กฎหมายอาญา-หลักดินแดน

กฎหมายอาญา หลักดินแดน มาตรา 4, มาตรา 5, มาตรา 6

ภาค 1, ประมวลกฎหมายอาญา

 

ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป

มาตรา ๔

หมวด ๒ การใช้กฎหมายอาญา

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป

หมวด ๒ การใช้กฎหมายอาญา

 

     มาตรา ๔  ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย

    การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร

ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป

มาตรา ๕

หมวด ๒ การใช้กฎหมายอาญา

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป

หมวด ๒ การใช้กฎหมายอาญา

 

     มาตรา ๕  ความผิดใดที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักรก็ดี ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร โดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำ ผลที่เกิดขึ้นนั้นควรเกิดในราชอาณาจักรหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

    ในกรณีการตระเตรียมการ หรือพยายามกระทำการใด ซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป

มาตรา ๖

หมวด ๒ การใช้กฎหมายอาญา

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป

หมวด ๒ การใช้กฎหมายอาญา

 

     มาตรา ๖  ความผิดใดที่ได้กระทำในราชอาณาจักร หรือที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร แม้การกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน ของผู้สนับสนุน หรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุนหรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร

กฎหมายอาญา หลักดินแดน
กฎหมายอาญา หลักดินแดน

“หลักดินแดน” หมายถึง กฎหมายของรัฐใดย่อมใช้บังคับแก่การกระทำความผิดที่เกิดขึ้นภายในดินแดนอันเป็นอาณาเขตของรัฐนั้น ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาได้บัญัติไว้ใน มาตรา 4 ถึง มาตรา 6 ได้แก่ การกระทำความผิดในราชอาณาจักรและรวมถึงการกระทำที่ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร ฉะนั้นกฎหมายอาญาของไทยย่อมใช้บังคับแก่การกระทำผิดภายในขอบเขตของหลักดินแดนดังกล่าว ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าผู้กระทำหรือผู้เสียหายจะเป็นบุคคลสัญชาติใด ซึ่งจะได้แยกพิจารณาเป็น 3 หัวข้อ ดังต่อไปนี้

(1) การกระทำความผิดในราชอาณาจักร

(2) การกระทำที่ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร

(3) ผลของการใช้บังคับหลักดินแดน

การกระทำความผิดในราชอาณาจักร

การกระทำความผิดในราชอาณาจักร มีบัญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 วรรคแรก ดังนี้

มาตรา 4 วรรคแรก บัญัติว่า ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักรต้องรับโทษตามกฎหมาย

ความหมายของ “ราชอาณาจักร

  • พื้นดินและพื้นน้ำซึ่งอยู่ภายในอาณาเขตของประเทศไทย
  • ทะเลอันเป็นอ่าวไทย (ตาม พรบ.กำหนดเขตจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน พ.ศ.2502)
  • ทะเลอาณาเขตระยะ 12 ไมล์ทะเล ห่างจากฝั่งอันเป็นอาณาเขตของประเทศไทย (ประกาศพระบรมราชโองการ กำหนดความกว้างของทะเลอาณาเขตของประเทศไทย ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2509)
  • ใต้หรือเหนืออาณาเขตตาม ที่กล่าวมา

คำว่า “ในราชอาณาจักร” ตาม มาตรา 4 วรรคแรก จึงหมายถึง ในขอบเขตพื้นที่ของประเทศไทยดังกล่าว ฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นกรณีเรือหรืออากาศยานไทย และเรือหรืออากาศยานของต่างประเทศ หากจอดอยู่หรือขณะผ่านขอบเขตพื้นที่ดังกล่าว ก็อยู่ในความหมายของคำว่า “ในราชอาณาจักร” ตามมาตรา 4 วรรคแรก ทั้งสิ้น

สถานทูตไทยในต่างประเทศ ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย และสถานทูตต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยก็ไม่ถือเป็นดินแดนของต่างประเทศเช่นกัน กรณีนี้ เป็นเรื่องของเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ความหมายของ “การกระทำความผิด

คำว่า “กระทำความผิด” ในราชอาณาจักร ตาม มาตรา 4 วรรคแรก มีข้อพิจารณาว่าขณะกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้น ณ ที่ใด ทั้งนี้เพราะการกระทำความผิดมิใช่จะเกิดขึ้นเฉพาะชั่วขณะหนึ่งขณะใดเท่านั้น แต่อาจเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาตั้งแต่ขนะหนึ่งจนสิ้นสุดลง ณ เวลาอีกขณะหนึ่ง เหตุการณ์ระหว่างระยะเวลานี้อาจเกิดขึ้นในหลายแห่งต่างกันได้ และจะถือว่าส่วนใดคือผลของการกระทำความผิดซึ่งแยกต่างหากออกจากการกระทำผิดเพราะการกระทำผิดและผลของการกระทำผิดเกิดขึ้นในหลายแห่งต่างดินแดนกันได้เช่นกัน ในเรื่องนี้มีหลักในการพิจารณาโดยแยก “ผล” เป็น 2 ประการได้แก่

(1) ผลที่เป็นจุดประสงค์ใกล้ชิด (but immediat) ตามสภาพผลที่เป็นจุดประสงค์ใกล้ชิด ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำอยู่ในตัว เช่น การยิงคน กิริยาที่ยกปืนขึ้นเล็ง และลั่นไกปืน เป็นขณะที่การกระทำความผิดเกิดขึ้น ส่วนขณะที่กระสุนปืนถูกคน คือผลที่เป็นจุดประสงค์ใกล้ชิด ซึ่งย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำด้วย นั่นคือรวมกันทั้งหมดเรียกว่ายิง อันเป็นการกระทำความผิดนั่นเอง

(2) ผลสุดท้าย (resultat) ตามตัวอย่าง “การยิงคน” ดังกล่าวคือ ความตายนั่นเอง ซึ่งสามารถแยกออกจากการกระทำผิดได้โดยเด็ดขาด

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติ มาตรา 4 ประกอบกับ มาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้วเห็นได้ว่าทุกแห่งที่มีการกระทำและผลที่เป็นจุดประสงค์ใกล้ชิดเกิดขึ้นก็เป็นที่ซึ่งเกิดความผิดทั้งสิ้น

ฉะนั้น การกระทำความผิดในราชอาณาจักร ตาม มาตรา 4 วรรคแรก จึงหมายถึงการกระทำทั้งหมดที่เป็นความผิด (หมายถึงการกระทำและผลที่เป็นจุดประสงค์ใกล้ชิดรวมกัน) มิใช่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ได้เกิดขึ้นและสิ้นสุดในราชอาณาจักร แต่ไม่รวมถึงผลสุดท้ายด้วยแม้แต่ผลสุดท้ายของการกระทำจะเกิดขึ้นในหรือนอกราชอาณาจักรก็ไม่สำคัญ หากการกระทำความผิดทั้งหมดเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ก็อยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติ มาตรา 4 วรรคแรกทั้งสิ้น

การกระทำที่ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร

การกระทำที่ให้ถือว่า กระทำผิดในราชอาณาจักร หมายถึง การกระทำผิดนอกราชอาณาจักรหรือส่วนใดส่วนหนึ่งได้กระทำนอกราชอาณาจักร แต่กฎหมายให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดในราชอาณาจักร ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศไทย จึงได้ขยายอำนาจของศาลไทยให้ลงโทษผู้กระทำผิดซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศไทยให้มากยิ่งขึ้น โดยมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4 วรรคสอง มาตรา 5 และ มาตรา 6 ดังนี้

มาตรา 4 วรรคสอง บัญญัติว่า “การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร

มาตรา 5 บัญญัติว่า “ความผิดใดที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักรก็ดี ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร โดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำผลที่เกิดขึ้นนั้นควรเกิดในราชอาณาจักร หรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร


ในกรณีการตระเตรียมการ หรือพยายามกระทำการใดซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

มาตรา 6 บัญญัติว่า “ความผิดใดที่ได้กระทำในราชอาณาจักรหรือที่ประมวลกฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร แม้การกระทำของผู้เป็นตัวการด้วยกัน ของผู้สนับสนุน หรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้น จะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่า ตัวการ ผู้สนับสนุน หรือผู้ใช้ให้กระทำ ได้กระทำในราชอาณาจักร

ตามบทบัญญัติใน มาตรา 4 วรรคสอง, มาตรา 5, และ มาตรา 6 แยกพิจารณาดังนี้

(1) การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย

(2) การกระทำผิดบางส่วนในราชอาณาจักร

(3) ผลแห่งการกระทำความผิดเกิดในราชอาณาจักร

(4) กระตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร

(5) ตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ได้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร

การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย

การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทยไม่ว่าอยู่ ณ ที่ใดตาม มาตรา 4 วรรคสองนั้น คำว่า “ไม่ว่าอยู่ ณ ที่ใด” หมายถึง สิ่งใดๆ ก็ได้ซึ่งมิใช่ในราชอาณาจักรไทย หากกระทำความผิดในเรือหรืออากาศยานไทยขณะจอดอยู่หรือผ่านราชอาณาจักรไทย ก็เป็นกรณีตามมาตรา 4 วรรคแรก ฉะนั้นการกระทำผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ที่ให้ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักรตาม มาตรา 4 วรรคสอง จึงต้องเป็นกรณีที่เรือไทยหรืออากาศยานไทยนั้น จอดอยู่หรือขณะผ่านนอกเขตราชอาณาจักร

การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทยนี้ หากเป็นการกระทำความผิด “ทั้งหมด” ในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ก็ไม่มีปัญหาในการพิจารณา เพราะหากเรือไทยหรืออากาศยานไทยนั้นจอดอยู่หรือขณะผ่านในราชอาณาจักร ก็เป็นกรณี มาตรา 4 วรรคแรก หากจอดอยู่หรือขณะผ่านนอกเขตราชอาณาจักร ก็เป็นกรณี มาตรา 4 วรรคสอง แต่มีปัญหาน่าพิจารณาว่า ถ้าการกระทำความผิดเพียง “ส่วนหนึ่งส่วนใด” เท่านั้นที่เกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทย มิใช่การกระทำผิดทั้งหมดจะเป็นกรณี มาตราใด

ตัวอย่าง เช่น นาย ก นั่งอยู่บนเครื่องบินไทย ซึ่งจอดอยู่ที่สนามบินสิงคโปร์ ถูกนาย ข ซึ่งยืนอยู่บนลานจอดเครื่องบิน ใช้ปืนยิงจนถึงแก่ความตาย เช่นนี้จะเป็นกรณี มาตราใด

กรณีเช่นนี้ การกระทำความผิดส่วนหนึ่งเป็นการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรไทย (นาย ข ใช้ปืนยิงขณะยืนอยู่บนลานจอดเครื่องบินสิงคโปร์) และการกระทำผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งกฎหมายให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร ตาม มาตรา 4 วรรคสอง (นาย ก ถูกยิงในเครื่องบินไทย ซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร จะเห็นว่าเมื่อมีการกระทำส่วนหนึ่งส่วนใดที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร ก็ย่อมจะปรับเข้ากรณี มาตรา 4 วรรคสองได้เลย เพราะส่วนหนึ่งส่วนใดของการกระทำความผิดย่อมเป็นความผิดอยู่นั่นเอง

อนึ่ง การกระทำความผิดตาม มาตรา 4 วรรคสอง นี้หมายถึงการกระทำความผิดเกิดขึ้นในเรือไทยหรืออากาศยานไทย โดยไม่คำนึงว่าผลสุดท้ายของการกระทำจะเกิด ณ ที่ใด เช่นเดียวกับกรณี มาตรา 4 วรรคแรก

ตัวอย่าง นาย ก วางยาพิษ นาย ข โดยผสมกับกาแฟ ให้ นาย ข ดื่ม ขณะโดยสารเครื่องบินไทยอยู่เหนือน่านฟ้ามาเลเซีย นาย ข ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลสิงคโปร์ เช่นนี้การกระทำความผิดทั้งหมดฐานฆ่าคนตาย เกิดขึ้นในอากาศยานไทย ถือว่าเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรตามมาตรา 4 วรรคสอง

ตัวอย่าง นาย ก ไล่ยิง นาย ข ที่สนามบินลิเบีย นาย ข หลบหนีขึ้นมาบนเครื่องบินไทยและสิ้นใจตายในเครื่องบินไทย เช่นนี้ การกระทำผิดทั้งหมดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร มิใช่กรณีตามมาตรา 4 วรรคสอง

การกระทำความผิดบางส่วนในราชอาณาจักร

กรณี “ความผิดใดที่ได้กระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้กระทำในราชอาณาจักร” ตาม มาตรา 5 วรรคแรก ส่วนแรก หมายถึง การกระทำความผิดบางส่วนนอกราชอาณาจักรและบางส่วนในราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการกระทำความผิดคาบเกี่ยวหรือต่อเนื่องกันทั้งในและนอกราชอาณาจักร กรณีเช่นนี้กฎหมายให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร ฉะนั้น หากผู้กระทำความผิดเข้ามาในประเทศไทย ศาลไทยมีอำนาจลงโทษได้โดยอาศัย มาตรา 5 วรรคแรก ส่วนแรก

ผลแห่งการกระทำความผิดเกิดในราชอาณาจักร

ในกรณีผลแห่งการกระทำผิดเกิดในราชอาณาจักร ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักรนี้ มีบัญญัติไว้ในมาตรา 5 วรรคแรก ส่วนที่ 2 ส่วนที่ 3 และส่วนท้าย ซึ่งแยกพิจารณาได้เป็น 3 กรณี ได้แก่

  • ผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร (มาตรา 5 วรรคแรก ส่วนที่ 2)
  • โดยลักษณะแห่งการกระทำผลที่เกิดขึ้นนั้นควรเกิดในราชอาณาจักร (มาตรา 5 วรรคแรก ส่วนที่ 3)
  • ผู้กระทำย่อมจะเล็งเห็นได้ว่า ผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักร (มาตรา 5 วรรคแรกส่วนท้าย)

การตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร

กรณีการตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิด ซึ่งได้กระทำนอกราชอาณาจักร แต่ผลของการกระทำจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ตามมาตรา 5 วรรคสอง นี้ หมายเฉพาะถึง การตระเตรียมการกระทำที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107 ถึง 110,114,128,219 เป็นต้น ส่วนพยายามกระทำนั้น โดยทั่วไปเป็นความผิดอยู่แล้ว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 และการกระทำนั้น ยังไม่ถึงขั้นความผิดสำเร็จ เพียงแต่หากจะทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ “ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร” เท่านั้นซึ่งเห็นได้ว่า กรณีตาม มาตรา 5 วรรคสอง นี้ ผลยังมิได้เกิดขึ้น หากผลเกิดขึ้นในราชอาณาจักรแล้วก็จะกลายเป็นกรณี มาตรา 5 วรรคแรก นอกจากนั้น คำว่า “ผล” ตาม มาตรา 5 วรรคสอง นี้ ไม่จำกัดว่า ต้องเป็นผลที่เจตนาจะให้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรเท่านั้นแต่หมายถึงผลที่ประสงค์ผลที่ควรเกิด และผลที่ย่อมจะเล็งเห็นตาม มาตรา 5 วรรคแรกนั้นเอง

ตัวการ ผู้ใช้ หรือ ผู้สนับสนุน ได้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร

กรณี ตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ได้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร หากความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร หรือนอกราชอาณาจักร แต่กฎหมายให้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ให้ถือว่า ตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนนั้น กระทำความผิดในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 6 ซึ่งแยกพิจารณาได้เป็น 3 กรณี ได้แก่ ตัวการ ผู้ใช้ และกรณีผู้สนับสนุน

กรณี ตัวการ ได้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร กรณี ตัวการ หลายคน ร่วมกันกระทำความผิด ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 แม้ตัวการบางคนจะได้กระทำในราชอาณาจักร และบางคนกระทำนอกราชอาณาจักร ก็ถือว่าทุกคนร่วมกันกระทำความผิดในราชอาณาจักร

กรณี ผู้ใช้ ได้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร กรณี ผู้ใช้ ให้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 แม้ผู้ใช้จะได้กระทำนอกราชอาณาจักร หากความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร หรือให้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ก็ให้ถือ ว่าผู้ใช้ได้กระทำความผิดในราชอาณาจักร

กรณี ผู้สนับสนุน ได้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร กรณี ผู้สนับสนุน ได้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 แม้ ผู้สนับสนุน จะได้กระทำนอกราชอาณาจักร หากความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร หรือให้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่า ผู้สนับสนุน ได้กระทำความผิดในราชอาณาจักร

ผลของการใช้บังคับหลักดินแดน

ในเรื่อง “หลักดินแดน” ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4, 5 และ 6 ดังกล่าวมาแล้ว มีผลใช้บังคับกับบุคคลทุกคน ไม่ว่าผู้กระทำความผิดหรือผู้เสียหายจะเป็นคนสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าว หากผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักรหรือที่ให้ถือว่าได้กระทำความผิดในราชอาณาจักร ย่อมอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายไทยทั้งสิ้น เมื่อผู้กระทำความผิดเข้ามาอยู่ในเขตอำนาจของศาลไทย ศาลไทยมีอำนาจพิพากษาลงโทษได้ อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นบางประการตามกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ดังต่อไปนี้

ข้อยกเว้นตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

บุคคลผู้ได้รับเอกสิทธิ์ (privilege) โดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 คือ

(ก) พระมหากษัตริย์

(ข) สมาชิกสภานิติบัญญัติและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ข้อยกเว้นตามกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

(ก) ประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ

(ข) ทูตและบุคคลในคณะทูต ตลอดจนครอบครัว

(ค) เรือรบและกองทหารของต่างประเทศในราชอาณาจักร

ข้อยกเว้นตามกฎหมายพิเศษ

เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติ และทบวงการชำนาญพิเศษแห่งประชาชาติในประเทศไทย พ.ศ. 2495 เป็นต้น

สารบัญ ประมวลกฎหมายอาญา

5 1 vote
Article Rating
(Visited 41,775 times, 1 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
2 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments
trackback
4 years ago

[…] ผู้ใดกระทำความ&#… […]