ฉ้อโกงประชาชน

ฉ้อโกงประชาชน โทษหนักขึ้น แถมยอมความไม่ได้

ภาค 2, ประมวลกฎหมายอาญา, กฎหมายอาญา2

 

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา หนังสือประมวลกฎหมายอาญา point

องค์ประกอบภายนอก
1.หลอกลวงผู้อื่น
1.1 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ
1.2 ปกปิดข้อความซึ่งควรบอกให้แจ้ง
2.โดยการหลอกลวงดังว่านั้น
2.1 ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือ
2.2 ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือ ทำลายเอกสารสิทธิ
องค์ประกอบภายใน
1.เจตนา
2.โดยทุจริต

 

ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีลักษณะความรุนแรงและกระทบกระเทือนสังคมน้อยกว่าความผิดประเภทลักทรัพย์และกรรโชก ความผิดฐานฉ้อโกงมักเกี่ยวพันกับนิติสัมพันธ์ทางแพ่งซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างเอกชน

 

หลอกลวง เอาทรัพย์สินของผู้อื่น การหลอกลวงอาจทำโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความซึ่งควรบอกให้แจ้งก็ได้

หลอกลวงผู้อื่น : ผู้กระทำความผิดหลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อซึ่งผิดไปจากความเป็นจริง มิใช่เพียงแต่ถือเอาประโยชน์จากความหลงผิดของผู้อื่นซึ่งตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้น (จิตติ ติงศภัทิย์)

ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ : การหลอกลวงจะต้องเกิดจากการกระทำของผู้หลอก (ฎ. 1890/2547 และ ฎ. 2902/2547) โดยการแสดงข้อความเท็จนั้นอาจทำได้โดยวาจา ลายลักษณ์อักษร การแสดงกิริยาท่าทาง หรือรูปแบบอื่นๆ เช่น
- ลงลายมือชื่อปลอมเป็นผู้อื่นเพื่อรับธนาณัติ (ฎ. 384/2459)
- แต่งเครื่องแบบเป็นนักศึกษาและแสดงตนเป็นนักศึกษาเพื่อซื้อของในร้านที่ขายเฉพาะนักศึกษา (Rollin M. Perkin. Criminal Law. Brooklyn: The Foundation Press, 1957, p.253.)
- ใช้ธนบัตรปลอมซื้อของ (ฎ. 422-423/2479)
- ออกเช็คของผู้อื่น หรือของตนเองโดยไม่มีเงินในธนาคาร (ฎ. 1014/2505 และ ฎ. 884/2512)
- นำชี้ที่ดินแปลงของผู้อื่นเพื่อหลอกลวงผู้เสียหายว่าเป็นที่ดินของตนที่ประสงค์จะขายฝากแก่ผู้เสียหายทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ (ฎ. 504-505/2543 และ ฎ. 1866/2543)
- จ่ายผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราสูงให้แก่ผู้เสียหายในครั้งแรกๆ (ฎ. 1301/2547)

ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง : การหลอกลวงนอกจากจะโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแล้วอาจกระทำโดยการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรบอกให้แจ้งก็ได้ การปกปิดข้อเท็จจริงอาจเป็นการกระทำ เช่น ลบรอยชำรุดในของที่ขายไม่ให้มองเห็นหรือลบข้อความบางตอนในเอกสาร หรืออาจเป็นการงดเว้นไม่ยอมบอกข้อเท็จจริงซึ่งตนมีหน้าที่ต้องบอกตามมาตรา 59 วรรคท้ายก็ได้ แต่ถ้าไม่มีหน้าที่แจ้งข้อความให้ทราบแม้ไม่บอก ก็ไม่ถือว่าเป็นการปกปิด (สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล)

โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สิน : ผลของการหลอกลวง คือ การได้ไปซึ่งทรัพย์สิน คำว่า "ได้ไป" มีความหมายต่างจาการ "เอาไป" ในความผิดฐานลักทรัพย์ การเอาไปจะต้องมีการแย่งการครอบครอง คือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองมิได้ส่งมอบทรัพย์ให้ แต่ผู้กระทำผิดเข้าถือเอาโดยพลการ หรือผู้กระทำผิดได้รับมอบทรัพย์จากผู้ที่มิได้มีสิทธิครอบครองมีเพียงแต่การยึดถือเท่านั้น ส่วนการได้ไปในความผิดฐานฉ้อโกงนั้น จะต้องเป็นการได้การครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์จากผู้ครอบครองหรือเจ้าของหรือบุคคลที่สาม ดังนั้น การได้ไปจึงไม่มีการแย่งการครอบครอง หากแต่ผู้ครอบครองส่งมอบการครอบครองหรือกรรมสิทธิ์ให้โดยถูกหลอกลวง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ความผิดฐานฉ้อโกงต่างจากลักทรัพย์

ทรัพย์สิน : มีความหมายกว้างกว่า คำว่า ทรัพย์ ในความผิดฐานลักทรัพย์ จึงหมายความรวมถึงวัตถุไม่มีรูปร่าง เช่น ทรัพยสิทธิต่างๆ ด้วย แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นการหลอกเอาสิ่งที่ผู้หลอกลวงมีสิทธิจะได้รับโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ย่อมไม่เป็นฉ้อโกง

จากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม : การได้ทรัพย์สินไปในความผิดฐานฉ้อโกงนั้น อาจได้ไปจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามก็ได้ หมายความว่า ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สินอาจเป็นผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามก็ได้ กล่าวคือ หากผู้ถูกหลอกลวงเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ส่งมอบ ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สินก็คือผู้ถูกหลอกลวง แต่หากผู้ถูกหลอกลวงครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่น แล้วส่งมอบทรัพย์สินให้ไปเพราะถูกหลอกลวง ผู้ที่สูญเสียทรัพย์สิน คือ เจ้าของทรัพย์สินซึ่งเป็นบุคคลที่สาม

ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ : หลอกลวงจนทำให้ผู้ถูกหลอกหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ กล่าวคือ เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

เจตนา ต้องมีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 โดยต้องมีเจตนาหลอกลวง และต้องรู้ว่าข้อความนั้นเป็นเท็จหรือมีเจตนาปกปิดข้อความจริง

โดยทุจริต สำหรับองค์ประกอบภายในของความผิดฐานฉ้อโกงนี้ นอกจากจะต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 แล้วผู้กระทำยังต้องมีเจตนาพิเศษด้วย กล่าวคือ ผู้กระทำต้องมีเจตนาโดยทุจริตตามมาตรา 1 (1) "โดยทุจริต" หมายความว่า เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ซึ่งมีความหมายทำนองเดียวกับ โดยทุจริต ในความผิดฐานลักทรัพย์ ผู้กระทำจะต้องทุจริตขณะหลอกลวง ไม่ใช่ทุจริตในภายหลัง (ฎ. 7451/2549)

 

องค์ประกอบภายนอก
1. กระทำความผิดฐานฉ้อโกง
2. กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน
องค์ประกอบภายใน
เจตนา

 

องค์ประกอบภายนอก
กระทำความผิดฐานฉ้อโกงมาตรา 343 นี้เป็นเหตุที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้นอีกเหตุหนึ่งเช่นเดียวกับมาตรา 342 ดังนี้จึงต้องมีองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ครบถ้วนเสียก่อนและมีเหตุในมาตรานี้เพิ่มขึ้นมาจึงจะต้องรับโทษหนักขึ้น
กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนเหตุที่ทำให้รับโทษหนักขึ้นคือฉ้อโกงได้กระทำต่อประชาชน หมายความถึงบุคคลทั่วไปไม่จำกัดว่าเป็นผู้ใดและไม่ถือจำนวนมากหรือน้อยเป็นสำคัญ (ฎ.1573/2534) ข้อสำคัญลักษณะของการหลอกลวงต้องเปิดกว้างต่อประชาชนทั่วไปหรือประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่เจาะจงตัวบุคคลเช่นชักชวนหลอกลวงประชาชนในหมู่บ้าน (ฎ.811/2534) เป็นต้น และจะกระทำด้วยวิธีการใดก็ได้ เช่นประกาศโฆษณาบริเวณหน้าที่ทำการของจำเลย (ฎ.1846/2533) ลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์ (ฎ.135/2547) เป็นต้นเมื่อได้มีการแสดงความเท็จต่อประชาชนเป็นการทั่วไปแล้ว จะมีคนที่ทราบข้อเท็จจริงกี่คนไม่สำคัญหากมีผู้ใดผู้หนึ่งแม้คนเดียวหลงเชื่อจนผู้กระทำได้ทรัพย์สินไป เป็นการฉ้อโกงประชาชนแล้ว
องค์ประกอบภายใน
เจตนา การกระทำความผิดตามมาตรานี้ ต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 และเจตนาโดยทุจริต อันเป็นองค์ประกอบภายในของความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341

 

ความผิดในหมวด 3 ความผิดฐานฉ้อโกงทุกมาตรา นอกจากมาตรา 343 เป็นความผิดที่อาจยอมความได้ ที่กฎหมายยกเว้นมาตรา 343 เรื่องฉ้อโกงประชาชนมิใช่เป็นความผิดที่ยอมความกันได้ (ฎ. 434-435/2505) คงเป็นเพราะความผิดมาตรา 343 มีลักษณะกระทบกระเทือนความสงบเรียบร้อยของสังคมเป็นส่วนรวม ไม่ใช่เป็นเรื่องระหว่างเอกชนเหมือนการฉ้อโกงลักษณะอื่นๆ
การที่ความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดซึ่งอาจยอมความได้นี้มีผลทำให้การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต้องเริ่มต้นที่ผู้เสียหาย กล่าวคือ ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจทำการสอบสวนและให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องหรือผู้เสียหายอาจยื่นฟ้องเองก็ได้ แต่ถ้าผู้เสียหายไม่ยอมร้องทุกข์พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจทำการสอบสวนส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง และผู้เสียหายอาจถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ เมื่อถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้องหรือยอมความกันแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป และถ้าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ศาลต้องจำหน่ายคดี

 

ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

หมวด ๓ ความผิดฐานฉ้อโกง

 

     มาตรา ๓๔๑  ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๔๑  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๑ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

 

     มาตรา ๓๔๒  ถ้าในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ผู้กระทำ

    (๑) แสดงตนเป็นคนอื่น หรือ

    (๒) อาศัยความเบาปัญญาของผู้ถูกหลอกลวงซึ่งเป็นเด็กหรืออาศัยความอ่อนแอแห่งจิตของผู้ถูกหลอกลวง

    ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๔๒  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๑ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

 

     มาตรา ๓๔๓  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๔๑ ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา ๓๔๒ อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

* มาตรา ๓๔๓  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๒ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

 

     มาตรา ๓๔๔  ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไปให้ประกอบการงานอย่างใดๆ ให้แก่ตนหรือให้บุคคลที่สาม โดยจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้น หรือโดยจะใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้างแก่บุคคลเหล่านั้นต่ำกว่าที่ตกลงกัน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๔๔  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๒ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

 

     มาตรา ๓๔๕  ผู้ใดสั่งซื้อและบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มหรือเข้าอยู่ในโรงแรม โดยรู้ว่าตนไม่สามารถชำระเงินค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม หรือค่าอยู่ในโรงแรมนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๔๕  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๒ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

 

     มาตรา ๓๔๖  ผู้ใดเพื่อเอาทรัพย์สินของผู้อื่นเป็นของตนหรือของบุคคลที่สาม ชักจูงผู้หนึ่งผู้ใดให้จำหน่ายโดยเสียเปรียบซึ่งทรัพย์สิน โดยอาศัยเหตุที่ผู้ถูกชักจูงมีจิตอ่อนแอ หรือเป็นเด็กเบาปัญญา และไม่สามารถเข้าใจตามควรซึ่งสารสำคัญแห่งการกระทำของตน จนผู้ถูกชักจูงจำหน่ายซึ่งทรัพย์สินนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๔๖  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๒ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

 

     มาตรา ๓๔๗  ผู้ใดเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัย แกล้งทำให้เกิดเสียหายแก่ทรัพย์สินอันเป็นวัตถุที่เอาประกันภัย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๔๗  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๒ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

 

     มาตรา ๓๔๘  ความผิดในหมวดนี้ นอกจากความผิดตามมาตรา ๓๔๓ เป็นความผิดอันยอมความได้

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

มาตรา ๓๔๓

หมวด ๓ ความผิดฐานฉ้อโกง

ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

หมวด ๓ ความผิดฐานฉ้อโกง

 

     มาตรา ๓๔๓  ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา ๓๔๑ ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ต้องด้วยลักษณะดังกล่าวในมาตรา ๓๔๒ อนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

* มาตรา ๓๔๓  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๒ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)



คำอธิบาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343


องค์ประกอบภายนอก
1. กระทำความผิดฐานฉ้อโกง
2. กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน
องค์ประกอบภายใน
เจตนา

องค์ประกอบภายนอก
กระทำความผิดฐานฉ้อโกงมาตรา 343 นี้เป็นเหตุที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้นอีกเหตุหนึ่งเช่นเดียวกับมาตรา 342 ดังนี้จึงต้องมีองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341 ครบถ้วนเสียก่อนและมีเหตุในมาตรานี้เพิ่มขึ้นมาจึงจะต้องรับโทษหนักขึ้น
กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนหรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชนเหตุที่ทำให้รับโทษหนักขึ้นคือฉ้อโกงได้กระทำต่อประชาชน หมายความถึงบุคคลทั่วไปไม่จำกัดว่าเป็นผู้ใดและไม่ถือจำนวนมากหรือน้อยเป็นสำคัญ (ฎ.1573/2534) ข้อสำคัญลักษณะของการหลอกลวงต้องเปิดกว้างต่อประชาชนทั่วไปหรือประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่เจาะจงตัวบุคคลเช่นชักชวนหลอกลวงประชาชนในหมู่บ้าน (ฎ.811/2534) เป็นต้น และจะกระทำด้วยวิธีการใดก็ได้ เช่นประกาศโฆษณาบริเวณหน้าที่ทำการของจำเลย (ฎ.1846/2533) ลงข่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์ (ฎ.135/2547) เป็นต้นเมื่อได้มีการแสดงความเท็จต่อประชาชนเป็นการทั่วไปแล้ว จะมีคนที่ทราบข้อเท็จจริงกี่คนไม่สำคัญหากมีผู้ใดผู้หนึ่งแม้คนเดียวหลงเชื่อจนผู้กระทำได้ทรัพย์สินไป เป็นการฉ้อโกงประชาชนแล้ว
องค์ประกอบภายใน
เจตนา การกระทำความผิดตามมาตรานี้ ต้องมีเจตนาตามมาตรา 59 และเจตนาโดยทุจริต อันเป็นองค์ประกอบภายในของความผิดฐานฉ้อโกงตามมาตรา 341


คำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5292/2540

มาตรา 343 ไม่ได้ถือเอาจำนวนผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงว่า มากหรือน้อย แต่ถือเอาเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเป็นสำคัญ และไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องกระทำการดังกล่าวด้วยตนเองมาตั้งแต่ต้นทุกครั้ง เพียงแต่จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ผู้เสียหายบางคน แล้วมีการบอกกันต่อไปเป็นทอดๆ เมื่อผู้เสียหายคนหลังทราบข่าวและมาสอบถามจำเลย จำเลยได้ยืนยันแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้น และให้ผู้เสียหายไปติดต่อที่แฟลตทุกครั้ง อันถือได้ว่าเป็นสำนักงานของจำเลยกับพวก แม้จะไม่มีประกาศรับสมัครงานปิดไว้ก็ตาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2549

การกระทำความผิดฐานหลอกลวงหรือฉ้อโกงผู้เสียหายทั้งสิบและประชาชน โดยสภาพแห่งการกระทำเป็นการกระทำต่อบุคคลหลายคนซึ่งอาจกระทำต่อบุคคลเหล่านั้นต่างวาระกันได้ แต่ที่จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม สำหรับความผิดฐานนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของการกระทำที่มีเจตนามุ่งกระทำเพื่อให้เกิดผลต่อผู้เสียหายหรือประชาชนเพียงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง มิได้พิจารณาจากจำนวนของผู้เสียหายหรือประชาชนที่ถูกหลอกลวงแต่ละคนเพียงอย่างเดียว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 870/2549

การโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชนหรือการกระทำด้วยประการใดๆ ให้ปรากฏแก่บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป อันจะทำให้เป็นความผิดสำเร็จฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ไม่จำเป็นที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราวๆไป เพียงแต่จำเลยที่ 1 แสดงข้อความดังกล่าวให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายแม้เพียงบางคน แต่เป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาให้จำเลยที่ 1 กู้ยืม ก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดแล้ว ข้อสำคัญที่ทำให้ความผิดสำเร็จ อยู่ที่ ในการนั้นเป็นเหตุให้ตนหรือบุคคลใดได้เงินกู้ยืมไปจากผู้ถูกหลอกลวง ดังนั้น การที่ผู้เสียหายแต่ละคนนำเงินมาให้กู้ยืมและจำเลยที่ 1 รับไว้ ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน จึงเป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1477/2549

การกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นการหลอกลวงผู้เสียหายด้วยการหลอกลวงดังกล่าวได้กระทำต่อผู้เสียหายทั้ง 8 รวมทั้งบุคคลอื่นตามแต่วาระและโอกาสโดยไม่จำกัดประเภทบุคคล และหลอกลวงตามสถานที่ต่างๆ เช่นที่บ้านของนาง ม. บ้านของผู้เสียหายที่ 1 บ้านของผู้เสียหายที่ 6 การกระทำของจำเลยเป็นการฉ้อโกงประชาชน
(ฎ. 1663/2535 และ 1894/2550)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4022/2558

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ให้จำเลยคืนเงิน 885,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1443/2554 ของศาลชั้นต้น

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน กับให้จำเลยคืนเงิน 885,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องวันที่ 6 กรกฎาคม 2554 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์มีคำขอนับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1443/2554 นั้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีดังกล่าวออกจากสารบบความแล้ว เนื่องจากโจทก์ถอนฟ้องจำเลยในคดีดังกล่าว จึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ยกคำขอนับโทษต่อเสีย

จำเลยอุทธรณ์

ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 4 โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยไม่คัดค้าน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกคำร้อง

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุก 2 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ยกคำร้องในส่วนแพ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อโจทก์ถอนฟ้อง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ศาลต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความนั้น เห็นว่า ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จึงไม่อาจถอนฟ้องหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 35 วรรคแรก สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยชักชวนประชาชนทั่วไปรวมทั้งโจทก์ให้เข้าร่วมลงทุนของวิสาหกิจชุมชนและองค์กรเกษตรสกลนครว่า หากผู้เข้าร่วมลงทุนสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมทบจะได้กู้ยืมเงินจำนวน 10 เท่าของเงินค่าหุ้นสมทบและได้รับการกู้ยืมเงินระยะยาวโดยไม่มีดอกเบี้ย และชักชวนโจทก์กับประชาชนทั่วไปให้นำเงินมาซื้อขายหุ้นสมทบหรือเพิ่มเงินค่าหุ้นสมทบโดยให้นำเงินมาชำระให้จำเลยหรือให้นำเงินโอนเข้าบัญชีของธนาคาร โดยแจ้งว่าถ้าจ่ายให้จำเลยแล้วจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปโอนเข้าบัญชีโดยให้ถือว่าโจทก์ได้สมัครเป็นสมาชิกของเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนและองค์กรเกษตรสกลนครโดยทันที อันเป็นข้อความที่เป็นเท็จ สภาพของความผิดที่จำเลยได้กระทำไปเป็นที่เห็นได้ว่าผู้กระทำผิดต้องเห็นได้ล่วงหน้าว่าเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนเป็นทวีคูณแก่โจทก์และประชาชน ทั้งเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่สุจริต อาศัยโอกาสจากการที่ผู้ที่เดือดร้อนต้องใช้เงินมาเป็นช่องทางให้กระทำสำเร็จได้เช่นนี้ ทั้งการกระทำของจำเลยกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือเคยให้การช่วยเหลือสังคม หรือชดใช้เงินคืนแก่โจทก์แล้ว หรือมีเหตุอื่น ๆ ตามที่อ้างในฎีกา ก็ไม่มีเหตุเพียงพอ ที่จะรับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2562

ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341, 343 และขอให้จำเลยชดใช้เงินให้โจทก์ 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 3 แสนบาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

ก่อนสืบพยาน จำเลยให้การรับสารภาพ โดยไม่ได้ให้การในคดีส่วนแพ่ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ปอ. มาตรา 343 วรรคแรกประกอบมาตรา 341 ให้จำเลยคืนเงิน 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน -- รับอุทธรณ์เฉพาะประเด็นขอให้รอการลงโทษ แล้วพิพากษายืน

จำเลยฎีกา

#ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 โดยบรรยายฟ้องกล่าวถึงพฤติการณ์กระทำความผิดของจำเลยว่าจำเลยหลอกลวงประชาชนหลายคน ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ว่าจำเลยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สามารถสมัครบุคคลเข้าทำงาน แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามตำแหน่งหน้าที่ที่สอบเข้าและสอบเป็นพิธี โจทก์หลงเชื่อว่าเป็นความจริงยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลย 3 แสนบาท ความจริงแล้วจำเลยไม่ใช่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่จะฝากบุคคลเข้าทำงานและแต่งตั้งเป็นข้าราชการได้แต่ประการใด

ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์มาเบิกความเป็นพยานว่า มีนาย ก. เป็นผู้มาเล่าให้ฟังว่าราชการเปิดสอบบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ และอ้างว่าจำเลยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สามารถฝากผู้เข้าสอบทำงานได้โดยคิดค่าใช้จ่าย โจทก์จึงไปพบจำเลยที่บ้าน จำเลยรับรองว่า หากโจทก์สอบไม่ได้จะคืนเงินให้ โจทก์จึงโอนเงินเข้าบัญชีจำเลย

#ปัญหาข้อกฎหมายในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 การที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาหรือเป็นเพียงการฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

ปัญหาดังกล่าวย่อมสามารถวินิจฉัยได้จากพยานหลักฐานของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าว แม้ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีโจทก์มีมูลความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและต่อมาจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหานี้แล้วก็ตาม

***กรณีก็ยังต้องถือว่าพฤติการณ์ของจำเลยอันเป็นมูลความผิดดังที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาได้ถูกหยิบยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยจึงมีสิทธิในอันจะยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งได้ว่าพฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยซึ่งได้ความจากการไต่สวนมูลฟ้องของศาลชั้นต้นไม่ถือว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชน หากเป็นเพียงการฉ้อโกงธรรมดาเท่านั้น

การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว โดยอ้างว่าขัดแย้งกับคำรับสารภาพของจำเลยและเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

และเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้วเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีก
------------

ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำอันจะเป็นการฉ้อโกงประชาชน ลักษณะของการหลอกลวงที่แสดงออกด้วยความเท็จนั้น ประการสำคัญจะต้องมีเจตนากระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไป ไม่จำกัดว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าทำด้วยประการใดโดยมุ่งหมายให้แพร่หลายทั่วไปในหมู่ประชาชน แม้กระทั่งเป็นการบอกต่อๆกันไปปากต่อปากก็ตาม

แต่กรณีของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์รับฟังจากนาย ก. แนะนำว่าจำเลยสามารถฝากผู้เข้าสอบเข้ารับราชการได้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยแสดงออกให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปถึงเรื่องดังกล่าวในพฤติการณ์อย่างไร หรือ นาย ก. ร่วมมือกับจำเลยโดยรับหน้าที่ให้มากระจายข่าวในหมู่ผู้เข้าสอบให้แพร่หลายอย่างไร

ฉะนั้น ***การที่ได้ความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพียงว่า โจทก์ได้รับคำแนะนำจากนาย ก. แล้วจึงไปพบจำเลยที่บ้าน เพื่อให้ช่วยเหลือโจทก์เข้ารับราชการโดยยอมเสียค่าใช้จ่ายตามที่จำเลยเรียกร้อง เห็นได้ว่า เป็นเรื่องที่จำเลยหลอกลวงโจทก์เป็นการส่วนตัวเท่านั้น หาได้มีพฤติการณ์อันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปไม่

แม้จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีมีมูล

แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนมูลฟ้อง การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งโจทก์มีคำขอให้ลงโทษมาด้วย ศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ โดยยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนเสียได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225
------------

เมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์จึงต้องร้องทุกข์หรือฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

โจทก์ฟ้องจำเลยล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่กฎหมายบัญญัติ คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามที่จำเลยต่อสู้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
-----------

อย่างไรก็ตามการที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยและมีคำขอให้จำเลยชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดในคดีนี้ด้วย คำขอในส่วนแพ่งจึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

ซึ่งการพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40

ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาตรา 46

เมื่อคำพิพากษาส่วนอาญาวินิจฉัยว่าจำเลยฉ้อโกงโจทก์จริง เพียงแต่โจทก์มิได้ร้องทุกข์หรือฟ้องภายใน 3 เดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดคดีจึงขาดอายุความนั้น เป็นการขาดอายุความเฉพาะที่จะดำเนินคดีอาญาต่อจำเลย

แต่ในคดีส่วนแพ่งนั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่มีข้อต่อสู้ใดๆ เท่ากับรับว่าฉ้อโกงโจทก์ และไม่โต้แย้งว่ามีหนี้ที่ต้องชดใช้เงินคืนแก่โจทก์อันเนื่องมาจากการกระทำความผิดนั้นอยู่จริง

เมื่อจำเลยไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29

คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 วรรคหนึ่ง

เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียหายตามนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ซึ่งสามารถฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ตามมาตรา 2 (14) โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยถึงอ่างว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สามารถฝากบุคคลเข้าทำงานได้ แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามตำแหน่งที่สอบและเข้าสอบเป็นพิธีซึ่งเป็นความเท็จ เงินที่โจทก์จ่ายให้จำเลยไปจึงไม่มีลักษณะเป็นสินบนเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานอื่นกระทำการใดๆ เพื่อช่วยเหลือโจทก์โดยมิชอบ

แต่มีลักษณะเป็นสินน้ำใจที่สมนาคุณแก่จำเลยที่ช่วยเหลือทำให้โจทก์สามารถบรรจุเข้ารับราชการได้ตามที่จำเลยหลอกลวง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องในคดีส่วนแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินที่ฉ้อโกงไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์.



ข้อสังเกต


"ฉ้อโกงประชาชน เป็นคดีอันยอมความไม่ได้"
การเริ่มต้นคดี ผู้เสียหายอาจไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนหรือจะแต่งตั้งทนายความเพื่อนำคดีไปฟ้องเองต่อศาลก็ได้

อาญา-มาตรา-343




ฉ้อโกงประชาชน
ฉ้อโกงประชาชน

 

กรุณาศึกษากฎหมายฉบับนี้เพิ่มเติมด้วย :

0 0 votes
Article Rating
(Visited 3,701 times, 1 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments