ข้อบังคับสภาทนายความ
ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. ๒๕๒๙

หมวด ๓

มรรยาทต่อตัวความ

 

     ข้อ ๑๒  กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวต่อไปนี้ อันอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ

    (๑) จงใจขาดนัด หรือทอดทิ้งคดี

    (๒) จงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ

คำอธิบาย

การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาล ทนายความเป็นผู้กระทำการแทนลูกความของตนผลการปฏิบัติงานของทนายความไม่ว่าจะเป็นผลดีหรือผลร้ายก็ตาม ย่อมตกได้แก่ลูกความซึ่งอาจจะถึงแก่ชีวิต หรืออาจสูญเสียทรัพย์สินเงินทองจนกระทั่งหมดเนื้อหมดตัวเลยก็ได้ การปฏิบัติหน้าที่ของทนายความ มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดไว้ให้ทนายความต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการที่ทนายความขาดนัดการพิจารณาของศาล หรือทอดทิ้งคดี หรือละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำในการดำเนินดดี หรือปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ ผลการกระทำดังกล่าวอาจทำให้คดีของลูกความต้องได้รับความเสียหายอย่างมาก และบางกรณีไม่อาจแก้ไขได้ จึงจำต้องมีข้อบังคับในข้อนี้
---------------------------
การจงใจขาดนัด หมายถึงกรณีที่ทนายความทราบนัดการพิจารณาของศาลแล้วโดยชอบ แต่ไม่ไปศาล และไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบ หรือไม่ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี
--------------------------
คำว่า "จงใจ" ตามพจนานุกรม เป็นคำกริยา หมายถึง ตั้งใจ หมายใจ เจตนา ถึงแม้ว่า ในข้อบังคับนี้ใช้คำว่า "จงใจ" ซึ่งอาจทำให้เกิดความข้าใจผิดว่า การกระทำความผิดในข้อนี้ต้องมีเจตนาประกอบด้วยแต่ความหมายของคำว่า "จงใจ" ในที่นี้ มีความหมายกว้างกว่าความหมายที่ระบุในพจนานุกรมดังกล่าว ตามหลักมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีความเอาใจใส่ในการประกอบวิชาชีพมากกว่าวิญญูชนทั่วไป วิชาชีพทนายความเป็นวิชาชีพที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ และความชำนาญเป็นพิเศษ ต้องใช้ความรอบคอบ ความระมัดระวัง และความเอาใจใส่ในการปฏิบัติหน้าที่ยิ่งกว่าอาชีพอื่น การทำหน้าที่จนเกิดความผิดพลาดเพราะทนายความเกิดหลงลืม (Negligence) หรือเกิดจากความประมาทเลินเล่อ หรือไม่ตั้งใจ หรือเพราะไม่ทราบถือได้ว่าเป็นการจงใจ ซึ่งมีความผิดในข้อนี้แล้ว การไปศาลเพื่อพิจารณาคดีเป็นหน้าที่ของทนายความ หากทนายความทราบนัดโดยชอบแล้วไม่ไปศาล ก็จะทำให้ศาลไม่อาจพิจารณาคดีไปได้ศาลอาจต้องเลื่อนคดี ทำให้การพิจารณาคดีของศาลต้องล่าช้าไป ก่อให้เกิดความเสียหายแก่คู่ความและศาลได้
-------------------------
การแจ้งกล่าวหาความผิดในข้อนี้มีเพิ่มมากขึ้น ศาลมักแจ้งกล่าวหามาเอง ส่วนใหญ่มักจะเป็นคดีที่ศาลขอแรงทนายความ และทนายความได้รับเป็นทนายความขอแรงในคดีแล้วแต่ทนายความไม่เห็นความสำคัญในการไปศาลตามนัด เนื่องจากคิดว่าเป็นคดีขอแรง ไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากลูกความ ทนายความบางท่านเดินทางไปศาลไม่ทันกำหนดเวลาที่ศาลนัด ศาลอาจมีคำสั่งให้เลื่อนคดีและให้แจ้งกล่าวหาว่า ทนายความไม่ไปศาลตามนัดต่อสภาทนายความ ทนายความเห็นว่าศาลออกจากห้องพิจารณาแล้ว ก็เดินทางกลับโดยมิได้ยื่นคำร้องหรือคำแถลงใดๆ ทำให้ทนายความต้องตกเป็นผู้ถูกแจ้งกล่าวหา
------------------------
ในทางปฏิบัติเมื่อทนายความไปศาลไม่ทันการพิจารณา ทนายความควรยื่นคำแถลงให้ศาลทราบว่าทนายความมาศาลแล้วแต่ไม่ทันการพิจารณาคดี เพื่อยืนยันว่า ทนายความมาศาลในวันนัดดังกล่าวจริง ศาลก็จะระงับการแจ้งกล่าวหา โดยยังไม่ส่งหนังสือแจ้งกล่าวหามายังสภาทนายความ หรือในคดีแพ่งซึ่งศาลมีคำสั่งว่า คู่ความฝ่ายที่ไม่ไปศาลขาดนัดพิจารณาแล้ว ทนายความของฝ่ายดังกล่าวอาจรีบยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ในวันดังกล่าวก็ได้
------------------------
ในกรณีที่ทนายความไม่อาจไปศาลได้ เพราะเจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุ หรือมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ ทนายความต้องยื่นคำร้องหรือคำแถลงขอเลื่อนคดี หรือแจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลทราบในวันนัดนั้นเองโดยการมอบฉันทะให้บุคคลอื่นไปยื่นคำร้องหรือคำแถลงดังกล่าวหรือทนายความจะยื่นคำร้อง หรือคำแถลงต่อศาลในโอกาสแรกที่จะทำได้ หรือในกรณีที่ทนายความยังอยู่ที่ต่างจังหวัด และมีเหตุขัดข้องไม่อาจมาศาลในวันนัดได้ และไม่อาจยื่นคำร้องหรือคำแถลงต่อศาลที่พิจารณาคดี ทนายความอาจเดินทางไปยังศาลที่อยู่ใกลัที่สุด และยื่นคำร้องหรือคำแถลงให้ศาลที่อยู่ใกล้ที่สุดทราบเหตุขัดข้องเพื่อแจ้งให้ศาลที่พิจารณาคดีทราบเหตุขัดข้องดังกล่าว ซึ่งศาลทุกแห่งจะมีวิธีการติดต่อถึงกันได้อย่างสะดวก หรือทนายความจะใช้วิธีโทรศัพท์หรือโทรสารแจ้งให้ศาลที่พิจารณาคดีทราบเหตุขัดข้องได้ด้วย
-----------------------
การทอดทิ้งคดี เกิดจากทนายความไม่เอาใจใส่ในการดำเนินคดี บางคนรับค่าจ้างว่าความแล้ว แต่ไม่ทำการฟ้องคดีให้แก่ผู้กล่าวหา หรือยื่นคำร้อง หรือคำแถลงต่อศาลแล้ว หรือยื่นคำฟ้อง หรืออุทธรณ์ หรือฎีกาแล้วไม่ติดตามเพื่อทราบคำสั่งของศาล หรือเพื่อนำหมาย หรือเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของศาล เช่น การที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ เป็นเหตุให้ศาลสั่งจำหน่ายคดี จึงเป็นการทอดทิ้งคดีอันเป็นความผิดในข้อนี้
(คำสั่งสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความที่ 5/2535)
-----------------------
การจงใจละเวันหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน
-----------------------
คำว่า "จงใจ" จะมีความหมายกว้างกว่าความหมายของพจนานุกรมดังได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว การละเวันหน้าที่ เช่น ทนายความมีหน้าที่ยื่นบัญชีระบุพยานภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือทนายความไม่แถลงคัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการยื่นบัญชีระบุพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นสาระสำคัญ เพื่อที่จะได้นำสืบพยานให้ศาลเห็นข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง และเป็นหน้าที่สำคัญที่ผู้ประกอบวิชาชีพทนายความจะต้องปฏิบัติ และต้องตระหนักว่า หากมิได้ปฏิบัติย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่คดีของลูกความอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ การที่ผู้ถูกกล่าวหาหลงลืมไม่ยื่นบัญชีระบุพยานตามที่มีหน้าที่ เท่ากับเป็นการจงใจละเว้นการกระทำหน้าที่ที่พึ่งกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความแล้ว ไม่อาจอ้างความหลงลืมมาเป็นข้อแก้ตัว และยังถือได้ว่าเป็นการทอดทิ้งคดีเป็นเหตุให้ไม่สามารถดำเนินการสืบพยานให้แก่ผู้กล่าวหาต่อไปได้
(คำสั่งสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความที่ 15/2537)
-----------------------
หรือเมื่อผู้ถูกกล่าวหารับเข้าเป็นทนายความของผู้กล่าวหา และได้ยื่นใบแต่งทนายความเข้าไปในสำนวนความของศาลแล้ว แม้จะมีประเด็นในเรื่องยังไม่ได้ชำระค่าจ้างว่าความหรือเรื่องอื่น ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำสั่งให้ถอนตัวจากการเป็นทนายความ แม้จะมีการบอกเลิกการเป็นทนายความแล้ว ก็ยังต้องจัดการอันสมควรทุกอย่างเพื่อจะปกปักษ์รักษาประโยชน์ของลูกความไว้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 ไม่ใช่เห็นแก่อามิสสินจ้างเป็นสำคัญ
------------------------
ข้ออ้างที่ว่าเสมียนทนายความทำใบคำร้องขอถอนทนายความหาย จึงไม่ได้ยื่นต่อศาล แม้จะเป็นความจริงก็ไม่ทำให้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่เป็นความผิด การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นเหตุให้ผู้กล่าวหาไม่มีโอกาสเข้าต่อสู้คดีในศาลและแพ้คดีในที่สุด จึงเป็นการจงใจทอดทิ้งคดี อันทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ
(คำสั่งสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความที่ 18/2537)
------------------------
หรือผู้ถูกกล่าวหารับเงินค่าจ้างดำเนินดดีกับลูกหนี้แล้วมีหนังสือทวงถามไป แต่ลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตาม ผู้ถูกกล่าวหาไม่ดำเนินการฟ้องคดี เป็นการกระทำที่ทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ โดยการจงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความตน
(คำสั่งสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความที่ 1/2540)
------------------------
หรือผู้ถูกกล่าวหาไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ในเวลาที่ศาลชั้นตันกำหนด เป็นเหตุให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีของผู้กล่าวหา เป็นการกระทำที่ทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ โดยการจงใจละเว้นหน้าที่ที่ควรกระทำอันเกี่ยวแก่การดำเนินคดีแห่งลูกความของตน
(คำสั่งสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความที่ 4/2540)
------------------------
หรือผู้ถูกกล่าวหาถอนคำร้องทุกข์ โดยไม่มีหลักประกันอันสมควรเป็นการดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมายที่ทนายความพึงปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ลูกความ เป็นความผิดตามข้อนี้
(คำสั่งสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความที่ 8/2540)
----------------------
การปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ มักจะเกิดในกรณีที่ทนายความดำเนินกระบวนพิจารณาผิดพลาดแล้วไม่กล้าแจ้งข้อผิดพลาดให้ลูกความทราบ ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างความเสียหายแก่ลูกความมากขึ้นไปอีก หลักการของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความต้องดำรงตนอยู่ในสัตย์สุจริตอย่างยิ่ง (Utmost Good Faith) ซึ่งหมายความว่า ทนายความต้องเปิดเผยความจริงต่อลูกความของตน แม้ว่าลูกความของตนจะไม่ซักถามถึงความจริงในข้อดังกล่าว หรือทนายความต้องไม่แถลงข้อความอันเป็นเท็จ ความสุจริตของทนายความในข้อนี้ต้องเป็นความสุจริตอย่างยิ่งสูงกว่าบุคคลทั่วไป ทนายความบางคนเห็นแก่ประโยชน์อื่นที่ตนจะได้รับ จึงปิดบังข้อความที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ เช่น ทนายความแนะนำให้ลูกความของตนไปซื้อสิทธิในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านจากผู้ที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านจากเจ้าของโครงการ ซึ่งทนายความทราบดีว่า เจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าว ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เนื่องจากเคยเป็นทนายความในคดีล้มละลายให้แก่เจ้าของโครงการดังกล่าว ทนายความเป็นผู้ร่างหนังสือสัญญาซื้อขายสิทธิดังกล่าว โดยปิดบังเรื่องล้มละลายไว้ เพราะหวังให้สัญญาซื้อขายดังกล่าวสำเร็จเนื่องจากทนายความจะได้รับค่านายหน้าจากการแนะนำผู้มาซื้อสิทธิดังกล่าวจากผู้ขายสิทธิ การกระทำของทนายความดังกล่าวเป็นความผิดข้อนี้ หรือสัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาที่ผู้ว่าจ้างประสงค์จะได้รับความสำเร็จจากงาน โดยอาศัยความสามารถของผู้ถูกกล่าวหาเป็นสำคัญ แต่ผู้ถูกกล่าวหากลับมอบหมายให้ทนายความในสำนักงานไปดำเนินการแทนจนเป็นผลเสียหายแก่ผู้ว่าจ้างโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ว่าจ้าง จึงเป็นการกระทำที่เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความตนและปิดบังข้อความจริงที่ควรแจ้งให้ลูกความทราบ
(คำสั่งสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความที่ 3/2540)
------------------------
การกระทำของทนายความดังกล่าว ต้องมีองค์ประกอบสำคัญคือ การกระทำดังกล่าวอาจทำให้เสื่อมเสียประโยชน์ของลูกความ ข้อบังคับนี้ใช้ดำว่า "อาจ" ดังนั้นลูกความไม่จำต้องได้รับความเสียหายอย่างแท้จริงก็เป็นความผิดแล้ว
-----------------------
ทนายความที่ถูกกล่าวหาว่าประพฤติผิดในข้อนี้มักจะอ้างเหตุว่า หลงลืม หรือจดวันนัดผิดพลาด หรือสมุดนัดความหาย หรือเสมียนทนายความแจ้งวันนัดผิดพลาด ซึ่งข้อแก้ตัวดังกล่าวฟังไม่ขึ้น เนื่องจากทนายความเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ความชำนาญในวิชาชีพเป็นพิเศษยิ่งกว่าอาชีพอื่น จึงต้องปฏิบัติงานอย่างละเอียดรอบคอบเอาใจใส่ในหน้าที่ของตนเองยิ่งกว่าผู้ประกอบอาชีพอื่นดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว

คำสั่งสภานายกพิเศษ

แสดงความคิดเห็น

บันทึกส่วนตัว

Visitor Statistics
» 1 Online
» 3 Today
» 0 Yesterday
» 3 Week
» 8 Month
» 204 Year
» 1352 Total
Record: 163 (03.11.2023)
Free PHP counter