ข้อบังคับสภาทนายความ
ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. ๒๕๒๙

หมวด ๓

มรรยาทต่อตัวความ

 

     ข้อ ๑๑  เปิดเผยความลับของลูกความที่ได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความนั้นแล้ว หรือโดยอำนาจศาล

คำอธิบาย

การทำหน้าที่ทนายความ จำเป็นต้องได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมดซึ่งเป็นความลับของลูกความด้วย เพื่อใช้เป็นประโยชน์ในการต่อสู้คดีของลูกความ ทนายความจึงเป็นผู้มีเอกสิทธิ์ในการที่จะรับทราบความลับของลูกความ การที่ทนายความมีเอกสิทธิ์ในการรับทราบความลับของลูกความนี้ ทำให้ทนายความมีหน้าที่สำคัญในการที่จะรักษาความลับของลูกความมากกว่าบุคคลธรรมดา ความลับของลูกความหากถูกเปิดเผยให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือหลายคนทราบความลับดังกล่าวแล้ว ย่อมมีผลร้ายต่อลูกความ การที่ลูกความต้องเปิดเผยความลับให้ทนายความทราบ เพื่อให้ทนายความใด้ใช้ข้อเท็จจริงอันเก็บรักษาไว้เป็นความลับนั้นใช้ในการต่อสู้คดี หรือเพื่อให้ทนายความรู้สถานะที่แท้จริงของลูกความ จะได้ไม่หลงทางในการต่อสู้คดี
-----------------------
จุดประสงค์ในการกำหนดข้อบังคับนี้ เพื่อให้ลูกความมีความเชื่อมั่นในทนายความ ยอมเปิดเผยความลับให้ทนายความทราบ ทำให้การทำงานของทนายความสะดวกขึ้น สามารถกำหนดแนวทางการต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง ความลับนี้แม้ลูกความไม่ได้เป็นผู้เปิดเผยแก่ทนายความเอง แต่ถ้าทนายความได้ทราบความลับนี้จากการทำหน้าที่เป็นทนายความให้แก่ลูกความของตนแล้ว ทนายความย่อมมีหน้าที่จะต้องรักษาความลับดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทนายความต้องไม่นำความลับของลูกความไปพูด หรือตอบคำถามใดๆ อันเป็นการเปิดเผยความลับดังกล่าว ไม่ว่าในข้อเท็จจริงนั้นจะเป็นความลับหรือไม่ก็ตาม
-----------------------
ทนายความจะเปิดเผยความลับของลูกความที่ตนรู้มาในหน้าที่ของทนายความได้ต่อเมื่อลูกความอนุญาตให้เปิดเผยความลับดังกล่าว หรือโดยอำนาจศาล เช่น ทนายความให้ตัวความเขียนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ลูกความยอมรับว่าได้กระทำความผิดตามคำฟ้องจริง ต่อมาทนายความและตัวความมีปัญหาขัดแย้งกันในเรื่องค่าทนายความลูกความจึงยื่นคำร้องขอถอนตัวทนายความออกจากการเป็นทนายความ หลังจากนั้นคู่ความฝ่ายตรงกันข้ามได้ขอให้ศาลหมายเรียกทนายความดังกล่าวมาเป็นพยานในคดีที่พิพาทกันทนายความเบิกความยืนยันว่าลูกความได้สารภาพกับตนว่า ได้กระทำความผิดตามคำฟ้องจริงพร้อมกับส่งหนังสือเล่าข้อเท็จจริงของลูกความเป็นพยานในคดีดังกล่าว ถือได้ว่าทนายความได้ประพฤติผิดมรรยาททนายความในข้อนี้แล้ว
-----------------------
ในปี พ.ศ. 2459 ซึ่งใช้พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2457 ได้เคยมีคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา เป็นคำพิพากษาฎีกาที่ 789/2459 ศาลฎีกาพิพากษาว่า
"ว. ทนายความ ปลอมเอกสารให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำคนมาร้องขัดทรัพย์ต่อมา ว. บอกความข้อนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ฐานปลอมเอกสาร ว. เป็นพยานให้เจ้าหนี้ ดังนี้เป็นกรณีที่ ว. ประพฤติตนไม่อยู่ในสัตย์สุจริตจนทำให้ราษฎรได้รับความเสียหาย ผิดมรรยาททนายความ ศาลให้ลบชื่อเรียกใบอนุญาตเป็นทนายความคืน ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2457 มาตรา 9 (4)"
-----------------------
ในทางปฏิบัติหากทนายความถูกศาลหมายเรียกไปเป็นพยานที่ต้องเบิกความให้การเปิดเผยความลับของลูกความแล้ว ทนายความ ต้องแถลงกับศาลว่า ทนายความขอใช้เอกสิทธิ์ที่จะไม่เบิกความเปิดเผยความลับของลูกความที่ตนได้รู้มาจากการทำหน้าที่ทนายความให้แก่ลูกความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 92 (2) หรือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 231 (2) หากศาลยืนยันใช้อำนาจบังคับให้ทนายความเบิกความในข้อเท็จจริงดังกล่าว ทนายความต้องขอให้ศาลบันทึกคำแถลงเกี่ยวกับเอกสิทธิ์ของทนายความในการรักษาความลับของลูกความไว้ในถ้อยคำสำนวนด้วยทนายความจึงจะเบิกความเปิดเผยความลับดังกล่าวได้
-----------------------
มีปัญหาที่น่าคิดในกรณีหากมีความขัดแย้งเกิดขึ้น ระหว่างการรักษาความลับของลูกความ กับการปกปิดซ่อนงำอำพรางพยานหลักฐานซึ่งเป็นความผิดตามข้อบังคับ ข้อ 8 หรือจริยธรรมของทนายความ ในฐานะที่ทนายความเป็นเครื่องมือในกระบวนการยุติธรรมในข้อที่ต้องใช้กฎหมายให้เป็นไปโดยยุติธรรม เช่น ลูกความเป็นจำเลยในคดีอาญา ข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา ทนายความได้ทราบความลับนี้จากลูกความของตน และทราบว่ามีพยานหลักฐานที่จะยืนยันความผิดของลูกความของตน หากทนายความเปิดเผยความลับนี้ ก็จะมีความผิดตามข้อบังคับนี้ หากทนายความไม่เปิดเผยความลับนี้ อาจมีความผิดปกปิดช่อนงำอำพรางพยานหลักฐานซึ่งควรนำมายื่นต่อศาลตามข้อบังคับ ข้อ 8 หรือเป็นการประพฤติผิดจริยธรรมทนายความ เห็นว่าทนายความต้องยึดถือเอกสิทธิ์ในการไม่เปิดเผยความลับของลูกความอย่างเคร่งครัด หากทนายความเห็นว่าถ้าตนยังทำหน้าที่เป็นทนายความในคดีต่อไป จะมีปัญหาในเรื่องจริยธรรมทนายความ ก็ควรยื่นคำร้องขอถอนตัวเองจากการเป็นทนายความในคดีนั้นเสีย
-----------------------
เคยมีคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความแก้ต่างให้ผู้กล่าวหาทั้งสอง ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญา ทั้งยังเป็นทนายความให้ผู้กล่าวหาทั้งสองเป็นโจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ทราบความเป็นไปและข้อเท็จจริงในคดีจากผู้กล่าวหาทั้งสอง การที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความให้แก่บุคคลอื่น เพื่อยื่นฟ้องผู้กล่าวหาทั้งสองแม้จะเป็นคดีแพ่งก็ตาม แต่ก็ต้องอาศัยความรู้ที่ได้จากมูลคดีและข้อเท็จจริงเดียวกับคดีอาญาที่ผู้ถูกกล่าวหารับเป็นทนายความให้กับผู้กล่าวหาทั้งสอง โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกกล่าวหาทราบว่า ผู้กล่าวหาทั้งสองไม่ใช่เจ้าของไม้ของกลางที่ถูกยึด นับว่าเป็นประเด็นสำคัญแห่งคดี จึงถือได้ว่าเป็นความลับที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รู้มาในหน้าที่ แล้วนำมาเปิดเผยโดยการแนะนำให้ผู้อื่นฟ้องลูกความเดิม ทั้งยังเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับลูกความเดิม อันเป็นความผิดตามข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ หมวด 3 ข้อ 11 และ ข้อ 13 ซึ่งข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความนั้น มุ่งคุ้มครองลูกความ และควบคุมจริยธรรมของทนายความให้เป็นผู้เชื่อถือไว้วางใจได้ และเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของลูกความ ที่จะเปิดเผยข้อมูลความจริงทุกเรื่องให้กับทนายความ โดยหวังว่าทนายความจะได้ช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อนให้ โดยมิต้องหวาดระแวงว่าทนายความจะนำสิ่งที่ลูกความแจ้งให้ทราบไปเปิดเผยให้เกิดความเสียหายแก่ลูกความ ดังนั้น คำว่า "ความลับของลูกความ" จึงหมายความรวมถึง ข้อเท็จจริงทุกเรื่องที่ลูกความได้แจ้งให้ทนายความทราบ โดยความไว้วางใจว่าเป็นทนายความ ซึ่งหากเปิดเผยออกไปจะทำให้ลูกความได้รับความเสียหาย ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือยุติธรรมต่อสังคม ดังที่ผู้ถูกกล่าวหายกขึ้นอ้าง (คำสั่งสภานายกพิเศษแห่งสภาทนายความที่ 5/2539)

คำสั่งสภานายกพิเศษ

แสดงความคิดเห็น

บันทึกส่วนตัว

Visitor Statistics
» 1 Online
» 3 Today
» 0 Yesterday
» 3 Week
» 8 Month
» 204 Year
» 1352 Total
Record: 163 (03.11.2023)
Free PHP counter