ผ่อนรถ-ชื่อคนอื่น

ผ่อน รถ ชื่อคนอื่น เสี่ยงอย่างไร?

กฎหมาย, สรุปจากการสนทนา, ข่าวสาร, ทั่วไป

” เสี่ยงด้วยกันทั้งคู่ “

เช่นกรณีที่ เรา ติดแบล็คลิสต์ (Blacklist) แต่จะผ่อนรถยนต์ (หรือจะเป็น มอร์เตอร์ไซด์ก็ตาม) และก็ใช้ชื่อคนอื่น มาทำสัญญากับบริษัท ไฟแนนซ์ (ผู้ให้เช่าซื้อ) โดยเราตกลงกับเจ้าของชื่อว่า เราจะเป็นคนผ่อนรถคันนั้นเอง สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ

  1. ผู้ที่ตกลงว่า ตัวเอง จะเป็นคนผ่อนรถเองนั้น จะผ่อนจนครบหรือไม่ ระหว่างที่ผ่อนอยู่นั้น จะขาดส่งหรือไม่ และถ้าเขาผ่อนไม่ไหว ขาดส่ง ผลจะเป็นอย่างไร และ มั่นใจได้อย่างไร ว่าจะผ่อนจนครบ (เบี้ยว ไม่ยอมผ่อน)
    • บริษัท ไฟแนนซ์จะฟ้องใครล่ะครับ ก็ฟ้องคนที่มีชื่อในสัญญาไงครับ และอาจถึงขั้นโดนยึดบ้าน ยึดรถ ยึดทรัพย์สินอีกด้วย
  2. ถึงแม้จะผ่อนจนครบ มีอะไรมาบังคับให้คนที่ยืมชื่อทำสัญญานั้น โอนกรรมสิทธิ์ ให้คนที่ผ่อน (เบี้ยว ไม่ยอมโอน)

ครับต่างคนก็ต่างเสี่ยง ร่วมเสี่ยงด้วยกันทั้งคู่ ไม่มีใครได้เปรียบใคร

ถ้าจะช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน เพื่อความสบายใจทั้งสองฝ่าย

“เราสามารถทำสัญญา หรือ ทำบันทึกข้อตกลง ระหว่างกันได้ แต่ บังคับกันเองระหว่างสองคน คือ ผู้ที่ผ่อน กับ ผู้ที่ใช้ชื่อทำสัญญาหรือทำบันทึกข้อตกลง “

“กุญแจรถเก็บไว้กันคนละดอกด้วยนะครับ”

คำพิพากษาย่อสั้น

การที่ อ. ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยเอารถกระบะที่ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อมาไปใช้โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อตกลงกันระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย หลังจากจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถกระบะจากผู้เสียหายแล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพารถกระบะหลบหนีไปขายแก่บุคคลภายนอก หรือแอบอ้างว่าเป็นรถกระบะของตนเอง ด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้รับมอบรถกระบะจากผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่จำเลยครอบครองใช้รถกระบะนั้นโดยเปิดเผยและได้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหายเรื่อยมาจำนวนถึง 5 งวดติดต่อกันต่อมาจำเลยค้างส่งค่างวดจึงได้มอบรถกระบะให้ ช. โดยทำความตกลงกับ ช. ให้ ช. เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรวมทั้งที่จำเลยรับเงินมัดจำจาก ช. ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 5,000 บาท และในสัญญาระบุว่าจำเลยและ ช. ซื้อขายรถยนต์ (รถกระบะ) นั้น ยังมิใช่การเอารถกระบะทรัพย์สินของผู้ให้เช่าซื้อไปขายแต่เป็นเพียงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. โดยมีข้อตกลงให้ ช. มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป เพราะจำเลยประสงค์จะหาบุคคลอื่นมาช่วยรับภาระในการผ่อนค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย จำเลยจึงมิได้เบียดบังเอารถกระบะดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ไม่เป็นเหตุทำให้การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดไปแต่อย่างใด
การที่จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. แม้จะมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่า ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อเดิมได้ต่อไป รวมทั้งเรียกค่าเสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจติดตามยึดรถกระบะคืนจากจำเลยได้ จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ให้จำเลยคืนรถกระบะดังกล่าว หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 631,491 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนรถกระบะที่ยักยอกไป หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 631,491 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2547 นางอาภรณ์ ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อรถกระบะใช้แล้ว หมายเลขทะเบียน บง 7953 สิงห์บุรี จากบริษัทจีอีแคปปิตอลออโตลีส จำกัด (มหาชน) ในราคา 631,491.74 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ 74 งวด โดยชำระงวดละเดือนเป็นเงิน 7,044 บาทตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.1 ระหว่างตกลงทำสัญญานั้น จำเลยซึ่งเป็นพี่สาวของนายสถาพรวิจิตรพันธ์ น้องเขยของนางอาภรณ์ขอซื้อรถกระบะดังกล่าวต่อจากนางอาภรณ์ นางอาภรณ์ตกลงให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อรถดังกล่าวแทนนางอาภรณ์ และให้จำเลยชำระเงินค่าจดทะเบียนกับเบี้ยประกันภัยด้วยตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.1 โดยระบุให้จำเลยเป็นผู้ขับขี่ จำเลยรับรถกระบะที่เช่าซื้อไปใช้ตั้งแต่ต้น แล้วชำระค่าเช่าซื้อเพียง 5 งวด จำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 6 ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2547 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2547 จำเลยไปพบนางสมศรี เจ้าของร้านสิงห์บุรีคาร์เซ็นเตอร์ข้างที่ทำการประปาจังหวัดสิงห์บุรี ตำบลต้นโพธิ์ อำเภอ เมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นร้านขายรถมือสอง จำเลยจะหาคนซื้อรถกระบะดังกล่าว เพราะไม่สามารถชำระค่าเช่าซื้อได้ต่อไป นางสมศรีแนะนำให้จำเลยพบกับนายเชาวลิต ซึ่งเป็นลูกค้าประจำของนางสมศรี จำเลยตกลงขายรถกระบะดังกล่าวให้นายเชาวลิต โดยนายเชาวลิตเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อต่อไปตามสัญญาซื้อขายรถยนต์เอกสารหมาย จ.7 นายเชาวลิต รับรถกระบะดังกล่าวไปจากจำเลยแล้ว ภายหลังจากนั้นจำเลยติดต่อกับนายเชาวลิตไม่ได้ ทั้งจำเลยและนายเชาวลิตต่างก็ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 6 ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือทวงถามค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 ไปยังนางอาภรณ์ นางอาภรณ์ไปสอบถามจำเลย จำเลยเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง นางอาภรณ์แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ผู้ให้เช่าซื้อทราบ ผู้ให้เช่าซื้อให้นางอาภรณ์ไปร้องทุกข์ ดำเนินคดีแก่จำเลยเอง แต่ผู้ให้เช่าซื้อจะฟ้องคดีแพ่งบังคับให้นางอาภรณ์รับผิดตาม สัญญา นางอาภรณ์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 จำเลยไปมอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักยอกรถกระบะตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่นางอาภรณ์ ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยเอารถกระบะที่ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อมาไปใช้โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อตกลงกันระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย หลังจากจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถกระบะจากผู้เสียหายแล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพารถกระบะหลบหนีไปขายแก่บุคคลภายนอก หรือแอบอ้างว่าเป็นรถกระบะของตนเอง ด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้รับมอบรถกระบะจากผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่จำเลยครอบครอง ใช้รถกระบะนั้นโดยเปิดเผยและได้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหายเรื่อยมาจำนวนถึง 5 งวดติดต่อกัน ต่อมาจำเลยค้างส่งค่างวดจึงได้มอบรถกระบะให้นายเชาวลิต โดยทำความตกลงกับนายเชาวลิตให้นายเชาวลิตเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือต่อไปปรากฏตามสัญญาซื้อขายรถยนต์เอกสารหมาย จ.7 พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรวมทั้งที่จำเลยรับเงินมัดจำจากนายเชาวลิตในวันทำสัญญาเอกสารหมาย จ.7 เป็นเงิน 5,000 บาท และในสัญญาระบุว่าจำเลยและนายเชาวลิตซื้อขายรถยนต์ (รถกระบะ) นั้น ยังมิใช่การเอารถกระบะทรัพย์สินของผู้ให้เช่าซื้อไปขาย แต่เป็นเพียงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นายเชาวลิต โดยมีข้อตกลงให้นายเชาวลิตมีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป เพราะจำเลยประสงค์จะหาบุคคลอื่นมาช่วยรับภาระในการผ่อนค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหายต่อไป จำเลยจึงมิได้เบียดบังเอารถกระบะดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ไม่เป็นเหตุทำให้การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดไปแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาอ้างว่า จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นายเชาวลิตโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อเป็นการไม่ชอบ การกระทำของจำเลยจึงต้องมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์นั้น เห็นว่า การที่จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่นายเชาวลิตแม้จะมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่า ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อเดิมได้ต่อไป รวมทั้งเรียกค่าเสียหายจากผู้เสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจติดตามยึดรถกระบะคืนจากจำเลยได้ดังที่โจทก์ฎีกา จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานยักยอก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352

ผู้พิพากษา

นพวรรณ อินทรัมพรรย์
ไชยยงค์ คงจันทร์
ทัศนีย์ ธรรมเกณฑ์
4 1 vote
Article Rating
(Visited 12,356 times, 3 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments