ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์-มาตรา-171

ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 171

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, คำพิพากษาศาลฎีกา, กฎหมายแพ่ง1

ประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 171

“ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร”

คำพิพากษาฎีกาที่สำคัญที่วินิจฉัยข้อกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญาในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความยิ่งกว่าข้อความตามตัวอักษร

### คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๖๙/๒๕๖๐ … คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ว่า กรณีมีเหตุให้เพิกถอนหมายบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ค่าทำงานในวันหยุด สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้เลิกจ้างโจทก์แต่โจทก์ขอลาออกแล้วไม่ไปทำงานเอง ขอให้ยกฟ้อง ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์และจำเลยที่ ๒ ตกลงกันได้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลแรงงานกลาง ซึ่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีอาญาของศาลจังหวัดพระโขนง (ที่ยื่นฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลย) จะต้องดำเนินการถอนฟ้องคดีดังกล่าวภายใน ๗ วัน ต้องชำระเงิน ๘๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ภายใน ๓๐ วัน และต้องไม่ดำเนินคดีแก่โจทก์และ น. นับแต่วันลงนามในสัญญาประนีประนอมยอมความ จากนั้นวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๒ ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาต่อศาลจังหวัดพระโขนง ซึ่งศาลจังหวัดพระโขนงอนุญาตให้ถอนฟ้องแล้ว ต่อมาวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ โจทก์ขอให้ศาลแรงงานกลางออกหมายบังคับคดีตามคำขอท้ายฟ้องอ้างเหตุว่า จำเลยที่ ๒ ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ ๒ คือ ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาเกินกว่า ๗ วัน จึงต้องชำระหนี้ให้กับโจทก์เต็มตามฟ้องตามสัญญาข้อ ๔ เมื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ แล้ว จะเห็นว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๒ มุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันทั้งในคดีนี้ คดีอาญาที่ศาลจังหวัดพระโขนง และข้อพิพาทหรือคดีที่อาจมีต่อไปในอนาคต การพิจารณาจึงต้องคำนึงถึงเจตนาอันแท้จริงในการประนีประนอมยอมความของโจทก์กับจำเลยที่ ๒ แม้จำเลยที่ ๒ จะยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในคดีอาญาเกินกว่าระยะเวลา ๗ วันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ ๒ แต่ก็ได้ความว่าหลังจากโจทก์กับจำเลยที่ ๒ ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๒ ได้ลงลายมือชื่อในคำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาโดยโจทก์ลงชื่อท้ายคำร้องไม่คัดค้านการถอนฟ้องดังกล่าวในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ หลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพียง ๑ วัน อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๒ เจตนาเร่งรัดที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว แม้จะยื่นคำร้องขอถอนฟ้องต่อศาลจังหวัดพระโขนงล่าช้าเกินกว่าที่ตกลงกันไป ๑ วัน แต่สุดท้ายศาลจังหวัดพระโขนงก็อนุญาตให้ถอนฟ้องได้ ซึ่งผลของการถอนฟ้องดังกล่าวจำเลยที่ ๒ ไม่สามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้อีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓๖ ทั้งภายหลังจากที่โจทก์ขอให้ศาลแรงงานกลางออกหมายบังคับคดีขอให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินเต็มตามฟ้องในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ก็ปรากฏว่าเมื่อจำเลยที่ ๒ นำเงิน ๘๐,๐๐๐ บาทตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ ๑ มาวางศาลแรงงานกลางเพื่อให้โจทก์รับไปจากศาลในวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๒ โจทก์ก็ได้ขอรับเงิน ๘๐,๐๐๐ บาทไปจากศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๕๒ แล้ว การที่โจทก์เข้ารับเงินดังกล่าวจึงเท่ากับว่าโจทก์ยังคงประสงค์จะรับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวต่อไปโดยผ่อนปรนไม่ถือเอาระยะเวลาการปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ ๒ มาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด อีกทั้งโจทก์ได้รับประโยชน์จากการที่จำเลยที่ ๒ ถอนฟ้องคดีอาญาและจากการที่จำเลยที่ ๒ จะไม่ดำเนินคดีใดๆ กับโจทก์ตรงตามเจตนาที่ตกลงกันครบถ้วนแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๒ ปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์จะบังคับให้จำเลยที่ ๒ ชำระเงินเต็มตามฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๔ ได้ กรณีจึงมีเหตุให้เพิกถอนหมายบังคับคดีตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ พิพากษากลับให้เพิกถอนหมายบังคับคดี ###

0 0 votes
Article Rating
(Visited 1,402 times, 1 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments