ฟ้อง-รับเด็กเป็นบุตร-ทนายความ-นาวิน-ขำแป้น

การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, กฎหมายแพ่ง3
การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร
การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร

การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร

การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรเป็นกรณีที่ฝ่ายเด็กประสงค์จะให้เด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาผู้ให้กำเนิด ซึ่งอาจเป็นกรณีที่บิดาไม่เต็มใจที่จะรับเด็กนั้นไว้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งที่เด็กนั้นเป็นบุตรของตนหรือกรณีที่บิดาตายก่อนที่จะสมรสกับมารดา หรือก่อนจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญ 3 ประการดังนี้

  1. กรณีที่จะฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้
  2. ผู้มีอำนาจฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร
  3. ผลของการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษากรณี
  1. กรณีที่จะฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรได้

มาตรา 1555  ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) เมื่อมีการข่มขืนกระทำชำเรา ฉุดคร่า หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังหญิงมารดาโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

(2) เมื่อมีการลักพาหญิงมารดาไปในทางชู้สาวหรือมีการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้

(3) เมื่อมีเอกสารของบิดาแสดงว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน

(4) เมื่อปรากฏในทะเบียนคนเกิดว่าเด็กเป็นบุตรโดยมีหลักฐานว่าบิดาเป็นผู้แจ้งการเกิดหรือรู้เห็นยินยอมในการแจ้งนั้น

(5) เมื่อบิดามารดาได้อยู่กินด้วยกันอย่างเปิดเผยในระยะเวลาซึ่งหญิงมารดาอาจตั้งครรภ์ได้

(6) เมื่อได้มีการร่วมประเวณีกับหญิงมารดาในระยะเวลาซึ่งหญิงนั้นอาจตั้งครรภ์ได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเด็กนั้นมิได้เป็นบุตรของชายอื่น

(7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตร พฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่ เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดูหรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตนหรือโดยเหตุประการอื่น ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ถ้าปรากฏว่าชายไม่อาจเป็นบิดาของเด็กนั้นได้ ให้ยกฟ้องเสีย

หลักเกณฑ์การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร

การฟ้องชายผู้เป็นบิดาของเด็กให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1555 คือจะต้องมีพฤติการณ์ที่กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กที่เกิดน่าจะเป็นบุตรของชายผู้ถูกฟ้องนั้นโดยผู้ฟ้องคดีจะต้องนำสืบให้เข้าเงื่อนไขของข้อสันนิษฐานเพื่อจะถือเอาประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้น หากชายผู้ถูกฟ้องคดีไม่สามารถนำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างได้ก็ต้องถือว่าเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของเด็ก เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่จะพิสูจน์ความเป็นพ่อได้ค่อนข้างแม่นยำเช่นการตรวจพิสูจน์ DNA ดังนั้นการนำสืบถึงผลตรวจ DNA ที่ไม่ตรงกันย่อมสามารถใช้เป็นข้อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี แม้ในมาตรา 1555 บัญญัติถึงเหตุที่จะฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรไว้หลายเหตุ แต่ถ้ามีข้อเท็จจริงตรงกับเหตุในข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ก็สามารถนำคดีมาสู่ศาลได้ไม่จำเป็นต้องมีข้อเท็จจริงหลายข้อ

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1998/2519

การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับรองบุตรและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูรวมมาด้วยกันนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน โจทก์ฟ้องรวมมาในคดีเดียวกันได้ ไม่จำเป็นต้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรเสียก่อน แล้วจึงมาฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูในภายหลัง(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 2085/2499)
โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์จากจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นมาดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่ใช่ฟ้องในนามของผู้เยาว์หรือในฐานะผู้แทนผู้เยาว์นั้น ไม่เป็นคดีอุทลุม
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยล่อลวงร่วมประเวณีกับโจทก์จนเกิดบุตรด้วยกัน 1 คน เมื่อโจทก์คลอดบุตรแล้วจำเลยได้แสดงให้รู้ทั่วไปตลอดมาว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของจำเลย ดังนี้ แม้โจทก์จะไม่มีเอกสารของจำเลยแสดงชัดว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529(3) ก็ตาม โจทก์ก็ฟ้องได้ เพราะโจทก์ได้บรรยายได้ด้วยว่าโจทก์คลอดบุตรแล้วจำเลยได้แสดงให้รู้ทั่วไปตลอดมาว่าเด็กนั้นเป็นบุตรจำเลย ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่จะฟ้องขอให้รับรองบุตรได้อยู่แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529(5)
การกำหนดให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรโดยคำพิพากษานั้น ต้องเริ่มแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นบุตร

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยล่อลวงร่วมประเวณีกับโจทก์จนเกิดบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กชายอนุชิต สุวรรณจูฑะ จำเลยแจ้งการเกิดว่าจำเลยเป็นบิดา เป็นคนตั้งชื่อบุตรให้บุตรใช้นามสกุลของจำเลย ให้ความอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา แสดงให้รู้กันทั่วไปว่าเด็กชายอนุชิตเป็นบุตรของจำเลยต่อมาจำเลยงดให้ความอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา และมีพฤติการณ์ไม่ยอมรับเด็กชายอนุชิตเป็นบุตร ขอให้พิพากษาว่าเด็กชายอนุชิตเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ให้จำเลยไปจดทะเบียนว่าเป็นบุตรและให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 500 บาท นับแต่วันฟ้องจนสำเร็จชั้นประถมศึกษาและเดือนละ 1,000 บาท ตั้งแต่เริ่มเข้าศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาจนบรรลุนิติภาวะ

จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายอนุชิต จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์มิได้ดำเนินการให้จำเลยรับรองเด็กชายอนุชิตเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเสียก่อน จึงฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูไม่ได้โจทก์จะฟ้องให้รับรองบุตรและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูรวมมาด้วยกันไม่ได้ จำเลยไม่เคยหลอกลวงร่วมประเวณีกับโจทก์ เด็กชายอนุชิตไม่ใช่บุตรจำเลย จำเลยไม่เคยไปแจ้งการเกิดในทะเบียนว่าจำเลยเป็นบิดาไม่เคยตั้งชื่อและให้เด็กชายอนุชิตใช้นามสุกลของจำเลย ไม่เคยให้ความอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษา

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเด็กชายอนุชิตเป็นบุตรจำเลย ให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร ถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาแทนจึงให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ 500 บาท นับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไป จนกว่าจะสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษา และเดือนละ 800 บาท ตั้งแต่เข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตลอดไปจนกว่าบรรลุนิติภาวะ โดยไม่ตัดสิทธิที่จะเพิกถอน ลด เพิ่มเมื่อพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่าโจทก์จะฟ้องจำเลยเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูรวมมาในฟ้องขอให้รับรองบุตรไม่ได้ และการที่โจทก์ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูแทนผู้เยาว์เป็นคดีอุทลุมต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับรองบุตรและเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูรวมมาด้วยกันนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน โจทก์ฟ้องรวมมาในคดีเดียวกันได้ ไม่จำเป็นต้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรเสียก่อน แล้วจึงมาฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูในภายหลังตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2085/2499 ระหว่างนางวรินทร์ เศวตกนิษฐ์ มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงตุ๋มบุตรผู้เยาว์ โจทก์ นายสนิท รตจินดา จำเลยและการที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์จากจำเลย ก็ไม่เป็นคดีอุทลุมเพราะฟ้องในฐานะที่เป็นมารดาและเป็นผู้ใช้อำนวจปกครอง ไม่ใช้ฟ้องในนามของผู้เยาว์หรือในฐานะผู้แทนผู้เยาว์

จำเลยฎีกาว่า คำเบิกความของโจทก์ที่ว่าโจทก์ได้เสียกับจำเลยเพราะความสมัครใจรักใคร่กัน ซึ่งต่างกับที่โจทก์บรรยายในฟ้องว่าจำเลยได้ล่อลวงร่วมประเวณีกับโจทก์ จึงเป็นเรื่องไม่จริง เพราะการล่อลวงร่วมประเวณีกับหญิงที่เป็นมารดาของเด็ก จะฟังเป็นความจริงได้จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งของบิดาทำไว้ให้แสดงออกอย่างชัดแจ้ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529(3) นั้น เห็นว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยล่อลวงร่วมประเวณีกับโจทก์แต่อย่างเดียว แต่บรรยายฟ้องต่อไปด้วยว่า เมื่อโจทก์คลอดเด็กชายอนุชิตแล้ว จำเลยได้แสดงให้รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเด็กชายอนุชิตเป็นบุตรของจำเลย ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่จะฟ้องขอให้รับรองบุตรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529(5) ด้วย

จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายอนุชิตมากเกินกว่าเหตุ และที่ให้จ่ายนับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั้น ไม่ถูก เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูให้จำเลยจ่ายแก่เด็กชายอนุชิตนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในเรื่องกำหนดจำนวนเงิน แต่ที่ให้จ่ายตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1530 บัญญัติว่า การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายมีผล (3) ถ้ามีคำพิพากษาว่าเป็นบุตร ให้มีผลนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดเพราะฉะนั้น สิทธิและหน้าที่ระหว่างจำเลยและเด็กชายอนุชิตผู้เป็นบุตรโดยคำพิพากษาของศาลจึงเริ่มแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชายอนุชิต สุวรรณจูฑะ เดือนละ 500 บาท นับตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1530
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1536
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1594
  • ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1547
  • ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1555
  • ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1557
  • ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1562
  • ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1564
  • ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1565
  • ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1566
  • ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1598/38

 

ข้อสังเกต การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรจะฟ้องได้ต่อเมื่อเด็กนั้นคลอดจากครรภ์มารดาแล้วอยู่รอดเป็นทารกเท่านั้นจะฟ้องในขณะที่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1053/2480

ชายหลอกลวงหญิงว่าจะเลี้ยงดูเป็นภรรยา หญิงหลงเชื่อยอมร่วมประเวณีกับชายจนเกิดบุตร์ หญิงฟ้องชายให้รับเด็นเป็นบุตร์และเรียกค่าเลี้ยงดูได้เมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสือซึ่งชายทำไว้การฟ้องขอให้รับรองบุร์นั้นจะฟ้องได้ต่อเมื่อเด็กนั้นคลอดจากครรภ์มารดาแล้วและมีชีวิตรอดอยู่เป็นสภาพบุคคลจะฟ้องในขณะที่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดาหาได้ไม่
ประมวลวิธีพิจารณาแพ่ง ม. 179, 183, 249 เมื่อฟ้องเดิมไม่มีมูลที่จะพึงฟ้องได้ตามกฎหมายแต่โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไชเพิ่มเติมฟ้องให้มีมูลขึ้นในภายหลังโดยจำเลยมิได้คัดค้านและศาลอนุญาตดังนี้ต้องถือว่าคำร้องนั้นทำให้ฟ้องเดิมบริบูรณ์ขึ้น สิทธิฟ้องร้องย่อมย้อต้นแต่เมื่อแรกฟ้องข้อกฎหมายใดที่ไม่ได้ยกขั้นว่ากล่าวกันมาแต่ชั้นศาลล่างและมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแล้วศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีแทนเด็กหรือไม่นั้นไม่ใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน

คำพิพากษาย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ส. จำเลยรับรอง บ. บุตร์สาวโจทก์ว่าจะเลี้ยงดูเป็นภริยา จน บ. หลงเชื่อยอมร่วมประเวณีกับ ส.จำเลยจนมีครรภ์ โจทก์จึงขอให้ ส.จำเลยรับว่าทารกในครรภ์ บ. เป็นบุตร์ของจำเลย ๆ ปฏิเสธ โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยรับเด็กที่จะเกิดจากครรภ์ บ.เป็นบุตร์ที่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเสียหาย
ในระหว่างพิจารณาก่อนสืบพะยานโจทก์เสร็จ โจทก์ได้ขอเพิ่มเติมฟ้องว่า บ.ได้คลอดบุตร์แล้วเป็นหญิงมีชีวิตร็รอดอยู่ศาลชั้นต้นสั้งใหัรับฟ้องเพิ่มเติมของโจทก์ไว้
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันว่าเด็กที่เกิดแต่ บ. นั้นเป็นบุตร์ของ ส. จำเลยจริง จึงพิพากษาให้ ส. จำเลยรับเป็นบุตร์และจ่ายค่าเลี้ยงดูให้ตั้งแต่เกิดเป็นระยะ ๆ จนบรรลุนิติภาวะ
ส.จำเลยฎีก
ศาลฎีกาตัดสินว่า ข้อที่จำเลยฎีกาตัดฟ้องว่าโจทก์ซึ่งเป็นตาของเด็กไม่มีอำนาจฟ้องให้รับรองเด็กเป็นบุตร์หรือเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้ เพราะมิใช่เป็นผู้แทน
โดยชอบธรรมของเด็กตามประมวลแพ่งฯ ม. ๑๕๒๙ ในข้อนี้เห็นว่าจำเลยมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างมาแต่ชั้นศาลล่าง เมื่อมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแล้ว ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัย ไม่ได้จำเลยฎีกาอีกข้องหนึ่งว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา คำพ้อง จึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เห็นว่าในเรื่องฟ้องขอให้รับรองเด็กเป็นบุตร์นั้นจะฟ้องได้ต่อเมื่อเด็กมีสภาพบุคคลแล้ว ในเรื่องนี้ฟ้องชั้นแรกจึงไม่สมบูรณ์ ศาลชั้นต้นไม่ควรรับวินิจฉัย แต่เมื่อโจทก์ร้องขอเพิ่มเติมฟ้องจำเลยก็ไม่คัดค้านอย่างใด จึงถือว่าคำร้องนั้นทำให้ฟ้องเดิมสมบูรณ์ขึ้น สิทธิฟ้องร้องย่อมย้อมต้นขึ้นไปตั้งแต่แรกฟ้อง เพราะคดีแพ่งจะเกิดประเด็นขึ้นเมื่อไรก็ได้ อนึ่งจำเลยคัดค้านอีกข้อหนึ่งว่าศาลไม่มีอำนาจพิพากษาให้บุคคลต้องรับผิดในหนี้เกินกว่า ๑๐ ปี เพราะเป็นการเกินอายุความอย่างสูงในกฎหมาย เท่ากับเป็นการยายอายุความออกไป เห็นว่าจำเลยไม่ได้หยิบยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนข้อเท็จจริงคงฟังตามศาลล่าง ทั้ง ๒ จึงพิพากษายืนให้ยกฎีกา ส. จำเลยเสีย

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1519
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191

 

0 0 votes
Article Rating
(Visited 1,155 times, 1 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments