ต้องรับผิด-เมื่อ-ประมาท

กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท

ภาค 1, ภาค 2, ประมวลกฎหมายอาญา, ประมวลกฎหมาย, กฎหมาย

 

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๓ ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม

มาตรา ๒๐๔

หมวด ๒ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

ลักษณะ ๓ ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม

หมวด ๒ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

 

     มาตรา ๒๐๔  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีตำแหน่งหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ที่ต้องคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา กระทำด้วยประการใดๆ ให้ผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมขังนั้นหลุดพ้นจากการคุมขังไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท

    ถ้าผู้ที่หลุดพ้นจากการคุมขังไปนั้นเป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาของศาลหนึ่งศาลใดให้ลงโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป หรือมีจำนวนตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท

* มาตรา ๒๐๔  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๕๕, ๕๖ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๓ ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม

มาตรา ๒๐๕

หมวด ๒ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

ลักษณะ ๓ ความผิดเกี่ยวกับการยุติธรรม

หมวด ๒ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม

 

     มาตรา ๒๐๕  ถ้าการกระทำดังกล่าวในมาตรา ๒๐๔ เป็นการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ถ้าผู้ที่หลุดพ้นจากการคุมขังไปด้วยการกระทำโดยประมาทนั้นเป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาของศาลหนึ่งศาลใดให้ลงโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป หรือมีจำนวนตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ถ้าผู้กระทำความผิดจัดให้ได้ตัวผู้ที่หลุดพ้นจากการคุมขังคืนมาภายในสามเดือน ให้งดการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดนั้น

* มาตรา ๒๐๕  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๕๖ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๖ ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน

มาตรา ๒๒๕

ลักษณะ ๖ ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน

 

     มาตรา ๒๒๕  ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้โดยประมาท และเป็นเหตุให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย หรือการกระทำโดยประมาทนั้นน่าจะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๒๒๕  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๕๗ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๖ ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน

มาตรา ๒๓๙

ลักษณะ ๖ ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน

 

     มาตรา ๒๓๙  ถ้าการกระทำดังกล่าวในมาตรา ๒๒๖ ถึงมาตรา ๒๓๗ เป็นการกระทำโดยประมาท และใกล้จะเป็นอันตรายแก่ชีวิตของบุคคลอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๒๓๙  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๕๘ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๐ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย

มาตรา ๒๙๑

หมวด ๑ ความผิดต่อชีวิต

ลักษณะ ๑๐ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย

หมวด ๑ ความผิดต่อชีวิต

 

     มาตรา ๒๙๑  ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

* มาตรา ๒๙๑  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๕๙ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)



คำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1547/2511

(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 24/2511)
คำพิพากษาย่อสั้น
ฟ้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือมิฉะนั้นก็กระทำผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทโดยชัดแจ้ง แสดงว่าฟ้องมีความประสงค์จะให้ลงโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือมิฉะนั้นก็ขอให้ลงโทษฐานทำให้คนตายโดยประมาท ประกอบกับฟ้องได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยกระทำเป็นท้องเรื่องมาครบถ้วนชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เคลือบคลุม ไม่ขัดแย้งกัน หรือเอาเปรียบจำเลย จำเลยเข้าใจฟ้องได้ดี เมื่อจำเลยรับสารภาพฐานทำให้คนตายโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ก็ลงโทษจำเลยได้ (อ้างฎีกาที่ 1780/2497 และฎีกาที่ 86/2503) (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 24/2511)
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า (ก) จำเลยบังอาจยิงปืนโดยใช่เหตุในเมืองและในหมู่บ้านอันเป็นชุมนุนชน (ข) จำเลยบังอาจใช้อาวุธปืนขู่เข็ญบังคับผู้เสียหายและผู้ตายให้นั่งอยู่กับที่ทำให้บุคคลเหล่านั้นตกใจกลัวต้องกระทำตามที่ถูกบังคับขู่เข็ญ และ (ค) ในระหว่างที่จำเลยขู่เข็ญบังคับผู้เสียหายและผู้ตายอยู่นั้น ผู้ตายได้ลุกขึ้นจากเก้าอี้ที่นั่ง จำเลยได้บังอาจใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตายโดยเจตนาจะฆ่าหรือมิฉะนั้นการที่จำเลยใช้อาวุธปืนบังคับขู่เข็ญผู้ตายกับพวกโดยมิได้มีเจตนาจะฆ่า แต่จำเลยได้จ้องเล็งอาวุธปืนนั้นโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่นออกไปถูกผู้ตายตายขอให้ลงโทษตามมาตรา 376, 392, 288, 291, 33
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องข้อ (ก) (ข) แต่ข้อ (ค) รับสารภาพว่ากระทำโดยประมาท ปฏิเสธในข้อหาฐานใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยเจตนา
คู่ความไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376, 392 ให้ปรับ 200 บาท 300 บาทตามลำดับ จำเลยให้การสารภาพลดโทษให้ตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงปรับ 250 บาท ให้ยกฟ้องข้อหาฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือทำให้คนตายโดยประมาทเพราะฟ้องขัดกันอย่างชัดแจ้งและเคลือบคลุม
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลาย ที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือมิฉะนั้นก็กระทำผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทโดยชัดแจ้ง แสดงว่าฟ้องมีความประสงค์จะให้ลงโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือมิฉะนั้นก็ขอให้ลงโทษฐานทำให้คนตายโดยประมาท ประกอบกับฟ้องได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยกระทำเป็นท้องเรื่องมาครบถ้วนชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว ตามคำพิพากษาฎีกาซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ที่ 86/2503 ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เคลือบคลุมไม่ขัดแย้งกัน หรือเอาเปรียบจำเลย จำเลยเข้าใจฟ้องได้ดี จึงให้การรับสารภาพว่า ทำให้คนตายโดยประมาทดังฟ้อง พิจารณาเฉพาะที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงที่มีความประสงค์จะให้ลงโทษฐานทำให้คนตายโดยประมาท ก็เป็นฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 อันสมบูรณ์ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 1780/2497 เมื่อจำเลยรับสารภาพเกี่ยวกับความผิดฐานนี้ ก็ลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุก 8 ปี ลดโทษตามมาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลล่าง

ผู้พิพากษา
สุธี โรจนธรรม
ไฉน บุญยก
วินัย ทองลงยา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 86/2562

คดีนี้ พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า จำเลยฆ่าผู้ตายโดยใช้ถุงพลาสติกคลุมศีรษะผู้ตายจนขาดอากาศหายใจถึงแก่ความตาย ซ่อนเร้นศพ และลักทรัพย์ผู้ตาย
จำเลยให้การรับสารภาพฐานซ่อนเร้นศพ ปฏิเสธฐานอื่น แต่รับว่ากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย
ระหว่างพิจารณา จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จำนวน 325,000 บาท แก่มารดาผู้ตาย จนไม่ติดใจทางแพ่ง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเปิดห้องโรงแรมกับชายคนรักผู้ตายซึ่งเป็นเพศเดียวกัน จำเลยเล้าโลมผู้ตาย โดยผู้ตายยินยอมให้จำเลยใส่กุญแจมือมัดติดกับโครงเหล็กในท่ายืน แล้วใช้ถุงพลาสติกสำหรับใส่ผ้าเช็ดตัวของโรงแรมคลุมศีรษะผู้ตายเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ จากนั้นจำเลยเข้าห้องน้ำ ออกมาประมาณ 5 - 10 นาที เพื่อจะเล้าโลมต่อ ปรากฏว่า ถุงที่คลุมเคลื่อนจากจุดเดิมลงมาครอบใบหน้าผู้ตาย ทำให้ขาดอากาศหายใจตาย จำเลยจึงนำศพผู้ตายไปทิ้ง
เห็นว่า ผู้ตายเป็นชายรักชาย เข้าไปในห้องพักเกิดเหตุ เชื่อว่าต้องการมีเพศสัมพันธ์ ห้องเกิดเหตุไม่มีร่องรอยการต่อสู้ ไม่พบบาดแผลตามร่างกายของผู้ตาย จำเลยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะต้องฆ่าผู้ตาย จำเลยมิได้คลุมถุงที่ศีรษะผู้ตายจนแน่น ทำให้ถุงเคลื่อนที่ลงได้ ผู้ตายถูกกุญแจมือพันธนาการไว้ จึงช่วยเหลือตนเองไม่ได้เมื่อถุงเคลื่อนลงมาครอบใบหน้า ทำให้ขาดอากาศหายใจ และจำเลยเปิดห้องพักแบบชั่วคราว แต่เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยได้ขอต่อห้องพักแบบค้างคืน แสดงว่าจำเลยไม่ได้เตรียมการมาก่อนที่จะฆ่าผู้ตายและคงไม่คาดคิดที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเจตนาฆ่าผู้ตายโดยเล็งเห็นผล แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาท ที่ไม่ใช้ความระมัดระวัง โดยถอดถุงที่ครอบศีรษะและกุญแจมือผู้ตายก่อนจะเข้าห้องน้ำ จึงเป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และซ่อนเร้น ยักย้ายศพ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 199, 291
ที่จำเลยขอศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ เห็นว่า จำเลยเคลื่อนย้ายศพเพื่อปิดบังการกระทำความผิดของตน จนตำรวจพบศพผู้ตาย นานถึง 8 วัน ในสภาพเน่าเปื่อย แม้จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน แต่พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง
ส่วนที่จำเลยชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งจนผู้เสียหายไม่ติดใจเรียกร้อง และจำเลยอุปสมบทเพื่ออุทิศส่วนบุญให้ผู้ตาย ก็เป็นเรื่องทางแพ่งที่จำเลยต้องรับผิดอยู่แล้ว และเหตุที่จำเลยอุปสมบทเพื่อจะนำมาเป็นเหตุให้ศาลรอการลงโทษนั้น เป็นเหตุผลส่วนตัวของจำเลย ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุก พิพากษายืน

คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดฐานฆ่าผู้อื่น และซ่อนเร้นศพ จำคุกฐานฆ่า 10 ปี ฐานซ่อนเร้น 2 เดือน ยกข้อหาลักทรัพย์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็น ลงโทษฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 1 ปี รวมโทษฐานซ่อนเร้นศพ เป็นจำคุก 1 ปี 2 เดือน นอกจากที่แก้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา

ข้อสังเกต
เหตุที่ไม่เป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล เนื่องจากจำเลยใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะผู้ตายแบบหลวมๆ มิได้ครอบมิดชิดมาจนถึงลำคอ เพียงแต่ถุงเคลื่อนลงมาปิดคลุมใบหน้าในภายหลัง จึงเป็นการกระทำโดยประมาท หากมีการครอบถุงมิดชิด อาจเป็นการฆ่าโดยเจตนาเล็งเห็นผลได้ เช่น ใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะผู้ตาย แล้วนำเทปกาวมาพันรอบบริเวณลำคอ นัยฎีกาที่ 5332/2560


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2830/2535

แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีได้ก็ถือว่าให้เข้าเป็นโจทก์ร่วมได้เฉพาะในข้อหาความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 เท่านั้น เพราะโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายในข้อหาความผิดนี้ ส่วนข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43,78,157,160 รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้โดยตรง จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย เป็นโจทก์ร่วมในข้อหาความผิดดังกล่าวไม่ได้และไม่มีสิทธิฎีกาในข้อหาความผิดนี้ ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมในข้อหาความผิดนี้ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โจทก์มีแต่ร้องตำรวจโท พ. เบิกความว่าได้รับแจ้งว่ามีคนถูกรถยนต์ชนจึงไปที่เกิดเหตุและได้ทำแผนที่เกิดเหตุและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุไว้นอกจากนี้โจทก์มีคำให้การชั้นสอบสวนของนาย ว. ซึ่งให้การเพียงว่าพบหญิงลักษณะถูกรถชนนอนหมดสติอยู่ในถนนจึงนำส่งโรงพยาบาล แต่หญิงดังกล่าวถึงแก่ความตายเสียก่อน โดยโจทก์ไม่มีพยานใดแสดงว่าในขณะเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์โดยประมาท สำหรับบันทึกการตกลงเรื่องค่าเสียหายที่มีข้อความว่าฝ่ายสามีผู้ตายเรียกค่าเสียหาย 500,000 บาท แต่ฝ่ายจำเลยเสนอให้เพียง 50,000 บาท ก็ไม่ใช่ข้อชี้ไปถึงว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาท ส่วนจำเลยมีตัวจำเลยและนาย ส. เป็นพยานเบิกความปฏิเสธว่าเหตุรถยนต์ชนผู้ตายไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลย ดังนี้ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ชนผู้ตายถึงแก่ความตาย

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๐ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย

มาตรา ๓๐๐

หมวด ๒ ความผิดต่อร่างกาย

ลักษณะ ๑๐ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย

หมวด ๒ ความผิดต่อร่างกาย

 

     มาตรา ๓๐๐  ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๐๐  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๐ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)



คำอธิบาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300


องค์ประกอบภายนอก
1. กระทำด้วยประการใดๆ
2. เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส
องค์ประกอบภายใน
ประมาท
----------------
สาระสำคัญของการกระทำความผิดตามมาตรานี้ มีลักษณะเช่นเดียวกับการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 291 ความแตกต่างอยู่ที่ผลของการกระทำโดยประมาท ถ้าการกระทำเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส ก็เป็นความผิดตามมาตรานี้
กระทำด้วยประการใดๆ องค์ประกอบความผิดในส่วนของการกระทำนี้ กฎหมายมิได้จำกัดลักษณะของการกระทำไว้ ด้งนั้น จึงอาจกระทำด้วยประการใดๆ ก็ได้ เช่น ขับรถ เดิน วิ่ง ยิงปืน ขว้างปาสิ่งของ กวาดถนน คุมเครื่องจักร ให้สัญญาณจราจร เป็นต้น

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๑ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง

มาตรา ๓๑๑

หมวด ๑ ความผิดต่อเสรีภาพ

ลักษณะ ๑๑ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง

หมวด ๑ ความผิดต่อเสรีภาพ

 

     มาตรา ๓๑๑  ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกหน่วงเหนี่ยว ถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย หรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๙๑ หรือมาตรา ๓๐๐

* มาตรา ๓๑๑  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๖๑ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)

ภาค 3 ลหุโทษ

มาตรา ๓๙๐

ลหุโทษ

ลหุโทษ

 

     มาตรา ๓๙๐  ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

* มาตรา ๓๙๐  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๒) พ.ศ.๒๕๕๘ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒ ตอนที่ ๑๐ ก หน้า ๔๖ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘)

ต้องรับผิด-เมื่อ-ประมาท
ต้องรับผิดเมื่อประมาท

 

      ในประมวลกฎหมายอาญา มีบัญญัติไว้ 7 มาตรา ที่เอาผิดผู้ที่กระทำโดยประมาท ได้แก่ มาตรา 205, มาตรา 225, มาตรา 239, มาตรา 291, มาตรา 300, มาตรา 311, มาตรา 390 เป็นองค์ประกอบภายใน ที่ผู้กระทำ ไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิด แต่กฎหมาย เอาผิด

ไม่มีเจตนา ก็ต้องรับผิด
“ถ้าคุณพิสูจน์ได้ว่า คุณไม่ได้ประมาท คุณก็พ้นผิด”
==================
แล้วความประมาท คืออะไร
==================
“กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่”
(ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคสี่)

 

ประมาททำให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส

0 0 votes
Article Rating
(Visited 523 times, 1 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments