คำร้องขอฟ้องคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

คำร้องขอฟ้องคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล (อย่างคนอนาถา)

คำร้อง : คดีแพ่ง, คำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล, ติวสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ
คำร้องขอฟ้องคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล
คำร้องขอฟ้องคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

คำร้องขอฟ้องคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล (อย่างคนอนาถา)

หลักกฎหมาย

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 155 บัญญัติว่า

“คู่ความซึ่งไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลอาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดีในศาลชั้นต้นหรือชั้นอุทธรณ์หรือชั้นฎีกาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 156 และมาตรา 156/1”

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 บัญญัติว่า

“ผู้ใดมีความจำนงจะขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดี ให้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่จะฟ้องหรือได้ฟ้องคดีไว้นั้น  พร้อมกับคำฟ้อง คำฟ้องอุทธรณ์ คำฟ้องฎีกา คำร้องสอด หรือคำให้การแล้วแต่กรณี แต่ถ้าบุคคลนั้นตกเป็นผู้ไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลในภายหลัง จะยื่นคำร้องในเวลาใดๆ ก็ได้

การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้ร้องอาจเสนอพยานหลักฐานไปพร้อมคำร้องและหากศาลเห็นสมควรไต่สวนพยานหลักฐานเพิ่มเติมก็ให้ดำเนินการไต่สวนโดยเร็วเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ ศาลจะมีคำสั่งให้งดการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนั้นไว้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราวจนกว่าการพิจารณาสั่งคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะถึงที่สุดก็ได้ตามที่เห็นสมควร”

     ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156/1 บัญญัติว่า

“เมื่อศาลพิจารณาคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเสร็จแล้วให้ศาลมีคำสั่งโดยเร็ว โดยศาลจะมีคำสั่งอนุญาตทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือยกคำร้องนั้นเสียก็ได้

ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำร้องเช่นว่านั้น เว้นแต่จะเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ร้องไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลหรือหากผู้ร้องไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควรเมื่อพิจารณาถึงสถานะของผู้ร้อง และในกรณีผู้ร้องเป็นโจทก์หรือผู้อุทธรณ์หรือฎีกา การฟ้องร้องหรืออุทธรณ์หรือฎีกานั้นมีเหตุผลอันสมควรด้วย … ”

หลัการบรรยาย

  1. คดีอยู่ในขั้นตอนใด
  2. ผู้ร้องประกอบอาชีพอะไร มีรายได้มากน้อยเพียงใด
  3. การฟ้องคดีของผู้ร้องมีเหตุผลอันสมควร
  4. ผู้ร้องไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล หรือหากไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลผู้ร้องจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร
  5. ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือบางส่วน

ตัวอย่างการบรรยาย

ข้อ 1 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีต่อศาลในวันนี้

ข้อ 2 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายจากการที่จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทชนโจทก์ขณะเดินอยู่ริมถนนได้รับบาดเจ็บสาหัสต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 เดือน เสียค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 500,000 บาท ขอให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ รายละเอียดปรากฏตามคำฟ้อง

โจทก์มีพยานหลักฐานที่จะนำสืบให้ศาลเห็นว่าคดีโจทก์มีมูลพอที่จะชนะคดีอย่างแน่นอน การฟ้องคดีของโจทก์จึงมีเหตุผลอันสมควร

ข้อ 3 เนื่องจากโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างรายวันอยู่ที่โรงงานทอผ้าไทยนิยม ซึ่งตั้งอยู่ที่เลขที่ 1 หมู่ที่ 1 ตำบลไทรม้า อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรีได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาท ปรากฏตามหนังสือรับรองเงินเดือนของบริษัทนายจ้าง เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 1

โจทก์มีภาระต้องเลียงดูบุตร 2 คนคือเด็กชายปัญญา หนูชุม กำลังศีกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และเด็กหญิงเรนู หนูชุม อายุ 8 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรง เรียนเทศบาลวัดท่าอิฐ ตำบลไทรม้า อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ส่วนสามีของโจทก์คือนายรู หนูชุม ถึงแก่ความตายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 รายละเอียดปรากฏตามสำเนาสูติบัตรและใบมรณบัตร เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 2 ถึง 4

โจทก์มีภาระต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาบุตรทั้งสองคนเพียงผู้เดียว โจทก์มีรายได้เพียงวันละ 300 บาท ไม่มีที่ดินและบ้านเป็นของตนเองต้องเช่าบ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 1 ตำบลไทรม้า อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี อยู่อาศัยกับบุตรทั้งสองเสียค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,000 บาท ปรากฏตามสำเนาสัญญาเช่าบ้าน เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 5

โจทก์มีฐานะยากจนไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้

ด้วยเหตุดังกล่าวมาข้างต้น จึงขอประทานกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ ขอได้โปรดมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องคดีนี้ทั้งหมด ขอศาลได้โปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

คำร้องขอฟ้องคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล-หน้าแรก
คำร้องขอฟ้องคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล-หน้าแรก

 

คำร้องขอฟ้องคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล-หน้าหลัง
คำร้องขอฟ้องคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล-หน้าหลัง

 

คำร้องขอฟ้องคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล-40ก
คำร้องขอฟ้องคดีโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล-40ก

 

ข้อสังเกต

  1. เดิมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 บัญญัติว่า “ผู้ใดมีความจำนงจะฟ้องหรือต่อสู้คดีอย่างคนอนาถาให้ยื่นคำขอ … “

ต่อมาปี พ.ศ 2550 มีการแก้ไข มาตรา 156 ใหม่ โดยตัดคำว่า “อย่างคนอนาถา” ออกไป เป็น “ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล” จึงควรเรียกว่า “การฟ้องคดีโดยขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล” แทนการเรียกว่า “การฟ้องคดีอย่างคนอนาถา”

และในคำขอท้ายคำร้องก็ไม่ควรใช้คำว่า “ขอได้โปรดศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีอย่างคนอนาถา … “

2. เมื่อมีการฟ้องคดีแล้ว โจทก์เป็นผู้ยื่นคำร้องจึงต้องใช้คำแทนตัวเองว่า “โจทก์” ไม่ใช่ “ผู้ร้อง”

3. ต้องบรรยายข้อกฎหมายในสาระสำคัญ 2 ข้อคือ

(1) การฟ้องคดีของโจทก์มีเหตุผลอันสมควร

จึงต้องบรรยายถึงรายละเอียดของคำฟ้องบ้างตามสมควร และยืนยันว่าคดีโจทก์มีมูล และพยานหลักฐานเพียงพอที่จะชนะคดี

(2) โจทก์ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล

จึงต้องบรรยายรายละเอียดให้เห็นว่าโจทก์ทำงานอะไร มีรายได้เพียงใด มีภาระต้องเลี้ยงดูใคร มีค่าใช้จ่ายอะไรและมีทรัพย์สินอะไรบ้าง

ถ้าหลงลืมไม่บรรยายข้อกฎหมายในสาระสำคัญ ข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้อนี้ ศาลจะต้องยกคำร้อง

4. เพื่อเป็นหลักฐานให้ศาลเห็นว่าความเป็นจริง จึงต้องอ้างส่งเอกสารสำคัญประกอบคำร้องด้วย เช่น สำเนาสัญญาเช่าบ้าน ใบสำคัญการสมรส สูติบัตร หนังสือรับรองเงินเดือน เป็นต้น

5. ศาลมีคำสั่งได้ 3 ทาง คือ

(1)  ยกคำร้อง ถ้าไม่เชื่อว่าโจทก์ไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล

(2) ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด ถ้าศาลเชื่อว่าโจทก์ไม่มีทรัพย์สินพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้เลย เช่น ค่าขึ้นศาลเป็นเงิน 9,000 บาท โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้งหมด

(3) ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลบางส่วน ถ้าศาลเชื่อว่าโจทก์ยังพอมีทรัพย์สินที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลได้บ้าง เช่น ค่าขึ้นศาลเป็นเงิน 9,000 บาท ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลให้สองในสาม ให้โจทก์เสียเพียง หนึ่งในสาม เป็นเงิน 3,000 บาท

______________________________

นับถอยหลัง สอบทนายความภาคทฤษฎี รุ่นที่ 63

กำหนดสอบวันที่ 4 สิงหาคม 2567

______________________________

 

5 3 votes
Article Rating
(Visited 25,610 times, 1 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
5 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments
trackback
5 years ago

[…] คำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล […]

Roongrat Nemtsev
Roongrat Nemtsev
1 year ago

สวัสดีค่ะอาจารย์คะ ขอความอนุเคราะห์ช่วยตอบด้วยได้ไหมคะ กรณีคดีถูกกลั่นแกล้งเอาเปรียบฟ้องเท็จขับไล่ค่ะ เจ้าของบริษัทให้เช่าอาคารพานิชย์ เขาเป็นบริษัททำธุรกิจเป็นพันล้านบาท แต่จดทุนจดทะเบียนเพียงห้าล้านบาท ทางฝ่ายดิฉันเสียหายประมาณสิบล้านบาทค่ะ จะสามารถฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากบริษัทเจ้าของตึกให้เช่า และกรรมการผู้มีอำนาจลงนามบริษัทและหุ้นส่วนตลอดถึงลูกจ้างของเขาที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งก่อนฟ้องร้องขับไล่ได้ไหมคะ และเขาทำหนังสือสัญญาเช่าเท็จ เข้ามาฟ้องคดี เบิกความสืบพยานเท็จในศาลด้วยค่ะ จะสามารถฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายแก่กรรมการผู้มีอำนาจลงนามบริษัทและหุ้นส่วนได้ไหมคะ ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะอาจารย์คะ

Roongrat Nemtsev
Roongrat Nemtsev

ค่ะพิสูจน์ได้ค่ะ แต่เนื่องจากบริษัทเขาจดทะเบียนเพียงห้าล้าน จะสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีเรียกค่าเสียหายสิบล้านได้ไหมคะ จะฟ้องร้องกรรมการผู้มีอำนาจลงนามบริษัทและหุ้นส่วนได้ไหมคะ ขอบพระคุณค่ะ