คลังข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 62)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 62 ปีการศึกษา 2552
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 27 กันยายน 2552

คำถาม 10 ข้อ ให้เวลาตอบ 4 ชั่วโมง (14.00 น. ถึง 18.00 น.) ให้ยกเหตุผลประกอบคำตอบด้วย

 


ข้อ 3.  คุณยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ

ธงคำตอบ

คุณยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ

คำอธิบาย

...

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 234/2529
คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยใช้ปืนยิงไปที่พื้นดินหนึ่งนัดในขณะที่ผู้เสียหายกำลังเดินไปหาจำเลยและอยู่ห่างจำเลยประมาณสองวาจำเลยย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำได้ว่ากระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายได้เมื่อกระสุนปืนถูกขาผู้เสียหายบาดเจ็บต้องถือว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายหาใช่เป็นการยิงขู่ไม่การกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เป็นการป้องกันโดยชอบเพราะขณะนั้นผู้เสียหายยังไม่สามารถจะทำร้ายจำเลยได้
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายนายจีระพล ทองเรือง และฐานพยายามฆ่านายสมชาย บัวนาค
จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายนายสมชายส่วนข้อหาอื่นคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2524 เวลาประมาณ 17 นาฬิกา มีการจัดงานเลี้ยงลูกเสือชาวบ้านที่สวนมะพร้าวชายหาด ริมทะเล บริเวณท่าเรือเฟอร์รีหมู่ที่ 2 ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายจีระพล ทองเรือง กับนายสมชาย บัวนาค ผู้เสียหายไปร่วมงานเลี้ยง และนั่งรวมกลุ่มรับประทานอาหาร และดื่มสุราอยู่ด้วยกันกับพรรคพวก 4-5 คน บริเวณงานจุดตะเกียงเจ้าพายุไว้ 2 ดวง ซึ่ง มีแสงสว่างเพียงพอมองเห็นได้ชัดในระยะใกล้เคียง เมื่อจวนจะเลิกงานเวลาประมาณ 23-24 นาฬิกา นายแดง จำเลย เดินมาที่กลุ่มผู้เสียหายแล้วหยิบเอาขวดสุราไป 1 ขวด นายจีระพล ได้ลุกขึ้นเดินตามไปทวงเอาสุราคืน จำเลยไม่ยอมคืน และใช้ขวดสุราตีนายจีระพล 1 ที ถูกที่หางคิ้วซ้ายจนเป็นเหตุให้นายจีระพล ล้มลงนั่ง นายสมชาย ลุกขึ้น และจะตามไปห้ามปราม แต่เดินไปได้ 2-3 ก้าว และ ยังอยู่ห่างประมาณ 2 วา จำเลยก็ชักปืนสั้นออกมายิง 1 นัด กระสุนปืนถูกนายสมชาย ที่หน้าแข้งขาขวาได้ รับบาดเจ็บ ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผล ท้ายฟ้อง
จำเลยนำสืบว่า คืนเกิดเหตุจำเลยไปร่วมงานเลี้ยงลูกเสือชาวบ้านจริง ตอนเลิกงานเวลา 24 นาฬิกา จำเลยลุกขึ้นยืนและหยิบเอาสุราขาวไปด้วย 1 ขวด แล้วเกิดเหตุคดีนี้เพราะนายจีระพลมาแย่งเอาสุราจากจำเลยตอนหลัง จำเลยเดินหนีไป นายสมชาย กับพวก 4-5 คนเดินตรงเข้ามาหาจำเลยโดยนายสมชายถือไม้โตขนาดเท่าแขนพร้อมกับเงื้อไม้เข้ามาด้วย จำเลยถอยหลังและร้องห้ามไม่ให้เข้ามาแต่นายสมชายกับพวกไม่เชื่อ และมีท่าทีจะเข้าทำร้ายจำเลยด้วย จำเลยจึงชักปืนออกมายิงขู่ลงไปที่พื้นดิน 1 นัดแล้ววิ่งหนีกลับบ้าน วันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 12 นาฬิกา จำเลยให้ภริยาไปทำความตกลงกับนายสมชายซึ่งเป็นญาติกันและนายสมชาย ก็ไม่ติดใจจะเอาความแต่อย่างใด
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วชั้นนี้คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า จำเลยใช้ปืนยิง 1 นัด เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายนายสมชาย ผู้เสียหายด้วยหรือไม่ เห็นว่าแม้จำเลยจะใช้ปืนยิง 1 นัด ลงไปที่พื้นดิน แต่ขณะนั้นนายสมชาย ผู้เสียหายก็กำลังเดินเข้าไปหาจำเลย และอยู่ห่างประมาณ 2 วา จำเลยย่อมเล็งเห็นผลแห่งการกระทำได้ว่า กระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายได้ทั้งปรากฏว่ากระสุนปืนได้ถูกนายสมชาย ผู้เสียหายที่หน้าแข้งขาขวาได้รับอันตรายแก่กายถึงบาดเจ็บด้วย ต้องถือว่า จำเลยมีเจตนาทำร้ายนายสมชาย ผู้เสียหายแล้วหาใช่เป็นการยิงขู่ไม่ และการกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นการป้องกันตัว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ด้วย เพราะตอนนั้นนายสมชาย ผู้เสียหายอยู่ห่างจำเลยประมาณ 2 วา ยังไม่ สามารถจะทำร้ายจำเลยได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษา ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานทำร้ายร่างกายนายสมชาย ผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
ผู้พิพากษา
ดำรง สายเชื้อ
อาจ ปัญญาดิลก
ไพจิตร วิเศษโกสิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 1423/2535
คำพิพากษาย่อสั้น
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 8 (1) กำหนดให้ศาลคดีเด็กและเยาวชนมีอำนาจเช่นเดียวกับศาลจังหวัดในคดีอาญาที่มีข้อหาว่า เด็กหรือเยาวชนกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเว้นแต่คดีอาญาที่มีข้อหาว่า เยาวชนซึ่งอายุเกินสิบหกปีบริบูรณ์กระทำความผิดในเหตุฉกรรจ์บางประเภทตามที่ระบุไว้รวมทั้งความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยที่ 5 มีอายุเกินกว่าสิบหกปีบริบูรณ์และกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ แม้จะกระทำความผิดในท้องที่ที่มีศาลคดีเด็กและเยาวชนเปิดดำเนินการแล้วก็ตาม เมื่อเป็นความผิดที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ จำเลยที่ 5 ร่วมกับพวกอีก 4 คน พากันขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารขณะที่พวกจำเลยทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอยู่นั้น จำเลยที่ 5 ยืนโหนบันไดรถบังไม่ให้คนอื่นเห็นการปล้นทรัพย์ที่พวกจำเลยกระทำอยู่เป็นการร่วมกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 5จึงเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานปล้นทรัพย์ การกำหนดโทษและการไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย สำหรับความผิดที่ร่วมกันเป็นตัวการปล้นทรัพย์ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุในลักษณะคดี เมื่อศาลฎีกาพิพากษาลดมาตราส่วนโทษและลดโทษให้จำเลยที่ฎีกา ย่อมมีอำนาจพิพากษาเลยไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าโดยจำเลยที่ 3 มีมีดเป็นอาวุธร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 371, 83 คืนของกลางแก่เจ้าของ ริบมีดปลายแหลม และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง, 83 จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 อีกกระทงหนึ่ง จำเลยที่ 5กระทำผิดเมื่ออายุ 17 ปีเศษ มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีแล้วไม่ลดมาตราส่วนโทษให้ วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 15 ปี จำเลยที่ 3 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานปล้นทรัพย์ จำคุก 15 ปี ฐานพาอาวุธมีดไปในเมืองโดยไม่มีเหตุสมควรปรับ 90 บาท ทางนำสืบของจำเลยทุกคนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ลดโทษให้จำเลยคนละหนึ่งในสามแล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 คนละ 10 ปี จำเลยที่ 3 จำคุก 10 ปีและปรับ 60 บาท คืนนาฬิกาของกลางให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ริบมีดปลายแหลม คำขอนอกจากนี้ให้ยก บังคับค่าปรับจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 มาตรา 8 (1) กำหนดให้ศาลคดีเด็กและเยาวชนมีอำนาจเช่นเดียวกับศาลจังหวัดในคดีอาญาที่มีข้อหาว่า เด็กหรือเยาวชนกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเว้นแต่คดีอาญาที่มีข้อหาว่า เยาวชนซึ่งอายุเกินสิบหกปีบริบูรณ์กระทำความผิดในเหตุฉกรรจ์บางประเภทตามที่ระบุไว้รวมทั้งความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามมาตรา 340 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยที่ 5 มีอายุเกินกว่าสิบหกปีบริบูรณ์และกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์แม้จะกระทำความผิดในท้องที่ที่มีศาลคดีเด็กและเยาวชนเปิดดำเนินการแล้วก็ตาม เมื่อเป็นความผิดที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชนศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
จำเลยที่ 5 ร่วมกับพวกอีก 4 คน พากันขึ้นไปบนรถยนต์โดยสารขณะที่พวกจำเลยทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายอยู่นั้น จำเลยที่ 5 ยืนโหนบันไดรถบังไม่ให้คนอื่นเห็นการปล้นทรัพย์ที่พวกจำเลยกระทำอยู่เป็นการร่วมกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมในความผิดฐานปล้นทรัพย์
การกำหนดโทษและการไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลย สำหรับความผิดที่ร่วมกันเป็นตัวการปล้นทรัพย์ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน และเป็นเหตุในลักษณะคดี เมื่อศาลฎีกาพิพากษาลดมาตราส่วนโทษและลดโทษให้จำเลยที่ฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาเลยไปถึงจำเลยที่มิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยทั้งห้าคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ให้จำคุกคนละ 8 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยทั้งห้าเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78 ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 5 ปี 4 เดือนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ผู้พิพากษา
เพ็ง เพ็งนิติ
เจริญ นิลเอสงฆ์
บุญธรรม อยู่พุก

Visitor Statistics
» 1 Online
» 12 Today
» 106 Yesterday
» 362 Week
» 890 Month
» 2655 Year
» 69636 Total
Record: 15081 (20.04.2022)
Free PHP counter