ต่อสู้-ขัดขวาง-เจ้าพนักงาน

ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่

กฎหมายอาญา2, สรุปจากตำรา

 

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา หนังสือประมวลกฎหมายอาญา point

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๒ ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง

มาตรา ๑๓๘

หมวด ๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน

ลักษณะ ๒ ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง

หมวด ๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน

 

     มาตรา ๑๓๘  ผู้ใดต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือ ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๑๓๘  แก้ไขโดย มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๓ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)



คำอธิบาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138


วรรคแรก ถือเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่
วรรคท้าย เป็นเหตุที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น

องค์ประกอบภายนอก
1. ต่อสู้หรือขัดขวาง
2. เจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่

องค์ประกอบภายใน
เจตนา

ต่อสู้ หมายถึง การกระทำใดๆ อันเป็นการขัดขืนหรือโต้แย้งอำนาจของเจ้าพนักงาน แต่ไม่ถึงกับลงไม้ลงมือกับเจ้าพนักงาน เช่น ตำรวจเข้าจับกุม ก็สะบัดหรือดิ้น ไม่ยอมให้จับแต่ไม่ชกหรือทำร้ายตำรวจ การต่อสู้จะต้องไม่ถึงกับทำร้ายหรือใช้กำลังประทุษร้าย เพราะถ้าใช้กำลังประทุษร้ายก็เป็นความผิดตามวรรคท้ายไป แต่ต้องเป็นการกระทำที่แสดงออกมา ไม่ใช่นิ่งเฉยๆ เช่น ตำรวจจับกุมจะพาไปสถานีตำรวจ แต่ไม่ยอมไป นั่งเฉยหรือนอนเสีย ตำรวจต้องยกใส่รถพาไป อย่างนี้ไม่ใช่การต่อสู้ เพราะมิได้กระทำการใดๆ อันเป็นการขัดขืนอำนาจของตำรวจ

ขัดขวาง หมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดอุปสรรคหรือความยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน แต่ไม่ถึงกับขัดขืนไม่ให้บรรลุผลเสียทีเดียวเพียงทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานลำบากขึ้น [จิตติ ติงศภัทิย์ - คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ตอนที่ 1 พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพมหานคร บพิธการพิมพ์ 2523 หน้า1272] เช่น ตำรวจไล่จับ พอตนเองวิ่งข้ามสะพานไปแล้ว ก็ดึงไม้กระดานทอดสะพานออกไม่ให้ตำรวจข้าม หรือยิงปืนขึ้นฟ้าขู่มิให้ไล่จับกุมต่อไป [นัย ฎ.243/2509] ถือเป็นการขัดขวางเจ้าหน้าที่ การขัดขวางนี้ อาจเป็นการกระทำของผู้อื่นที่สอดแทรกเข้ามาก็ได้ เช่น ตำรวจไล่จับแดง เขียวกั้นกลางมิให้ตำรวจจับแดงได้ หรือเขียวดึงสะพานออกไม่ให้ตำรวจข้าม เป็นต้น

เจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่

เจ้าพนักงาน หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ [บทนิยาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(16)]

ส่วนผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย หมายถึง ต้องมีกฎหมายบัญญัติให้บุคคลนั้นๆ มีหน้าที่ต้องช่วยเจ้าพนักงาน เช่น สารวัตรกำนัน ซึ่งเป็นผู้ช่วยกำนัน กฎหมายบัญญัติให้มีหน้าที่ต้องช่วยกำนัน ฉะนั้นถ้าสารวัตรกำนันเข้าทำการจับกุมหากผู้ถูกจับกุม ต่อสู้ขัดขวางสารวัตรกำนันก็ถือว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวางผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย [ฎ. 1037/2503] หากไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีหน้าที่ต้องช่วยเจ้าพนักงาน แต่เป็นการเข้าช่วยเจ้าพนักงานโดยสมัครใจเอง ก็มิใช่ผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เช่น ตำรวจขอแรงนายดี ราษฎรให้ช่วยติดตาม นายขัน คนร้ายชิงทรัพย์ เมื่อตามไปทันนายดี ลงจากรถวิ่งไล่ในขัน ถือว่านายดี เข้าช่วยเจ้าพนักงานโดยสมัครใจเอง ถ้านายขันต่อสู้ขัดขวางมิให้นายดี จับกุมตัวนายขันไม่ผิดฐานต่อสู้ขัดขวางผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เพราะในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ราษฎรมีหน้าที่ต้องช่วยเจ้าพนักงานแต่อย่างใด

การต่อสู้หรือขัดขวางอันจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ จะต้องเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือต่อสู้ขัดขวางผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ และการปฏิบัติหน้าที่นั้นก็ต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายด้วย

แต่หากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีการต่อสู้ขัดขวางก็ไม่มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138

เจตนา การต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงาน ตามกฎหมาย ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยเจตนา และจะต้องรู้ด้วยว่าผู้ที่ตนต่อสู้ขัดขวางนั้นเป็นเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายหากผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงนี้ ก็ไม่ถือว่ามีเจตนา

วรรคท้าย เป็นลักษณะฉกรรจ์ของการกระทำความผิดในวรรคแรก กล่าวคือ ถ้าการต่อสู้ขัดขวางนั้นได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก็ต้องรับโทษหนักขึ้น

ใช้กำลังประทุษร้าย หมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใดๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ไม่ว่าจะโดยใช้ยาทำให้มึนเมา [ฎ. 3269/2531] (ดู เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์ และทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ รวมหมายเหตุท้ายคำพิพากษาศาลฎีกากฎหมายอาญาของ ศาสตร์ตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2540 หน้า 92-93) สะกดจิต หรือใช้วิธีอื่นใดอันคล้ายคลึงกัน [บทนิยาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(6)] คำๆ นี้มีความหมายมากกว่าการทำร้าย การกระทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ก็อยู่ในความหมายของการใช้กำลังประทุษร้ายแล้ว เช่น กอด จับ ผลัก ดึง ข่วน หยิก เป็นต้น คือไม่ถึงขั้นทำร้ายร่างกาย แต่การทำร้ายก็อยู่ในความหมายของ ประทุษร้ายเหมือนกัน และถ้าต่อสู้ขัดขวางถึงขั้นทำร้ายก็ย่อมผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานอีกส่วนหนึ่งด้วย กฎหมายถือเป็นเหตุฉกรรจ์ไม่เฉพาะการใช้กำลังประทุษร้ายเท่านั้น แม้เพียงขู่เข็ญจะใช้กำลังประทุษร้ายก็เป็นเหตุฉกรรจ์แล้วเหมือนกัน




คำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2557

ในทันทีที่เจ้าพนักงานตำรวจแสดงตัวเข้าจับกุมจำเลยกับพวก ซึ่งมีหน้าที่ตัดไม้ พวกที่ติดอาวุธปืนก็ยิงรัวใส่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมจากทางด้านหลังของจำเลย แสดงว่ามีเจตนาที่จะต่อสู้ขัดขวางไม่ให้เจ้าพนักงานจับกุมพวกที่ตัดไม้ การที่จำเลยตระหนักรู้อยู่แล้วว่ามีพวกของตนอีกกลุ่มหนึ่งติดอาวุธคอยคุ้มกันไม่ให้พวกของตนซึ่งมีหน้าที่ตัดไม้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้โดยง่ายและพร้อมที่จะได้ใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้เจ้าพนักงานเพื่อที่จะช่วยเหลือพวกตนให้พ้นจากการจับกุมในทันที อันเป็นการร่วมกันกระทำการโดยแบ่งหน้าที่กันทำและจำเลยยอมรับการช่วยเหลือคุ้มกันนั้น แสดงว่าจำเลยมีเจตนาร่วมกับพวกต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ด้วย แม้จำเลยจะมิได้เป็นผู้ยิงต่อสู้เจ้าพนักงานด้วยตนเองก็ถือว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกับพวกใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคแรก และมาตรา 83


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2401/2545

การกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เป็นความผิดที่เกิดขึ้นและมีอยู่ต่อเนื่องกันไปตลอดเวลา นับตั้งแต่เมื่อบุคคลผู้นั้นได้ยึดถือเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจนกระทั่งขนเคลื่อนย้ายไป คดีนี้ปรากฎว่าคนร้ายซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองมาจ้างจำเลยให้ขับรถยนต์ไปส่งยังจุดหมายปลายทาง โดยจำเลยรู้จักคนร้ายเป็นอย่างดีและรู้ว่าเมทแอมเฟตามีนของกลาง 1,000 เม็ดคนร้ายจะนำไปจำหน่ายที่จังหวัดเชียงใหม่ การที่จำเลยรับจ้างขับรถยนต์เพื่อส่งคนร้ายโดยมียาเสพติดให้โทษนั้นอยู่ในความยึดถือหรือความปกครองดูแลของจำเลยด้วยถือว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครอง เมื่อจำเลยกับคนร้ายกระทำร่วมกันเพื่อให้บรรลุตามความประสงค์โดยการกระทำแต่ละขั้นตอนเป็นสาระสำคัญก่อให้เกิดเป็นความผิดขึ้น การกระทำของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นตัวการมิไช่เป็นผู้สนับสนุน
การที่จำเลยขับรถยนต์มาถึงด่านตรวจ เจ้าพนักงานตำรวจให้สัญญาณหยุดรถเพื่อขอตรวจค้น จำเลยไม่ยอมหยุดและขับรถเลยไปจนต้องมีการไล่ติดตามเพื่อสกัดจับและจำเลยดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากการจับกุม เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการจะหลบหนี เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 243/2509

คำพิพากษาย่อสั้น

คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนไว้โดยชอบย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยได้และศาลย่อมอาศัยคำรับสารภาพของจำเลยชั้นสอบสวนประกอบคำพยานบุคคลของโจทก์ได้
การกระทำของจำเลยที่ฟังได้ว่าจำเลยใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้ไล่จับจำเลยต่อไปนั้น เป็นการกระทำส่วนหนึ่งตามฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่า จำเลยบังอาจต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานโดยใช้อาวุธปืนยิงแม้จะยังไม่ถึงขั้นยิงทำร้ายเจ้าพนักงานโดยเจตนาฆ่าก็หาใช่นอกข้อหาคำฟ้องของโจทก์ไม่เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ยังลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงนั้นได้
การที่จำเลยยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่ตำรวจมิให้ไล่จับกุมจำเลยต่อไปนั้นเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานมิให้จับกุมจำเลยหรือมิให้ปฏิบัติการตามหน้าที่ ตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 บัญญัติเป็นความผิดแล้ว ต้องลงโทษตามมาตรา 140

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพกพาอาวุธปืนสั้นติดตัวไปในงานฉลองศาลาวัดอันเป็นการกระทำผิดกฎหมาย สิบตำรวจเอกประกอบกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเข้าทำการจับกุมตรวจค้น กลับบังอาจต่อสู้ขัดขวางโดยจำเลยใช้อาวุธปืนยิงทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานและกอดปล้ำต่อสู้เจ้าพนักงาน โดยจำเลยมีเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ถูกเจ้าพนักงาน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289,140, 138, 80 ริบปืนของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นไม่เชื่อว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงเพื่อต่อสู้ขัดขวางหรือเจตนาฆ่าเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เชื่อว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงในการที่เจ้าพนักงานตำรวจทำการจับกุมจำเลย แต่จำเลยยิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่เจ้าพนักงานตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเท่านั้น จำเลยไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 ให้จำคุกจำเลย 3 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์เอาคำรับสารภาพของจำเลยชั้นสอบสวนเป็นหลักวินิจฉัยชี้ขาดลงโทษจำเลย ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ศาลฎีกาเห็นว่าคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนไว้โดยชอบ ย่อมใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 และศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาฟังคำเบิกความของพยานโจทก์ว่าจำเลยใช้ปืนยิงขัดขวางเจ้าพนักงานมิให้ทำการจับกุมจำเลยโดยอาศัยคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ให้การว่า จำเลยยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่ขวัญเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้ไล่จับจำเลย เป็นหลักฐานประกอบคำพยานบุคคลของโจทก์หาใช่อาศัยคำรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยแต่อย่างเดียวชี้ขาดว่าจำเลยกระทำผิดไม่

จำเลยฎีกาต่อไปอีกว่า หากจะฟังดังศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่ตำรวจจะได้ไม่ไล่จับจำเลยต่อไปยังถือไม่ได้ว่าเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกคำฟ้อง เพราะโจทก์ฟ้องระบุว่าจำเลยใช้อาวุธปืนยิงทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานนั้นเอง เป็นการต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้ว่าจำเลยใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้ไล่จับจำเลยต่อไปนั้น เป็นการกระทำส่วนหนึ่งตามฟ้องของโจทก์ที่บรรยายว่าจำเลยบังอาจต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานโดยเจตนาฆ่าก็หาใช่นอกข้อหาคำฟ้องของโจทก์ไม่ เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษ ยังลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 อันจะต้องลงโทษตามมาตรา 140 เพราะการที่จำเลยยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่ตำรวจมิให้ไล่จับกุมจำเลยต่อไปนั้นเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานมิให้จับกุมจำเลยหรือมิให้ปฏิบัติการตามหน้าที่ตามความหมายในมาตรา 138 บัญญัติเป็นความผิดไว้แล้ว

พิพากษายืน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

ผู้พิพากษา
อรรถไพศาลศรุดี
มณี ชุติวงศ์
วงษ์ วีระพงศ์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1037/2503

คำพิพากษาย่อสั้น

สารวัตรกำนันเป็นผู้ช่วยกำนัน เมื่อกำนันมีหน้าที่และอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด สารวัตรกำนันก็ย่อมช่วยกำนันทำการจับกุมผู้กระทำความผิดได้ และการช่วยทำการจับกุมผู้กระทำผิดนี้ ไม่จำเป็นจะต้องให้กำนันเรียกร้องให้ช่วยหรือต้องมีตัวกำนันอยู่ด้วย เพราะกฎหมายให้มีหน้าที่ช่วยกำนันอยู่ในตัวเป็นปกติแล้ว เมื่อจำเลยต่อสู้และทำร้ายสารวัตรกำนันในการจับกุมจำเลยและควบคุมจำเลยส่งพนักงานสอบสวน ย่อมได้ชื่อว่าจำเลยต่อสู้ผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และทำร้ายผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามมาตรา 289 อันเป็นความผิดตามมาตรา 296

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายสุวิรัตน์สารวัตรกำนันซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายได้ทำการจับกุมจำเลยในข้อหาทำร้ายร่างกายนายดีและนายอุ่นเรือน ควบคุมตัวจำเลยเพื่อส่งพนักงานสอบสวน จำเลยได้ต่อสู้ขัดขวางนายสุวิรัตน์โดยใช้กำลังทำร้ายนายสุวิรัตน์มีบาดแผลบาดเจ็บเพื่อจะหลบหนีให้พ้นจากการจับกุม ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 296

จำเลยรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตำแหน่งสารวัตรกำนันไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เพราะเป็นเพียงผู้ช่วยและรับใช้สอยกำนันตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 44 เท่านั้น จะถือว่ามีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดเช่นเดียวกับผู้ใหญ่บ้านและกำนันไม่ได้การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 138, 296 คงมีความผิดตามมาตรา 295 พิพากษาลงโทษตามมาตรา 295 จำเลยรับลดกึ่งแล้วจำคุก 2 เดือน ปรับ 150 บาท โทษจำรอไว้ 3 ปี

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 296

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่มาตรา 44 และ 35 สารวัตรกำนันย่อมมีอำนาจช่วยจับผู้ทำผิดหรือมีเหตุสงสัยว่าทำผิดได้ สารวัตรกำนันจึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย พิพากษาแก้ศาลชั้นต้นว่า จำเลยผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 296 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 296 ซึ่งเป็นบทหนัก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกาว่า การกระทำของนายสุวิรัตน์มิใช่เป็นการกระทำของเจ้าพนักงานและนายสุวิรัตน์มิใช่เจ้าพนักงาน

ศาลฎีกาพิจารณาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 296, 289 ประกอบกับพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 มาตรา 44, 35(3) แล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่มาตรา 44 ให้สารวัตรกำนันเป็นผู้ช่วยกำนัน เมื่อกำนันมีหน้าที่และอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด สารวัตรกำนันก็ย่อมช่วยกำนันทำการจับกุมผู้กระทำผิดได้ และการช่วยทำการจับกุมผู้กระทำผิดนี้ ไม่จำเป็นจะต้องให้กำนันเรียกร้องให้ช่วยหรือต้องมีตัวกำนันอยู่ด้วย เพราะกฎหมายให้มีหน้าที่ช่วยกำนันอยู่ในตัวเป็นปกติอยู่แล้ว ฉะนั้น เมื่อจำเลยต่อสู้และทำร้ายสารวัตรกำนันในการจับกุมจำเลยและควบคุมจำเลยส่งพนักงานสอบสวน จึงได้ชื่อว่าจำเลยต่อสู้ผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และทำร้ายผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามมาตรา 289 อันเป็นความผิดตามมาตรา 296

ศาลฎีกาพิพากษายืน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 35
พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 44

ผู้พิพากษา
สอาด นาวีเจริญ
สัญญา ธรรมศักดิ์
เจริญ ฤทธิศาสตร์



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5980/2540

เจ้าพนักงานตำรวจ จับจำเลยที่ 1 ในข้อหาลักทรัพย์ และควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ไปที่รถ โดยสิบตำรวจโท ศ. กับนายดาบตำรวจ อ. เดินขนาบข้างคล้องแขนจำเลยที่ 1 ไว้ คนละข้าง ระหว่างทางจำเลยที่ 2 กับพวกประมาณ 10-15 คน เดินมาแย่งตัวจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เข้ามาดึงตัวจำเลยที่ 1 ออกไป และถีบสิบตำรวจโท ศ. กับนายดาบตำรวจ อ. ส่วนจำเลยที่ 1 ได้พยายามดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากการถูกควบคุมตัว ซึ่งแม้ว่าในการดินรนของจำเลยที่ 1 จะเป็นเหตุให้เท้าของจำเลยที่ 1 ไปโดนสิบตำรวจโท ศ. กับนายดาบตำรวจ อ. ก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวก็ยังไม่ถึงขั้นที่จะเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 568/2536

จ่าสิบตำรวจ ส. กับพวก พบจำเลยกับพวกสะพายอาวุธปืนยาวมาคนละกระบอก จ่าสิบตำรวจ ส. กับพวกจึงขอตรวจค้น จำเลยส่งอาวุธปืนยาวให้เจ้าพนักงานตำรวจแล้วกระโดดหนี เจ้าพนักงานตำรวจและจ่าสิบตำรวจ ส. จึงได้กระโดดเข้าจับจำเลยและกอดปล้ำกัน ตกลงไปตามทางลาดชัน การที่จำเลยกระโดดหนีเจ้าพนักงานตำรวจนั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3743/2529

เจ้าพนักงานสรรพสามิตและตำรวจค้นพบของกลางซึ่งเป็นภาชนะเครื่องกลั่น สำหรับทำสุราที่บริเวณบ้านของจำเลย และสอบถามแล้ว จำเลยรับว่าเป็นของตน ดังนี้ ไม่ใช่ความผิดซึ่งเจ้าพนักงานเห็นจำเลยกำลังกระทำหรือพบในอาการซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่า จำเลยกระทำผิดมาแล้วสด ๆ จึงไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้า ที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับจำเลยได้โดยไม่มีหมายจับ เมื่อเป็นการจับกุมโดยไม่มีอำนาจเพราะไม่มีหมายจับ แม้จำเลยจะต่อสู้ขัดขวางการจับกุมก็ไม่มีความผิด



คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2128/2533

การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันเพื่อความประสงค์แห่งการค้าหรือโดยการค้า ทำให้แพร่หลายด้วยการฉายภาพยนตร์ที่แสดงความสัมพันธ์ทางเพศอันเป็นภาพลามกอนาจาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287(1) และการที่จำเลยทั้งสามขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานตำรวจงัดกุญแจเข้าไปตรวจค้นภายในห้องซึ่งจำเลยนำเอาเครื่องฉายภาพยนตร์และฟิล์มไปเก็บไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาว่าประสงค์มิให้การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการตรวจค้นจับกุมลุล่วงไปโดยสะดวก ถือได้ว่าเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138

* เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ และการปฏิบัติหน้าที่นั้นก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 618/2504

เจ้าพนักงานมีคำสั่งตามอำนาจหน้าที่ ให้จัดการรื้อรั้วไซมาน และจ้างคนให้ทำการรื้อ โดยอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานโดยใกล้ชิด จำเลยทราบแล้วยังขัดขืนเข้าผลักคนรื้อเพื่อขัดขวางการรื้อย่อมมีความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

* เป็นการต่อสู้ขัดขวางผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ และการปฏิบัติหน้าที่นั้นก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2521

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319-320/2521

นายสิบตำรวจจับผู้ที่กำลังยิงคน ผู้นั้นไม่ยอมให้จับเกิดปล้ำกัน เป็นกรณีจับผู้กระทำผิดซึ่งหน้า ไม่ต้องมีหมายจับ และไม่ต้องแจ้งว่าจะจับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 และมาตรา 83 การต่อสู้จึงเป็นความผิด

* เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ และการปฏิบัติหน้าที่นั้นก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 719/2501

ตำรวจสงสัยว่าจำเลยจะกินสุราเถื่อน จึงเข้าไปจับ ไม่เรียกว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า และไม่เป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง ตำรวจตามเข้าไปจับบนเรือน ในที่รโหฐานในเวลากลางคืน โดยไม่มีหมายค้นไม่ได้ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92 วางหลักทั่วไปในเรื่องคนว่า การค้นในที่รโหฐานต้องมีหมายค้น เว้นแต่จะต้องด้วยข้อยกเว้น) จำเลยใช้สากกะเบือตีตำรวจ ไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่

* การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีการต่อสู้ขัดขวางก็ไม่มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1041/2506

การที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยโดยไม่มีหมายจับ (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 ห้ามมิให้เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมบุคคลใดโดยไม่มีหมายจับ ฉะนั้น โดยหลักการจับจึงต้องมีหมายจับ เว้นแต่จะเข้าตามข้อยกเว้นให้จับได้โดยไม่ต้องมรหมายจับ) และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 นั้น เป็นการจับกุมโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยต่อสู้ขัดขวางการจับกุมก็ไม่มีความผิด ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 138

* การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีการต่อสู้ขัดขวางก็ไม่มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1025/2518

ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจับจำเลยผู้ต้องหาว่าทำร้ายร่างกายที่ใต้ถุนบ้าน ท. อันเป็นที่รโหฐานโดยไม่มีหมายจับและหมายค้น เป็นการจับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยต่อสู้ไม่เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138

* การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติหน้าที่อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีการต่อสู้ขัดขวางก็ไม่มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2513

ตำรวจเข้าค้นตัวจำเลยในที่เปลี่ยวโดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบหรือแสดงหลักฐานว่าเป็นตำรวจกระทำการตามหน้าที่ และต่างฝ่ายก็ต่างไม่รู้จักกัน แม้จำเลยจะต่อสู้ชกต่อยขัดขวางไม่ให้ตำรวจค้นเอาเงินหรือทรัพย์สินของจำเลยไป ก็ไม่ผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138

* เป็นกรณีที่ไม่มีเจตนา จึงไม่ผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1954/2546

คำพิพากษาย่อสั้น

ผู้เสียหายที่ 1 สวมกางเกงขายาวสีกากี สวมเสื้อยืดคอกลมสีขาวเข้าไปขอตรวจค้นตัวจำเลยโดยแจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการตามหน้าที่ กรณีอาจทำให้จำเลยเข้าใจผิดไปได้ แม้จำเลยจะต่อสู้ชกต่อยหรือใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ตรวจค้นและจับกุม จำเลยก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ไม่แม้ในชั้นสอบสวนจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่าโดยลำพังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้
ศาลชั้นต้นกำหนดโทษและลดโทษให้แก่จำเลย แต่คำนวณโทษไม่ถูกต้องครบถ้วนเมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์และฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาตามโทษจำคุกที่ถูกต้องได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนลูกซองสั้นขนาด 12 จำนวน 1 กระบอก ไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับและกระสุนปืนขนาดเดียวกัน 2 นัด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยได้ใช้กำลังประทุษร้ายต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ แล้วจำเลยได้ชิงทรัพย์เอาอาวุธปืนสั้น 1 กระบอกของผู้เสียหายที่ 1 ไป โดยใช้กำลังประทุษร้ายชกต่อย ใช้อาวุธมีดแทง และใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 จำเลยลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล แล้วจำเลยได้วิ่งราวทรัพย์รถยนต์ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91,138, 289, 336, 336 ทวิ, 339, 340 ตรี, 371 ริบอาวุธปืนลูกซอง ปลอกกระสุนปืนลูกซอง 2 ปลอก และอาวุธมีด 1 เล่ม ของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรคสอง, 289(2) ประกอบมาตรา 80, 334, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7,8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้ายและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ประกอบมาตรา 52(1) ให้จำคุกตลอดชีวิต ฐานลักทรัพย์ จำคุก 1 ปี ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน ฐานลักทรัพย์ จำคุก6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก6 เดือน รวมจำคุก 34 ปี 16 เดือน ริบอาวุธปืนลูกซอง ปลอกกระสุนปืน ลูกซองและอาวุธมีดของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปจอดบริเวณหน้าร้านค้าของนายสมจิตร หาผล ที่เกิดเหตุ แล้วต่อมาเกิดการต่อสู้กอดปล้ำกับสิบตำรวจตรีสายเพชร เจตินัย ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บตามร่างกายหลายแห่ง ปรากฏรายละเอียดบาดแผลตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.12 จำเลยได้รับบาดเจ็บถูกกระสุนปืนตามสำเนาเวชระเบียนผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลชลบุรี เอกสารหมาย ล.1 สำหรับความผิดฐานชิงทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และ 6 เดือน ตามลำดับ โจทก์และจำเลยต่างไม่อุทธรณ์ ความผิดทั้งสี่ฐานดังกล่าวนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และความผิดฐานลักทรัพย์อาวุธปืนสั้นของผู้เสียหายที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 6 เดือน เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ความผิดฐานลักทรัพย์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาซึ่งสรุปใจความสำคัญได้ว่า เหตุที่จำเลยเอาอาวุธปืนสั้นของผู้เสียหายที่ 1 ไปก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ตามไปยิงจำเลยอีก เมื่อไปถึงบ้านนางเพ็ญศรี แซ่ล้อหรือละออศิรินนท์ พี่สาวของจำเลย จำเลยได้มอบอาวุธปืนดังกล่าวให้นางเพ็ญศรี แล้วให้นางเพ็ญศรีนำจำเลยส่งโรงพยาบาลชลบุรี ซึ่งต่อมาจำเลยให้นางเพ็ญศรีมอบอาวุธปืนคืนแก่เจ้าพนักงานตำรวจไปเมื่อทราบว่าผู้เสียหายที่ 1เป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริง จำเลยขาดเจตนาทุจริตอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์ อันเป็นฎีกาทำนองว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดฐานลักทรัพย์นั้น เป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายมาตรา 218 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในความผิดฐานนี้มาด้วยนั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยแต่เฉพาะในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้กระทำความผิดในสองฐานดังกล่าวตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวสรุปใจความสำคัญได้ว่า ในขณะเกิดเหตุที่สิบตำรวจตรีสายเพชร เจตินัย ผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปตรวจค้นจำเลยแล้วเกิดการต่อสู้กอดปล้ำกันนั้นจำเลยที่ 1 ไม่รู้ว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่เพราะผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจและไม่ได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทั้งการที่ผู้เสียหายที่ 1 ทำการตรวจค้นจำเลยในที่สาธารณะก็เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่นั้น เห็นว่า ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนายสมจิตร หาผล นายบุญมา เกาะน้ำใสนายประสิทธิ์ เสนน้อย กับนายจำปี รักษาภักดี พยานโจทก์ว่า ในวันเกิดเหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ร้านค้าของนายสมจิตรที่เกิดเหตุและขณะเกิดเหตุที่จำเลยต่อสู้กอดปล้ำกับผู้เสียหายที่ 1 นั้น ผู้เสียหายที่ 1 สวมกางเกงขายาวสีกากีเสื้อยืดคอกลมสีขาว จากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และพยานโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปขอตรวจค้นเพื่อจะจับกุมจำเลยเพราะสงสัยว่า จำเลยมีอาวุธปืนติดตัวมาด้วยตามที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความกล่าวอ้างนั้น ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจการที่ผู้เสียหายที่ 1 สวมกางเกงขายาวสีกากีสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาวจะให้จำเลยเข้าใจเอาเองว่าผู้ที่เข้ามาตรวจค้นจับกุมนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมเป็นไปไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากที่นายสมจิตรซึ่งเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1สวมกางเกงขายาวสีกากีสวมเสื้อยืดคอกลมสีขาว บุคคลอื่นไม่ทราบว่าผู้เสียหายที่ 1เป็นเจ้าพนักงานตำรวจและโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังได้ความด้วยว่าทั้งผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยต่างก็ไม่รู้จักกันมาก่อน จำเลยจึงไม่มีทางรู้ได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความอ้างว่าขณะที่พยานเดินเข้าไปหาจำเลยพยานได้บอกว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอทำการตรวจค้นก็ดี และที่นายสมจิตรเบิกความอ้างว่าได้ยินผู้เสียหายที่ 1 พูดว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจขอทำการตรวจค้นก็ดีนั้น เห็นว่า ในภาวะเช่นนั้นจะให้จำเลยแน่ใจได้อย่างไรว่าผู้ที่เข้ามาขอทำการตรวจค้นนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจริงหรือไม่ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้แสดงบัตรประจำตัวให้จำเลยเห็นหรือรู้แต่อย่างใด ส่วนนายบุญมา นายประสิทธิ์และนายจำปี พยานโจทก์ทั้งสามเพิ่งเห็นเหตุการณ์ภายหลังซึ่งเป็นตอนที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำกันแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าพยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวได้ยินหรือเห็นตอนที่ผู้เสียหายที่ 1 แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างไร ซึ่งในเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุและขณะเกิดเหตุจำเลยก็เบิกความยืนยันปฏิเสธอยู่ว่า ไม่เคยรู้จักผู้เสียหายที่ 1 มาก่อน ผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจ จำเลยทราบภายหลังว่าผู้ที่ต่อสู้กอดปล้ำกับจำเลยนั้นเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ดังนี้ พฤติการณ์ที่ผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปขอตรวจค้นตัวจำเลยโดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นได้ว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการตามหน้าที่ กรณีอาจทำให้จำเลยเข้าใจผิดไปได้แม้จำเลยจะได้ต่อสู้ชกต่อยหรือใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1ตรวจค้นและจับกุมจำเลยก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ดังโจทก์ฟ้องไม่ แม้ในชั้นสอบสวนจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.18 แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงพยานบอกเล่าโดยลำพังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่และลงโทษมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ฟังขึ้น

ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ในฐานะบุคคลธรรมดาหรือว่าเป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายดังจำเลยฎีกา ในปัญหานี้ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความถึงเหตุการณ์ตอนแรกว่า ขณะจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำโดยจำเลยขึ้นคร่อมร่างกายของผู้เสียหายที่ 1 นั้น จำเลยพยายามจะชักอาวุธปืนออกมาจากเอวของจำเลย ผู้เสียหายที่ 1 ตะโกนให้คนช่วย มีชาย 4 ถึง5 คน ซึ่งนั่งดื่มสุราอยู่ในร้านของนายสมจิตรวิ่งเข้ามาจะช่วยจำเลยตะโกนว่าอย่าเข้ามากูยิง แล้วจำเลยชักอาวุธปืนออกจากเอวขึ้นมา พวกชายดังกล่าววิ่งมาครึ่งทางจึงหยุดจำเลยพยายามจะยิงผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 ตะโกนให้ช่วยอีกและใช้มือปัดป้องนายสมจิตรเข้ามาแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ตามคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1ดังกล่าวที่อ้างว่าจำเลยพยายามจะยิงผู้เสียหายที่ 1 นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ยกอาวุธปืนขึ้นจี้หรือจ้องที่ตัวผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ หรือพยายามจะยิงผู้เสียหายที่ 1ในลักษณะอย่างไร ตามสภาพการณ์ดังกล่าวกลับส่อแสดงให้เห็นได้ว่าในขณะนั้นจำเลยยังไม่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะยิงผู้เสียหายที่ 1 ได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดประการหนึ่ง ส่วนที่นายสมจิตรพยานโจทก์เบิกความถึงเหตุการณ์ตอนแรกดังกล่าวด้วยว่า ขณะจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำโดยผู้เสียหายที่ 1 นอนหงายอยู่ข้างล่าง จำเลยอยู่ข้างบน จำเลยใช้มือขวาชักอาวุธปืนที่เอวและใช้มือซ้ายค้ำคอผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ทำท่าจะยิงผู้เสียหายที่ 1ผู้เสียหายที่ 1 ตะโกนให้ช่วยพยานจึงเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ ซึ่งหากจะฟังตามคำเบิกความของนายสมจิตรดังกล่าวก็เห็นได้ว่า ก่อนที่นายสมจิตรจะเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลย หากจำเลยมีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายที่ 1 จำเลยน่าจะมีจังหวะที่จะยิงผู้เสียหายที่ 1 ได้ทันที ไม่น่าจะต้องทำท่าจะยิงดังที่นายสมจิตรเบิกความ นอกจากนี้ตามคำเบิกความของนายสมจิตรดังกล่าวที่อ้างว่าจำเลยทำท่าจะยิงผู้เสียหายที่ 1 นั้นก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ยกอาวุธปืนขึ้นจี้หรือจ้องที่บริเวณใดของร่างกายผู้เสียหายที่ 1 คำเบิกความของนายสมจิตรดังกล่าว จึงคลุมเครือไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดอีกประการหนึ่ง พฤติการณ์การกระทำของจำเลยในเหตุการณ์ตอนแรกดังกล่าวมานี้จึงส่อให้เห็นไปได้ว่าที่จำเลยชักอาวุธปืนออกมาจากเอวของจำเลยเพื่อขู่ผู้เสียหายที่ 1 ให้ปล่อยจากการต่อสู้กอดปล้ำมากกว่าที่จะมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเจือสมกับที่จำเลยได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.18 ว่า ขณะที่จำเลยกอดปล้ำกับผู้เสียหายที่ 1 จำเลยชักอาวุธปืนออกมาจากเอวและถือไว้เพื่อจะขู่เจ้าพนักงานตำรวจ(ผู้เสียหายที่ 1) ให้พ้นจากการจับกุม สำหรับเหตุการณ์ตอนต่อมาหลังจากที่นายสมจิตรเข้าแย่งอาวุธปืนของจำเลยจากจำเลยไปได้แล้วนั้น ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า หลังจากนายสมจิตรเข้าแย่งอาวุธปืนของจำเลยจากจำเลยไปได้แล้ว จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1ต่อสู้กอดปล้ำกันอยู่ จำเลยแย่งอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 จากเอวของผู้เสียหายที่ 1ไปได้ ผู้เสียหายที่ 1 พยายามจะแย่งอาวุธปืนคืน นายสมจิตรเข้ามาแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ นายสมจิตรเบิกความว่า ขณะต่อสู้กอดปล้ำจำเลยแย่งอาวุธปืนจากเอวของผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 จับมือจำเลยที่ถืออาวุธปืนและตะโกนขอให้ช่วย พยานวิ่งเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ เหตุการณ์ตอนนี้จึงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้กอดปล้ำกัน และจำเลยแย่งอาวุธปืนจากเอวผู้เสียหายที่ 1 ไปได้แล้วนายสมจิตรเข้ามาแย่งอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 ไปจากจำเลยเท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 ที่แย่งมาได้เล็งจ้องจะยิงผู้เสียหายที่ 1 แต่อย่างใด ส่วนเหตุการณ์ตอนสุดท้ายที่ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความอ้างว่าเมื่อผู้เสียหายที่ 1 ถอยจนติดตู้ขายของในร้านของนายสมจิตรแล้วทิ้งอาวุธปืนวิ่งหนีไปทางด้านข้างของร้าน เมื่อหันมามองเห็นจำเลยใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 ที่ทิ้งดังกล่าวเล็งยิงผู้เสียหายที่ 1 อีก 1 นัด แต่กระสุนปืนไม่ลั่นจะรับฟังได้หรือไม่ ได้ความว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ผู้เสียหายที่ 1 ใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 ยิงขู่ 1 นัด ยิงที่บริเวณขาของจำเลย 2 นัด และขณะที่จำเลยเข้ามาจับมือของผู้เสียหายที่ 1 ที่ถือปืน ปืนลั่น 2 นัดจึงรวมกระสุนปืนที่ลั่นเพราะเหตุดังกล่าว 5 นัด และปรากฏตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.9 ว่าได้มีการส่งปืนออโตเมติก ขนาด .45 ซึ่งเป็นอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 ไปตรวจพิสูจน์ที่กองกำกับการวิทยาการ เขต 2 โดยมีการส่งกระสุนปืนออโตเมติก ขนาด .45 จำนวน 2 นัด และปลอกกระสุนปืนออโตเมติกขนาด .45จำนวน 5 ปลอก ไปตรวจพิสูจน์ด้วย เมื่อพิจารณาประกอบกันทำให้เห็นได้ว่าภายหลังจากที่กระสุนปืนลั่นจากอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 รวม 5 นัดดังกล่าวแล้ว ยังมีกระสุนปืนที่อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 อีก 2 นัด ที่ส่งไปตรวจพิสูจน์ และคงเป็นกระสุนปืน 2 นัดนี้ที่เสียหายที่ 1 เบิกความอ้างว่าจำเลยใช้ยิงผู้เสียหายที่ 1 อีก 1 นัด แต่กระสุนปืนไม่ลั่นดังกล่าวข้างต้น แต่ตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย จ.9 ดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าได้มีการตรวจพิสูจน์กระสุนปืน 2 นัดดังกล่าวนี้ว่ามีรอยถูกเข็มแทงชนวนแทงหรือไม่จึงรับฟังไม่ได้ว่ากระสุนปืน 2 นัดดังกล่าวหรือนัดหนึ่งนัดใดใช้ยิงแล้วแต่กระสุนไม่ลั่น ดังนี้ คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ที่อ้างว่า จำเลยใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 เล็งยิงผู้เสียหายที่ 1 อีก 1 นัด แต่กระสุนปืนไม่ลั่นดังกล่าวข้างต้นก็ดี ที่นายสมจิตรพยานโจทก์เบิกความอ้างว่า จำเลยใช้อาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 จ้องเล็งไปที่ผู้เสียหายที่ 1แล้วเหนี่ยวไกปืนแต่กระสุนปืนไม่ลั่นก็ดี ล้วนเป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ทั้งจำเลยก็เบิกความยืนยันปฏิเสธว่าเมื่อผู้เสียหายที่ 1 ทิ้งอาวุธปืนแล้ววิ่งออกไปจากร้านนายสมจิตรนั้นจำเลยเพียงเก็บอาวุธปืนของผู้เสียหายที่ 1 แล้วไปขึ้นรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งติดเครื่องอยู่บริเวณนั้นขับออกไป ในข้อนี้นายบุญมาพยานโจทก์ก็เบิกความว่าเมื่อจำเลยแย่งอาวุธปืนจากผู้เสียหายที่ 1 ได้แล้ว ผู้เสียหายที่ 1 วิ่งเข้าไปในร้านของนายสมจิตร ส่วนจำเลยวิ่งไปขึ้นรถยนต์ของพยานซึ่งติดเครื่องอยู่ขับหลบหนีไป ซึ่งเจือสมคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวจากพยานหลักฐานและเหตุผลที่ได้วินิจฉัยมาข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้เป็นมั่นคงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ในฐานะบุคคลธรรมดาโดยใช้อาวุธปืนของจำเลยเองหรือของผู้เสียหายที่ 1 เล็งจ้องพร้อมที่จะยิงหรือได้ยิงตามที่โจทก์ฟ้อง ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 โดยใช้มีดพับปลายแหลมของกลางแทงนั้น ผู้เสียหายที่ 1 และนายสมจิตรเบิกความถึงเหตุการณ์ตอนนี้ทำนองเดียวกันว่า ในขณะที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้ชกต่อยกอดปล้ำ จำเลยได้ล้วงเอามีดพับปลายแหลมของกลางจากกระเป๋ากางเกงของจำเลยแล้วจ้วงแทงผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้ง ถูกที่หน้าอก 1 แผล ที่โหนกแก้ม 1 แผล ผู้เสียหายที่ 1 ยกขาขึ้นเตะถูกมีดของจำเลยที่ขาอีก 1 แผล ผู้เสียหายที่ 1 ขัดขาจำเลยล้มลงแล้วขึ้นคร่อมร่างกายของจำเลยและใช้มือข้างหนึ่งจับมือจำเลยที่ถือมีดไว้และใช้มืออีกข้างหนึ่งต่อยใบหน้าจำเลย 10 กว่าครั้ง จำเลยต่อสู้ดิ้นรนและถีบผู้เสียหายที่ 1 กระเด็นออกไป ผู้เสียหายที่ 1 วิ่งไปเอาอาวุธปืนจากนายสมจิตร ขณะนั้นจำเลยถือมีดวิ่งเข้ามาผู้เสียหายที่ 1 จึงยิงขู่ 1 นัด จำเลยยังคงวิ่งเข้ามา ผู้เสียหายที่ 1 จึงยิงที่บริเวณขาจำเลย 2 นัด จำเลยวิ่งเข้ามาจับมือผู้เสียหายที่ 1 ที่ถืออาวุธปืนและใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่ถูก ขณะที่จำเลยจับมือผู้เสียหายที่ 1 ที่ถืออาวุธปืน ทำให้ปืนลั่น 2 นัดทราบภายหลังว่าถูกจำเลย จากนั้นจำเลยยังแทงผู้เสียหายที่ 1 อีก ผู้เสียหายที่ 1 ถอยจนติดตู้ขายของในร้านนายสมจิตร ผู้เสียหายที่ 1 จึงทิ้งอาวุธปืนและใช้มือปัดป้องแล้ววิ่งหนีออกไป เห็นว่าตามภาพถ่ายมีดพับปลายแหลมของกลางหมาย จ.2 ภาพที่ 2ซึ่งจำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านรับว่าเป็นมีดที่จำเลยใช้แทงผู้เสียหายที่ 1 ปรากฏว่าทั้งด้ามไม้และตัวมีดยาว 18.5 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 คืบ เฉพาะตัวมีดยาว7.5 เซนติเมตร บาดแผลของผู้เสียหายที่ 1 ที่แพทย์ได้ชันสูตรไว้ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.12 ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่หน้าแข้งซ้าย ยาว 1.5 เซนติเมตร ลึก 0.3 เซนติเมตร รอยแผลถลอกที่บริเวณข้อศอก โหนกแก้ม 2 ข้าง ที่เข่าขวาและหลังมือขวา บาดแผลฉีกขาด และแฉลบที่หน้าอกข้างขวาและที่ปลายนิ้วก้อยข้างขวา และบาดแผลฟกช้ำที่บริเวณลิ้นปี่ โดยไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ว่าบาดแผลดังกล่าวอาจทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงแก่ความตายได้ เมื่อพิจารณาคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนายสมจิตรตลอดจนมีพับปลายแหลมของกลางและบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับประกอบกันแล้ว เห็นได้ว่าที่จำเลยใช้มีดพับปลายแหลมของกลางแทงผู้เสียหายที่ 1 ในช่วงแรกเป็นการแทงในขณะที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 กำลังต่อสู้กอดปล้ำกันและแทงในช่วงหลังก็เป็นเหตุการณ์ที่พัวพันต่อเนื่องกันในช่วงแรกจึงเป็นการแทงด้วยอาการฉุกละหุกโดยไม่มีโอกาสเลือกแทงและมีดที่ใช้แทงก็เป็นเพียงมีดพับปลายแหลมซึ่งยาวทั้งด้ามและตัวมีด18.5 เซนติเมตรหรือประมาณ 1 คืบ เฉพาะตัวมีดยาว 7.5 เซนติเมตร ประกอบกับลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับก็ไม่ปรากฏว่าอาจทำให้ถึงตายได้ดังกล่าวแล้วกรณียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 คงฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น ปัญหาต่อไปจึงมีว่า การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าวเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนายสมจิตรดังกล่าวข้างต้นว่า ในเหตุการณ์ที่จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อสู้ชกต่อยกอดปล้ำกันนั้นจำเลยเป็นฝ่ายใช้มีดพับปลายแหลมของกลางแทงผู้เสียหายที่ 1 ก่อน ผู้เสียหายที่ 1 จึงยิงจำเลย ทั้งตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่โจทก์อ้างส่งศาลเป็นพยานตามเอกสารหมาย จ.18 จำเลยก็ได้ให้การว่า เมื่อนายสมจิตรเข้าแย่งอาวุธปืนจากจำเลยไปได้ จำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 กอดปล้ำชกต่อยกันอยู่กับพื้น สักครู่หนึ่งจึงลุกขึ้นมา จำเลยชักมีดปลายแหลมออกจากกระเป๋ากางเกงของจำเลยแล้วจ้วงแทงผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้ง ไม่ทราบถูกบริเวณใดบ้าง ผู้เสียหายที่ 1วิ่งไปในร้านแล้วเอาอาวุธปืนจากนายสมจิตรมาถือไว้ จำเลยตามไปจ้วงแทงผู้เสียหายที่ 1 อีก ผู้เสียหายที่ 1 จึงยิงจำเลย ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนายสมจิตรดังกล่าว ฟังได้ว่าจำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 ก่อน ผู้เสียหายที่ 1 จึงยิงที่จำเลยนำสืบและฎีกาอ้างว่าผู้เสียหายที่ 1 ยิงจำเลยก่อน จำเลยจึงใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 นั้น จึงขัดแย้งกับที่จำเลยให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวไม่มีน้ำหนักให้รับฟังข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 เป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมายดังจำเลยฎีกา จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าบาดแผลของผู้เสียหายที่ 1 ที่ได้รับดังกล่าวข้างต้นนั้นใช้เวลารักษาประมาณกี่วันจึงหายปกติ หรือทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวันแต่อย่างใดทั้งผู้เสียหายที่ 1 ก็เบิกความว่าแพทย์ได้ทำบาดแผลแล้วให้กลับบ้านโดยไม่ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 1ได้รับอันตรายสาหัสคงฟังได้เพียงว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยย่อมมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 ในฐานะบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคท้าย เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หรือไม่อีกต่อไปเพราะไม่เป็นสาระแก่คดี

อนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว แต่ให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ จำคุก 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้านและทางสาธารณโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน นั้น เป็นการไม่ถูกต้องที่ถูกต้องต้องเป็นว่าฐานลักทรัพย์ จำคุก 8 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี 4 เดือน และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 8 เดือน แต่เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์และฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวตามโทษจำคุกที่กล่าวมานี้ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 คงให้ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น"

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295จำคุก 1 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานลักทรัพย์ 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 1 ปี และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 6 เดือน ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 1 ปี 20 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 และมาตรา 289 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225

ผู้พิพากษา
จำรูญ แสนภักดี
สมชัย เกษชุมพล
สุมิตร สุภาดุลย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2202/2522

นายตำรวจกลับจากงานแต่งงาน เกิดโต้เถียงและชกต่อยกับจำเลยไม่ได้ทำการตามหน้าที่และไม่ได้แสดงบัตรให้จำเลยดู จำเลยไม่รู้ว่าเป็นตำรวจ ไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3231/2531

เจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นรถของจำเลย ครั้งแรกจำเลยไม่ยอมให้ค้นเนื่องจากเกรงว่าตำรวจจะกลั่นแกล้ง เพราะเหตุที่เคยมีสาเหตุกับตำรวจนั้นมาก่อน ในที่สุดจำเลยยอมให้ค้น ดังนั้น เห็นได้ว่าจำเลยขาดเจตนาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2608/2535

เจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้แต่งเครื่องแบบ และไม่ได้แสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมกลุ่มเด็กวัยรุ่น โดยไม่แจ้งข้อหาแก่เด็กวัยรุ่นคนใดว่าเป็นผู้ดูหมิ่นตนและจะต้องถูกจับ กลับสั่งให้คนขับรถที่เด็กวัยรุ่นโดยสารมา ขับไปสถานีตำรวจ จึงถือไม่ได้ว่ามีการจับกุมในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานโดยชอบ ผู้ต่อสู้ขัดขวางมิให้จับกุม ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2186/2518

จ่าสิบตำรวจเข้าไปในบ้าน บ. เพื่อค้นจับ ล. ผู้ต้องหากรรโชกทรัพย์ โดย บ.ยอมให้ค้น จำเลยขัดขวางกั้นไม่ให้ตำรวจขึ้นบันไดดึงแขน และกัดมือตำรวจ เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2335/2518

นายร้อยตำรวจทำหน้าที่นายร้อยเวรสอบสวน ไปนั่งในร้านอาหาร ยังมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดซึ่งหน้า การชกต่อยนายตำรวจไม่ยอมให้จับเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2523

การที่จำเลยที่ 1 กอดเอว และจำเลยที่ 2 ดึงเสื้อเจ้าพนักงานตำรวจไว้เพื่อมิให้จับกุมญาติของตน เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย มีความผิด ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 138 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4884/2533

จำเลยขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ล้มลงแล้วขับรถยนต์หลบหนี เจ้าพนักงานตำรวจจึงขับรถยนต์ติดตามเพื่อจับกุม แต่จำเลยขัดขวางการจับกุมโดยขับรถยนต์ปาดไปทางซ้ายและทางขวา จนถึงบริเวณที่เจ้าพนักงานตำรวจยืนอยู่ที่จุดสกัดจับ จำเลยก็ขับรถพุ่งเข้าใส่เจ้าพนักงานตำรวจที่ยืนอยู่นั้นการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9212/2539

ก่อนเกิดเหตุสิบตำรวจเอก พ. พบเห็นจำเลยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าจะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิดและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้า แม้สิบตำรวจเอก พ. ไม่มีหมายจับแต่ได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยทราบแล้ว สิบตำรวจเอก พ. จึงมีอำนาจตรวจค้นและจับจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยใช้มือกดอาวุธปืนไม่ให้สิบตำรวจเอก พ. ดึงออกมาจากเอวของจำเลยเพื่อยึดเป็นของกลาง จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5850/2543

จำเลยผลักและดันตำรวจแล้วแย่งถุงพลาสติกที่ใส่ยาเสพติดจากมือตำรวจไป แล้วเคี้ยวใส่ปากเพื่อทำลายพยานหลักฐานเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774/2548

จำเลยรู้ว่ากำลังถูกผู้เสียหายที่ 2 กับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม การที่จำเลยกอดปล้ำต่อสู้และใช้มีดฟันแทงผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นความผิดฐาน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 , 140 และเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติงานตามหน้าที่ด้วย



ข้อสังเกต


หากคนร้ายต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานชุดจับกุม เจ้าพนักงานชุดจับกุมทุกคนเป็นผู้เสียหายในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 มิใช่เฉพาะเจ้าพนักงานชุดจับกุมคนใดคนหนึ่งเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย ตามนัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2561

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๒ ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง

มาตรา ๑๔๐

หมวด ๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน

ลักษณะ ๒ ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง

หมวด ๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน

 

     มาตรา ๑๔๐  ถ้าความผิดตามมาตรา ๑๓๘ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๓๙ ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะมีอยู่หรือไม่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท

    ถ้าความผิดตามมาตรานี้ ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง

* มาตรา ๑๔๐  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๔ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)



คำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2561

    ความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 มิใช่เป็นความผิดแต่เฉพาะตัวของเจ้าพนักงานคนใดคนหนึ่งในขณะปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันเท่านั้น หากมีการต่อสู้หรือขัดขวางจากคนร้ายเกิดขึ้น เจ้าพนักงานที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนั้นต่างต้องได้รับผลร้ายหรือผลกระทบยากลำบากจากการปฏิบัติงานที่ไม่สะดวกราบรื่นทั้งสิ้น จึงเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานชุดที่ปฏิบัติหน้าที่ทุกคน
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 บัญญัติให้การต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นความผิดและมีโทษนั้นก็เพื่อให้ประชาชน ผู้เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานเพื่อความสะดวกราบรื่นในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน แม้ไม่ใช่ประชาชนผู้ถูกเจ้าพนักงานกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็ตาม
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธปืน ต้องได้รับโทษหนักกว่าโทษตามที่กฎหมายบัญญัติในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง ก็เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่
    จำเลยที่ 1 ขับรถคันเกิดเหตุพุ่งใส่เจ้าพนักงานตำรวจที่อยู่ด้านหน้ากับรถตราโล่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่จอดปิดกั้นจราจรจนเจ้าพนักงานตำรวจต้องกระโดดหลบและเฉียวชนรถของประชาชน และรถตราโล่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่อยู่ด้านหน้าและรถของประชาชนที่อยู่ด้านหลังเพื่อหลบหนี แม้อาวุธปืนที่ยึดได้จากรถคันเกิดเหตุถูกซุกซ่อนอยู่ใต้ที่นั่งด้านหน้าข้างคนขับ จำเลยที่ 1 ไม่ได้พกติดตัวหรือวางในลักษณะพร้อมหยิบฉวยได้ทันทีก็ตาม แต่เป็นอาวุธปืนที่มีกระสุนปืนบรรจุอยู่ในรังเพลิงพร้อมใช้งานได้ทันที และการมีอาวุธปืนในลักษณะเช่นนี้จำเลยที่ 1 มีโอกาสที่นำมาใช้ได้ตลอดเวลาหากต้องการใช้ นับเป็นอันตรายต่อเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติตามหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคสาม



ข้อสังเกต


การมีอาวุธ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 140 วรรคสาม ไม่จำเป็นต้องอยู่ในมือ แต่หากอยู่ในลักษณะพร้อมหยิบฉวยได้ง่ายพร้อมใช้งานได้ทันที ก็จะทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 73)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 73 ปีการศึกษา 2563
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 11 ตุลาคม 2563

 

คำถาม


ข้อ 1.  นายขาวคนไทยอยู่ในประเทศไทยโกงเงินค่าพนันออนไลน์หลายล้านบาทไม่จ่ายให้นายแดงคนลาวอยู่ในประเทศลาว นายแดงต้องการเงินคืนและฆ่านายขาว จึงขับรถไปซื้ออาวุธปืนพร้อมบรรจุกระสุนปืนเข้ารังเพลิงซุกซ่อนไว้ในรถ ใต้ที่นั่งด้านหน้าข้างคนขับเพื่อเตรียมไว้ฆ่านายขาว ต่อมานายแดงขับรถเข้าประเทศไทยทางจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า มีด่านเจ้าพนักงานตํารวจนํารถตราโล่ตํารวจปิดกั้นการจราจรขาเข้าจังหวัดเพื่อตรวจค้นของผิดกฎหมาย ร้อยตํารวจเอกขำ ยืนอยู่ข้าง ๆ รถตราโล่ตํารวจใกล้ด่านกําลังจะเดินเข้ามาหารถนายแดงเพื่อทําการตรวจค้น นายแดงจึงขับรถพุ่งชนรถตราโล่ตํารวจเพื่อฝ่าด่าน ร้อยตํารวจเอกขำ กระโดดหลบได้ทัน ร้อยตํารวจเอกขำและเจ้าพนักงานตํารวจจึงขับรถไล่ตามจนทัน บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำ ร้อยตํารวจเอกขำตรวจค้นรถนายแดงพบอาวุธปืนที่นายแดงซุกซ่อนไว้จึงยึดมาถือไว้ในมือ นายแดงเกรงว่าตนจะต้องรับโทษจึงคว้าเอาอาวุธปืนจากร้อยตํารวจเอกขำที่ถือไว้โยนทิ้งลงแม่น้ำข้างทาง ร้อยตํารวจเอกขำ จึงควบคุมตัวนายแดงส่งพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ
ให้วินิจฉัยว่า นายแดงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่ และต้องรับโทษในราชอาณาจักรหรือไม่


ธงคำตอบ

  แม้นายแดงได้ตระเตรียมการฆ่าผู้อื่นนอกราชอาณาจักร แต่การตระเตรียมการฆ่าผู้อื่นมิได้มีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด นายแดงจึงไม่มีความผิดและไม่ต้องรับโทษฐานฆ่าหรือพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 5 วรรคสอง
การที่ร้อยตํารวจเอกขำกําลังเดินเข้าไปหารถคันที่นายแดงขับเพื่อทําการตรวจค้นตามกฎหมาย แต่นายแดงขับรถพุ่งไปทางรถตราโล่ตํารวจเพื่อฝ่าด่านตรวจจนร้อยตํารวจเอกขำต้องกระโดดหลบ ย่อมเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง แม้ขณะเกิดเหตุอาวุธปืนถูกซุกซ่อนอยู่ใต้ที่นั่งด้านหน้าข้างคนขับ โดยนายแดงมิได้พกติดตัวในลักษณะพร้อมหยิบฉวยได้ทันทีก็ตาม แต่เป็นอาวุธปืนที่มีกระสุนปืนบรรจุอยู่ในรังเพลิงพร้อมใช้งานได้ทันที ซึ่งนายแดงมีโอกาสที่จะนํามาใช้ได้ตลอดเวลา หากต้องการใช้ นับเป็นอันตรายต่อเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติหน้าที่ นายแดงจึงมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กําลังประทุษร้ายและโดยมีอาวุธปืนตามมาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคสาม (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 692/2561) ส่วนการที่นายแดงคว้าอาวุธปืนจากร้อยตํารวจเอกขำ แล้วโยนลงแม่น้ำข้างทาง เป็นการทําลายทรัพย์อันเจ้าพนักงานได้ยึดไว้เพื่อเป็นพยานหลักฐานแล้ว เป็นความผิดตามมาตรา 142 แต่นายแดงกระทําไปเพื่อมิให้ตนเองต้องรับโทษมิได้กระทําเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น มิให้ต้องรับโทษ นายแดงจึงไม่มีความผิดตามมาตรา 184 ดังนั้น นายแดงจึงต้องรับโทษสําหรับความผิดข้างต้น ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 66)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 66 ปีการศึกษา 2556
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 29 กันยายน 2556

 

คำถาม


ข้อ 1.  สิบตํารวจตรีเพชร เจ้าพนักงานตํารวจซึ่งสวมกางเกงขายาวสีกากีและเสื้อยืดคอกลมสีขาวจอดรถจักรยานยนต์อยู่ข้างทางในท้องที่ที่ตนปฏิบัติหน้าที่สายตรวจ แล้วเรียกให้นายดำจอดรถจักรยานยนต์ของนายดำ โดยแจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตํารวจและขอตรวจค้นตัว แต่ไม่ใด้แสดงหลักฐานให้เห็นว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตํารวจ นายดำไม่เชื่อ ซึ่งไม่ยอมให้ตรวจค้นแล้วต่อยสิบตํารวจตรีเพชรที่เดินเข้ามาจับข้อมือถูกที่หน้าสิบตํารวจตรีเพชร 1 ครั้ง และชักอาวุธปืนที่พกจากเอวยิงขึ้นฟ้า 1 นัด เพื่อขัดขวางไม่ให้สิบตํารวจตรีเพชรเข้ามาตรวจค้นและจับกุม และหลบหนีไปได้ สิบตํารวจตรีเพชรจึงไปแจ้งความต่อร้อยตํารวจเอกทองพนักงานสอบสวนโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นว่าหลังจากชกต่อยสิบตำรวจตรีเพชรแล้ว นายดำยังใช้อาวุธปืนเล็งยิงไปที่สิบตํารวจตรีเพชร 3 นัด แต่ไม่ถูกเพราะสิบตํารวจตรีเพชรกระโดดหลบทัน เมื่อนายดำมอบตัวต่อร้อยตํารวจเอกทอง ร้อยตํารวจเอกทองรวบรวมพยานหลักฐานและได้ทราบข้อเท็จจริงจากสิบตํารวจตรีเพชรว่านายดำยิงปืนขึ้นฟ้า แต่ร้อยตํารวจเอกทองกับสิบตํารวจตรีเพชรตกลงกันว่า ให้สิบตํารวจตรีเพชร ให้การโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เป็นไปตามที่แจ้งความ แล้วร้อยตํารวจเอกทองสรุปสํานวนเห็นควร สั่งฟ้องนายดำฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและต่อสู้ขัดขวางการจับกุม
ให้วินิจฉัยว่า
(n) การกระทําของนายดำเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานฐานใดหรือไม่ และ
(ข) การกระทําของสิบตำรวจตรีเพชรและร้อยตัวรวจเอกทองในส่วนที่กล่าวหานายดำว่าพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม หรือความผิดต่อต้าแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  ขณะที่สิบตํารวจตรีเพชรเข้าไปตรวจค้นนายดำ นายดำไม่รู้ว่าสิบตํารวจตรีเพชรเป็นเจ้าพนักงานตํารวจผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ เพราะไม่ได้แต่งเครื่องแบบตํารวจ และไม่ได้แสดงหลักฐานประจําตัวเป็นเจ้าพนักงานตํารวจ การกระทําของนายดําจึงไม่เป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 (คําพิพากษาฎีกาที่ 1954/2546)
การกระทําของสิบตํารวจตรีเพชรที่แจ้งความโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นว่า หลังจากชกต่อยสิบตํารวจตรีเพชรแล้ว นายดำยังใช้อาวุธปืนเล็งยิงไปที่สิบตํารวจตรีเพชร 3 นัด แต่ไม่ถูกเพราะสิบตํารวจตรีเพชรกระโดดหลบทัน ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เป็นไปเพื่อให้ข้อกล่าวหาว่านายตําพยายามฆ่าเจ้าพนักงานสามารถลงโทษนายดําได้ จึงเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนผู้มีอํานาจสืบสวนคคือาญาซึ่งอาจทําให้ผู้อื่นเสียหาย และเป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 174 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 181 (2)
ส่วนการกระทําของร้อยตํารวจเอกทองที่ตกลงกับสิบตํารวจตรีเพชรว่าให้สิบตํารวจตรีเพชรให้การโดยบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เป็นไปตามที่แจ้งความทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เป็นไปเพื่อให้ข้อกล่าวหาว่านายดํา พยายามฆ่าเจ้าพนักงานสามารถลงโทษนายดำได้ จึงเป็นความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมฐานเป็นพนักงานสอบสวนกระทําการในตําแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคสอง

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 61)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 61 ปีการศึกษา 2551
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 22 กันยายน 2551

 

คำถาม


ข้อ 1.   ร้อยตํารวจเอกเก่งและสิบตํารวจเอกขาวขับรถจักรยานยนต์ออกตรวจท้องที่ตามอํานาจหน้าที่ พบนายแดงกับนายดํากําลังขับรถจักรยานยนต์ไม่ติดป้ายทะเบียนรถทั้งสองคันอย่างคึกคะนองด้วยความเร็วสูงบนถนนหลวง จึงได้ให้สัญญาณให้หยุดรถเพื่อตรวจจับ แต่นายแดงและนายดําไม่ยอมหยุดและได้ขับรถจักรยานยนต์หนีไป ร้อยตํารวจเอกเก่งและสิบตํารวจเอกขาวจึงขับรถจักรยานยนต์ไล่ตามจนทันและจับกุมตัวนายแดงไว้ได้แต่ยังไม่ได้แจ้งข้อหา ครั้นร้อยตํารวจเอกเก่งกําลังจะใส่กุญแจมือนายแดงเพื่อนําส่งสถานีตํารวจ นายแดงไม่ยอมให้ใส่ ดิ้นรนขัดขืนหลบหนีไปโดยขับรถจักรยานยนต์ของตนไปด้วย ส่วนนายดําได้ใช้รถจักรยานยนต์ของตนที่ขับมาพุ่งชนสิบตํารวจเอกขาวเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส รถจักรยานยนต์เสียหลักพุ่งชนเสาไฟฟ้า นายดําถึงแก่ความตาย ร้อยตํารวจเอกเก่งจึงยึดรถจักรยานยนต์ของนายดําเป็นของกลางนําส่งพนักงานสอบสวนดําเนินคดี
ให้วินิจฉัยว่า นายแดง นายดํา มีความผิดฐานใดหรือไม่ และรถจักรยานยนต์ของกลาง จะริบได้หรือไม่


ธงคำตอบ

  ร้อยตํารวจเอกเก่งและสิบตํารวจเอกขาวได้ให้สัญญาณให้นายแดงและนายดำหยุดรถ การที่นายแดง และนายดําไม่ยอมหยุดและได้ขับรถหนีไปจนต้องไล่ตามจับ พฤติการณ์เพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าการกระทําของนายแดงและนายดําเป็นการต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน จึงไม่เป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 2401/2545)
นายแดงถูกจับกุมตัวถึงแม้ยังมิได้แจ้งข้อหาก็เป็นการถูกคุมขังแล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (12) (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 772/2536) การที่นายแดงหลบหนีไปจึงเป็นการหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอํานาจของเจ้าพนักงานผู้มีอํานาจสืบสวนคดีอาญา จึงมีความผิดตามมาตรา 190 วรรคแรก และการที่นายแดงดิ้นรนขัดขืนไม่ยอมให้ร้อยตํารวจเอกเก่งใส่กุญแจมือ ถือเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่เป็นความผิดตามมาตรา 138 วรรคแรก
ส่วนนายดําใช้รถจักรยานยนต์ของตนขับพุ่งชนสิบตํารวจเอกขาวจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเป็นการกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 298 สําหรับรถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทําความผิดนั้น เมื่อนายดําถึงแก่ความตาย โทษย่อมเป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทําความผิดตามมาตรา 38 จึงไม่อาจริบรถจักรยานยนต์ของกลางได้

 

รายละเอียดไฟล์แนบ ต่อสู้-ขัดขวาง-เจ้าพนักงาน

5 1 vote
Article Rating
(Visited 12,664 times, 2 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments