หมิ่นประมาทใน-Facebook

กรณี เป็น หรือ ไม่เป็น “หมิ่นประมาท” ทั้งทาง Facebook หรือทางอื่น

ภาค 2, ประมวลกฎหมายอาญา, กฎหมายอาญา2, กฎหมายอาญา

 

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา หนังสือประมวลกฎหมายอาญา point

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๑ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง

มาตรา ๓๒๖

หมวด ๓ ความผิดฐานหมิ่นประมาท

ลักษณะ ๑๑ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง

หมวด ๓ ความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

     มาตรา ๓๒๖  ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๒๖  แก้ไขโดย มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๕๓๕ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๑๓ หน้า ๑ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕)



คำอธิบาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326


ด่าว่า "รัฐบาลฆาตกร" ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะ รัฐบาล ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ตามกฎหมาย
มีพิธีการรายการ ถกไม่เถียง และ คุณศรีสุวรรณ แย้งว่า
รัฐบาลย่อมหมายความรวมถึง คณะบุคคลหรือคณะรัฐมนตรีด้วย
ดังนั้น รัฐมนตรี ผู้หนึ่งผู้ใด ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย
เรื่องนี้ ผมได้อธิบายในรายการไว้แล้วว่า
ความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องเฉพาะเจาะจงตัวบุคคล อย่างชัดเจน หรืออย่างน้อย ก็ต้องชี้ได้ว่า คนพูดหมายถึงใคร
ถ้าไม่ได้เจาะจงว่าผู้ใดผู้หนึ่ง แม้จะมีบุคคลในองค์กรนั้น รู้สึกว่าได้รับความเสียหาย หรือถูกพาดพิง ก็ ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
เช่น ด่าว่า ตำรวจนายหนึ่ง ในกองปราบปราม
ตำรวจในกองปราบ คนใดคนหนึ่ง ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหาย
หรือกล่าวว่า หมอชายที่โรงพยาบาลศิริราช ชั่วช้า โดยไม่ได้เจาะจง
หมอชาย คนใดคนหนึ่งก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย
เมื่อเทียบกับคำว่า รัฐบาล ที่ไม่มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย คณะรัฐมนตรี ทั้งหมด หรือ คนใดคนหนึ่งก็ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย

ทนายความเกิดผล แก้วเกิด
31 กรกฎาคม 2564 19:12 น.

ความแตกต่าง ระหว่าง ดูหมิ่น(393) กับ หมิ่นประมาท(326)
=================================
ดูหมิ่น (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393)
-------------------------------------------
1. การดูถูก ดูแคลน เหยียดหยาม ทำให้อับอาย การด่า การสบประมาท
2. ผู้กระทำเป็นผู้ดูหมิ่นผู้เสียหาย
3. ไม่จำต้องกล่าวต่อบุคคลที่สาม
4. การด่าผู้อื่นไม่ทำให้ผู้ถูกด่าเสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่นก็ได้ ตรงกันข้าม กลับทำให้ผู้ด่านั้นเองเสียชื่อเสียงที่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ไม่เป็นผู้ดี เป็นที่ดูหมิ่นของผู้ฟังด้วยซ้ำไป ดังนั้นการดูหมิ่นจึงอาจไม่ถึงหมิ่นประมาท
5. เป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้
----------------------------------------------
หมิ่นประมาท (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326)
----------------------------------------------
1. การใส่ความ ทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
2. บุคคลที่สามเป็นผู้ดูหมิ่น หรือเกลียดชังผู้เสียหาย
3. ต้องกล่าวต่อบุคคลที่สาม
4. การหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำหยาบคายอาจเป็นการดูหมิ่นไปในตัวได้ จึงเป็นกรรมเดียวผิดฐานดูหมิ่นบทหนึ่งฐานหมิ่นประมาทอีกบทหนึ่ง แต่การหมิ่นประมาทด้วยถ้อยคำสุภาพย่อมไม่เป็นการดูหมิ่น
5. เป็นความผิดอันยอมความได้


คำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734/2503

มารดาจำเลยถูกขว้างด้วยก้อนอิฐ จำเลยไม่เห็นคนขว้าง แต่ได้กล่าวต่อหน้าคนหลายคนว่า "ไม่มีใครนอกจากไอ้แก้ว (โจทก์) อ้ายชาติหมา อ้ายฉิบหาย" ดังนี้ ตามพฤติการณ์แสดงว่า เป็นแต่คาดคะเนไม่มีเจตนาใส่ความโจทก์ ไม่ผิดตามมาตรา 326


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2034/2530

คำพิพากษาย่อสั้น
การที่จำเลยให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการซึ่งผู้บังคับบัญชาของจำเลยแต่งตั้งขึ้นเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่มีผู้กล่าวหา ส. ว่าประพฤติและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยกล่าวว่า จำเลยได้ยิน ข่าวเล่าลือว่า ส. กับโจทก์เดินด้วยกันนอกโรงเรียนและมีความสัมพันธ์ถึงขั้นได้เสียกับโจทก์นั้น เป็นการกล่าวในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปให้ถ้อยคำเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอันเป็นส่วนรวม และเป็นการกล่าวไปตามข่าวลือ ไม่ยืนยันว่าเป็นความจริง และไม่ตั้งใจให้ผู้ฟังเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมตามข่าวลือนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326.
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาชั้นฎีกาว่าการกระทำของจำเลยตามคำฟ้องของโจทก์ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่จำเลยกล่าวว่าเห็นนายเสนาะ จันทร์สุริยา ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมกุฎกษัตริย์อยู่ในห้องผู้อำนวยการโรงเรียนกับโจทก์ตามลำพังในเวลาเช้า เย็น และหลังเวลาราชการบ่อย ๆ ...จำเลยได้ยินข่าวเล่าลือกันว่า นายเสนาะ จันทร์สุริยา กับโจทก์เดินด้วยกันนอกโรงเรียน และเคยได้ยินครูและนักเรียนพูดกันว่า นายเสนาะ จันทร์สุริยา มีความสัมพันธ์ถึงขึ้นได้เสียกับโจทก์นั้น เป็นการกล่าวในการให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการที่อธิบดีกรมสามัญศึกษาแต่งตั้งขึ้นเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่มีกล่าวหาว่านายเสนาะ จันทร์สุริยา ประพฤติและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบขณะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมกุฏกษัตริย์เป็นกรณีที่จำเลยกล่าวในฐานะที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาถูกถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปให้ถ้อยคำเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอันเป็นส่วนรวม ทั้งข้อความที่จำเลยกล่าวเป็นการกล่าวตามข่าวลือไม่ยืนยันว่าเป็นความจริง ส่อแสดงว่าจำเลยไม่ได้ตั้งใจจะให้ผู้ฟังเชื่อว่าโจทก์มีพฤติกรรมดังข่าวลือนั้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ตามฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.
ผู้พิพากษา
คำนึง อุไรรัตน์
ดุสิต วราโห
สวัสดิ์ รอดเจริญ



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551

การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และความผิดฐานหมิ่นประมาทที่ได้กระทำโดยการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้นต้องพิเคราะห์จากข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามคำฟ้องเท่านั้นว่า ผู้อ่านสามารถทราบได้หรือไม่ว่าบุคคลที่ถูกกล่าวอ้างตามที่ลงพิมพ์นั้นเป็นผู้ใด
ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใดบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง มิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2563

*จำเลยเขียนข้อความซึ่งเป็นบทกลอนลงในโปรแกรม Facebook พร้อมภาพประกอบ แต่ไม่มีข้อความตอนใดระบุถึงผู้เสียหายหรือทำให้เข้าใจว่าหมายถึงผู้เสียหาย อีกทั้งเมื่อผู้เสียหายไปสอบถามจากเพื่อนร่วมงานของจำเลยว่าบุคคลที่จำเลยลงข้อความพร้อมภาพนั้น หมายถึง ผู้เสียหายใช่หรือไม่ เพื่อนของจำเลยตอบว่า “แล้วแต่จะคิด” กรณีนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าหมายถึงผู้เสียหายหรือไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ฎีกาที่ 2673/2563
การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 นั้น จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความ เป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่า หมายถึง บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

ข้อความซึ่งเป็นบทกลอนที่จำเลยลงในโปรแกรม Facebook พร้อมภาพไม่มีข้อความตอนใดระบุถึงผู้เสียหายโดยตรงหรือทำให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงผู้เสียหาย ประกอบกับได้ความจาก ป. พยานโจทก์ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงาน กับผู้เสียหายและจำเลยว่าผู้เสียหายมาสอบถามพยานว่าบุคคลที่จําเลยลงข้อความพร้อมภาพนั้นหมายถึงผู้เสียหายใช่หรือไม่ พยานตอบว่า “แล้วแต่จะคิด” อันเป็นการไม่ยืนยันข้อเท็จจริงว่าหมายถึงผู้เสียหายหรือไม่ ดังนั้น การที่ผู้เสียหายนำข้อความพร้อมภาพที่จำเลยลงในโปรแกรม Facebook พร้อมข้อความและภาพอื่น ๆ มารวมเข้าด้วยกันแล้วสรุปว่าเป็นการหมิ่นประมาทผู้เสียหายนั้น จึงเป็นเพียงความเข้าใจของผู้เสียหาย หาใช่เป็นความเข้าใจของบุคคลทั่วไปไม่ บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความพร้อมภาพและข้อความพร้อมภาพอื่น ๆ ย่อมไม่ทราบหรือเข้าใจได้ว่าข้อความพร้อมภาพทั้งหมดที่จำเลยลงในโปรแกรม Facebook มานั้นหมายความถึงผู้ใด หากต้องการทราบความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วจะเป็นผู้เสียหายจริงหรือไม่และในกรณีที่สืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงผู้เสียหาย ก็เป็นการทราบจากการที่บุคคลนั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง ดังเช่นที่ ป. เบิกความว่าพยานขอนัดจำเลยมาเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นแก่จำเลย หาได้ทราบโดยอาศัยข้อความที่จำเลยลงในโปรแกรม Facebook แต่เพียงลำพังไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทหรือพยายามหมิ่นประมาทผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2180/2531

ฎีกาที่ 2180/2531 และ ฎีกาที่ 1201/2505
จำเลยซึ่งเป็นตำรวจไปจับแผ่นกระดาษจดหมายเลขสลากกินรวบที่นางพีเป็นผู้ขาย ก่อนจับได้ก็มีการยื้อแย่งกันและจับได้บนบ้านของโจทก์ จำเลยพูดกับโจทก์ว่า เดี๋ยวจับเป็นอันธพาลทั้งพ่อทั้งลูก (โจทก์ที่2 เป็นบุตรสาวของโจทก์ที่1) ดังนี้ ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานใส่ความหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 เพราะจำเลยมิได้กล่าวว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลอันธพาล เป็นคำขู่เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสองเข้าขัดขวางช่วยเหลือผู้กระทำผิดเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2505

ฎีกาที่ 2180/2531 และ ฎีกาที่ 1201/2505
จำเลยซึ่งเป็นตำรวจไปจับแผ่นกระดาษจดหมายเลขสลากกินรวบที่นางพีเป็นผู้ขาย ก่อนจับได้ก็มีการยื้อแย่งกันและจับได้บนบ้านของโจทก์ จำเลยพูดกับโจทก์ว่า เดี๋ยวจับเป็นอันธพาลทั้งพ่อทั้งลูก (โจทก์ที่2 เป็นบุตรสาวของโจทก์ที่1) ดังนี้ ไม่มีมูลเป็นความผิดฐานใส่ความหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา326 เพราะจำเลยมิได้กล่าวว่าโจทก์ทั้งสองเป็นบุคคลอันธพาล เป็นคำขู่เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสองเข้าขัดขวางช่วยเหลือผู้กระทำผิดเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3493/2562

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2562)

ความผิดฐานหมิ่นประมาท ถึงแม้ไม่ได้ระบุชื่อ แต่คนทั่วไปรู้ว่าหมายถึงใคร หากถ้อยคำนั้นเป็นการใส่ความคนอื่น ก็ผิดฐานหมิ่นประมาทได้
---------------------
แม้ข้อความที่ลงพิมพ์ดังกล่าวจะมิได้ระบุชื่อหรือชื่อ สกุลของโจทก์หรือชื่อร้านค้าของโจทก์ แต่เมื่อร้านขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้าม บริษัท ค. มีร้านค้าของโจทก์เพียงร้านเดียว การที่หนังสือพิมพ์ ท. ลงพิมพ์ข้อความว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ตรงข้ามบริษัท ค. ขายอาหารบังหน้า แต่เบื้องหลังปล่อยยาบ้า บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความดังกล่าวย่อมทราบหรือเข้าใจได้ทันที่ว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวของโจทก์จำหน่ายยาเสพติดซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ท. ดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามทำให้โจทก์เสื่อมเสีย ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และมิไช่เป็น การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความ โดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์
--------------------
คำพิพากษาย่อสั้น
พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ผู้พิมพ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ "ผู้โฆษณา" หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า "บรรณาธิการ" หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดของบุคคลผู้เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รับผิดชอบในการพิมพ์ และรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ ท. จึงต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ท. มิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เมื่อกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณามีหน้าที่กระทำการดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบ คัดเลือก หรือควบคุมข่าวที่ลงพิมพ์ โดยปล่อยให้มีการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ ท. ที่ไม่เป็นความจริง กระทบสิทธิและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการไม่รักษาจริยธรรมของสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำการโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคท้าย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและต้องรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์ หากข้อความนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 83
ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ป.อ. มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ดังนั้น แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์ โดยมิได้มีคำขอให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อเป็นอำนาจของศาล การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ ท. 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 327 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันลงโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบมาตรา 83 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 คำขออื่นให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ประกอบอาชีพค้าขาย โดยใช้บ้านของโจทก์ ซึ่งเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวด้านหน้าเป็นร้านค้าขายก๋วยเตี๋ยว อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าเบ็ดเตล็ด เปิดร้านตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกา ถึง 22 นาฬิกา ด้านหลังใช้พักอาศัย บ้านของโจทก์ตั้งอยู่ริมถนนโพธาราม - ช่องพราน ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวัน "ไทยรัฐ" โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับปีที่ 66 ฉบับที่ 20986 วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2558 คอลัมน์ห้องร้องทุกข์หน้าที่ 10 ย่อหน้าสุดท้ายลงข้อความว่า "สุดท้าย ที่หมู่ 1 ต.ท่าชุมพล อ.โพธาราม จังหวัดราชบุรี มีร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น เป็นบริษัททำรั้วสำเร็จรูป ขายอาหารบังหน้า แต่เบื้องหลังปล่อยยาบ้า กลางคืนลูกค้าเพียบ! แจ้ง! สภ.โพธาราม ก็เฉย ฝาก! คสช. ลงพื้นที่ปราบหน่อย" ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ได้มีเจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นร้านค้าของโจทก์ดังกล่าว ผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ภายหลังจำเลยที่ 1 ได้ลงแก้ข่าวให้แก่โจทก์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะมีความผิดอาญา หากข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อร้านค้าของโจทก์ถูกตรวจค้นจากการที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงข้อความดังกล่าวในคอลัมน์ห้องร้องทุกข์ที่ระบุเพียงหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อ ไม่ปรากฏชื่อผู้รับผิดชอบคอลัมน์ โจทก์จึงโทรศัพท์ไปยังหมายเลขที่ระบุในคอลัมน์ห้องร้องทุกข์เพื่อสอบถามถึงชื่อผู้แจ้งข่าวและผู้เขียนบทความ แต่ก็ถูกปฏิเสธไม่ได้รับคำตอบ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ผู้พิมพ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ "ผู้โฆษณา" หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า "บรรณาธิการ" หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหา ข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์ โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดของบุคคลผู้เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รับผิดชอบในการพิมพ์ และรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจึงต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ที่จำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ โดยมีหน้าที่เพียงติดต่อกับบุคคลหรือองค์กรภายนอก เข้าร่วมประชุม เข้าร่วมสัมมนา รับรางวัลในฐานะตัวแทนของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไม่มีหน้าที่ตรวจข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ การดูแลข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นหน้าที่บรรณาธิการข่าวแต่ละแผนกเป็นผู้ดูแลนั้น ก็ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีเพียงจำเลยที่ 2 ที่มีชื่อเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาแต่ผู้เดียว เมื่อกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณามีหน้าที่กระทำการดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบ คัดเลือก หรือควบคุมข่าวที่ลงพิมพ์ โดยปล่อยให้มีการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ไม่เป็นความจริง กระทบสิทธิและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการไม่รักษาจริยธรรมของสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำการโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคท้าย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและต้องรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์ หากข้อความนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาร่วมกับผู้เขียนข้อความในการกระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ และของจำเลยที่ 2 อีกหลายข้อ แต่เมื่อคู่ความได้สืบพยานมาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และของจำเลยที่ 2 ไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า บ้านของโจทก์ที่พักอาศัยอยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ด้านหน้าเปิดเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยว อาหาร เครื่องดื่ม ด้านหลังใช้พักอาศัย ร้านที่ขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้ามบริษัทดังกล่าวมีร้านเดียวคือร้านของโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่า ร้านขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด มีร้านอื่นนอกจากร้านของโจทก์ด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ ดังนั้น แม้ข้อความที่ลงพิมพ์ดังกล่าวจะมิได้ระบุชื่อหรือชื่อสกุลของโจทก์ หรือชื่อร้านค้าของโจทก์ แต่เมื่อร้านขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด มีร้านค้าของโจทก์เพียงร้านเดียว การที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงพิมพ์ข้อความว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น ขายอาหารบังหน้า แต่เบื้องหลังปล่อยยาบ้า บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความดังกล่าวย่อมทราบหรือเข้าใจได้ทันทีว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวของโจทก์จำหน่ายยาเสพติดซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ดังนั้น แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์ โดยมิได้มีคำขอให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อเป็นอำนาจของศาล การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ภายหลังจากที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการได้ลงพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทโจทก์แล้วปรากฏว่าได้มีการลงแก้ข่าวให้แก่โจทก์ในภายหลัง นับว่าเป็นการพยายามแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้แก่โจทก์ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบมาตรา 83 ส่วนโทษให้บังคับคดีจำเลยที่ 2 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

ผู้พิพากษา
ชัยเจริญ ดุษฎีพร
วรงค์พร จิระภาค
ชูชีพ ปิณฑะสิริ





ข้อสังเกต


สื่อออนไลน์ต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก บางท่านใช้งานอย่างสนุกสนายจนลืมไปว่า มีกฎหมายคุ้มครองการใช้งานอยู่หลายประการ สิ่งพื้นฐานที่ทุกคนควรรู้ และ สำนึกในความรับผิดชอบและใช้งานอย่างมีขอบเขต

  กฎหมายที่เกี่ยวข้องมากที่สุดคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ,มาตรา 328 และ มาตรา 393

แต่หากผู้เสียหายไปแจ้งความกล่าวหาโดยมีเจตนาการกลั่นแกล้งแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ก็อาจจะถูกดำเนินคดีกลับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 ได้เช่นกัน


ประมวลกฎหมายอาญา-มาตรา-326




 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 58)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 58 ปีการศึกษา 2548
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 25 กันยายน 2548

 

คำถาม


ข้อ 6.   นายเอกชวนนางสาวสมร อายุ 16 ปี ซึ่งเป็นคนรักไปเที่ยวชายทะเลด้วยกัน โดยนายเอกมิได้ขออนุญาตนายโท บิดาของนางสาวสมร จนกระทั่งสองยามจึงพานางสาวสมรกลับบ้าน นายโทโกรธจึงต่อว่านายเอกว่า เป็นผู้ชายที่ชอบหลอกลวงผู้หญิงไปกระทำอนาจาร เป็นเสือผู้หญิงไว้ใจไม่ได้ ต่อหน้านางสาวสมรและนางแต๋ว เด็กรับใช้ โดยทราบดีว่าข้อความที่ตนกล่าวไม่เป็นความจริง นายเอกรู้สึกอายจึงนอนคิดทบทวนแล้วตัดสินใจที่จะฟันแขนเทียมทั้งสองข้างที่นายโทใช้แทนแขนจริงมานานแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นจึงไปดักซุ่มอยู่ที่หน้าบ้าน พอนายโทออกจากบ้านมา นายเอกใช้อาวุธมีดฟันแขนเทียมของนายโททั้งสองข้างจนขาด เป็นเหตุให้นายโทไม่อาจใช้แขนทำงานตามปกติได้ถึง 40 วัน เพราะต้องรอทำแขนเทียมอันใหม่เสร็จ
ให้วินิจฉัยว่า นายเอกและนายโทมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 การที่นายเอกชวนนางสาวสมร ซึ่งอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของนายโทให้ออกจากบ้าน แม้นางสาวสมรจะเต็มใจก็เป็นการพรากตามกฎหมายแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่านางสาวสมรอายุ 16 ปี เต็มใจไปกับนายเอก และนายเอกมิได้มีเจตนานำนางสาวสมรไปเพื่อการอนาจาร เพียงแต่ชวนไปเที่ยวเท่านั้น จึงไม่มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 วรรคแรก แขนเทียมของนายโทมิใช่แขนที่แท้จริงอันเป็นอวัยวะของร่างกายเป็นเพียงทรัพย์เท่านั้น ดังนั้นแม้นายเอกจะฟันจนกระทั่งขาดก็ไม่เป็นความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (3) นายเอกคงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 สำหรับนายโททราบดีว่า ถ้อยคำที่ตนกล่าวออกไปนั้นไม่เป็นความจริง จึงเป็นการกล่าวโดยไม่สุจริตและเป็นข้อความที่อาจทำให้นายเอกถูกดูหมิ่นเหยียดหยามหรือเกลียดชัง แม้จะเป็นการกล่าวต่อนายเอกโดยตรง แต่ก็เล็งเห็นผลได้ว่านางสาวสมรและนางแต๋วซึ่งอยู่ในบริเวณนั้นย่อมได้ยิน จึงเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สามแล้ว นายโทจึงมี
ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2541)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 61)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 61 ปีการศึกษา 2551
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 22 กันยายน 2551

 

คำถาม


ข้อ 6.   นายแสงชัย นายอําเภอสาระขัณฑ์ ถูกตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่าประพฤติตนและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นายสมศักดิ์ ปลัดอําเภอในอําเภอดังกล่าวซึ่งถูกคณะกรรมการเรียกไปเป็นพยาน ได้ให้ถ้อยคําต่อคณะกรรมการว่า ตนได้ยินข่าวลือว่านายแสงชัยชอบเรียกนางสาวขวัญใจผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าไปอยู่ในห้องนายอําเภอตามลําพังในเวลาเช้าและหลังเวลาราชการเกือบทุกวัน เคยได้ยินข้าราชการในอําเภอพูดกันมากว่านายอําเภอและนางสาวขวัญใจมีความสัมพันธ์ถึงขั้นได้เสียกัน ต่อมานายชวลิตนักข่าว เขียนข่าวลงในหนังสือพิมพ์ว่า นายอําเภอสาระขัณฑ์ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนในเรื่องความประพฤติ พยานใกล้ชิดระดับปลัดอําเภอให้ถ้อยคํายืนยันชนิดดิ้นไม่หลุดว่า นายอําเภอได้เสียกับผู้ใต้บังคับบัญชาในห้องทํางานเป็นประจํา งานนี้ตําแหน่งนายอําเภอ คงสั่นคลอนอย่างแน่นอน
ให้วินิจฉัยว่า นายสมศักดิ์และนายชวลิตมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 การที่นายสมศักดิ์ให้ถ้อยคําต่อคณะกรรมการซึ่งผู้บังคับบัญชาของตนแต่งตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนหาข้อเท็จจริงกรณีที่นายแสงชัยนายอําเภอสาระขัณฑ์ ถูกกล่าวหาว่าประพฤติและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถ้อยคําที่นายสมศักดิ์กล่าวเป็นการกล่าวในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาถูกผู้บังคับบัญชาเรียกไปให้ถ้อยคํา เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการอันเป็นส่วนรวมและเป็นการกล่าวไปตามข่าวลือไม่ได้ยืนยันว่าเป็นความจริง และไม่ตั้งใจให้ผู้ฟังเชื่อว่านายแสงชัยมีพฤติกรรมตามข่าวลือนั้น นายสมศักดิ์จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 2034/2530)
สําหรับนายชวลิตเขียนข่าวยืนยันข้อเท็จจริงให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์เชื่อว่าพยานใกล้ชิดเหตุการณ์ที่เป็นปลัดอําเภอให้ถ้อยคํายืนยันว่า นายแสงชัยได้เสียกับผู้ใต้บังคับบัญชาในห้องทํางานซึ่งเป็นข้อความที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นายชวลิตเป็นนักข่าวสมควรตรวจสอบข้อเท็จจริงที่อาจทําให้ผู้อื่นเสียหายให้รอบคอบก่อนนําไปเขียนเป็นข่าว การกระทําของนายชวลิตเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงใส่ความนายแสงชัยด้วยการเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์โดยประการที่น่าจะทําให้นายแสงชัยเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมิใช่เป็นการแสดงข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทํา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) แต่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนายแสงชัยโดยการโฆษณาด้วยเอกสารตามมาตรา 328 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 3520/2543)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 72)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 29 กันยายน 2562

 

คำถาม


ข้อ 6.  นางสาวสดเป็นคนมีชื่อเสียง ได้ว่าจ้างนางหวานซึ่งเป็นผดุงครรภ์เป็นเงิน 10,000 บาท ให้มาทําแท้งที่ห้องนอนในบริเวณบ้านของตน จากการทําแท้งปรากฏว่า เด็กคลอดออกมาแล้วส่งเสียงร้อง ขณะนั้นนางสาวสดมีอาการเคลิ้มๆ จึงไม่ได้ยินเพราะนางหวานให้ทานยาบางชนิดเข้าไปก่อนทําแท้ง นางหวานจึงอาศัยโอกาสนี้ใช้มือบีบจมูกเด็ก จนถึงแก่ความตายเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงกัน เมื่อนางหวานได้รับเงินค่าจ้างแล้ว ขณะที่กําลังออกจากบ้านของนางสาวสด นางหวานได้พบกับนางแต๋วคนรับใช้ของนางสาวสดซึ่งรู้จักกันมาก่อน นางแต่วถามนางหวานว่า “พี่มาทําอะไร” นางหวานตอบว่า “แกอย่าบอกใครนะนายแกท้องหาพ่อเด็กไม่ได้เลยให้ฉันมาทําแท้งให้"
ให้วินิจฉัยว่า นางสาวสดและนางหวานมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด หรือไม่


ธงคำตอบ

 นางสาวสดยินยอมให้นางหวานทําแท้งให้ แต่เด็กคลอดออกมามีชีวิต นางสาวสดจึงมีความผิดฐานพยายามยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ประกอบมาตรา 80 ส่วนนางหวานมีความผิดฐานพยายามทําให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมตามมาตรา 302 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80 ทั้งนางสาวสดและนางหวานไม่ต้องรับโทษตามมาตรา 304 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดเพียงแต่พยายามกระทําความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 วรรคแรก ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
นางหวานใช้มือบีบจมูกเด็กที่คลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกจนถึงแก่ความตาย นางหวานจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288
การที่นางหวานนําเรื่องการทําแท้งของนางสาวสดไปเล่าให้นางแต๋วฟัง เป็นการใส่ความนางสาวสดต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทําให้นางสาวสดเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง นางหวานจึงมีความผิดฐาน หมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 อีกด้วย

หมิ่นประมาทใน-Facebook
หมิ่นประมาทใน-Facebook
 
 
5 1 vote
Article Rating
(Visited 3,220 times, 1 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments