ฉ้อโกง

ฉ้อโกง

ภาค 2, ประมวลกฎหมายอาญา, กฎหมายอาญา2, กฎหมายอาญา, กฎหมาย

 

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา หนังสือประมวลกฎหมายอาญา point

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

มาตรา ๓๔๑

หมวด ๓ ความผิดฐานฉ้อโกง

ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

หมวด ๓ ความผิดฐานฉ้อโกง

 

     มาตรา ๓๔๑  ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๔๑  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๑ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)



คำอธิบาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341


องค์ประกอบภายนอก
1.หลอกลวงผู้อื่น
1.1 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
1.2 ปกปิดข้อความซึ่งควรบอกให้แจ้ง
2.โดยการหลอกลวงดังว่านั้น
2.1 ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
2.2 ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือ ทำลายเอกสารสิทธิ
องค์ประกอบภายใน
1.เจตนา
2.โดยทุจริต

ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีลักษณะความรุนแรงและกระทบกระเทือนสังคมน้อยกว่าความผิดประเภทลักทรัพย์และกรรโชก ความผิดฐานฉ้อโกงมักเกี่ยวพันกับนิติสัมพันธ์ทางแพ่งซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างเอกชน

หลอกลวง เอาทรัพย์สินของผู้อื่น การหลอกลวงอาจทำโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความซึ่งควรบอกให้แจ้งก็ได้

หลอกลวงผู้อื่น : ผู้กระทำความผิดหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อซึ่งผิดไปจากความเป็นจริง มิใช่เพียงแต่ถือเอาประโยชน์จากความหลงผิดของผู้อื่นซึ่งตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้น (จิตติ ติงศภัทิย์)

ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ : การหลอกลวงจะต้องเกิดจากการกระทำของผู้หลอก (ฎ. 1890/2547 และ ฎ. 2902/2547) โดยการแสดงข้อความเท็จนั้นอาจทำได้โดยวาจา ลายลักษณ์อักษร การแสดงกิริยาท่าทาง หรือรูปแบบอื่นๆ เช่น
- ลงลายมือชื่อปลอมเป็นผู้อื่นเพื่อรับธนาณัติ (ฎ. 384/2459)
- แต่งเครื่องแบบเป็นนักศึกษาและแสดงตนเป็นนักศึกษาเพื่อซื้อของในร้านที่ขายเฉพาะนักศึกษา (Rollin M. Perkin. Criminal Law. Brooklyn: The Foundation Press, 1957, p.253.)
- ใช้ธนบัตรปลอมซื้อของ (ฎ. 422-423/2479)
- ออกเช็คของผู้อื่น หรือของตนเองโดยไม่มีเงินในธนาคาร (ฎ. 1014/2505 และ ฎ. 884/2512)
- นำชี้ที่ดินแปลงของผู้อื่นเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายว่าเป็นที่ดินของตนที่ประสงค์จะขายฝากแก่ผู้เสียหายทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ (ฎ. 504-505/2543 และ ฎ. 1866/2543)
- จ่ายผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงให้แก่ผู้เสียหายในครั้งแรกๆ (ฎ. 1301/2547)

ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง : การหลอกลวงนอกจากจะโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแล้วอาจกระทำโดยการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรบอกให้แจ้งก็ได้ การปกปิดข้อเท็จจริงอาจเป็นการกระทำ เช่น ลบรอยชำรุดในของที่ขายไม่ให้มองเห็นหรือลบข้อความบางตอนในเอกสาร หรืออาจเป็นการงดเว้นไม่ยอมบอกข้อเท็จจริงซึ่งตนมีหน้าที่ต้องบอกตามมาตรา 59 วรรคท้ายก็ได้ แต่ถ้าไม่มีหน้าที่แจ้งข้อความให้ทราบแม้ไม่บอก ก็ไม่ถือว่าเป็นการปกปิด (สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล)

โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สิน : ผลของการหลอกลวง คือ การได้ไปซึ่งทรัพย์สิน คำว่า "ได้ไป" มีความหมายต่างจาการ "เอาไป" ในความผิดฐานลักทรัพย์ การเอาไปจะต้องมีการแย่งการครอบครอง คือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ส่งมอบทรัพย์ให้ แต่ผู้กระทำผิดเข้าถือเอาโดยพลการ หรือผู้กระทำผิดได้รับมอบทรัพย์จากผู้ที่มิได้มีสิทธิครอบครองมีเพียงแต่การยึดถือเท่านั้น ส่วนการได้ไปในความผิดฐานฉ้อโกงนั้น จะต้องเป็นการได้การครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์จากผู้ครอบครองหรือเจ้าของหรือบุคคลที่สาม ดังนั้น การได้ไปจึงไม่มีการแย่งการครอบครอง หากแต่ผู้ครอบครองส่งมอบการครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ให้โดยถูกหลอกลวง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ความผิดฐานฉ้อโกงต่างจากลักทรัพย์

ทรัพย์สิน : มีความหมายกว้างกว่า คำว่า ทรัพย์ ในความผิดฐานลักทรัพย์ จึงหมายความรวมถึงวัตถุไม่มีรูปร่าง เช่น ทรัพยสิทธิต่างๆ ด้วย แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นการหลอกเอาสิ่งที่ผู้หลอกลวงมีสิทธิจะได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ย่อมไม่เป็นฉ้อโกง

จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม : การได้ทรัพย์สินไปในความผิดฐานฉ้อโกงนั้น อาจได้ไปจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามก็ได้ หมายความว่า ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สินอาจเป็นผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามก็ได้ กล่าวคือ หากผู้ถูกหลอกลวงเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ส่งมอบ ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สินก็คือผู้ถูกหลอกลวง แต่หากผู้ถูกหลอกลวงครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วส่งมอบทรัพย์สินให้ไปเพราะถูกหลอกลวง ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สิน คือ เจ้าของทรัพย์สินซึ่งเป็นบุคคลที่สาม

ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ : หลอกลวงจนทำให้ผู้ถูกหลอกหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ กล่าวคือ เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

เจตนา ต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 โดยต้องมีเจตนาหลอกลวง และต้องรู้ว่าข้อความนั้นเป็นเท็จหรือมีเจตนาปกปิดข้อความจริง

โดยทุจริต สำหรับองค์ประกอบภายในของความผิดฐานฉ้อโกงนี้ นอกจากจะต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 แล้วผู้กระทำยังต้องมีเจตนาพิเศษด้วย กล่าวคือ ผู้กระทำต้องมีเจตนาโดยทุจริตตามมาตรา 1 (1) "โดยทุจริต" หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกับ โดยทุจริต ในความผิดฐานลักทรัพย์ ผู้กระทำจะต้องทุจริตขณะหลอกลวง ไม่ใช่ทุจริตในภายหลัง (ฎ. 7451/2549)


คำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542

การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการ โดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวงการที่จำเลยเปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางซึ่งติดราคา1,785 บาทออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟอื่นซึ่งติดราคา 134 บาท มาติดแทนแล้วมอบให้พวกของจำเลยนำไปชำระราคาแก่พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายจึงมิใช่เอาโคมไฟตั้งโต๊ะไปโดยพลการโดยทุจริต อันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายโดยทุจริต โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ราคาโคมไฟตั้งโต๊ะมีราคา 134 บาท พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลยโดยรับเงินจากจำเลยไว้เพียง 134 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2553

การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมมีหน้าที่เบิกจ่ายเงินของโจทก์ร่วมให้กับลูกค้าของโจทก์ร่วมได้ใช้โอกาสในหน้าที่ดังกล่าวจัดทำใบเบิกจ่ายล่วงหน้าระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย ค่าผ่านท่าและค่ารถยก อันเป็นข้อความเท็จ หลอกลวงโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมหลงเชื่อยินยอมมอบเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้จำเลยไปจำนวน 353 ครั้ง จึงมิใช่การเอาเงินของโจทก์ร่วมไปโดยพลการโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335(11) หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในใบเบิกเงินทดรองจ่ายว่าต้องนำเงินไปชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสาร จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 259/2488

259 - 260/2488
จำเลยใช้อุบายหลอกลวงให้เจ้าทุกข์มอบทรัพย์ให้แล้วจำเลยพาทรัพย์หนีไปในขณะที่เจ้าทุกข์ไม่ได้ควบคุมยึดถือ และไม่อาจติดตามได้ดังนี้ ถือได้ว่าเจ้าทุกข์ได้สละการครอบครองแล้ว จำเลยต้องมีผิดฐานฉ้อโกงไม่ใช่ลักทรัพย์
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงตามคำพยานโจทก์ แล้วชี้ขาดว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความไม่ใช่ข้อที่โจทก์ประสงค์จะลงโทษดังนี้ หากศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องก็มีอำนาจพิพากษาได้ ไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นฟังพยานจำเลยด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6863/2543

คำพิพากษาย่อสั้น
การกระทำของจำเลยที่กล่าวอ้างต่อผู้เสียหายว่าจะติดต่อให้ผู้เสียหายไถ่รถยนต์กระบะคืนจากคนร้าย และเรียกร้องเงินโดยอ้างเป็นค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการจำนวน 3,500 บาท กับอ้างว่าคนร้ายต้องการค่าไถ่จำนวน50,000 บาท แต่ก็ไม่เกิดผลตามที่จำเลยอ้าง แม้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและให้จำเลยนำไปบ้านของผู้มีชื่อที่อ้างว่าเป็นที่ซ่อนรถยนต์กระบะก็ไม่พบ ยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าเป็นการช่วยจำหน่ายรถยนต์กระบะของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไปอันจะทำให้จำเลยต้องมีความผิดฐานรับของโจรแต่พยานหลักฐานดังกล่าวรับฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หลอกลวงผู้เสียหายเพื่อให้เงินแก่จำเลยและได้รับไปแล้ว จำนวน 3,500 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายลักรถยนต์กระบะของผู้เสียหายไป ต่อมาผู้เสียหายนำเจ้าพนักงานจับจำเลยได้ ทั้งนี้ ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุลักทรัพย์จำเลยเป็นคนร้ายลักรถยนต์กระบะของผู้เสียหายไป หรือมิฉะนั้นระหว่างวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุลักทรัพย์ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2540 เวลากลางคืนหลังเที่ยง วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยรับไว้ ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซึ่งรถยนต์กระบะคันดังกล่าวโดยจำเลยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 5 ปี ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 จำคุก 6 เดือน และปรับ 2,000 บาท เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อระหว่างกลางคืนวันที่ 25 ต่อเนื่องวันที่ 26 พฤษภาคม 2540 มีคนร้ายลักรถยนต์กระบะของนายสมนึก สินไชย ผู้เสียหาย ไปจากบริเวณข้างบ้านพัก ต่อมาจำเลยได้กล่าวอ้างว่าสามารถติดต่อกับคนร้ายได้และเรียกเงินค่าใช้จ่ายจากผู้เสียหายและได้ไปจำนวนหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายและจำเลยไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ในที่สุดผู้เสียหายก็ยังไม่ได้รถยนต์กระบะคืน จึงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยดำเนินคดีนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นายสมคิด รอดภัย ลูกจ้างของผู้เสียหายและพันตำรวจโทบรรลือ ชูเวทย์ สารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองตรัง เป็นพยานเบิกความให้ข้อเท็จจริงต่อเนื่องกันว่า เมื่อรถยนต์กระบะของผู้เสียหายถูกลักไปจำเลยไปหานายสมคิดอาสาจะสืบหาให้ นายสมคิดจึงพาจำเลยไปพบผู้เสียหาย จำเลยบอกผู้เสียหายว่ารถยนต์กระบะที่ถูกลักไปอยู่ไม่ไกลจากบ้านของผู้เสียหาย ผู้เสียหายแจ้งให้จำเลยทราบว่าขอไถ่รถยนต์กระบะคืนจากคนร้ายหลังจากนั้นจำเลยเรียกร้องเงินจากผู้เสียหายอ้างเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขอไถ่รถยนต์กระบะคืน ผู้เสียหายจ่ายเงินให้จำเลยไป 2 คราว รวมเป็นเงิน 3,500 บาท จำเลยแจ้งว่าคนร้ายต้องการค่าไถ่จำนวน 60,000 บาท ผู้เสียหายต่อรองเหลือ 30,000 บาท ต่อมาจำเลยแจ้งว่าคนร้ายลดค่าไถ่ให้เหลือ 50,000 บาท แต่ในที่สุดจำเลยก็แจ้งแก่ผู้เสียหายว่าจะไม่ยอมให้ผู้เสียหายไถ่รถยนต์กระบะเพราะไม่พอใจผู้เสียหายที่ให้นายอั้น รักษาชล กำนันในอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราชช่วยสืบหารถยนต์กระบะด้วยผู้เสียหายจึงวางแผนให้จำเลยไปพบและแจ้งให้พันตำรวจโทบรรลือกับพวกทำการจับกุม ชั้นจับกุมจำเลยรับว่าร่วมกับพวกเป็นคนร้ายลักรถยนต์กระบะของผู้เสียหาย เห็นว่า จากพยานหลักฐานโจทก์เท่าที่ปรากฏ โจทก์มิได้รถยนต์กระบะที่ถูกลักคืนจากคนร้าย คดีคงมีเพียงข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าจำเลยกล่าวอ้างต่อผู้เสียหายว่าจะติดต่อให้ผู้เสียหายไถ่รถยนต์กระบะคืนจากคนร้าย และเรียกร้องเงินโดยอ้างเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการไปจากผู้เสียหาจำนวน 3,500 บาท กับอ้างว่าคนร้ายต้องการค่าไถ่จำนวน 50,000 บาท แต่ก็ไม่เกิดผลตามที่จำเลยอ้าง ซึ่งแม้จำเลยถูกผู้เสียหายวางแผนให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย และให้จำเลยนำไปที่บ้านของนายไข่ขาว (ไม่ปรากฏชื่อสกุล) อยู่ที่บ้านควนสมบูรณ์ ตำบลท่าประจักษ์หรือท่าประจะ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจำเลยอ้างว่ารถยนต์กระบะของผู้เสียหายถูกนำไปซุกซ่อนไว้ ก็ไม่พบรถยนต์กระบะดังกล่าว พยานหลักฐานโจทก์เพียงเท่านี้จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้โดยสนิทใจว่า การกระทำของจำเลยเป็นการช่วยจำหน่ายรถยนต์กระบะของผู้เสียหายซึ่งถูกคนร้ายลักไป อันจะทำให้จำเลยต้องมีความผิดฐานรับของโจร แต่พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าวมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยมีเจตนาทุจริตแสดงข้อความอันเป็นเท็จหลอกลวงผู้เสียหายเพื่อให้เงินแก่จำเลยและจำเลยได้ไปแล้วจำนวน 3,500 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยปรับบทไว้ พยานจำเลยซึ่งนำสืบต่อสู้ในทำนองจำเลยเพียงแต่มีเจตนาช่วยเหลือผู้เสียหายนั้นขัดแย้งต่อเหตุผลและผิดวิสัยที่คนซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อนจะกล้าสอดเข้าไปเป็นตัวกลางระหว่างคนร้ายกับผู้เสียหายในการเรียกร้องค่าไถ่รถยนต์กระบะดังกล่าวเพราะรังแต่จะเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำผิดกับคนร้ายที่ลักรถยนต์กระบะของผู้เสียหายไป พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดโทษจำเลยเพียงจำคุก 6 เดือนปรับ 2,000 บาท และรอการลงโทษจำคุกให้นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า โทษดังกล่าวเบาไปไม่เหมาะสมแก่การกระทำของจำเลย จึงเห็นสมควรแก้ไขโทษที่ลงแก่จำเลยเสียใหม่และไม่รอการลงโทษจำคุกฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้คงเป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

ผู้พิพากษา
สมชาย จุลนิติ์
ระพินทร บรรจงศิลป
ชวลิต ตุลยสิงห์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2564

เรื่อง ฉ้อโกง พยายาม
จำเลยมีเจตนาหลอกลวงประชาชนทั่วไป โดยการโฆษณาชักชวนเล่นหวยด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งต่อประชาชนทั่วไปว่าให้ติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อขอรับเลขท้าย ๒ ตัวบน และเลขท้าย ๒ ตัวล่าง ซึ่งเป็นเลขที่จำเลยได้มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หากถูกรางวัลจำเลยขอเป็นค่าตอบแทน ๑๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยไม่มีเลขที่ได้มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแต่จำเลยมีเจตนาหลอกเอาเงินจากประชาชนทั่วไปที่ได้รับใบปลิวของจำเลยมาแต่ต้นและการที่มีประชาชนผู้โทรศัพท์มาหาจำเลยและจำเลยแจ้งเลขซึ่งจำเลยไม่ได้มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่จำเลยหลอกลวง มิใช่การให้หรือตอบแทนสิ่งใดแก่ประชาชนที่โทรศัพท์มาหาจำเลยตามที่ถูกหลอกลวง จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนและการกระทำของจำเลยเป็นการลงมือกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนแล้ว เพียงแต่ประชาชนที่ถูกจำเลยหลอกลวงตรวจสอบพบว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงมิได้หลงเชื่อ การกระทำของจำเลยจึงไม่บรรลุผล ดังนี้ การกระทำของจำเลยครบองค์ประกอบความผิดฐานพยายามฉ้อโกงประชาชนแล้ว
จำเลยไม่ได้เลขมาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และประชาชนมิได้หลงเชื่อตามที่ถูกหลอกลวง ดังนี้ การกระทำของจำเลยไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ จึงเป็นความผิดเพียงฐานพยายามกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๑ ซึ่งต้องลงโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยฐานพยายามกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ จึงไม่ถูกต้อง แม้จำเลยมิได้ฎีกาในข้อนี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ และเมื่อลงโทษฐานพยายามฉ้อโกงประชาชนตามมาตรา ๓๔๓ ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบทลงโทษฐานพยายามฉ้อโกง ตามมาตรา ๓๔๑ อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1229/2536

องค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ต้องประกอบด้วยผู้หลอกลวงมีเจตนาทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และผลการหลอกลวงนั้นทำให้ผู้หลอกลวงได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยให้คำรับรองต่อโจทก์ต่อหน้าพนักงานสอบสวนว่าจะชำระหนี้แทนนาง ส. และขอให้โจทก์ถอนคำร้องทุกข์ เป็นคำมั่นสัญญาที่จำเลยจะปฏิบัติในอนาคต คำรับรองดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อความเท็จ เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีความตั้งใจมาแต่แรกขณะให้คำรับรองว่าจะไม่ปฏิบัติตามนั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2533

จำเลยมิได้ประกอบธุรกิจค้าขายทองคำ แต่หลอกลวงโจทก์โดยการพูดจาชักชวนให้โจทก์ร่วมลงทุนเข้าหุ้นค้าทองคำกับจำเลย โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้แก่จำเลยไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3784/2532

จำเลยตกลงจะขายข้าวโพดให้แก่ผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้จ่ายเงินค่าข้าวโพดให้จำเลยไปแล้ว แต่ครั้นผู้เสียหายจะไปรับมอบข้าวโพด จำเลยบอกว่าไม่ขายข้าวโพดให้ผู้เสียหายและไม่ยอมให้นำข้าวโพดไป ผู้เสียหายทวงเงินคืน จำเลยบอกว่าไม่มีเงินคืนให้ เช่นนี้ เป็นเรื่องจำเลยตกลงจะขายข้าวโพดแล้วเปลี่ยนใจไม่ยอมขายให้ผู้เสียหาย ข้าวโพดที่จะขายมีอยู่จริงในขณะที่เจรจาตกลงซื้อขายกัน จึงเป็นกรณีที่จำเลยประพฤติผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น จำเลยไม่มีความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5191/2563

การยอมเปิดบัญชีเงินฝากให้เพื่อแลกกับผลตอบแทนการกู้ยืมเงิน เปรียบเหมือนเป็นการก่ออาชญากรรมทางอ้อม อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีคนร้ายหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินผ่านบัญชีเงินฝากของจำเลยและได้ถอนเงินออกจากบัญชี อันเป็นการฉ้อโกงผู้เสียหายจำเลยจึงต้องรับผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฉ้อโกง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2444/2532

ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดที่มีผลเกิดขึ้นต่างหากจากการกระทำ คือต้องเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินโดยการหลอกลวง ดังนี้ การที่จำเลยได้ทรัพย์สินจากผู้เสียหายโดยการเล่นแชร์ ซึ่งเล่นกันจำนวน 90 มือ มีการประมูลแชร์และเก็บเงินจากผู้เล่นให้แก่ผู้ประมูลได้ถึง 57 มือแล้ว ต่อมาจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าวงผิดนัด ไม่เก็บเงินจากผู้เล่นแชร์และไม่ดำเนินการประมูลแชร์ต่อไปตามหน้าที่ จึงเป็นการผิดสัญญาเล่นแชร์ซึ่งเป็นความผูกพันทางแพ่ง การกระทำของจำเลยหาเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2678/2566

ทำสัญญากู้ยืมเงินแล้วนำเงินของคนอื่นไปหมุนโดยจะให้ค่าตอบแทนเป็นรายเดือน แรกๆจ่ายดอกตามปกติ ตอนหลังผิดนัดบ้างไม่ได้จ่ายบ้าง เป็นเพียงไม่ปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงินในการชำระหนี้เท่านั้น ไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้นผู้กระทำต้องมีเจตนาทุจริตมาแต่แรกที่จะหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง เป็นเหตุให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง และข้อความอันเป็นเท็จที่หลอกลวงนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตหรือปัจจุบันซึ่งไม่มีอยู่จริง หาใช่ข้อเท็จจริงในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นการกล่าวเท็จ หากไม่ทำตามที่กล่าวก็เป็นเพียงการผิดคำมั่นสัญญาที่กล่าวให้ไว้เท่านั้น

คดีนี้โจทก์ทั้งห้าฟ้องกล่าวหาว่าเหตุกู้ยืมเงินเกิดขึ้นหลายช่วงเวลาระหว่างวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ แต่ตลอดช่วงระยะเวลาดังกล่าวจำเลยที่ ๑ ก็ทำสัญญากู้ยืมเงินให้ไว้เป็นหลักฐานและได้ปฏิบัติตามสัญญา โดยการจ่ายผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยตามอัตราที่ตกลงกันมาโดยตลอดเป็นเวลา ๒ ปี แม้ภายหลังจำเลยที่ ๑ เริ่มผิดนัด จำเลยที่ ๑ ก็ตกลงให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมารวมกับต้นเงินแล้วทำเป็นสัญญากู้ยืมเงินฉบับใหม่ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญากู้ยืมเงิน และมีเจตนาทุจริตมาแต่แรกที่จะหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ทั้งห้า

ส่วนที่จำเลยที่ ๑ อ้างว่าจะนำเงิน ที่กู้ยืมนี้ไปปล่อยกู้ให้แก่บุคคลอื่นอีกต่อหนึ่งแล้วมิได้ทำตามนั้น ก็เป็นเพียงการอ้างถึงเหตุการณ์ ในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น เท่ากับเป็นการให้คำมั่นสัญญาไว้ว่าจะทำตามนั้นแล้วมิได้ทำ เป็นเพียงการผิดสัญญา ไม่เป็นการกล่าวเท็จแต่อย่างใด ดังนี้ แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ ๑ ขายที่ดินแล้วมิได้นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามที่ขอผัดผ่อนไว้ ก็เป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตามสัญญากู้ยืมเงินที่ให้ไว้แก่โจทก์ทั้งห้าเท่านั้น หาทำให้การกระทำของจำเลยที่ ๑ ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงไม่ สำหรับจำเลยที่ ๓ นั้น ก็ได้ความเพียงว่าจำเลยที่ ๓ เป็นบิดาของจำเลยที่ ๑ ซึ่งลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญากู้ ยืมเงินระหว่างจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๓ ตามสัญญากู้ยืมเงินเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ ได้กระทำการอื่นใดอีก จำเลยที่ ๓ ย่อมไม่มีความผิดฐานฉ้อโกง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2566

จำเลยที่ ๑ กู้เงินจากโจทก์ร่วมโดยมอบใบแทนโฉนดที่ดินให้ไว้เป็นหลักประกันการกู้เงิน แต่ใช้หรือแสดงหนังสือรับรองที่ดินที่เป็นเอกสารราชการปลอมต่อโจทก์ร่วมโดยยืนยันว่าจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองดังกล่าวและมอบหนังสือรับรองปลอมดังกล่าวแก่โจทก์ร่วมเพื่อประกอบการกู้เงินจากโจทก์ร่วม ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ร่วมให้จำเลยกู้เงินโดยเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อเดือน เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยนั้น เห็นว่าโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ หากแต่ฟ้องในข้อหาฉ้อโกงซึ่งโจทก์ร่วมเป็นผู้ถูกหลอกลวงโดยมิได้มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่จะทำให้โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง มีอำนาจร้องทุกข์การสอบสวนจึงชอบ และโจทก์มีอำนาจฟ้อง
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) "ผู้เสียหาย หมายความถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่ง..." ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง จึงได้แก่ "ผู้ที่ถูกหลอกลวง" หลักกฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้ถูกหลอกลวง หากผู้ถูกหลอกลวงดังกล่าวเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย" กล่าวคือ เป็นผู้ที่ไม่มีส่วนในการกระทำความผิด หรือต้องไม่รู้เห็นยินยอมในการกระทำความผิด หรือต้องไม่กระทำการที่มีวัตถุประสงค์อันฝ่าฝืนต่อกฎหมาย โดยเฉพาะความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายจึงมีอำนาจร้องทุกข์ ทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวน และส่งผลให้โจทก์มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐ หรืออาจขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๐



ข้อสังเกต


"ฉ้อโกง เป็นคดีอันยอมความได้"
การเริ่มต้นคดี ผู้เสียหายอาจไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหรือจะแต่งตั้งทนายความเพื่อนำคดีไปฟ้องเองต่อศาลก็ได้

อาญา-มาตรา-341



 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 58)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 58 ปีการศึกษา 2548
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 25 กันยายน 2548

 

คำถาม


ข้อ 5.   นายยอดประสงค์จะเช่าซื้อรถยนต์คันหนึ่ง จากบริษัท ยานยนต์ จำกัด ซึ่งตนสามารถเช่าซื้อได้ในราคาถูกจึงชวนนายยิ่งให้ไปเช่าซื้อรถยนต์คนละคัน เพราะทราบมาว่านายยิ่งต้องใช้รถยนต์รับส่งลูกไปโรงเรียน ขณะนั้นนายยิ่งเพิ่งเสียการพนันเป็นเงินจำนวนมาก เมื่อได้ยินเช่นนั้นจึงแกล้งตอบตกลงและไปทำสัญญา โดยนายยอดไม่ทราบความในใจของนายยิ่งว่าโดยใจจริงแล้วไม่คิดจะเช่าซื้อเลย ต่อมาเมื่อได้รับมอบรถยนต์ตามสัญญาแล้ว นายยิ่งก็นำรถยนต์ไปขายให้นายดำทันที ส่วนนายยอดเอง เมื่อผ่อนชำระราคาเช่าซื้อได้เพียง 8 งวด ไม่สามารถผ่อนส่งต่อไปได้ จึงแอบนำรถยนต์ไปขายให้นายเขียวแล้วหลบหนีไป
ให้วินิจฉัยว่า นายยอดและนายยิ่งมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  นายยอดเข้าครอบครองรถยนต์ของบริษัทยานยนต์ จำกัด มิได้เกิดจากการใช้อุบายหลอกลวงแต่ประการใดเพิ่งมาคิดเบียดบังนำรถยนต์ไปขายในภายหลัง ซึ่งเป็นการกระทำโดยทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย นายยอดจึงมีความผิดฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7727/2544)
สำหรับนายยิ่งไม่มีเจตนาเช่าซื้อรถยนต์มาตั้งแต่ต้น การทำสัญญาเช่าซื้อเป็นเพียงอุบายเพื่อให้ได้มาชึ่งรถยนต์แล้วนำไปขายต่อ เป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งเพื่อได้ไปซึ่งทรัพย์สินของบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ นายยิ่งจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2529, 633/2546)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 64)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 64 ปีการศึกษา 2554
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 25 กันยายน 2554

 

คำถาม


ข้อ 5.   นายฉลาดทราบว่านายเง่าลักสร้อยเพชรประจําตระกูลของหลวงขจรผู้เป็นนายจ้างไป แต่ไม่ทราบแหล่งที่จะนําไปจําหน่าย นายฉลาดจึงทําที่อาสาว่าจะนําสร้อยไปขายให้ โดยขอส่วนแบ่งสิบเปอร์เซ็นต์ จากราคาที่ขายได้แต่ในใจจริงนายฉลาดมิได้คิดที่จะทําเช่นนั้น ดังนั้นเมื่อขายสร้อยให้แก่นายมั่งได้แล้ว นายฉลาดก็หลบหนีไป ส่วนนายมั่งรับซื้อสร้อยโดยทราบมาก่อนจากประกาศทางหนังสือพิมพ์เรื่องหลวงขจร จะให้รางวัลแก่ผู้แจ้งเบาะแสที่อยู่ของนายเง่า นายมั่งทราบว่าหลวงขจรอยากได้สร้อยคืนจึงโทรศัพท์ เรียกเงินค่าไถ่ 500,000 บาท มิฉะนั้นจะทําลายสร้อยทิ้ง หลวงขจรกลัวว่าทรัพย์ประจําตระกูลจะเสียหาย จึงตอบตกลง
ให้วินิจฉัยว่า นายฉลาดและนายมั่งมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  นายฉลาดได้สร้อยเพชรไปจากนายเง่าโดยการหลอกลวงว่าจะช่วยนําสร้อยเพชรไปขายให้ซึ่งเป็นความเท็จ เมื่อได้สร้อยเพชรไปโดยการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้ นายฉลาดจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 341
ส่วนนายมั่งรับซื้อสร้อยเพชรจากนายฉลาดโดยขณะรับซื้อทราบว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทําความผิด นายมั่งจึงมีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง
การที่นายมั่งโทรศัพท์ไปเรียกค่าไถ่จํานวน 500,000 บาทจากหลวงขจร โดยขู่ว่าหากไม่ยอมให้เงินจํานวนดังกล่าวจะทําลายสร้อยเพชรทิ้ง เป็นการข่มขืนใจโดยขู่เข็ญว่าจะทําอันตรายต่อทรัพย์สิน เป็นเหตุให้หลวงขจรต้องตอบตกลงเพราะเกรงว่าทรัพย์ประจําตระกูลจะเสียหายถึงแม้นายมั่งจะยังไม่ได้รับเงินก็ตาม เป็นความผิดสําเร็จฐาน กรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคหนึ่ง (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1484/2549)

ฉ้อโกง
ฉ้อโกง

 

ฉ้อโกงประชาชน โทษหนักขึ้น แถมยอมความไม่ได้

5 1 vote
Article Rating
(Visited 2,460 times, 1 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments