ไม่มี คนบาดเจ็บ “สาหัส”

  มันก็เป็นเพียง คดีแพ่งเท่านั้น

       หรือถ้าจะฝืนเอาไปเป็นคดีอาญาให้ได้ อย่างมากก็ไม่เกินไปกว่า ลหุโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ ซึ่งถ้าจำเลยเกิดสู้ขึ้นมา คงยุ่งยากวุ่นวาย เกิดแตกเป็นคดีลูกคดีหลานให้รกโรงศาลกันขึ้นมาอีกหลายคดี

กลับมาดูกันดีกว่า ว่า เราจะรู้ได้อย่างไร ว่า เป็น คดีแพ่งหรือ คดีอาญา

คดีอาญา เป็นคดีที่มีบทลงโทษเขียนไว้ในกฎหมาย

คดีแพ่ง  เป็นคดีที่เรียกร้องค่าเสียหายกันเท่านั้น

       การที่จะลงโทษการกระทำของบุคคลใดว่าเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่นั้น ทั้งการกระทำ ทั้งการลงโทษต้องมีบัญญัติไว้ในกฎหมาย รวมถึงในการฟ้องคดีอาญาเพื่อให้ลงโทษจำเลยนั้นต้องระบุว่า เป็นกฎหมายฉบับไหนและเลขมาตราอะไรให้ชัดเจนด้วย

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ (วรรคแรก) บัญญัติว่า

 บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

   จากที่ผมได้ยกตัวบทกฎหมาย แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ วรรคแรก ขึ้นมานั้น ชัดเจนว่า การที่จะลงโทษบุคคลใดเพื่อให้รับโทษนั้น ต้องเป็นการกระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วว่าเป็นความผิดและเมื่อเป็นความผิดแล้วจะลงโทษบุคคลนั้น ก็ต้องเป็นโทษที่ระบุไว้ในกฎหมายอีกเช่นกัน

แค่นั้นยังไม่พอ เมื่อถึงเวลาที่จะฟ้องคดีอาญาขึ้นสู่ศาล ยังต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายอีก

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ บัญญัติว่า

ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี

(๑) ชื่อศาลและวันเดือนปี

(๒) คดีระหว่างผู้ใดโจทก์ผู้ใดจำเลย และฐานความผิด

(๓) ตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ ถ้าราษฎรเป็นโจทก์ให้ใส่ชื่อตัว นามสกุล อายุ ที่อยู่ ชาติและบังคับ

(๔) ชื่อตัว นามสกุล ที่อยู่ ชาติและบังคับของจำเลย

(๕) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี

      ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง

(๖) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด

(๗) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง”

    เมื่อได้ผ่านกระบวนการทางการพิจารณาคดีอาญาแล้ว หากจะต้องลงโทษจำเลย ก็จะมีโทษอยู่ ๕ ประการ คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน  …..

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘ บัญญัติว่า

   โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้

  (๑) ประหารชีวิต

  (๒) จำคุก

  (๓) กักขัง

  (๔) ปรับ

  (๕) ริบทรัพย์สิน

    * โทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี

    * ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี

         พอสังเขปเท่านี้อย่างย่อ ในความเป็นจริงทางปฏิบัติมีขั้นตอนอีกมากมาย เอาเป็นว่า จะเอาผิดใครเป็น “คดีอาญา”นั้น ต้องมีการบัญญัติไว้ชัดเจนในกฎหมายเท่านั้น ระบุว่าจะเอาผิดตามกฎหมายฉบับไหน มาตราอะไร …..

       ดังนั้นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ตกลงกันได้ก็ตกลงกันซะ จะมาเอาผิดกันในทางอาญาถ้าไม่มั่นใจจริงๆ ก็มาปรึกษาทนายความ เพราะนอกจากที่กล่าวมายังต้องพิจารณาอีกว่า เป็นความผิดอาญาที่เป็น อาญาแผ่นดิน หรือ เป็นความผิดอาญาที่ ยอมความได้ อย่าผลีผลามนำคดีเข้าไปฟ้องร้องจัดการกันเอง มันจะได้ไม่คุ้มเสีย …

       แต่ ถ้าเป็น “คดีแพ่ง” เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายกัน ส่วนใหญ่การเรียกร้องจะเรียกกันเป็นตัวเงิน จะเรียกกันเท่านั้น เรียกกันเท่านี้ เสียหายกันอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้าคู่กรณีตกลงกันได้ และลงบันทึกกันไว้โดยความยินยอมกันแล้ว คดีก็จะจบกันได้อาจไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องขอบารมีศาลเป็นที่พึ่ง ตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาท พิสูจน์ความเสียหายกัน สุดท้ายจะเป็นการบังคับเอากับทรัพย์สินของฝ่ายที่แพ้คดี สู้กันด้วยพยานหลักฐาน ซึ่งฝ่ายไหนมีพยานหลักฐานที่หนักแน่นกว่า ฝ่ายนั้นก็เป็นฝ่ายชนะคดีไป …..  

       “คดีแพ่ง” เริ่มต้นคดีด้วยการพิจารณาว่า มีกฎหมายรับรองสิทธิหรือหน้าที่ให้ไว้หรือไม่ โดยพิจารณาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นหลักก่อน แล้วจึงพิจารณากฎหมายฉบับอื่นๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาพิจารณาประกอบกัน ในคดีแพ่งนั้น มีทั้งที่เป็น คดีมีข้อพิพาท และ คดีไม่มีข้อพิพาท ซึ่งคงไม่กล่าวถึงรายละเอียดในที่นี้ แต่จะเอามาเล่าให้ฟังหากได้มีโอกาสในคราวต่อๆ ไปครับ ….. 

  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕

 เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

     ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตาม มาตรา ๕๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้บัญญัติไว้นี้ จะรวมถึงสิทธิหรือหน้าที่ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นๆ บัญญัติไว้ด้วย ….

     การนำเสนอคดีแพ่งยื่นฟ้องต่อศาลนั้น ถึงแม้กฎหมายจะให้สิทธิแก่ผู้ที่จะยื่นฟ้องให้สามารถยื่นได้ด้วยตนเองก็ตาม แต่ก็ต้องทำตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งสิ้น เพราะหากไม่ทำตามกฎหมายแล้ว จะเป็นหนทางสู่การ เสียเปรียบ ในทันที ดังนั้น ในการดำเนินคดีจึงจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ นั่นก็คือ “ทนายความ” ….

4.7 3 votes
Article Rating
(Visited 7,373 times, 1 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments