คำร้องขอในเหตุฉุกเฉิน

คำร้องขอในเหตุฉุกเฉิน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 266

คำร้อง : คดีแพ่ง, คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวกรณีฉุกเฉิน, ติวสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ
คำร้องขอในเหตุฉุกเฉิน
คำร้องขอในเหตุฉุกเฉิน

คำร้องขอในเหตุฉุกเฉิน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 266

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 266

“ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินเมื่อโจทก์ยื่นคำขอตามมาตรา ๒๕๔ โจทก์จะยื่นคำร้องรวมไปด้วยเพื่อให้ศาลมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอโดยไม่ชักช้าก็ได้

    เมื่อได้ยื่นคำร้องเช่นว่ามานี้ วิธีพิจารณาและชี้ขาดคำขอนั้น ให้อยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 267 มาตรา 268 และมาตรา 269”

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267

“ให้ศาลพิจารณาคำขอเป็นการด่วน ถ้าเป็นที่พอใจจากคำแถลงของโจทก์หรือพยานหลักฐานที่โจทก์ได้นำมาสืบ หรือที่ศาลได้เรียกมาสืบเองว่าคดีนั้นเป็นคดีมีเหตุฉุกเฉินและคำขอนั้นมีเหตุผลสมควรอันแท้จริง ให้ศาลมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอภายในขอบเขตและเงื่อนไขไปตามที่เห็นจำเป็นทันที ถ้าศาลมีคำสั่งให้ยกคำขอ คำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด

     จำเลยอาจยื่นคำขอโดยพลัน ให้ศาลยกเลิกคำสั่งหรือหมายนั้นเสีย และให้นำบทบัญญัติแห่งวรรคก่อนมาใช้บังคับโดยอนุโลม คำขอเช่นว่านี้อาจทำเป็นคำขอฝ่ายเดียวโดยได้รับอนุญาตจากศาล ถ้าศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งเดิมตามคำขอ คำสั่งเช่นว่านี้ให้เป็นที่สุด

     การที่ศาลยกคำขอในเหตุฉุกเฉินหรือยกเลิกคำสั่งที่ได้ออกตามคำขอในเหตุฉุกเฉินนั้น ย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเสนอคำขอตามมาตรา ๒๕๔ นั้นใหม่”

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 268

“ในกรณีที่มีคำขอในเหตุฉุกเฉิน ให้ศาลมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่าคดีนั้นมีเหตุฉุกเฉินหรือไม่ ส่วนวิธีการที่ศาลจะกำหนดนั้น หากจำเป็นต้องเสื่อมเสียแก่สิทธิของคู่ความในประเด็นแห่งคดี ก็ให้เสื่อมเสียเท่าที่จำเป็นแก่กรณี”

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 269

“คำสั่งศาลซึ่งอนุญาตตามคำขอในเหตุฉุกเฉินนั้น ให้มีผลบังคับตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๕๘ และมาตรา ๒๕๘ ทวิ อนึ่ง ศาลจะสั่งให้โจทก์รอการบังคับไว้จนกว่าศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดคำขอให้ยกเลิกคำสั่งหรือจนกว่าโจทก์จะได้วางประกันก็ได้”

 

หลักการบรรยาย

  1. ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนโดยฉุกเฉิน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 266 ฉบับหนึ่ง และต้องยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 อีกฉบับหนึ่งด้วย
  2. คำขอฉุกเฉินต้องอ้างเหตุให้เข้าลักษณะฉุกเฉิน เช่น จำเลยกำลังจะจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินของจำเลยไปให้บุคคลอื่นไปในเร็วๆ นี้
  3. ขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินโดยด่วน

ตัวอย่างการบรรยาย

ข้อ 1 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในวันนี้

โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวขอให้ศาลมีคำสั่งห้าม จำหน่าย จ่าย โอน ที่ดินโฉนดเลขที่ 1 ตำบลไทรม้า อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 1 และห้ามเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวตามคำร้องฉบับลงวันที่ 1 มกราคม 2558

เนื่องจากปรากฏว่าจำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามข้อ 1 กับบุคคลภายนอกและกำหนดนัดจะไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในวันพรุ่งนี้ ซึ่งตรงกับวันที่ 2 มกราคม 2558 รายละเอียดปรากฏตามสำเนาสัญญาจะซื้อจะขาย เอกสารที่แนบมาท้ายคำร้อง

หากจำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอก โจทก์จะได้รับความเสียหายเนื่องจากหากโจทก์ชนะคดี จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะบังคับคดีได้อีก

จึงขอศาลได้โปรดมีคำสั่งไต่สวนโดยฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของโจทก์เป็นการด่วนต่อไป ขอศาลได้โปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

คำร้องขอในเหตุฉุกเฉิน-หน้าแรก
คำร้องขอในเหตุฉุกเฉิน-หน้าแรก

 

คำร้องขอในเหตุฉุกเฉิน-หน้าหลัง
คำร้องขอในเหตุฉุกเฉิน-หน้าหลัง

 

ข้อสังเกต

  1. ขั้นตอนคดี เนื่องจากคำขอไต่สวนฉุกเฉินและคำขอคุ้มครองชั่วคราวส่วนใหญ่จะยื่นมาพร้อมกับคำฟ้องคดี ศาลยังไม่ได้มีคำสั่งรับฟ้องหรือนัดพิจารณาใดๆ จึงต้องระบุขั้นตอนของคดีว่าโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยวันนี้
  2. คำขอไต่สวนฉุกเฉินประสงค์จะให้ศาลไต่สวนโดยด่วนแทบจะทันทีทันใด ซึ่งในทางปฏิบัติศาลจะสั่งไต่สวนพยานในวันที่ยื่นคำร้องขอฉุกเฉินนั่นเอง หากไม่ไต่สวนและมีคำสั่งในวันนั้น จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ เช่น จำเลยกำลังจะจดทะเบียนโอนขายที่ดิน หรือกำลังจะขนย้ายทรัพย์สินหลบหนี เป็นต้น
  3. คำร้องที่ยื่นเข้าไปพร้อมคำฟ้องจึงมี 2 ฉบับ คือ

3.1. คำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254

3.2 คำร้องขอไต่สวนฉุกเฉิน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 266

4. หลังจากศาลไต่สวนแล้ว เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 266 ศาลก็จะสั่งคุ้มครองชั่วคราว ตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 เช่น มีหนังสืออายัดที่ดินไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน เป็นต้น

 

Sheet-สรุป-แบบฝึกหัด-สอบทนายความ
Sheet-สรุป-แบบฝึกหัด-สอบทนายความ

______________________________

นับถอยหลัง สอบทนายความภาคทฤษฎี รุ่นที่ 62

กำหนดสอบวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567

______________________________

5 1 vote
Article Rating
(Visited 18,715 times, 1 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
1 Comment
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments