กฎหมายอาญา มาตรา 352 ยักยอกทรัพย์

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ความผิดฐานยักยอก

ประมวลกฎหมายอาญา

 

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา หนังสือประมวลกฎหมายอาญา point

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

มาตรา ๓๕๒

หมวด ๕ ความผิดฐานยักยอก

ลักษณะ ๑๒ ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์

หมวด ๕ ความผิดฐานยักยอก

 

     มาตรา ๓๕๒  ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

* มาตรา ๓๕๒  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๒ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)



คำอธิบาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352


องค์ประกอบภายนอก
1.ครอบครองทรัพย์
2.ทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
3.เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

องค์ประกอบภายใน
1.เจตนาธรรมดา
2.เจตนาพิเศษ โดยทุจริต


ครอบครองทรัพย์ หมายถึง ได้ยึดถือทรัพย์นั้นเพื่อตน (ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1367) คือผู้กระทำมิได้มีการยึดถือทรัพย์นั้นไว้กับตนตามสภาพความเป็นจริง และขณะเดียวกันก็มีเจตนายึดถือเพื่อตนด้วย การยึดถือไม่จำเป็นต้องถือไว้ในมือ เพียงอยู่ในอำนาจการคุ้มครอง ดูแลและสามารถใช้สอยทรัพย์นั้นได้ก็เป็นการครอบครองแล้ว ในความผิดฐานยักยอกนี้จะต้องปรากฏว่าผู้กระทำความผิดได้ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะมีการเบียดบังเอาทรัพย์นั้น

ทรัพย์ หมายถึง จะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ แตกต่างจากความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ที่จะต้องเป็นสังหาริมทรัพย์เท่านั้น

ข้อสังเกต ถ้าทรัพย์นั้นเป็นเพียงแต่อยู่ในความยึดถือของผู้กระทำ ส่วนการครอบครองอยู่กับเจ้าของหรือผู้อื่น ถ้าผู้กระทำผิดเอาทรัพย์ไปก็ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก แต่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง และเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย คือ ทรัพย์ที่ยักยอกจะต้องเป็นของผู้อื่น หรือผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย หมายความว่า ทรัพย์จะต้องมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำผิดคนเดียว ถ้าผู้กระทำผิดได้กรรมสิทธ์ทั้งหมดในทรัพย์แล้วก็จะมีการยักยอกไม่ได้ ปัญหาข้อนี้มักจะเกิดจากการที่เจ้าของทรัพย์ส่งมอบการครอบครองให้ผู้อื่นตามนิติสัมพันธ์ทางแพ่งและเป็นปัญหาว่านิติสัมพันธ์นั้นถึงขั้นที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์แล้วหรือยัง

เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม องค์ประกอบส่วนการกระทำในความผิดฐานยักยอก คือการเบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนหรือบุคคลที่สาม การเบียดบังมีความหมายกว้างกว่า "เอาไป" ในความผิดฐานลักทรัพย์ หมายถึง การกระทำหรืองดเว้นกระทำที่แสดงเจตนาของผู้ครอบครองทรัพย์ว่าจะเอาทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบ การแสดงเจตนาดังกล่าวอันแสดงออกโดย การบริโภค ขาย เปลี่ยน แปลง จำนำ เอาทรัพย์รวมเข้ากับของตนหรือเพียงแต่ปฏิเสธสิทธิของเจ้าของที่แท้จริงก็เป็นการเบียดบังได้ และต้องเอาไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ ทั้งไม่ใช่การกระทำที่เป็นแต่การทำลายทรัพย์ให้สูญสิ้นไป ทั้งนี้เพราะผู้กระทำผิดได้ครอบครองทรัพย์อยู่แล้ว เพียงแต่เจตนาทุจริตเอาทรัพย์ไว้เป็นของตนเมื่อใดก็เป็นการเบียดบัง แต่ลำพังการครอบครองทรัพย์เรื่อยมาโดยไม่ส่งคืนแก่เจ้าของตามสัญญายังไม่พอถือว่ามีการเบียดบัง เช่น โก่ง ขอยืมปืนของ ขาว โดยสัญญาว่าจะคืนให้ในเย็นวันนั้นปรากฏว่า โก่ง ไม่คืน คงครอบครองต่อมาอีก 8 เดือน โดย ขาว ก็ไม่ได้ทวงถาม เพียงเท่านี้ยังไม่ถือว่ามีการเบียดบัง

เจตนา เจตนาตาม มาตรา 59

โดยทุจริต เป็นเจตนาพิเศษตาม มาตรา 1(1) ดังนั้น การที่ผู้ครอบครองทรัพย์ปฏิเสธ ไม่ยอมคืนทรัพย์แก่เจ้าของ หากมีเหตุอันควร หรือเข้าใจผิดโดยสุจริต ก็ไม่ถือว่ามีเจตนาโดยทุจริตและไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

อาญา-มาตรา-352




คำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7727/2544

คำพิพากษาย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกจากบริษัท อ. โดยชำระเงินในวันทำสัญญาบางส่วน ที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวดรวม 36 งวดมีชาวบ้านที่จำเลยจ้างมาเป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถไปแล้วจำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ติดต่อกับผู้เสียหายอีกเลย บริษัท อ. จึงบอกเลิกสัญญา แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถคืนเมื่อสอบถามจำเลย จำเลยแจ้งว่าขายไปแล้วแต่ไม่ยอมบอกว่าขายให้แก่ผู้ใด ดังนี้ การที่จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อและชำระเงินล่วงหน้าก็เพื่อให้ได้รถยนต์ไปไว้ในครอบครอง มิได้มีเจตนาจะชำระราคาอีก พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของบริษัท อ. ที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ของบริษัทอีซูซุเสนียนต์นครสวรรค์ จำกัด ผู้เสียหาย แล้วจำเลยเบียดบังเอารถยนต์บรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวของผู้เสียหายเป็นของจำเลยหรือของบุคคลที่สามโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 2,238,009.25บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต 6 ซึ่งอัยการสูงสุดได้มอบหมายรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขเครื่องยนต์723835 ราคา 2,238,009.25 บาท ของบริษัทอีซูซุเสนียนต์นครสวรรค์จำกัด ผู้เสียหาย โดยทำสัญญาเช่าซื้อ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยยักยอกรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวหรือไม่โจทก์มีนางสาวจินณ์เกษม สาระคุณ กรรมการบริษัทผู้เสียหาย และนางสาวจารุภา มีพร้า เบิกความเป็นพยานประกอบสำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อ และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3รับฟังได้ว่าจำเลยเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกสิบล้อยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขเครื่องยนต์ 723835 ชำระเงินวันทำสัญญา 245,245.45 บาทที่เหลือผ่อนชำระเดือนละงวด งวดละ 55,354.55 บาท รวม 36 งวด หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อและรับรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปแล้ว จำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ไม่ติดต่อกับผู้เสียหายอีกเลยผู้เสียหายจึงบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.4 และใบตอบรับเอกสารหมาย จ.5 แต่จำเลยไม่ส่งมอบรถยนต์บรรทุกคืนแก่ผู้เสียหายผู้เสียหายนำเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายไปเบิกเงินก็ถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน พยานหลักฐานโจทก์ดังนี้แสดงว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อชำระเงินล่วงหน้าจำนวนหนึ่งเพียงเพื่อให้ได้รถยนต์บรรทุกสิบล้อไปไว้ในครอบครองไม่มีเจตนาจะชำระราคาอีก โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยไม่ชำระค่างวดตั้งแต่งวดแรกไม่ขอผัดผ่อน ไม่ติดต่อด้วย เมื่อสัญญาเลิกกันก็ไม่คืนรถยนต์แก่ผู้เสียหาย หากมีข้อขัดข้องควรต้องแจ้งให้ผู้เสียหายทราบ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ซึ่งผิดวิสัยผู้ทำการโดยสุจริต นางสาวจินณ์เกษมและนางสาวจารุภาพยานโจทก์เบิกความตรงกันว่า ติดตามสืบหารถยนต์แล้วไม่พบ สอบถามผู้ใหญ่บ้านได้ความว่าจำเลยขายไปแล้ว ส่วนผู้ค้ำประกันเป็นเพียงชาวบ้านที่จำเลยจ้างให้ทำสัญญาค้ำประกัน เมื่อจำเลยถูกจับคดีกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พยานทั้งสองถามจำเลยเรื่องรถยนต์จำเลยบอกว่าขายไปแล้ว แต่ไม่ยอมบอกว่าขายแก่ใคร และรถยนต์อยู่ที่ใด ปรากฏตามบันทึกคำให้การพยานเอกสารหมาย จ.6 และตามคำเบิกความร้อยตำรวจเอกวิริยะบัณฑิต สถิตย์สุวชาติ พนักงานสอบสวนพยานหลักฐานและพฤติการณ์ดังนี้ชี้ว่าจำเลยซึ่งครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อของผู้เสียหายเบียดบังเอารถยนต์นั้นไว้เป็นของจำเลยหรือผู้อื่นโดยเจตนาทุจริต พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมีแต่จำเลยนำสืบปฏิเสธลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุน การที่จำเลยอ้างว่ารถยนต์ถูกนายเหน่งเอาไปรับจ้างแล้วไม่เอามาคืน จึงไม่น่าเชื่อเพราะรถยนต์เป็นของผู้เสียหาย จำเลยเช่าซื้อมา จำเลยย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าต้องรับผิดต่อเจ้าของตามสัญญา แต่ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏว่านายเหน่งที่ว่ามีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ เป็นคนที่ไหนเกี่ยวข้องใกล้ชิดอย่างไร และเพราะเหตุใดจำเลยจึงส่งมอบรถยนต์ซึ่งมีราคาสูงให้ไปโดยไม่ต้องมีหลักฐาน หากเป็นความจริงตามวิสัยผู้สุจริต จำเลยต้องรีบแจ้งผู้เสียหาย แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานให้ติดตามผู้กระทำผิด และตามรถยนต์คืน แต่จำเลยไม่ได้ทำ ข้ออ้างว่าจำเลยได้แจ้งผู้เสียหายกับแจ้งความร้องทุกข์แล้วแต่เจ้าพนักงานไม่ยอมรับแจ้งนั้นไม่น่าเชื่อ ดังนี้เห็นว่าพยานหลักฐานจำเลยไม่มีน้ำหนัก ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานยักยอก หาใช่เป็นเพียงการกระทำผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้นไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น"

พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 2 ปี ให้จำเลยคืนรถยนต์หรือใช้ราคารถยนต์ 2,238,009.25 บาท แก่ผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12675/2558

ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ

ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555 จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง ดังนี้ จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จึงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2552

คำพิพากษาย่อสั้น

จำเลยยักยอกรถที่เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองใช้ประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยโดยตรง ดังนั้น แม้ผู้เช่าซื้อจะแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานยักยอกในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อก็ตาม ก็ถือได้ว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะเป็นผู้เสียหายเองด้วยเช่นกัน ผู้เช่าซื้อย่อมมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายด้วยคนหนึ่งได้

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352 ให้จำเลยคืนรถยนต์คันที่จำเลยร่วมกันยักยอกไปให้แก่ผู้เสียหายหรือมิฉะนั้นให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 330,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352 วรรคแรก จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนรถยนต์คันที่จำเลยร่วมกันยักยอกไปแก่ผู้เสียหาย หรือใช้ราคาแทนเป็นเงินจำนวน 330,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา นายประเวศน์ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์และขอถอนฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า นางภัทราพรพวกของจำเลยยืมรถยนต์หมายเลขทะเบียน บต 873 สุโขทัย ของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อไปจากผู้เช่าซื้อ มาไว้ในครอบครองของนางภัทราพรและจำเลย แล้วร่วมกันเบียดบังไปเป็นของจำเลยและนางภัทราพรโดยทุจริต เมื่อในขณะเกิดเหตุกระทำความผิดผู้เช่าซื้อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถที่เช่าซื้อ การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เช่าซื้อได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เช่าซื้อจะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายก็ตาม ก็ถือได้ว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เช่าซื้อเป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เช่าซื้อจึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกตามฟ้องเป็นความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2)
จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7836/2556

คำพิพากษาย่อสั้น

กรณีที่จำเลยมิได้รับมอบหมายให้รับเครื่องประดับไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนเครื่องประดับที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก

จำเลยรับเครื่องประดับจากโจทก์ไปจำหน่าย โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คระบุจำนวนเงินตามมูลค่าเครื่องประดับนั้น ๆ ให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อจำเลยนำเงินค่าเครื่องประดับมาชำระ โจทก์จะคืนเช็คให้จำเลย พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ราคาที่โจทก์กำหนดตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนั้น แท้จริงแล้วคือราคาที่จำเลยจะต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้ ดังนั้น ผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากการทำธุรกิจเช่นนี้กับโจทก์ก็คือ ส่วนต่างของราคาเครื่องประดับที่จำเลยขายให้แก่ลูกค้ากับราคาที่โจทก์กำหนดโดยจำเลยต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้นั่นเอง กรณีจึงมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับเครื่องประดับไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนเครื่องประดับที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษไม่ได้
ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยรับเอาทรัพย์สินเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย ทอง และนาฬิกาของโจทก์ไป 108 รายการ รวม 28 ชุด เป็นเงิน 18,734,250 บาท เพื่อนำไปจำหน่ายตามราคาที่โจทก์กำหนดไว้ เมื่อจำเลยจำหน่ายเครื่องประดับดังกล่าวได้เงินแล้ว ก็จะส่งเงินค่าเครื่องประดับที่จำเลยจำหน่ายไปให้โจทก์ แต่หากจำเลยไม่สามารถจำหน่ายเครื่องประดับได้ จำเลยต้องคืนเครื่องประดับที่รับไปนั้นให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้รับประโยชน์อะไรเป็นการตอบแทน แต่ได้ความจากโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า จำเลยรับเครื่องประดับจากโจทก์ไปจำหน่ายให้แก่ชาวต่างประเทศเนื่องจากจำเลยทำธุรกิจค้าขายเครื่องประดับและธุรกิจท่องเที่ยว ทุกครั้งที่จำเลยรับเครื่องประดับดังกล่าวไป จำเลยสั่งจ่ายเช็คระบุจำนวนเงินตามมูลค่าเครื่องประดับนั้นๆ ให้โจทก์ยึดถือไว้ เมื่อจำเลยนำเงินค่าเครื่องประดับมาชำระให้โจทก์ โจทก์จะคืนเช็คให้จำเลย พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ราคาที่โจทก์กำหนดตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องนั้น แท้จริงแล้วก็คือราคาที่จำเลยจะต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้ ดังนั้น ผลประโยชน์ตอบแทนที่จำเลยจะได้รับจากการทำธุรกิจเช่นนี้กับโจทก์ก็คือส่วนต่างของราคาเครื่องประดับที่จำเลยขายให้แก่ลูกค้ากับราคาที่โจทก์กำหนดโดยจำเลยต้องออกเช็คให้โจทก์ยึดถือไว้นั่นเอง กรณีจึงมิใช่จำเลยได้รับมอบหมายให้รับเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย ทอง และนาฬิกาไว้ในฐานะตัวแทนโจทก์ หากแต่จำเลยครอบครองโดยอาศัยอำนาจแห่งสัญญาที่โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน เมื่อจำเลยไม่ส่งเงินที่ขายได้หรือไม่ส่งคืนเครื่องประดับที่ยังขายไม่ได้ให้โจทก์ โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนเครื่องประดับที่จำเลยรับไปจากโจทก์แล้ว แต่จำเลยไม่ส่งมอบคืนเครื่องประดับดังกล่าวให้โจทก์ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอกตามฟ้อง แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดหรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4781/2555

รถยนต์กระบะเป็นของผู้เสียหายที่ 2 โจทก์ร่วมทำสัญญาเช่าซื้อจากผู้เสียหายที่ 2 ขณะเกิดเหตุยังอยู่ระหว่างการผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์กระบะจึงยังเป็นของผู้เสียหายที่ 2 จนกว่าจะมีการชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วน ในการตกลงซื้อขายรถยนต์กระบะให้แก่จำเลยมีเงื่อนไขว่า โจทก์ร่วมจะโอนทะเบียนให้จำเลยต่อเมื่อจำเลยชำระราคารถยนต์ครบถ้วนแล้ว ซึ่งรวมถึงข้อตกลงให้จำเลยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่โจทก์ร่วมยังคงค้างชำระแก่ผู้เสียหายที่ 2 ด้วย ข้อตกลงในการซื้อขายรถยนต์กระบะระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยจึงมิใช่การซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จึงยังไม่ตกเป็นของจำเลย ที่จำเลยเป็นผู้ครอบครองรถหลังจากมีการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าว ถือเป็นเพียงการครอบครองรถยนต์กระบะไว้แทนโจทก์ร่วมเท่านั้น จำเลยไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะที่แท้จริง ภายหลังจากทำข้อตกลงซื้อขายรถยนต์กระบะดังกล่าวจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและไม่ชำระราคารถยนต์กระบะให้ครบถ้วน โจทก์ร่วมแจ้งให้จำเลยคืนรถยนต์กระบะให้โจทก์ร่วม แต่จำเลยเพิกเฉยและอ้างว่ารถยนต์กระบะสูญหาย การที่จำเลยยังคงครอบครองรถยนต์กระบะของโจทก์ร่วมต่อมาโดยไม่ส่งมอบคืน น่าเชื่อว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังปกปิดและซุกซ่อนรถยนต์กระบะโดยมีเจตนาที่จะไม่ส่งมอบคืนแก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานยักยอก

หลักการวินิจฉัยที่สำคัญนั้น ขึ้นอยู่กับว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าวได้ถูกโอนไปยังผู้เช่าซื้อหรือยัง ถ้าอธิบายตามหลักกฎหมายนั้นหมายความว่า การซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้เช่าซื้อแล้วหรือยัง หากโอนแล้วก็ไม่ผิดยักยอกทรัพย์ แต่หากสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขว่ากรรมสิทธิ์ยังไม่โอนจนกว่าจะมีการชำระราคาเสร็จ อันนี้จะผิดยักยอกทรัพย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2716/2554

คำพิพากษาย่อสั้น

การที่ อ. ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยเอารถกระบะที่ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อมาไปใช้โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อตกลงกันระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย หลังจากจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถกระบะจากผู้เสียหายแล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพารถกระบะหลบหนีไปขายแก่บุคคลภายนอก หรือแอบอ้างว่าเป็นรถกระบะของตนเอง ด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้รับมอบรถกระบะจากผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่จำเลยครอบครองใช้รถกระบะนั้นโดยเปิดเผยและได้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหายเรื่อยมาจำนวนถึง 5 งวดติดต่อกันต่อมาจำเลยค้างส่งค่างวดจึงได้มอบรถกระบะให้ ช. โดยทำความตกลงกับ ช. ให้ ช. เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรวมทั้งที่จำเลยรับเงินมัดจำจาก ช. ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 5,000 บาท และในสัญญาระบุว่าจำเลยและ ช. ซื้อขายรถยนต์ (รถกระบะ) นั้น ยังมิใช่การเอารถกระบะทรัพย์สินของผู้ให้เช่าซื้อไปขายแต่เป็นเพียงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. โดยมีข้อตกลงให้ ช. มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป เพราะจำเลยประสงค์จะหาบุคคลอื่นมาช่วยรับภาระในการผ่อนค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย จำเลยจึงมิได้เบียดบังเอารถกระบะดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ไม่เป็นเหตุทำให้การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดไปแต่อย่างใด
การที่จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. แม้จะมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่า ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อเดิมได้ต่อไป รวมทั้งเรียกค่าเสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจติดตามยึดรถกระบะคืนจากจำเลยได้ จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้จำเลยคืนรถกระบะดังกล่าว หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 631,491 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนรถกระบะที่ยักยอกไป หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 631,491 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2547 นางอาภรณ์ ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะใช้แล้ว หมายเลขทะเบียน บง 7953 สิงห์บุรี จากบริษัทจีอีแคปปิตอลออโตลีส จำกัด (มหาชน) ในราคา 631,491.74 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 74 งวด โดยชำระงวดละเดือนเป็นเงิน 7,044 บาทตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.1 ระหว่างตกลงทำสัญญานั้น จำเลยซึ่งเป็นพี่สาวของนายสถาพรวิจิตรพันธ์ น้องเขยของนางอาภรณ์ขอซื้อรถกระบะดังกล่าวต่อจากนางอาภรณ์ นางอาภรณ์ตกลงให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อรถดังกล่าวแทนนางอาภรณ์ และให้จำเลยชำระเงินค่าจดทะเบียนกับเบี้ยประกันภัยด้วยตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.1 โดยระบุให้จำเลยเป็นผู้ขับขี่ จำเลยรับรถกระบะที่เช่าซื้อไปใช้ตั้งแต่ต้น แล้วชำระค่าเช่าซื้อเพียง 5 งวด จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 6 ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2547 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2547 จำเลยไปพบนางสมศรี เจ้าของร้านสิงห์บุรีคาร์เซ็นเตอร์ข้างที่ทำการประปาจังหวัดสิงห์บุรี ตำบลต้นโพธิ์ อำเภอ เมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นร้านขายรถมือสอง จำเลยจะหาคนซื้อรถกระบะดังกล่าว เพราะไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อได้ต่อไป นางสมศรีแนะนำให้จำเลยพบกับนายเชาวลิต ซึ่งเป็นลูกค้าประจำของนางสมศรี จำเลยตกลงขายรถกระบะดังกล่าวให้นายเชาวลิต โดยนายเชาวลิตเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อต่อไปตามสัญญาซื้อขายรถยนต์เอกสารหมาย จ.7 นายเชาวลิต รับรถกระบะดังกล่าวไปจากจำเลยแล้ว ภายหลังจากนั้นจำเลยติดต่อกับนายเชาวลิตไม่ได้ ทั้งจำเลยและนายเชาวลิตต่างก็ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 6 ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือทวงถามค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 ไปยังนางอาภรณ์ นางอาภรณ์ไปสอบถามจำเลย จำเลยเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง นางอาภรณ์แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ผู้ให้เช่าซื้อทราบ ผู้ให้เช่าซื้อให้นางอาภรณ์ไปร้องทุกข์ ดำเนินคดีแก่จำเลยเอง แต่ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องคดีแพ่งบังคับให้นางอาภรณ์รับผิดตาม สัญญา นางอาภรณ์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 จำเลยไปมอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกรถกระบะตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่นางอาภรณ์ ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยเอารถกระบะที่ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อมาไปใช้โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อตกลงกันระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย หลังจากจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถกระบะจากผู้เสียหายแล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพารถกระบะหลบหนีไปขายแก่บุคคลภายนอก หรือแอบอ้างว่าเป็นรถกระบะของตนเอง ด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้รับมอบรถกระบะจากผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่จำเลยครอบครอง ใช้รถกระบะนั้นโดยเปิดเผยและได้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหายเรื่อยมาจำนวนถึง 5 งวดติดต่อกัน ต่อมาจำเลยค้างส่งค่างวดจึงได้มอบรถกระบะให้นายเชาวลิต โดยทำความตกลงกับนายเชาวลิตให้นายเชาวลิตเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือต่อไปปรากฏตามสัญญาซื้อขายรถยนต์เอกสารหมาย จ.7 พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรวมทั้งที่จำเลยรับเงินมัดจำจากนายเชาวลิตในวันทำสัญญาเอกสารหมาย จ.7 เป็นเงิน 5,000 บาท และในสัญญาระบุว่าจำเลยและนายเชาวลิตซื้อขายรถยนต์ (รถกระบะ) นั้น ยังมิใช่การเอารถกระบะทรัพย์สินของผู้ให้เช่าซื้อไปขาย แต่เป็นเพียงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นายเชาวลิต โดยมีข้อตกลงให้นายเชาวลิตมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป เพราะจำเลยประสงค์จะหาบุคคลอื่นมาช่วยรับภาระในการผ่อนค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหายต่อไป จำเลยจึงมิได้เบียดบังเอารถกระบะดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ไม่เป็นเหตุทำให้การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดไปแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นายเชาวลิตโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อเป็นการไม่ชอบ การกระทำของจำเลยจึงต้องมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นายเชาวลิตแม้จะมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่า ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อเดิมได้ต่อไป รวมทั้งเรียกค่าเสียหายจากผู้เสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจติดตามยึดรถกระบะคืนจากจำเลยได้ดังที่โจทก์ฎีกา จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานยักยอก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

ผู้พิพากษา
นพวรรณ อินทรัมพรรย์
ไชยยงค์ คงจันทร์
ทัศนีย์ ธรรมเกณฑ์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1997/2563

จำเลยรับจำนำรถยนต์พิพาทจาก ป. จำเลยมีเพียงสิทธิยึดถือครอบครองรถยนต์พิพาทไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน และมีสิทธิจะขายทรัพย์จำนำได้ต่อเมื่อบอกกล่าวบังคับจำนำเป็นหนังสือไปยัง ป.ให้ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาอันสมควรก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 758 และ 764 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยมีหนังสือบอกกล่าวให้ ป.ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาพอสมควร จำเลยจึงไม่มีสิทธินำรถยนต์พิพาทไปขาย แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยนำไปขายให้แก่บุคคลใดก็ตาม แต่การที่จำเลยแจ้งแก่ ป. ว่าได้ขายรถยนต์พิพาทไปแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็นในการขายรถยนต์พิพาท เมื่อจำเลยยึดถือครอบครองรถยนต์พิพาทแทน ป. ผู้จำนำแล้วจำเลยนำรถยนต์พิพาทไปขาย และไม่สามารถนำมาคืนให้แก่ ป. ผู้จำนำซึ่งได้ใช้สิทธิไถ่ถอนโดยนำเงินมาชำระหนี้แก่จำเลยแล้ว จึงเป็นการเบียดบังเอารถยนต์พิพาทนั้นไปเป็นของตนโดยทุจริต อันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ป. ผู้จำนำ ผู้เสียหายที่ 1 ผู้ให้เช่าซื้อและผู้เสียหายที่ 2 เจ้าของรถยนต์พิพาทในขณะนั้น จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4953/2563

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 (เดิม)
จำเลยประกอบอาชีพทนายความ และเป็นลูกจ้างของโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์ จำเลยมีอำนาจรับเงินและออกใบเสร็จรับเงินแทนโจทก์ได้ การที่ ส. ชำระเงินค่าเสียหายให้แก่โจทก์โดยโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลย จำเลยในฐานะตัวแทนผู้รับเงินของโจทก์มาครอบครองไว้จึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินนั้นคืนให้แก่โจทก์ ส. โอนเงินค่าเสียหายเข้าบัญชีจำเลย 11 ครั้ง แต่จำเลยไม่ได้คืนเงินที่ ส. โอนมาแต่ละครั้งให้แก่โจทก์ทันที โดยนำมาคืนโจทก์ทีเดียว 500,000 บาท ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ ส. โอนเงินครั้งแรก 5 เดือนเศษ และภายหลังโอนเงินครั้งสุดท้าย 1 เดือนเศษ จำเลยปิดบังไม่แจ้งเรื่องที่ ส. โอนเงินค่าเสียหายที่ชำระให้แก่โจทก์เข้ามาในบัญชีของจำเลย การที่จำเลยเอาเงินที่ ส. ชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์โดยโอนเข้าบัญชีของจำเลย 11 ครั้ง ไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของจำเลยโดยโจทก์ไม่ทราบและยินยอมให้ทำได้นั้น เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์เป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอก แม้จำเลยนำเงิน 500,000 บาท มาคืนโจทก์ก็ไม่ลบล้างการกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดสำเร็จแล้วได้ การที่จำเลยซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนยักยอกเงินของโจทก์ไปในระหว่างเวลาที่โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์โดยให้มีอำนาจรับเงินและออกใบเสร็จรับเงินแทนโจทก์ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 (เดิม) ประกอบมาตรา 352 วรรคหนึ่ง



ข้อสังเกต


ซื้อรถหลุดจำนำ ถ้ารถที่เช่าซื้อเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าซื้อ (ไฟแนนซ์) ส่วนคนเช่าซื้อ เป็นเพียงผู้ครอบครอง จนกว่า จะชำระค่าเช่าซื้อหมดหมุนเงินไม่ทัน หันไปหาบ่อน หรือ คนรับจำนำรถ การนำรถที่กำลังเช่าซื้อ ไปจำนำ #โดยไฟแนนซ์ไม่ยินยอม ย่อมเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เพราะมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ส่วนคนที่รับไว้ โดยรู้อยู่แล้วว่า เป็นทรัพย์ได้มาจากการกระทำความผิด จากการ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร เมื่อคนรับจำนำ รับซื้อไว้ จากคนที่ยักยอกมา ก็ย่อมมีความผิดฐานรับของโจร โจรนำมาขายต่อให้ท่าน ท่านรับไว้ ด้วยการซื้อ ก็ผิดฐานรับของโจร เช่นเดียวกัน เมื่อท่านรับของโจรไว้ ท่านจะอ้างอย่างไร ก็ฟังยาก เว้นแต่ท่านจะต่อสู้ว่า ไม่รู้ว่าเป็นของที่ได้มาจากการกระทำความผิด จากการ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ซึ่งคงแก้ตัวยากและฟังไม่ขึ้น เพราะขณะที่รับซื้อไว้ ท่านต้องรู้ว่าใครเป็นเจ้าของ เพราะต้องตรวจสอบจากสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ หากเป็นของคนอื่นไม่ใช่ของคนที่ขายให้ท่าน คนที่นำมาขายได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับความยินยอม จากเจ้าของที่แท้จริงหรือไม่ !!? แน่นอนล่ะ ผมเชื่อว่า ไฟแนนซ์ คงไม่ยอมให้ผู้เช่าซื้อนำรถที่เช่าซื้อมาขาย หรือ มาจำนำแน่นอน ดังนั้น ท่านรับซื้อมา จากบุคคลอื่นที่ยักยอกทรัพย์ของไฟแนนซ์มาด้วยแล้ว ท่านจึงต้องรับผิดฐานรับของโจร อีกคนด้วยแม้ท่านจะซื้อต่อๆมากี่ทอด หรือซื้อด้วยความสุจริตแค่ไหน ท่านก็ไม่อาจจะอ้างได้ เพราะเจ้าของที่แท้จริง ย่อมมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ (ประมวลกฎหมายแแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336) ซึ่งคนที่นำมาจำนำ ไม่มีสิทธิในตัวทรัพย์ คนรับไว้ ก็ย่อมไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์นั้น ท่านรับของโจรมาก็ไม่มีสิทธิอ้าง เช่นกัน ภาษิตกฎหมาย กล่าวว่า "ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน (ละติน:Nemo dat qui non habet," คดีตัวอย่างต่อไปนี้ เสียทั้งเงิน แถมเกือบจะติดคุกด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8865/2558
การที่ ร. ได้รถยนต์พิพาทมาด้วยการกระทำความผิดฐานยักยอกซึ่งคดีอาญาถึงที่สุดแล้ว ร. จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันดังกล่าว แม้จำเลยที่ 1 จะซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตแต่เป็นการซื้อจาก ร. ผู้ไม่มีกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่า ร. คือไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 คืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ต้องใช้ราคาแทน

สรุปสั้นๆว่า..
1. ร.เป็นผู้เช่าซื้อ กับไฟแนนซ์ แล้วยักยอกรถที่เช่าซื้อ นำมาขายให้ จำเลยที่ 1
2. ไฟแนนซ์ ฟ้องอาญา ร.ในข้อหายักยอก ซึ่งคดีถึงที่สุด
3.จำเลยต่อสู้ว่า ซื้อมาจาก ร. โดยสุจริต (ไม่รู้ว่าเป็นของที่ยักยอกมา)
4.ศาลพิพากษา ถึงจำเลยจะไม่รู้ และซื้อมาจาก ร. โดยสุจริต จำเลยก็ต้องคืนรถ หรือ ใช้ราคา ให้ไฟแนนซ์ เพราะแม้จำเลยที่ 1 จะซื้อรถยนต์พิพาทโดยสุจริตแต่เป็นการซื้อจาก ร. ผู้ไม่มีกรรมสิทธิ์ จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิดีไปกว่า ร. คือไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์พิพาทด้วยเช่นกัน
( หลัก : ภาษิตกฎหมาย "ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน(ละติน:Nemo dat qui non habet, ")
5.สรุป จำเลยที่ 1 และ 2 ต้องคืนรถให้ไฟแนนซ์ไป แม้จะซื้อไว้โดยสุจริต
6.เสียทั้งเงิน และเกือบเสียอนาคต
7.ของฟรีไม่มีในโลก..

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 352 ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่น เป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคล ที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 357 "ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด ถ้าความผิดนั้นเข้าลักษณะลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ กรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอก หรือเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรับของโจร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายแแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
#ดังนั้นเมื่อสรุปความผิดของขบวนการรถหลุดจำนำ สามารถแจกแจงได้ดังนี้
ผู้นำรถมาจำนำ - มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เนื่องจากไม่ได้รับความยินยอมจากไฟแนนซ์
ผู้รับจำนำ - มีความผิดฐานรับของโจร เนื่องจากไฟแนนซ์แจ้งความหายไว้
ผู้ซื้อรถจำนำ - มีความผิดฐานรับของโจรเช่นกัน


ถ้าทรัพย์นั้นเป็นเพียงแต่อยู่ในความยึดถือของผู้กระทำ ส่วนการครอบครองอยู่กับเจ้าของหรือผู้อื่น ถ้าผู้กระทำผิดเอาทรัพย์ไปก็ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก แต่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง และเป็นความผิดฐานลักทรัพย์


การที่นายจ้างมอบให้ลูกจ้างดูแลหรือใช้สอยทรัพย์สินของนายจ้าง ถือว่าการครอบครองยังอยู่กับนายจ้าง ลูกจ้างมีเพียงการยึดถือเท่านั้น [Perkins, Criminal Law, p. 244]

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 56)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 56 ปีการศึกษา 2546
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 5 ตุลาคม 2546

 

คำถาม


ข้อ 5.   ระหว่างที่นายกบกับนายเขียดเดินเล่นอยู่ในสวนจตุจักร นายกบเหลือบไปเห็นนายปลาทำนาฬิกาหล่นจึงรีบเดินเข้าไปเก็บ โดยนายเขียดไม่คาดคิดมาก่อนว่านายกบจะทำเช่นนั้น ส่วนนายปลาเมื่อเดินไปได้ไม่ไกลทราบว่านาฬิกาหล่นหายไปจึงเดินกลับมายังจุดที่นายกบและนายเขียดยืนอยู่ เมื่อนายกบเห็นนายปลาเดินกลับมาจึงได้ส่งนาฬิกาให้นายเขียดนำออกไปจากบริเวณนั้น เมื่อนายปลาเดินมาจึงสอบถามว่านายกบเห็นนาฬิกาหรือไม่ นายกบตอบว่าไม่เห็นแล้วมองตามหลังนายเขียดไป นายปลาเชื่อว่านายเขียดเอานาฬิกาไป จึงวิ่งตามไปร้องตะโกนว่า "ขโมย ๆ" นายเขียดจึงชกปากนายปลาอย่างแรงแล้วหนีไป ปรากฎว่านายปลาปากแตก ฟันหักสี่ซี่ ให้วินิจฉัยว่านายกบและนายเขียดมีความผิดฐานใดบ้าง


ธงคำตอบ

 การที่นายปลาทำนาฬิกาหล่นหายแต่ใด้ติดตามเอาทรัพย์คืนในทันที และนายกบก็ทราบดีว่านายปลากำลังติดตามหานาฬิกาอยู่ นาฬิกาจึงไม่เป็นทรัพย์สินหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง นาฬิกายังอยู่ในความครอบครองของนายปลาผู้เป็นเจ้าของ นายกบเอานาฬิกาของนายปลาไปโดยทุจริต จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมาลกฎหมายอาญา มาตรา 334 สำหรับนายเขียดไม่เป็นตัวการในความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะขณะที่นายกบเดินเข้าไปเก็บนาฬิกานายเขียด ไม่คาดคิดมาก่อนว่านายกบจะทำเช่นนั้น แต่การที่นายเขียดช่วยพาทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ออกไปจากที่เกิดเหตุ โดยได้ทราบถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของนายกบ นายเขียดจึงมีความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 704/2493) การที่นายเขียดทำร้ายนายปลา แม้จะกระทำเพื่อยึดถือเอานาฬิกานั้นไว้และเพื่อให้พ้นจากการจับกุมโดยไม่ขาดตอนจากการพานาฬิกาหลบหนีไป เป็นการรับของโจรแล้วทำร้าย มิใช่การลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมลกฎหมายอาญา มาตรา 339 แต่เมื่อนายปลาปากแตกและฟันหักถึงสี่ชี่ ถือว่านายปลาได้รับอันตรายแก่กายแล้ว ดังนั้นนายเขียดจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 อีกฐานหนึ่ง (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 745/2515)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 58)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 58 ปีการศึกษา 2548
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 25 กันยายน 2548

 

คำถาม


ข้อ 5.   นายยอดประสงค์จะเช่าซื้อรถยนต์คันหนึ่ง จากบริษัท ยานยนต์ จำกัด ซึ่งตนสามารถเช่าซื้อได้ในราคาถูกจึงชวนนายยิ่งให้ไปเช่าซื้อรถยนต์คนละคัน เพราะทราบมาว่านายยิ่งต้องใช้รถยนต์รับส่งลูกไปโรงเรียน ขณะนั้นนายยิ่งเพิ่งเสียการพนันเป็นเงินจำนวนมาก เมื่อได้ยินเช่นนั้นจึงแกล้งตอบตกลงและไปทำสัญญา โดยนายยอดไม่ทราบความในใจของนายยิ่งว่าโดยใจจริงแล้วไม่คิดจะเช่าซื้อเลย ต่อมาเมื่อได้รับมอบรถยนต์ตามสัญญาแล้ว นายยิ่งก็นำรถยนต์ไปขายให้นายดำทันที ส่วนนายยอดเอง เมื่อผ่อนชำระราคาเช่าซื้อได้เพียง 8 งวด ไม่สามารถผ่อนส่งต่อไปได้ จึงแอบนำรถยนต์ไปขายให้นายเขียวแล้วหลบหนีไป
ให้วินิจฉัยว่า นายยอดและนายยิ่งมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  นายยอดเข้าครอบครองรถยนต์ของบริษัทยานยนต์ จำกัด มิได้เกิดจากการใช้อุบายหลอกลวงแต่ประการใดเพิ่งมาคิดเบียดบังนำรถยนต์ไปขายในภายหลัง ซึ่งเป็นการกระทำโดยทุจริตแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย นายยอดจึงมีความผิดฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7727/2544)
สำหรับนายยิ่งไม่มีเจตนาเช่าซื้อรถยนต์มาตั้งแต่ต้น การทำสัญญาเช่าซื้อเป็นเพียงอุบายเพื่อให้ได้มาชึ่งรถยนต์แล้วนำไปขายต่อ เป็นการกระทำโดยทุจริตหลอกลวง โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งเพื่อได้ไปซึ่งทรัพย์สินของบริษัทผู้ให้เช่าซื้อ นายยิ่งจึงมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2529, 633/2546)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 68)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 68 ปีการศึกษา 2558
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 27 กันยายน 2558

 

คำถาม


ข้อ 5.   นายอมรครอบครองที่ดินมีโฉนดและมีชื่อของนายอมร เป็นเจ้าของอยู่ในโฉนด โดยที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของนายมั่งยอมให้นายอมร ใส่ชื่อไว้แทน เมื่อนายมั่งขอให้นายอมรโอนที่ดินให้แก่ตน นายอมรไม่ยอม นายมั่งจึงฟ้องขอให้ศาลบังคับนายอมรไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ตน ในระหว่างดําเนินคดีนายอมรรีบโอนขายที่ดินให้แก่นายชื่อ โดยนายชื่อไม่ทราบว่าความจริงที่ดินเป็นของนายมั่ง เพิ่งมาทราบในภายหลังจากรับโอนที่ดินมาแล้ว นายซื่อไม่อยากได้ที่ดินแปลงดังกล่าวจึงโอนขายต่อให้นายมืด นายมืดรับซื้อไว้ โดยทราบดีว่าที่ดินเป็นของนายมั่ง
ให้วินิจฉัยว่า นายอมร นายซื่อ และนายมืดมีความผิดฐานใดบ้าง


ธงคำตอบ

  นายอมรครอบครองที่ดินของนายมั่งได้เอาที่ดินของนายมั่งไปขายให้นายซื่อ เป็นการเบียดบังทรัพย์ของผู้อื่นโดยทุจริต นายอมรจึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก เมื่อการโอนดังกล่าวได้กระทําในขณะที่นายมั่งฟ้องบังคับชําระหนี้ให้นายอมรโอนที่ดินให้แก่ตน แต่นายอมรกลับโอนที่ดินไปให้นายซื่อเพื่อมิให้นายมั่งได้รับชําระหนี้ นายอมรจึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา 350 อีกบทหนึ่งด้วย (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 12250/2557)
ส่วนนายซื่อรับซื้อที่ดินไว้โดยสุจริตจึงไม่มีความผิดฐานใด
นายอมรได้ที่ดินของนายมั่งมาโดยการยักยอก ที่ดินจึงเป็นของโจรแม้จะโอนไปยังนายซื่อแล้วก็ตาม ความเป็นของโจรยังมิได้สิ้นสุดลง เพียงแต่นายซื่อรับซื้อไว้โดยไม่รู้ว่าเป็นของโจรจึงไม่มีความผิดเท่านั้น แต่นายมืดทราบดีว่าที่ดิน ได้มาจากการกระทําความผิด นายมืดจึงมีความผิดฐานรับของโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 65)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 65 ปีการศึกษา 2555
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 30 กันยายน 2555

 

คำถาม


ข้อ 6.   นายจุกทราบว่านางแต๋วภริยากําลังจะไปเล่นการพนัน จึงขอร้องไม่ให้ไปเล่นเพราะนางแต๋วเล่นการพนันเสียเป็นประจํา นางแต๋วนอกจากไม่เชื่อแล้ว ยังโต้เถียงไม่หยุดและยืนยันว่าจะไปเล่น นายจุกจึงชกปากนางแต๋วอย่างแรงโดยทราบว่านางแต๋วใส่ฟันปลอมไว้ เป็นเหตุให้ริมฝีปากแตกเป็นแผลและฟันปลอมหักแตกกระจายใช้เคี้ยวอาหารไม่ได้ จากนั้นนายจุกกระชากสร้อย คอทองคำของนางแต๋วมาเก็บไว้ เพื่อไม่ให้นางแต๋วนําไปเล่นการพนัน ต่อมาอีก 3 วัน นายจุกเปลี่ยนใจยกสร้อยคอดังกล่าวให้นางสาวสมรที่นายจุกหลงชอบมานานแล้ว
ให้วินิจฉัยว่า นายจุกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดบ้าง


ธงคำตอบ

  กรณีที่นายจุกใช้กําลังประทุษร้ายแย่งสร้อยคอทองคํามาจากนางแต๋ว ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคหนึ่ง เพราะไม่มีเจตนาเอาสร้อยคอเป็นของตน เพียงต้องการเก็บรักษาไว้ไม่ให้นางแต๋วนําไปเล่นการพนัน (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 2188/2545)
การที่นายจุกชกปากนางแต่วอย่างแรงจนริมฝีปากแตก ถือว่านางแต๋วได้รับอันตรายแก่กาย นายจุกมีความผิดฐานทําร้ายร่างกายผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ส่วนกรณีการชกทําให้ฟันปลอมของนางแต๋วหักแตกกระจายไม่อาจใช้เคี้ยวอาหารได้นั้น เมื่อฟันปลอมเป็นเพียงทรัพย์มิใช่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย นายจุกจึงไม่มีความผิดฐานทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 297 แต่นายจุก เล็งเห็นผลได้ว่าการชกนั้นจะถูกฟันปลอม นายจุกคงมีความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358
ส่วนที่นายจุกเอาทรัพย์ของนางแต๋วที่อยู่ในความครอบครองของตนไปยกให้นางสาวสมร เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต นายจุกจึงมีความผิดฐานยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 69)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 69 ปีการศึกษา 2559
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 25 กันยายน 2559

 

คำถาม


ข้อ 6.   วันหนึ่งเวลากลางวัน ขณะที่นายยอดชายลงไปว่ายน้ำเก็บดอกบัวในสระแห่งหนึ่งกลางท้องนา ได้ถอดเสื้อผ้าทั้งหมดกองไว้ที่ริมสระ นายซึมซึ่งไม่ชอบนายยอดชายมาก่อน ได้หยิบเสื้อผ้าทั้งหมดของนายยอดชายไปและตะโกนว่า “หนึ่งชั่วโมงจะเอามาคืน” นายอดชายจึงไม่กล้าเปลือยกายขึ้นจากน้ำ เมื่อครบหนึ่งชั่วโมง นายซึมเปลี่ยนใจเก็บเสื้อไว้ใช้เอง คงนําแต่กางเกงและกางเกงชั้นในไปวางคืนนายยอดชายที่ริมสระ เมื่อกลับมาถึงบ้าน เห็นเสื้อของนายยอดชายขาดและมีกลิ่นเหม็นจึงฉีกทิ้ง
ให้วินิจฉัยว่า นายซึมมีความผิดฐานใดบ้าง


ธงคำตอบ

  การที่นายซึมได้เอาเสื้อผ้าของนายยอดชายไป โดยก่อนเอาไปได้ร้องตะโกนว่า “หนึ่งชั่วโมงจะเอามาคืน” แสดงว่าขณะเอาไปไม่มีเจตนาเอาไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ การกระทําของนายซึมแม้จะได้ความครอบครองในเสื้อผ้าของนายยอดชายก็ตาม ย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
เมื่อนายซึมได้ทรัพย์ของนายยอดชายไว้ในความครอบครองแล้ว กลับเปลี่ยนใจเอาเสื้อไว้เป็นของตน จึงมีความผิดฐานยักยอกเพราะเป็นการเบียดบังทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก
ความผิดฐานยักยอกเป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นในลักษณะเป็นการตัดกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับความผิดฐานลักทรัพย์ ดังนั้น การที่นายซึม ฉีกเสื้อที่เบียดบังมาทิ้ง นายซึมจึงไม่มีความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ด้วยอีก (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 235/2486 และ 159/2512)
การที่นายซึมเอาเสื้อผ้าของนายยอดชายไป ทําให้นายยอดชายไม่กล้าขึ้นจากน้ำ จึงเป็นการกระทําด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย มีความผิดฐานทําให้นายยอดชายเสื่อมเสียเสรีภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 วรรคแรก อีกด้วย

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 73)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 73 ปีการศึกษา 2563
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 11 ตุลาคม 2563

 

คำถาม


ข้อ 6.   นายเดชขอยืมรถจักรยานยนต์ของนางแดงภริยาที่เพิ่งซื้อมาใหม่ไปใช้ นายเดชขับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปหานางสาวส้มภริยาน้อยของตน นางสาวส้มอยากได้รถจักรยานยนต์ นายเดชจึงยกรถจักรยานยนต์ให้โดยบอกว่าตนตั้งใจซื้อมาให้อยู่แล้ว สองสัปดาห์ต่อมานางแดงไปพบรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวจอดอยู่ที่หน้าร้านสะดวกซื้อ นางแดงจําได้และดีใจมาก จึงขึ้นขับรถแล้วเอากุญแจสํารองซึ่งตนพกติดตัวอยู่ตลอดเวลามาใช้สตาร์ตรถเพื่อนํากลับบ้าน นางสาวส้ม ซึ่งไม่รู้จักกับนางแดงมาก่อนมาพบเห็นพอดี จึงตรงเข้าแย่งรถคืน โดยผลักนางแดงจนตกจากรถแล้วนางสาวส้มก็ขับรถออกไปทันที
ให้วินิจฉัยว่า นายเดชและนางสาวส้มมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  การที่นายเดชได้ยืมรถจักรยานยนต์ของนางแดงภริยาที่เพิ่งซื้อมาใหม่ไปใช้ เป็นการครอบครองทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และการที่นายเดชนํารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไปให้นางสาวส้ม ภริยาน้อยของตน เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปให้แก่บุคคลที่สามโดยทุจริต การกระทําของนายเดชจึงมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคหนึ่ง (คําพิพากษาฎีกาที่ 598/2548) การกระทําของนายเดชได้รับการยกเว้นโทษ ตามมาตรา 71 วรรคหนึ่ง นายเดชจึงมีความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ของนางแดง
ส่วนการที่นางสาวส้มรับรถจักรยานยนต์ไว้จากการยักยอกทรัพย์นั้น นางสาวส้มไม่มีความผิดฐานรับของโจร เพราะไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทําความผิด
การที่นางสาวส้มเข้าไปผลักนางแดงจนล้มลงแล้วเอารถจักรยานยนต์ไป โดยเข้าใจว่าเป็นรถของตนเอง เป็นการไม่รู้ว่าเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่น จึงเป็นการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสาม นางสาวส้ม ไม่มีเจตนาลักทรัพย์ ดังนั้น จึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์

กฎหมายอาญา มาตรา 352 ยักยอกทรัพย์
กฎหมายอาญา มาตรา 352 ยักยอกทรัพย์
คำอธิบาย-ประมวลกฎหมายอาญา-มาตรา-352.gif
click-คำอธิบาย-ประมวลกฎหมายอาญา-มาตรา-352

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352

ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบัง เอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก

ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใดหรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

องค์ประกอบภายนอก

  1. ครอบครองทรัพย์
  2. ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
  3. เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม

องค์ประกอบภายใน

  1. เจตนา
  2. โดยทุจริต

องค์ประกอบภายนอก

ครอบครองทรัพย์ หมายถึง ได้ยึดถือทรัพย์นั้นเพื่อตน คือผู้กระทำได้มีการยึดถือทรัพย์นั้นไว้กับตนตามสภาพการเป็นจริง และขณะเดียวกันก็มีเจตนายึดถือเพื่อตนด้วย การยึดถือไม่จำเป็นต้องถือไว้ในมือ เพียงอยู่ในอำนาจการคุ้มครอง ดูแลและสามารถใช้สอยทรัพย์นั้นได้ก็เป็นการครอบครองแล้ว ในความผิดฐานยักยอกนี้จะต้องปรากฎว่าผู้กระทำผิดได้ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ในขณะมีการเบียดบังเอาทรัพย์นั้น

ทรัพย์ หมายถึง จะเป็นสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ก็ได้ แตกต่างจากความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 ที่จะต้องเป็นสังหาริมทรัพย์เท่านั้น

ข้อสังเกต

ถ้าทรัพย์นั้นเพียงแต่อยู่ในความยึดถือของผู้กระทำ ส่วนการครองครองอยู่กับเจ้าของหรือผู้อื่น ถ้าผู้กระทำผิดเอาทรัพย์ไปก็ไม่เป็นความผิดฐานยักยอก แต่ถือว่าเป็นการแย่งการครอบครอง และเป็นความผิดฐานลักทรัพย์

ซึ่งเป็นของผู้อื่นหรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย คือ ทรัพย์ที่ยักยอกจะต้องเป็นของผู้อื่น หรือผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ด้วย หมายความว่า ทรัพย์จะต้องมิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้กระทำผิดคนเดียว ถ้าผู้กระทำผิดได้กรรมสิทธิ์ทั้งหมดในทรัพย์แล้วก็จะมีการยักยอกไม่ได้ ปัญหาข้อนี้มักจะเกิดจากการที่เจ้าของทรัพย์ส่งมอบการครอบครองให้ผู้อื่นตามนิติสัมพันธ์ทางแพ่ง และเป็นปัญหาว่านิติสัมพันธ์นั้นถึงขั้นที่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์แล้วหรือยัง

เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สาม องค์ประกอบส่วนการกระทำในความผิดฐานยักยอก คือ การเบียดบังเอาทรัพย์เป็นของตนหรือบุคคลที่สาม การเบียดบังมีความหมายกว้างกว่าเอาไปในความผิดฐานลักทรัพย์ หมายถึง การกระทำหรืองดเว้นกระทำที่แสดงเจตนาของผู้ครอบครองทรัพย์ว่าจะเอาทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยมิชอบ การแสดงเจตนาดังกล่าวอันแสดงออกโดยการบริโภค ขาย เปลี่ยนแปลง จำนำ เอาทรัพย์รวมเข้ากับของตนหรือเพียงแต่ปฏิเสธสิทธิของเจ้าของที่แท้จริงก็เป็นการเบียดบังได้ และต้องเอาไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ ทั้งไม่ไช่การกระทำที่เป็นการทำลายทรัพย์ให้สูญสิ้นไป ทั้งนี้เพราะผู้กระทำผิดได้ครอบครองทรัพย์อยู่แล้ว เพียงแต่เจตนาทุจริตเอาทรัพย์ไว้เป็นของตนเมื่อใด ก็เป็นการเบียดบัง แต่ลำพังการครอบครองทรัพย์เรื่อยมาโดยไม่ส่งคืนแก่เจ้าของตามสัญญายังไม่พอถือว่าเป็นการเบียดบัง เช่น ดำ ขอยืมปืนของ ขาว โดยสัญญาว่าจะคืนให้ในเย็นวันนั้น ปรากฎว่า ดำ มิได้คืน คงครอบครองต่อมาอีก 8 เดือน โดยขาวก็มิได้ทวงถาม เพียงเท่านี้ยังไม่ถือว่ามีการเบียดบัง

องค์ประกอบภายใน

เจตนา ตามมาตรา 59

โดยทุจริต เป็นเจตนาพิเศษตาม มาตรา 1 (1) ดังนั้น การที่ผู้ครอบครองทรัพย์ปฏิเสธไม่ยอมคืนทรัพย์แก่เจ้าของ หากมีเหตุอันควร หรือเข้าใจผิดโดยสุจริต ก็ไม่ถือว่ามีเจตนาทุจริตและไม่เป็นความผิดฐานยักยอก

 

 

 

ยักยอกทรัพย์ที่มีผู้ส่งมอบให้โดยสำคัญผิดหรือยักยอกทรัพย์สินหาย

ยักยอกทรัพย์ที่มีผู้ส่งมอบให้โดยสำคัญผิด

องค์ประกอบภายนอก

  1. การกระทำการตาม มาตรา 352 วรรคแรก
  2. ทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไป

องค์ประกอบภายใน

  1. เจตนา

องค์ประกอบภายนอก

การกระทำการ ตาม มาตรา 352 วรรคแรก การกระทำอันจะเป็นความผิด ตาม มาตรา 352 วรรคสองนี้ จะต้องมีการกระทำครบองค์ประกอบภายนอกของ มาตรา 352 วรรคแรก เสียก่อน

ทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไป ความผิดมาตรา 252 วรรคสองนี้เป็นความผิดที่สืบเนื่องมาจากความผิดฐานยักยอกตาม มาตรา 352 วรรคแรก โดยกฎหมายบัญัติระวางโทษให้น้อยลง เพราะเหตุที่ทรัพย์มาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำผิดเพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิด ดังนั้น ลักษณะสำคัญก็คือ ต้องมีการครอบครองโดยมีผู้อื่นส่งมอบทรัพย์ให้ ไม่ไช่ผู้กระทำผิดเข้าครอบครองเองโดยพลการ

โดยสำคัญผิดไป คำว่าสำคัญผิดมีความหมายกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะสำคัญผิดในเรื่องนิติกรรมดังเช่นในกฎหมายแพ่ง ความสำคัญผิดอาจสำคัญผิดในตัวบุคคคล ตัวทรัพย์ ลักษณะของนิติกรรม คุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์ หรือแม้มูลเหตุจูงใจก็อยู่ในความหมายของมาตรานี้ ข้อสำคัญความผิดนั้นต้องเกิดขณะส่งมอบ และเป็นผลให้มีการส่งมอบ

องค์ประกอบภายใน

เจตนา การกระทำความผิดตามมาตรานี้ต้องมีเจตนา ตาม มาตรา 59 และ โดยทุจริต ตาม มาตรา 1(1) เช่นเดียวกับความผิดฐานยักยอก ตาม มาตรา 352 วรรคแรก

 

ยักยอกทรัพย์สินหาย

องประกอบภายนอก

  1. การกระทำการตามมาตรา 352 วรรคแรก
  2. ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิดเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้

องค์ประกอบภายใน

  1. เจตนา

การกระทำการตามมาตรา 352 วรรคแรก ความผิดนี้สืบเนื่องมากจาความผิดฐานยักยอก ตาม มาตรา 352 วรรคแรกเช่นกัน โดยกฎหมายบัญัติให้ระวางโทษเพียงกึ่งหนึ่งเพราะทรัพย์ที่ยักยอกเป็นทรัพย์สินหาย ความผิดฐานนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่ายักยอกเก็บของตก ลักษณะสำคัญของความผิดนี้ก็คือทรัพย์ที่ยักยอกเป็นทรัพย์สินหาย และผู้กระทำผิดเป็นผู้เก็บได้

ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิดเป็นทรัพย์สินหาย ทรัพย์สินหาย คือ ทรัพย์สินที่ผู้ครอบครองขาดการยึดถือโดยไม่สมัครใจ มิใช่แต่เพียงชั่วคราว มิใช่สละการครอบครอง และมิใช่โดยถูกแย่งการครอบครอง ทรัพย์สินหายจึงเป็นทรัพย์ที่ไม่มีผู้ใดครอบครอง ผู้ที่เก็บได้และเอาไว้จึงไม่ผิดฐานลักทรัพย์ แต่ทรัพย์นั้นก็ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของอยู่ เหตุที่ทำให้ผู้ครอบครองขาดจากการยึดถือโดยไม่สมัครใจนั้น อาจเป็นเพราะของตกหาย สัตว์หลุดหนีไป หรือน้ำพัดพาของหายไป หรือเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งทำให้ทรัพย์เคลื่อนไปจากที่เดิมจนหาไม่พบ และต้องมิใช่เป็นเหตุชั่วคราว ถ้าของตกหายโดยลักษณะที่ผู้ครอบครองยังติดตามหาคืนได้อยู่จึงยังไม่เป็นของหายเพราะยังถือไม่ได้ว่าขาดการยึดถือโดยแท้จริง อย่างไรจะถือได้ว่าทรัพย์ขาดจากการครอบครองของเจ้าของและกลายเป็นทรัพย์สินหายต้องพิจารณาข้อเท็จจริงหลายประการ เช่น สถานที่ที่ทรัพย์ตก ระยะเวลาจากที่เจ้าของทำทรัพย์ตกจนถึงเวลาที่มีคนเก็บไว้ ลักษณะการที่ทรัพย์พรากไปจากเจ้าของ ฯลฯ

ซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำความผิด ตาม มาตรา 352 วรรคสองนี้ คือ ผู้เก็บทรัพย์สินหายได้ การเก็บได้คือการเข้ายึดถือทรัพย์สินหาย ผู้เก็บได้จะเบียดบังยักยอกทันที หรือมาเกิดเจตนาทุจริตเบียดบังทรัพย์สินเอาภายหลัง ก็เป็นยักยอกทรัพย์สินหาย แต่ถ้ามีทรัพย์สินหายที่มีผู้เก็บได้ แล้วทรัพย์ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้เก็บได้ หากคนหลังเบียดบังไว้ย่อมเป็นความผิด ตาม มาตรา 352 วรรคแรกไม่ไช่มาตรา 352 วรรคสอง

องค์ประกอบภายใน

เจตนา ตาม มาตรา 59 และ เจตนาพิเศษ โดยทุจริต ตามมาตรา 1(1)

สารบัญ ประมวลกฎหมายอาญา

0 0 votes
Article Rating
(Visited 14,705 times, 2 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
1 Comment
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments