ท่อง-อาญา-มาตรา-86-Q

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ผู้สนับสนุน

ประมวลกฎหมายอาญา, ประมวลกฎหมาย, กฎหมายอาญา1, กฎหมาย

 

ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป

มาตรา ๘๖

หมวด ๖ ตัวการและผู้สนับสนุน

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป

หมวด ๖ ตัวการและผู้สนับสนุน

 

     มาตรา ๘๖  ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น



คำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 325/2562

จำเลยที่ ๑ ตัดสินใจวิ่งกลับไปเอาเหล็กขูดชาฟท์มาแทงผู้เสียหายในฉับพลันทันที อันเกิดจากการตัดสินใจของจำเลยที่ ๑ โดยลำพังขณะที่จำเลยที่ ๒ มิได้ใช้มีดพกมาฟันผู้เสียหายอันจะเป็นการแสดงว่ามีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในลักษณะเข้ารุมทำร้ายผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ ๒ เพียงแต่ใช้อาวุธมีดแกว่งมิให้บุคคลอื่นเข้าช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยไม่ได้เข้าร่วมทำร้ายผู้เสียหายเองถือไม่ได้ว่ามีเจตนาเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ ๑ ในการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ ๑ ขณะกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ ๒ จึงเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653/2562

แม้จำเลยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการที่สังกัดในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่อำนาจหน้าที่ในการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการระดับ 8 ให้อธิบดีผู้บังคับบัญชาเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเมื่อได้รับความเห็นชอบจากปลัดกระทรวง ไม่ใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงโดยตรง จำเลยในฐานะปลัดกระทรวง จึงไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่งป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญด้วยตนเอง จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะ ไม่อาจลงโทษจำเลยในฐานะเป็นตัวการ เพราะใช้ให้กระทำความผิดได้ แต่การที่จำเลยให้ ด. ออกคำสั่งย้ายโจทก์ ถือได้ว่าเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดส่วนนี้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 801/2562

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลที่กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานและต้องมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นเจ้าพนักงานและเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ตลอดจนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเบียดบังเงินยืมทดรองราชการเป็นของตนโดยทุจริต แต่จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวที่เป็นผู้ขอเงินยืมทดรองราชการและได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการหรือรักษาเงินยืมทดรองราชการ แม้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าว ก็ลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการจัดการหรือรักษาทรัพย์แล้วเบียดบังทรัพย์เป็นของตนโดยทุจริตไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2120/2563

คำพิพากษาศาลฎีกา เลขที่ 2120 / 2563 ตัดสินลงโทษประชาชนที่รับจ้างเปิดบัญชี แม้จะอ้างในชั้นสอบสวนและศาลว่า ไม่ได้รู้เห็นการกระทำความผิด แต่ศาลเห็นว่า การเปิดบัญชีธนาคารนั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ควรนำบัญชี บัตร ATM หรือรหัส มอบให้กับผู้อื่น การได้รับเงินค่าจ้างเพื่อมาเปิดนั้น ย่อมเล็งเห็นผลว่าผู้รับซื้อจะนำไปใช้ในทางผิดกฎหมาย จะอ้างว่าถูกหลอกไม่ได้ การกระทำจึงเป็นการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และเป็นผู้สนับสนุนการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับเบิกถอนเงินสดของผู้อื่นโดยมิชอบ จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด โดยต้องโทษ 2 ใน 3 ของโทษทั้งหมด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173/2566

การที่จำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉัอโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนยังยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำบัญชีเงินฝากของตนไปใช้รับโอนเงินลงทุนที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสามถือว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดดังกล่าวตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86และต้องร่วมรับผิดในส่วนแพ่งกับจำเลยที่ 1 ด้วย

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 56)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 56 ปีการศึกษา 2546
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 5 ตุลาคม 2546

 

คำถาม


ข้อ 2.  นายใหญ่ตระเตรียมวางแผนฆ่านายอ้วน โดยจะใช้อาวุปืนสองกระบอกของตน แต่อาวุธปืนที่จะใช้ในการฆ่าได้ถูกคนร้ายลักไปก่อนโดยนายใหญ่ไม่ทราบ นายเล็กต้องการให้นายอ้วนตายเช่นกัน จึงแอบเอาอาวุธปืนของตนไปไว้ที่บ้านนายใหญ่โดยประสงค์ให้นายใหญ่ใช้ยิงนายอ้วนโดยนายเล็กไม่รู้ว่าอาวุธปืนกระบอกนั้นมีผู้แอบเอากระสุนออกจนหมดแล้ว นายน้อยต้องการให้นายอ้วนตายเช่นกัน จึงเอาอาวุธปืนของตนไปไว้ที่บ้านนายใหญ่โดยประสงค์ให้นายใหญ่ใช้ยิงนายอ้วน ต่อมานายใหญ่เห็นอาวุธปืนทั้งสองกระบอกของนายเล็กและนายน้อยวางอยู่ นายใหญ่เข้าใจว่าเป็นอาวุธปืนสองกระบอกของตน นายใหญ่ได้หยิบอาวุปืนของนายเล็กและเมื่อพบนายอ้วนได้ใช้อาวุธปืนกระบอกนั้นจ้องเล็งจะยิงนายอ้วน ให้วินิจฉัยว่า นายใหญ่ นายเล็กและนายน้อยมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 การที่นายใหญ่ตระเตรียมวางแผนฆ่านายอ้วนเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) (คำพิพากษาฎีกาที่ 1654/2532) เมื่อนายใหญ่เล็งปืนจ้องจะยิงนายอ้วนเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว นายใหญ่จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านายอ้วน แต่เนื่องจากปืนกระบอกดังกล่าวนั้นไม่มีกระสุนการกระทำของนายใหญ่จึงไม่สามารถบรรลุผลอย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำ นายใหญ่จึงมีความผิดฐาน พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 81 (คำพิพากษาฎีกาที 980/2502) การที่นายเล็กแอบนำอาวุปืนไปไว้ที่บ้านนายใหญ่ โดยประสงค์ให้นายใหญ่ใช้ยิงนายอ้วนและนายใหญ่ได้ใช้อาวุปืนของนายเล็กยิงนายอ้วน เป็นการช่วยเหลือในการที่นายใหญ่กระทำความผิด แม้นายใหญ่จะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือนั้นก็ตาม นายเล็กย่อมเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 81 และมาตรา 86 ส่วนที่นายน้อยนำอาวุธปืนของตนไปไว้ที่บ้านของนายใหญ่ แม้นายน้อยมีเจตนาช่วยเหลือในการที่นายใหญ่กระทำความผิด แต่เมื่อนายใหญ่มิได้ไช้อาวุชปืนของนายน้อยยิงนายอ้วน นายใหญ่ไม่ได้ประโยชน์จากการช่วยเหลือของนายน้อย นายน้อยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของนายใหญ่

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 59)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 59 ปีการศึกษา 2549
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 24 กันยายน 2549

 

คำถาม


ข้อ 2.  นางสายจ้างนายบ่ายไปฆ่านายเช้าสามีเพราะนายเช้าไปอยู่กินกับหญิงอื่น นางเย็นน้องสาวนางสายให้นายบ่ายยืมอาวุธปืนไปใช้ยิงนายเช้า นายบ่ายไปดักยิงนายเช้า เมื่อนายเช้าเดินผ่านมา นายบ่ายชักอาวุธปืนออกจากเอวเพื่อจะยิง แต่นายบ่ายเห็นว่านายเช้าแก่มากแล้วจึงเกิดความสงสารและเปลี่ยนใจไม่ยิง
ให้วินิจฉัยว่า นางสาย นายบ่ายและนางเย็นมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด หรือไม่


ธงคำตอบ

 นายบ่ายพาอาวุธปืนไปดักยิงนายเช้า เมื่อเห็นนายเช้าเดินผ่านมา นายบ่ายเพียงแต่ชักอาวุธปืนออกจากเอวเพื่อจะยิง แต่ยังไม่ได้เล็งปืนไปที่นายเช้า การกระทําของนายบ่ายยังอยู่ในขั้นตระเตรียม ไม่ถึงขั้นลงมือกระทําความผิดฐานฆ่านายเช้า (คําพิพากษาฎีกาที่ 1647/2512) นายบ่ายจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่า และการที่นายบ่ายเปลี่ยนใจไม่ยิงนายเช้าเพราะความสงสารไม่เป็นการยับยั้งเสียเองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 เพราะการยับยั้งเสียเองจะเกิดมีใด้เฉพาะเมื่อนายบ่ายได้ลงมือกระทําความผิดแล้ว แต่กระทําไปไม่ตลอดเท่านั้น
นางสายจ้างนายบ่ายไปฆ่านายเช้าเป็นการก่อให้นายบ่ายกระทําความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยการจ้าง จึงมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้นายบ่ายกระทําความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 84 วรรคแรก แต่การกระทําของนายบ่ายยังอยู่ในขั้นตระเตรียมการเพื่อฆ่านายเช้า ถือว่านายบ่ายยังไม่ได้ลงมือกระทําความผิดตามที่ใช้ นางสายจึงต้องรับโทษเพียง 1 ใน 3 ของโทษที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 289 (4) ตามมาตรา 84 วรรคสอง
นางเย็นแม้จะให้นายบ่ายยืมอาวุธปืนไปใช้ยิงนายเช้า อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ นายบ่ายที่จะกระทําความผิดก่อนการกระทําความผิดก็ตาม แต่นางเย็นก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ตามมาตรา 86 สําหรับความผิดตามมาตรา 289 (4) เพราะการที่จะมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 ได้ จะต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิด ซึ่งผู้ลงมือกระทําความผิดจะต้องกระทําการถึงขั้นลงมือกระทําความผิดแล้วเท่านั้น เมื่อนายบ่ายกระทําการเพียงขั้นตระเตรียมการยังไม่ถึงขั้นลงมือกระทําความผิดฐานฆ่านายเช้า การกระทําของนายบ่ายยังไม่เป็นความผิด นางเย็นจึงไม่เป็นผู้สนับสนุน

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 60)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 60 ปีการศึกษา 2550
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 30 กันยายน 2550

 

คำถาม


ข้อ 3.  นายชมและนายชิตวางแผนกันไปฆ่านายชื่น นายชมจัดหาปืนให้นายชิตเพื่อให้ใช้ยิงนายชื่น โดยนายชมจะทําหน้าที่ดูต้นทาง นายชมและนายชิตไปดักซุ่มยิงอยู่ตรงบริเวณที่นายชื่นจะเดินมา เมื่อนายชื่นมาถึง นายชิตใช้ปืนนั้นยิงไปที่นายชื่นแต่ยังไม่ถูก นายชมซึ่งดูต้นทางอยู่ใกล้ๆ กลัวความผิดจึงวิ่งหนีกลับไปบ้านเสียก่อน ส่วนนายชิตได้ติดตามนายชื่นไปโดยลําพังและใช้ปืนกระบอกนั้นยิงนายชื่นถึงแก่ความตาย
ให้วินิจฉัยว่า นายชิตและนายชมจะมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  นายชิตมีความผิดฐานฆ่านายชื่นโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) เพราะนายชิตวางแผนกับนายชมไปฆ่านายชื่นและไปดักยิง (คําพิพากษาฎีกาที่ 433/2546)
นายชมเป็นตัวการร่วมกับนายชิตในความผิดฐานพยายามฆ่านายชื่นเท่านั้น เพราะนายชมมีการกระทําร่วมกันและมีเจตนาร่วมกันกับนายชิตในขณะที่การกระทําของนายชิตต่อนายชื่นอยู่ในขั้นพยายามฆ่า นายชมจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 83
แต่นายชมเป็นผู้สนับสนุนนายชิต ในความผิดที่นายชิตกระทําต่อนายชื่นฐานฆ่านายชื่นโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เพราะปืนที่นายชิตใช้ยิงนายชื่นนั้น นายชมเป็นผู้จัดหาให้ เป็นการช่วยเหลือก่อนการกระทําความผิด นายชมจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 86 ด้วย

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 62)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 62 ปีการศึกษา 2552
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 27 กันยายน 2552

 

คำถาม


ข้อ 3.   นายเขียว นายม่วง และนายเหลืองไม่ชอบหน้านายฟ้า ระหว่างที่ทั้งสามคนกําลังยืนคุยกันอยู่ นายฟ้าเดินผ่านมาพอดี ทั้งสามคนจึงร่วมกันแกล้งนายฟ้าโดยนายเหลืองมอบปืนให้แก่นายเขียว นายเขียวใช้ปืนกระบอกนั้นยิ่งลงไปที่พื้นดิน 1 นัด ในขณะที่นายฟ้ากําลังเดินมาหานายเขียวและอยู่ห่างจากนายเขียวประมาณ 2 วา ขณะที่นายเขียวยิงปืน นายม่วง ทําหน้าที่ยืนบังอยู่ใกล้ ๆ ไม่ให้บุคคลอื่นเห็นการกระทําของนายเขียว ส่วนนายเหลืองไปดูลาดเลาอยู่ห่างจากจุดที่นายเขียวยิงประมาณ 120 เมตร โดยจุดนั้นไม่สามารถมองเห็นการยิงปืนได้ ปรากฏว่ากระสุนปืนที่นายเขียวยิ่งไปที่พื้นดินดังกล่าวถูกนายฟ้าได้รับอันตรายแก่กาย นายเขียวตกใจที่เหตุการณ์เป็นเช่นนั้นและสํานึกผิดด้วยการพานายฟ้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจนนายฟ้าปลอดภัย
ให้วินิจฉัยว่า นายเขียว นายม่วง และนายเหลืองมีความผิดฐานใด หรือไม่


ธงคำตอบ

  การที่นายเขียวใช้ปืนยิงลงไปที่พื้นดิน 1 นัด ในขณะที่นายฟ้ากําลังเดินมาหานายเขียวและอยู่ห่างจากนายเขียวประมาณ 2 วา นายเขียวย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทําได้ว่า กระสุนปืนอาจถูกนายฟ้าใต้ เมื่อกระสุนปืนถูกนายฟ้าได้รับอันตรายแก่กาย ถือว่านายเขียวมีเจตนาทําร้ายร่างกายนายฟ้า นายเขียวจึงมีความผิดฐานทําร้ายร่างกายนายฟ้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 (คําพิพากษาฎีกาที่ 234/2529)
นายม่วงทําหน้าที่ยืนบังอยู่ใกล้ ๆ ไม่ให้บุคคลอื่นเห็นการกระทําของนายเขียวเป็นการร่วมกระทําความผิดโดยการแบ่งหน้าที่กันทํา จึงเป็นตัวการร่วมกันในการทําร้ายร่างกายนายฟ้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบ มาตรา 83 (คําพิพากษาฎีกาที่ 1423/2535)
นายเหลืองอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุถึง 120 เมตร และจุดนั้นไม่สามารถมองเห็นที่เกิดเหตุได้ จึงไม่ใช่การกระทําร่วมกัน ในขณะกระทําความผิด (คําพิพากษาฎีกาที่ 346/2529) นายเหลืองจึงไม่เป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ในความผิดตามมาตรา 295 แต่นายเหลืองเป็นผู้สนับสนุนให้กระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกาย ตามมาตรา 295 ประกอบ มาตรา 86 เพราะช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนการกระทําความผิดของนายเขียวด้วยการมอบปืนให้แก่นายเขียว และนายเขียวใช้ปืนกระบอกนั้นยิงลงไปที่พื้นดิน
การที่นายเขียวสํานึกผิดพานายฟ้าไปรักษาพยาบาลจนปลอดภัยไม่ใช่การกลับใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 82 เพราะจะเป็นการกลับใจได้ การกระทําของนายเขียวต้องอยู่ในขั้นพยายามกระทําความผิด และนายเขียวกลับใจ แก้ไข ไม่ให้การกระทํานั้นบรรลุผล เมื่อการกระทําของนายเขียวบรรลุผลเป็นความผิดสําเร็จฐานทําร้ายร่างกายนายฟ้าแล้ว กรณีจึงไม่ใช่การกลับใจตามมาตรา 82 แต่อย่างใด

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 63)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 63 ปีการศึกษา 2553
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 26 กันยายน 2553

 

คำถาม


ข้อ 4.   นายปิงกับนายวังร่วมกันแจ้งต่อนางหวานเจ้าหน้าที่ปกครอง สํานักงานทะเบียนอําเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธรว่า นายวังชื่อนายน่าน เป็นบุตรของนายปิง ขอทําบัตรประจําตัวประชาชนใหม่ เนื่องจากบัตรเดิมสูญหาย นางหวานจึงให้บุคคลทั้งสองไปพบนายเค็มปลัดอําเภอเลิงนกทาเพื่อทําการสอบสวน นายเต็มสอบสวนแล้วแจ้งให้นายปิงไปหาบุคคลมารับรองตัวนายวัง นายปิงจึงไปตามนายยมมา และนายยมได้ลงชื่อรับรองในบันทึกคําให้การรับรองบุคคลด้านหลังคําขอมีบัตรใหม่หรือเปลี่ยนบัตรประจําตัวประชาชนว่านายวังชื่อนายน่าน โดยนายปิง นายวัง และนายยม รู้ว่านายน่านถึงแก่ความตายไปแล้ว ก่อนที่นายปิงกับนายวังมาแจ้งต่อนางหวานและนายเค็มผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานบัตรประจําตัวประชาชน
ให้วินิจฉัยว่า นายปิง นายวัง และนายยมมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 การที่นายปิงกับนายวังร่วมกันแจ้งต่อนางหวานเจ้าหน้าที่ปกครองและนายเค็มปลัดอําเภอผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับงานบัตรประจําตัวประชาชนว่า นายวังชื่อนายน่านเป็นบุตรของนายปิง ขอทําบัตรประจําตัวประชาชนใหม่เนื่องจากบัตรเดิมสูญหาย โดยนายปิงกับนายวังรู้ว่านายน่านถึงแก่ความตายไปก่อนแล้วจึงเป็นการแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทําการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สําหรับใช้เป็นพยานหลักฐานโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ เจ้าพนักงานซึ่งอาจทําให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหายด้วย นายปิงกับนายวังจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 137 ประกอบมาตรา 83
ส่วนนายยมแม้รู้ว่านายน่านถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว แต่นายยมเป็นเพียงแต่ลงชื่อรับรองตัวบุคคลโดยที่มิได้ร่วมกับนายปิงและนายวังแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ การกระทําของนายยมจึงเป็นการกระทําด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทําความผิด นายยม จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิดดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267, 137 ประกอบมาตรา 86 (คําพิพากษาฎีกาที่ 2502/2550)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 68)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 68 ปีการศึกษา 2558
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 27 กันยายน 2558

 

คำถาม


ข้อ 1.   นายชัยเป็นเจ้าพนักงานสรรพากรตําแหน่งนักตรวจสอบภาษีชํานาญการมีหน้าที่ตรวจสอบเก็บภาษีในพื้นที่เขตรับผิดชอบ นายชัยได้รับแจ้งจากนายต้นพนักงานขับรถตามสัญญาจ้างเหมาว่ามีผู้ร้องเรียนว่า “ร้านอาหารของนายรวยซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตรับผิดชอบหลบเลี่ยงการเสียภาษี ไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้ลูกค้า” นายชัยจึงชวนนายต้นไปนั่งรับประทานอาหาร ที่ร้านของนายรวยซึ่งในขณะนั้นมีลูกค้าจํานวนมาก นายต้นเรียกนายรวยมาเก็บเงินค่าอาหาร นายชัยพูดขึ้นว่า “เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเก็บภาษีมากินอาหารแค่นี้ต้องเก็บเงินด้วยหรือ” นายรวยเกรงว่าจะถูกตรวจสอบเก็บภาษี จึงไม่เก็บเงินค่าอาหาร วันต่อมานายชัยได้ออกหนังสือราชการเชิญนายรวยไปพบที่สํานักงานสรรพากรพื้นที่นายรวยไปพบตามหนังสือเชิญ นายชัยได้นําหนังสือร้องเรียนให้นายรวยดูและบอกกับนายรวยว่า “ถ้าไม่อยากยุ่งยากเสียเงินห้าหมื่นบาทให้ผมก็จบเรื่อง” นายต้นซึ่งอยู่ในห้องของนายชัยได้พูดเสริมว่า “หากมีเจ้าหน้าที่คนอื่นมาตรวจสอบเก็บภาษีจะเสียเงินเป็นแสน” ซึ่งความจริง นายรวยออกใบเสร็จรับเงินค่าอาหารให้ลูกค้าถูกต้องตามกฎหมายแต่ไม่อยากมีเรื่อง จึงให้เงินแก่นายชัยห้าหมื่นบาท
ให้วินิจฉัยว่า นายชัยและนายต้นมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  นายชัยเจ้าพนักงานสรรพากรตําแหน่งนักตรวจสอบภาษีชํานาญการ มีหน้าที่ในการตรวจสอบเก็บภาษี พูดกับนายรวยเจ้าของร้านว่า “เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเก็บภาษีมากินอาหารแค่นี้ต้องเก็บเงินด้วยหรือ” การกระทําของนายชัยจึงไม่ได้ใช้อำในตําแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจให้นายรวยไม่เก็บค่าอาหาร เพราะนายรวยจะเก็บเงินค่าอาหารหรือไม่ก็ได้ ไม่เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 670/2521)
การที่นายชัยได้นําหนังสือร้องเรียนให้นายรวยดู และพูดกับนายรวยว่า "ถ้าไม่อยากยุ่งยากเสียเงินห้าหมื่นบาทให้ผมก็จบเรื่อง” โดยนายต้นพูดเสริมว่า “หากมีเจ้าหน้าที่คนอื่นมาตรวจสอบภาษีจะเสียเงินเป็นแสน” ซึ่งความจริง นายรวยออกใบเสร็จรับเงินค่าอาหารให้ลูกค้าถูกต้องตามกฎหมาย การกระทําของนายชัยเป็นการใช้อํานาจในตําแหน่งโดยมิชอบ จูงใจเพื่อให้นายรวยมอบเงินให้เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1663/2513) และเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามมาตรา 157 ด้วย
ส่วนนายต้นเป็นพนักงานขับรถตามสัญญาจ้างเหมาไม่ใช่บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงาน หรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ จึงไม่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16) จึงขาดคุณสมบัติเฉพาะตัวอันเป็นองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 148 และไม่อาจเป็นตัวการร่วมกับนายชัยในการกระทําความผิดตามมาตรา 148 ประกอบมาตรา 83 ได้ แต่คําพูดดังกล่าวของนายต้นเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทําความผิดของนายชัย ดังนั้น นายต้นจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานใช้อํานาจในตําแหน่งโดยมิชอบ ตามมาตรา 148 ประกอบมาตรา 86

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 68)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 68 ปีการศึกษา 2558
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 27 กันยายน 2558

 

คำถาม


ข้อ 3.  นายหนึ่งและนายสองไปเดินเที่ยวด้วยกัน ได้พบนายอ้วนคู่อริของนายหนึ่งโดยบังเอิญ นายหนึ่งเดินเข้าไปหานายอ้วนและหน้าหาเรื่อง นายอ้วนแสดงท่าทางไม่พอใจ นายสองเกรงว่าจะเกิดเรื่อง จึงชวนนายหนึ่งกลับบ้าน แต่นายหนึ่งไม่เชื่อ เมื่อนายหนึ่งตรงเข้าจะทําร้ายนายอ้วน นายสองดึงตัวนายหนึ่งไว้เพื่อไม่ให้ไปทําร้ายนายอ้วน แต่นายหนึ่งสะบัดหลุดแล้วเข้าไปชกนายอ้วนจนนายอ้วนฟันหัก 1 ซี่ ทันใดนั้นนายหนึ่ง ชักอาวุธปืนจ้องจะยิงนายอ้วน นายสองซึ่งไม่รู้ว่านายหนึ่งมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย จึงร้องบอกนายหนึ่งว่าอย่าทํา และรีบเข้าปัดปืน ทําให้ปืนลั่น กระสุนปืนถูกนายผอมซึ่งอยู่ห่างประมาณ 30 เมตร ถึงแก่ความตาย
ให้วินิจฉัยว่า นายหนึ่งและนายสองมีความผิดฐานใดบ้าง


ธงคำตอบ

  นายหนึ่งชกนายอ้วนจนนายอ้วนฟันหัก 1 ซี่ นายหนึ่งมีความผิด ฐานทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295
นายหนึ่งชักอาวุธปืนจ้องจะยิงนายอ้วน จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านายอ้วนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 การที่กระสุนปืนลั่นไปถูกนายผอมถึงแก่ความตาย เป็นการกระทําโดยมีเจตนาฆ่าโดยพลาด นายหนึ่งจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามมาตรา 288 ประกอบมาตรา 60
นายสองไม่มีความผิดดังกล่าวข้างต้นร่วมกับนายหนึ่งด้วย เพราะมิได้เป็นตัวการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ผู้ใช้ ตามมาตรา 84 หรือ ผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 ในการกระทําความผิดของนายหนึ่ง
การที่นายสองเข้าปัดปืนทําให้ปืนลั่นไปถูกนายผอมถึงแก่ความตาย นายสองไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เพราะไม่มีเจตนาฆ่านายผอม และไม่มีความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 291 เพราะนายสองมิได้กระทําโดยประมาทตามมาตรา 59 วรรคสี่ เพราะเหตุบุคคลในภาวะเช่นนายสองในขณะนั้น ย่อมไม่อยู่ในวิสัยและพฤติการณ์ที่อาจจะใช้ความระมัดระวังให้มากไปกว่านั้นได้ เนื่องจากเป็นการกระทําในภาวะฉุกเฉิน

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 71)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 71 ปีการศึกษา 2561
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 23 กันยายน 2561

 

คำถาม


ข้อ 6.  นายหนึ่ง นายสอง และนายสามเป็นเพื่อนกัน นายหนึ่งเล่าให้นายสองและนายสามฟังว่า นายสี่ซึ่งเป็นลูกหนี้ ไม่ชําระหนี้ให้แก่นายหนึ่งเป็นเงินจํานวน 40,000 บาท เมื่อนายสองและนายสามได้ฟังดังนั้นก็เกิดความโกรธแค้นแทนเพื่อน นายสองและนายสามจึงตกลงกันว่าจะไปบังคับชําระหนี้เอาแก่นายสี่โดยมีนายหนึ่งร่วมเดินทางไปด้วย โดยต่างคนต่างขับรถจักรยานยนต์ของตนไปยังบ้านของนายสี่ แต่ก่อนที่จะถึงบ้านของนายสี่ นายสามได้ขับรถจักรยานยนต์แยกทางออกไปก่อนเนื่องจากได้รับโทรศัพท์จากภริยาให้รีบเดินทางไปรับลูกที่โรงเรียน ก่อนถึงบ้านของนายสี่ นายหนึ่งและนายสองเห็นนายสี่เดินอยู่ในซอยก่อนที่จะเข้าบ้าน นายสองจึงตรงเข้าไปใช้มีดที่นายสามมอบให้ไว้ก่อนแยกทางกันขู่บังคับให้นายสี่ส่งมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่มูลค่า 30,000 บาท ให้ โดยมีนายหนึ่งยืนคุมเชิงอยู่ใกล้ ๆ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่นายสี่กําลังส่งมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่นายสองตามคำขู่นั้น นายสี่ได้หมุนตัวเป็นเหตุให้ต้นแขนด้านซ้ายของนายสี่บังเอิญไปถูกมีดที่นายสองถือไว้เป็นเหตุให้นายสี่ได้รับอันตรายแก่กาย
ให้วินิจฉัยว่า นายหนึ่ง นายสอง และนายสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 การที่นายหนึ่งและนายสองร่วมกันขู่บังคับให้นายสี่ส่งมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งแม้จะมีมูลค่าน้อยกว่าจํานวนหนี้ที่นายสี่เป็นหนี้แก่นายหนึ่งก็ตาม ก็ถือว่าการกระทําของนายหนึ่งและนายสองเป็นการกระทําที่มีเจตนาทุจริตแล้ว (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 674/2554) เมื่อการกระทําของนายหนึ่งและนายสองเป็นการเอาไปซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นในลักษณะที่เป็นการตัดกรรมสิทธิ์ และมีเจตนาทุจริต นายหนึ่งและนายสอง จึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ และเมื่อมีการขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้ายแก่นายสี่จนนายสี่ยอมส่งมอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ การกระทําของนายหนึ่งและนายสอง จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ เมื่อการชิงทรัพย์ดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายของนายสี่ จึงเป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม แม้ว่าบาดแผลที่นายสี่ได้รับนั้นจะเกิดจากอุบัติเหตุก็ตาม เพราะบาดแผลดังกล่าว เป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ ตามมาตรา 63 จากการที่นายสองใช้มีดในการขู่เข็ญนายสี่ (คําพิพากษาฎีกาที่ 1867/2553) นายหนึ่งและนายสอง จึงมีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม
อย่างไรก็ตาม การกระทําของนายหนึ่งและนายสอง ไม่เป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ เนื่องจากนายสามใด้ขับรถจักรยานยนต์แยกทางออกไปก่อน ไม่ได้รออยู่ในที่เกิดเหตุที่จะมีเวลาเพียงพอที่จะช่วยนายหนึ่ง และนายสองในขณะกระทําความผิดได้ จึงไม่ใช่เป็นการแบ่งหน้าที่กันทําอันเป็นตัวการในการกระทําความผิดร่วมกับนายหนึ่งและนายสองได้ คงเป็นแต่เพียงผู้สนับสนุนการกระทําความผิด หาใช่ร่วมกันเป็นตัวการ ในการกระทําความผิดฐานชิงทรัพย์ด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป อันจะเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ (คําพิพากษาฎีกาที่ 74/2555) เมื่อนายสามเป็นผู้ส่งมอบมีดที่ใช้ในการชิงทรัพย์ให้แก่นายสองก่อนแยกทางออกไป นายสามจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 72)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 29 กันยายน 2562

 

คำถาม


ข้อ 1.   นายพอนคนลาวมีบ้านอยู่ในนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โทรศัพท์ไปบอกนายแดงคนไทย ซึ่งมีบ้านอยู่ที่อําเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ว่า นางบัวซึ่งมีบ้านอยู่ติดกันกับบ้านนายพอนที่นครเวียงจันทน์ เก็บทองคําจํานวนมากไว้ที่บ้าน ให้นายแดงกับพวกไปปล้น นายแดงวางแผนการปล้นกับนายดําและพวกซึ่งเป็นคนไทยที่บ้านของนายแดง จากนั้นนายดํากับพวกใช้เรือที่นายแดงจัดเตรียมไว้ให้แล่นข้ามแม่น้ำโขงไปพบนายพอน นายพอนพานายดํากับพวกไปปล้นสําเร็จ แล้วแยกกันหลบหนี นายดํานําทองคําที่ปล้นได้ไปเก็บไว้ที่บ้านของนายดําเพื่อรอแบ่งกัน นางบัวร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ให้ดําเนินคดีแก่นายแดง นายดํา และนายพอน
ให้วินิจฉัยว่า นายแดง นายดํา และนายพอนจะต้องรับโทษในราชอาณาจักรหรือไม่


ธงคำตอบ

 นายแดงร่วมวางแผนการปล้นทรัพย์ที่บ้านของนายแดงซึ่งตั้งอยู่ที่อําเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แต่ไม่ได้ไปร่วมในการปล้นทรัพย์ด้วย จึงไม่เป็นตัวการในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ประกอบมาตรา 83 แต่การใช้บ้านของตนเป็นสถานที่วางแผนในการปล้นทรัพย์และจัดเตรียมเรือไว้ให้นายดํากับพวก ใช้แล่นข้ามแม่น้ำโขงไปปล้น เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นายดํากับพวกในการกระทําความผิดฐานปล้นทรัพย์ ก่อนมีการกระทําความผิด เมื่อนายดํากับพวกกระทําความผิดฐานปล้นทรัพย์ นายแดงจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้อื่นซึ่งกระทําความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามมาตรา 340 ประกอบมาตรา 86 จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ตามมาตรา 4 วรรคแรก
นายดําคนไทยร่วมกับพวกกระทําความผิดฐานปล้นทรัพย์นางบัว คนต่างด้าวนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นความผิดดังระบุไว้ในมาตรา 8 วรรคสอง (9) เมื่อนางบัวได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรท่าบ่อให้ดําเนินคดีแก่นายดํา อันถือได้ว่านางบัวได้ร้องขอให้ลงโทษนายดํา ในราชอาณาจักรตามมาตรา 8 วรรคแรก (ก) นายดําจึงต้องรับโทษในราชอาณาจักร
, นายพอนคนต่างด้าวกระทําความผิดฐานปล้นทรัพย์นางบัวคนต่างด้าวนอกราชอาณาจักร แม้จะได้ร่วมกระทําความผิดกับนายดําและพวกซึ่งเป็นคนไทย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ประกอบมาตรา 83 แต่เมื่อนางบัวผู้เสียหายมิได้เป็นคนไทย ไม่เข้าเงื่อนไขที่จะขอให้ลงโทษนายพอนในราชอาณาจักรได้ตามมาตรา 8 วรรคแรก (ข) จึงลงโทษนายพอนในราชอาณาจักรไม่ได้

ท่อง-อาญา-มาตรา-86-Q

            ใช่ครับ การเรียนกฎหมายให้ประสบความสำเร็จ ในสาขานิติศาสตร์นั้นต้องศึกษาบทมาตรา ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแต่ละฉบับ ทำความเข้าใจ รู้จักเชื่อมโยงบทบัญญัติต่าง ๆ และนำไปใช้ให้เกิดความยุติธรรมในสังคม นอกจากนั้น  นักเรียน นิสิต นักศึกษา วิชากฎหมายทุกคน  ต้องผ่านการ “ท่องจำ” มาแล้วทั้งสิ้น มีปรมาจารย์ท่านหนึ่ง ได้กล่าวไว้ว่า “หลังจากที่ทำความเข้าใจ รู้จักเชื่อมโยงบทบัญญัติต่าง ๆ และนำไปใช้ ได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว”   “การท่องจำ” เป็น “เวทมนต์” ที่จะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ที่รักในการประกอบวิชาชีพในสายกฎหมายและประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว

ก่อนจะลงมือท่องจำนั้นต้องคัดคำสำคัญในตัวบทออกมาก่อนและจำคำสำคัญนั้น หลังจากนั้นก็ลงมือท่องซ้ำไปซ้ำมา จนแม่นยำ

 

ท่อง-อาญา-มาตรา-86-Q
ท่อง-อาญา-มาตรา-86-Q

มาตรา 86

  ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็น หรือ ในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด กระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะ หรือ นั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็น การกระทำความผิด ต้องระวางโทษ ส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่ นั้น

Correct
Incorrect

 

นาวิน ขำแป้น

สารบัญ ประมวลกฎหมายอาญา

0 0 votes
Article Rating
(Visited 2,709 times, 1 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
1 Comment
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments