คลังข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 73)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 73 ปีการศึกษา 2563
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 11 ตุลาคม 2563

คำถาม 10 ข้อ ให้เวลาตอบ 4 ชั่วโมง (14.00 น. ถึง 18.00 น.) ให้ยกเหตุผลประกอบคำตอบด้วย

 


ข้อ 2.  คุณยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ

ธงคำตอบ

คุณยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ

คำอธิบาย

...

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2255/2522
คำพิพากษาย่อสั้น
บรรยายฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาจะให้รถยนต์ที่ผู้ตายขับชนกับรถโดยสารประจำทางซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นอยู่แล้วว่า เมื่อรถโดยสารแล่นสวนทางมาในระยะใกล้ หากจำเลยได้หยุดและหักรถหลบเข้ามาทางซ้าย ผู้ตายต้องหลบมาทางขวา จะชนกับรถโดยสารในทันที ผู้ตายและผู้โดยสารต้องถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส และรถทั้งสองชนกันมีคนตายและบาดเจ็บสาหัสดังเจตนาของจำเลย หรือมิฉะนั้นก็ขับรถด้วยความประมาทแสดงว่าฟ้องมีความประสงค์ให้ลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง หาใช่ขอให้ลงโทษทั้งสองอย่างไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และจำเลยเข้าใจฟ้องได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1547/2511)
จำเลยขับรถปิดเส้นทางไม่ยอมให้ผู้ตายซึ่งขับรถตามหลังมาแซงขึ้นหน้า เมื่อรถโดยสารประจำทางแล่นสวนทางมา จำเลยก็แกล้งเบรคให้รถหยุดในทันที การกระทำเช่นนี้จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าผู้ตายต้องหักรถหลบไปทางขวาและชนกับรถโดยสารนั้น ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำของจำเลยได้ว่าจะมีผู้ได้รับอันตรายบาดเจ็บและตายเกิดขึ้นจากเหตุที่รถชนกันนั้น ฉะนั้นเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยผลแห่งการกระทำของจำเลยดังกล่าว จงได้ชื่อว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีเจตนาให้รถยนต์ที่ผู้ตายขับชนกับรถยนต์ประจำทาง ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นอยู่แล้วว่าต้องมีคนตายและบาดเจ็บสาหัส หรือมิฉะนั้นก็ขับรถด้วยความประมาทเป็นเหตุให้มีคนตายและบาดเจ็บ เกิดเหตุแล้วจำเลยไม่กระทำการช่วยเหลือตามสมควร และแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทันที ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 291, 300, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 29, 30, 66, 68 พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2508 มาตรา 7 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 59 พ.ศ.2515 ข้อ 6, 11, 13 ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 จำคุก 20 ปี ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 30, 68 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที 59 ข้อ 6, 3 จำเลย 1 ปี เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมเป็นโทษจำคุก 21 ปี ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าฟ้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิด ว่าจำเลยมีเจตนาจะให้รถยนต์ที่นายจำนงค์ขับชนกับรถโดยสารประจำทางซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นแล้วว่าเมื่อรถโดยสารประจำทางแล่นสวนทางมาในระยะใกล้ หากจำเลยได้หยุดและหักรถหลบเข้ามาทางซ้าย นายจำนงค์ ต้องหลบมาทางขวา จะชนกับรถโดยสารประจำทางในทันที นายจำนงค์และผู้โดยสารต้องถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส และรถยนต์ที่นายจำนงค์ขับก็ได้ชนกับรถประจำทาง มีคนตายและบาดเจ็บสาหัสสมดังเจตนาของจำเลย หรือมิฉะนั้นก็ขับชนด้วยความประมาท แสดงว่าฟ้องมีความประสงค์จะให้ลงโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือมิฉะนั้นก็ขอให้ลงโทษฐานทำให้คนตายโดยประมาท อย่างใดอย่างหนึ่ง หาใช่ขอให้ลงโทษทั้งสองอย่างไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) และจำเลยเข้าใจฟ้องได้ดี ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ที่จำเลยขับรถปิดเส้นทางไม่ยอมให้ผู้ตายซึ่งขับรถตามหลังมาแซงขึ้นหน้า และเมื่อจำเลยเห็นรถยนต์โดยสารประจำทางแล่นสวนทาง จำเลยก็แกล้งเบรคให้รถหยุดในทันที การที่จำเลยกระทำเช่นนี้ จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าสู้ตายต้องหักรถหลบไปทางขวาและชนกับรถโดยสารประจำทางนั้น ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำของจำเลยได้ว่าจะมีผู้ได้รับอันตรายบาดเจ็บและตายเกิดขึ้นจากเหตุที่รถยนต์ชนกันนั้น ฉะนั้นเมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยผลแห่งการกระทำของจำเลยดังกล่าว จึงได้ชื่อว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ปรากฏว่าได้มีพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ออกใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2522 เป็นต้นมา ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกที่ออกใช้ใหม่นี้ ได้บัญญัติถึงความผิดฐานเมื่อเกิดเหตุแล้วไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรและแจ้ง เหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ในมาตรา 78 และ 160 ซึ่งในกรณีที่เป็นเหตุให้ผู้ได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย ผู้ไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนและปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเป็นคุณยิ่งกว่าโทษพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 477 มาตรา 30, 68 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกิดหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 98, 160 จำคุก 2 เดือน เมื่อรวมกับโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 อีกกระทงหนึ่ง คงจำคุกจำเลย รวม 20 ปี 2 เดือน นอกจากที่แก้นี้แล้วคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ผู้พิพากษา
พยนต์ ยาวะประภาษ
ผสม จิตรชุ่ม
สุทิน เลิศวิรุฬห์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1547/2511
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 24/2511)
คำพิพากษาย่อสั้น
ฟ้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่าจำเลยได้กระทำผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือมิฉะนั้นก็กระทำผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทโดยชัดแจ้ง แสดงว่าฟ้องมีความประสงค์จะให้ลงโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือมิฉะนั้นก็ขอให้ลงโทษฐานทำให้คนตายโดยประมาท ประกอบกับฟ้องได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยกระทำเป็นท้องเรื่องมาครบถ้วนชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่เคลือบคลุม ไม่ขัดแย้งกัน หรือเอาเปรียบจำเลย จำเลยเข้าใจฟ้องได้ดี เมื่อจำเลยรับสารภาพฐานทำให้คนตายโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ก็ลงโทษจำเลยได้ (อ้างฎีกาที่ 1780/2497 และฎีกาที่ 86/2503) (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 24/2511)
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า (ก) จำเลยบังอาจยิงปืนโดยใช่เหตุในเมืองและในหมู่บ้านอันเป็นชุมนุนชน (ข) จำเลยบังอาจใช้อาวุธปืนขู่เข็ญบังคับผู้เสียหายและผู้ตายให้นั่งอยู่กับที่ทำให้บุคคลเหล่านั้นตกใจกลัวต้องกระทำตามที่ถูกบังคับขู่เข็ญ และ (ค) ในระหว่างที่จำเลยขู่เข็ญบังคับผู้เสียหายและผู้ตายอยู่นั้น ผู้ตายได้ลุกขึ้นจากเก้าอี้ที่นั่ง จำเลยได้บังอาจใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตายโดยเจตนาจะฆ่าหรือมิฉะนั้นการที่จำเลยใช้อาวุธปืนบังคับขู่เข็ญผู้ตายกับพวกโดยมิได้มีเจตนาจะฆ่า แต่จำเลยได้จ้องเล็งอาวุธปืนนั้นโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังเป็นเหตุให้อาวุธปืนลั่นออกไปถูกผู้ตายตายขอให้ลงโทษตามมาตรา 376, 392, 288, 291, 33
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องข้อ (ก) (ข) แต่ข้อ (ค) รับสารภาพว่ากระทำโดยประมาท ปฏิเสธในข้อหาฐานใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยเจตนา
คู่ความไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 376, 392 ให้ปรับ 200 บาท 300 บาทตามลำดับ จำเลยให้การสารภาพลดโทษให้ตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงปรับ 250 บาท ให้ยกฟ้องข้อหาฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือทำให้คนตายโดยประมาทเพราะฟ้องขัดกันอย่างชัดแจ้งและเคลือบคลุม
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลาย ที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือมิฉะนั้นก็กระทำผิดฐานทำให้คนตายโดยประมาทโดยชัดแจ้ง แสดงว่าฟ้องมีความประสงค์จะให้ลงโทษฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือมิฉะนั้นก็ขอให้ลงโทษฐานทำให้คนตายโดยประมาท ประกอบกับฟ้องได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงที่อ้างว่าจำเลยกระทำเป็นท้องเรื่องมาครบถ้วนชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) แล้ว ตามคำพิพากษาฎีกาซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ที่ 86/2503 ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เคลือบคลุมไม่ขัดแย้งกัน หรือเอาเปรียบจำเลย จำเลยเข้าใจฟ้องได้ดี จึงให้การรับสารภาพว่า ทำให้คนตายโดยประมาทดังฟ้อง พิจารณาเฉพาะที่โจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงที่มีความประสงค์จะให้ลงโทษฐานทำให้คนตายโดยประมาท ก็เป็นฟ้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 อันสมบูรณ์ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 1780/2497 เมื่อจำเลยรับสารภาพเกี่ยวกับความผิดฐานนี้ ก็ลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 อีกกระทงหนึ่ง ให้จำคุก 8 ปี ลดโทษตามมาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลล่าง

ผู้พิพากษา
สุธี โรจนธรรม
ไฉน บุญยก
วินัย ทองลงยา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1780/2511
คำพิพากษาย่อสั้น
เมื่อพฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่า สำหรับเหตุการณ์ตอนหลังจำเลยถือเหล็กขูดชาร์ฟสามเหลี่ยมปลายแหลมวิ่งไล่แทงนายถึง ถูกบริเวณก้นกบ 1 ที ครั้นนายอุทัยไปถึงจำเลย จำเลยก็หันมาแทงนายอุทัย 1 ที ถูกที่โคนขาซ้าย แล้วจำเลยก็วิ่งหนีไป ส่วนนายอุทัยวิ่งไปได้ 3-4 ก้าวก็ล้มและไปตายที่โรงพยาบาลปราจีนบุรีเพราะโลหิตออกมาก ต้องถือว่าการกระทำของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับนายถึงเป็นการทำร้ายร่างกายถึงบาดเจ็บ และในส่วนที่เกี่ยวกับนายอุทัยแม้เหล็กขูดชาร์ฟจะใช้เป็นอาวุธร้ายได้จำเลยก็ได้แทงนายอุทัยผู้ตายส่งๆ ไปทีเดียวโดยไม่มีโอกาสได้เลือกแทงตรงไหน เผอิญไปถูกเส้นโลหิตใหญ่ที่ไปเลี้ยงส่วนขาโลหิตออกมากจึงถึงตาย เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะทำร้ายนายอุทัยให้ถึงตาย จำเลยคงมีผิดเพียงฐานฆ่าคนโดยไม่เจตนาเท่านั้น
อนึ่ง รูปคดีหาใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจใช้เหล็กขูดชาร์ฟแทงทำร้ายนายถึง ประทังคำ 1 ปี ถูกที่ด้านหลังต่ำจากเอวเล็กน้อย ทำให้เป็นอันตรายแก่กาย และแทงทำร้ายนายอุทัย ประทังคำ ถูกที่บริเวณโคนขาซ้าย 1 ที โดยมีเจตนาฆ่า ทำให้นายอุทัยบาดเจ็บถึงตายในวันเกิดเหตุนั้นเองขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 288 และริบเหล็กขูดชาร์ฟของกลาง
จำเลยให้การว่า กระทำไปเพื่อป้องกันตัว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดเพราะถูกฝ่ายพวกผู้ตายทำร้าย และกระทำลงในเวลาใกล้ชิด เพราะเหตุบันดาลโทสะ จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 288 ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 288 ซึ่งเป็นกระทงหนักตามมาตรา 91 ประกอบด้วยมาตรา 72 จำคุก 8 ปี ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุหรือหากจะฟังว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุหรือบันดาลโทสะ ก็ขอให้ปล่อยจำเลยไป หรือลงโทษน้อยกว่า 8 ปีตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษ
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุไม่ใช่เรื่องกระทำผิดเพราะบันดาลโทสะ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์เหล็กขูดชาร์ฟของกลาง ให้คืนเจ้าของเพราะฟังไม่ชัดว่าเป็นของจำเลย
โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการป้องกัน หากแต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาทำร้ายร่างกายนายถึง ประทังคำ และฆ่านายอุทัยทั้งให้ริบเหล็กขูดชาร์ฟของกลางซึ่งจำเลยใช้กระทำความผิด
ศาลฎีกาพิเคราะห์เห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดี การกระทำของจำเลยหาใช่กระทำเพื่อป้องกันไม่ กล่าวคือ สำหรับเหตุการณ์ตอนหลังจำเลยถือเหล็กขูดชาร์ฟสามเหลี่ยมปลายแหลมวิ่งไล่แทงสามีนางหอม ซึ่งได้แก่นายถึงผู้เสียหาย จำเลยไล่ไปทันนายถึงเอาเหล็กแหลมแทงถูกบริเวณก้นกบ 1 ที พอนายอุทัยไปถึงจำเลย จำเลยก็หันมาแทงนายอุทัย 1 ที ถูกที่โคนขาซ้าย แล้วจำเลยก็วิ่งหนีไปทางเหนือ ส่วนนายอุทัยวิ่งไปทางใต้ 3-4 ก้าวก็ล้ม นายถึงจึงเข้าไปดูนายอุทัย นางหอมเข้าไปดูด้วย และช่วยส่งโรงพยาบาลปราจีนบุรี ในที่สุดนายอุทัยตายที่โรงพยาบาลนั้นเอง
การกระทำของจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับนายถึงเป็นการทำร้ายร่างกายถึงบาดเจ็บ และในส่วนที่เกี่ยวกับนายอุทัย แม้เหล็กขูดชาร์ฟจะใช้เป็นอาวุธร้ายได้ จำเลยก็แทงนายอุทัยผู้ตายเพียงทีเดียว บังเอิญไปถูกเส้นโลหิตใหญ่ที่ไปเลี้ยงส่วนขา โลหิตออกมากจึงถึงตาย ประกอบกับจำเลยไม่มีโอกาสที่จะเลือกแทงที่ตรงไหนได้ จำเลยแทงผู้ตายส่ง ๆไปโดยไม่เจตนาให้ถึงตาย จำเลยคงมีความผิดเพียงฐานฆ่านายอุทัยโดยไม่เจตนาเท่านั้น
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 และมาตรา 290 แต่ให้ลงโทษกระทงหนักตามมาตรา 290 ส่วนกำหนดโทษนั้นให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเหล็กขูดชาร์ฟของกลางริบ

ผู้พิพากษา
แสวง ลัดพลี
ชิต บุณยประภัศร
จินตา บุณยอาคม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 86/2503
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 18/2502)
คำพิพากษาย่อสั้น
ความผิดฐานพยายามฆ่าคนโดยเจตนากับความผิดฐานประมาททำให้คนรับอันตรายแก่กายถึงสาหัสนั้น ลักษณะการกระทำแตกต่างกัน อันถือว่าเป็นสาระสำคัญ กล่าวคือ ในความผิดที่กระทำโดยประมาทโจทก์จะต้องบรรยายฟ้องให้จำเลยทราบว่า การกระทำของจำเลยเป็นประการใดจึงเรียกว่าจำเลยกระทำโดยประมาท จำเลยจะได้ต่อสู้คดีในฐานประมาทได้ด้วย มิฉะนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยพยายามฆ่าโดยเจตนา จะลงโทษฐานประมาททำให้คนรับอันตรายแก่กายถึงสาหัสไม่ได้หากโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยฐานประมาททำให้คนรับอันตรายแก่กายถึงสาหัสด้วย โจทก์ก็ชอบที่จะบรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยเป็นท้องเรื่องมาในฟ้องอันเห็นได้ว่า หากจำเลยไม่เจตนาจำเลยก็ได้กระทำการโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์เช่นนี้ ศาลก็ยังอาจจะลงโทษจำเลยฐานทำอันตรายแก่กายถึงสาหัสโดยประมาทได้เพราะเป็นเรื่องอยู่ในฟ้องแล้ว
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าคน และมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่ได้รับอนุญาต จำเลยได้รับยกเว้นโทษตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 9 ลงโทษไม่ได้ และจำเลยมีผิดฐานพยายามฆ่าคนให้จำคุก 8 ปี ตามมาตรา 288, 80, 78 ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยประมาท ให้จำคุก 2 ปี ตามมาตรา 300 นอกนั้นยืนตาม
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้กระทำให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส โดยประมาท และวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า ความผิดฐานพยายามฆ่าคนโดยเจตนาและความผิดฐานประมาททำให้คนรับอันตรายแก่กายถึงสาหัสนั้น ลักษณะการกระทำแตกต่างกันอันถือว่าเป็นสาระสำคัญกล่าวคือ ในความผิดที่กระทำโดยประมาท โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องให้จำเลยทราบว่า การกระทำของจำเลยเป็นประการใด จึงเรียกได้ว่าจำเลยทำโดยประมาทจำเลยจะได้ต่อสู้คดีในฐานประมาทได้ด้วย หากโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในฐานประมาททำให้คนรับอันตรายแก่กายถึงสาหัสด้วย โจทก์ชอบที่จะบรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยเป็นท้องเรื่องมาในฟ้อง อันจะเห็นได้ว่าหากจำเลยไม่เจตนา จำเลยก็ได้กระทำการโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ เช่นนี้ ศาลก็ยังอาจจะลงโทษจำเลยฐานทำอันตรายแก่กายถึงสาหัสโดยประมาทได้ เพราะเป็นเรื่องอยู่ในฟ้องแล้ว ถ้าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าคนโดยเจตนาลอย ๆ เท่านั้น จะให้ศาลลงโทษจำเลยฐานประมาทหาได้ไม่
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

ผู้พิพากษา
วิชัยนิตินาท
สัญญา ธรรมศักดิ์
การุณย์นราทร

Visitor Statistics
» 2 Online
» 19 Today
» 47 Yesterday
» 252 Week
» 172 Month
» 1937 Year
» 68918 Total
Record: 15081 (20.04.2022)
Free PHP counter