คลังข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 57)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 57 ปีการศึกษา 2547
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 3 ตุลาคม 2547

คำถาม 10 ข้อ ให้เวลาตอบ 4 ชั่วโมง (14.00 น. ถึง 18.00 น.) ให้ยกเหตุผลประกอบคำตอบด้วย

 


ข้อ 4.  คุณยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ

ธงคำตอบ

คุณยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ

คำอธิบาย

...

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 769/2540
จำเลยเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงิน รวมทั้งลายมือชื่อ ส.ผู้ให้สัญญาด้วยตนเองเมื่อปี 2536 ภายหลังที่ ส.ถึงแก่ความตายไปแล้วในปี 2533 และลงวันที่ย้อนหลังไปว่าได้ทำสัญญาดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2531 ทำให้เห็นว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นระหว่าง ส.กับจำเลยในขณะที่ ส.ยังมีชีวิตอยู่ และใจความของสัญญาดังกล่าวที่ว่า ส.กู้ยืมเงินจำเลย 100,000 บาท ถ้า ส.ไม่คืนเงินจำนวนดังกล่าว ส.ยอมโอนที่ดินสวนยางพารา เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งานแก่จำเลยนั้น นอกจากไม่เป็นความจริงแล้ว ยังน่าจะเกิดความเสียหายแก่ทายาทของ ส.อีกด้วย และเหตุที่จำเลยทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเพื่อจะใช้อ้างกับ ด.ว่าที่ดินของ ส.เป็นของจำเลย และจะได้เรียกร้องค่าเสียหายต่อไป ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าการที่จำเลยกระทำดังกล่าวเพื่อให้ ด.หลงเชื่อว่าเอกสารสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิตาม ป.อ.มาตรา 265
ข้อความที่ว่า "โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" ตาม ป.อ.มาตรา 264 นั้น ไม่ใช่การกระทำโดยแท้ และไม่ใช่เจตนาพิเศษ จึงไม่เกี่ยวกับเจตนา แต่เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายได้ แม้จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริงก็เป็นองค์ประกอบความผิดที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลยส่วนคำว่าผู้หนึ่งผู้ใดในข้อความที่ว่า "ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง" นั้น แสดงว่านอกจากเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้วยังต้องมีเจตนาพิเศษในการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงด้วย โดยมิได้เจาะจงผู้ที่ถูกกระทำให้หลงเชื่อไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องเป็นผู้ใด ดังนั้น การที่จำเลยเจตนากระทำเอกสารปลอมขึ้นเพื่อให้ ด.หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงก็เป็นความผิดแล้ว แม้จำเลยยังมิได้นำเอกสารดังกล่าวไปใช้แสดงต่อ ด.ก็ตาม ทั้งบุคคลที่จะถูกทำให้หลงเชื่อนี้กฎหมายมิได้กำหนดว่าจำต้องเกี่ยวโยงเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับบุคคลที่น่าจะเกิดความเสียหายเพราะการกระทำของจำเลย คือทายาทของ ส. แต่อย่างใด แต่อาจเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 265 แล้ว กรณีไม่จำต้องปรับบทด้วย ป.อ. มาตรา 264 อีก
ผู้พิพากษา
ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
ทวีชัย เจริญบัณฑิต
พิชัย เตโชพิทยากูล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 2022/2531
จำเลยเป็นลูกจ้างของห้างโจทก์เมื่อรับเช็คที่บุคคลภายนอกจ่ายให้โจทก์ จำเลยต้องนำไปมอบให้หุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ แต่จำเลยกลับนำเช็คนั้นไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารโดยจำเลยลงลายมือชื่อของจำเลยและประทับตราสำคัญของห้างโจทก์ ดังนี้แม้จะเป็นการลงลายมือชื่อของจำเลยเอง แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อลวงให้ธนาคารหลงเชื่อว่าเป็นการลงลายมือชื่อโดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ.

คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265,334, 335
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องข้อหาปลอมเอกสารตามมาตรา 264,265 ด้วย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ประมูลการจ้างเหมาก่อสร้างสะพานจากกรมชลประทานได้แล้ว นำไปจ้างผู้อื่นรับเหมาช่วงจำเลยเป็นเพียงลูกจ้างโจทก์ มีหน้าที่ติดต่อและลงนามในสัญญากับหน่วยราชการและเอกชนที่โจทก์รับเหมาก่อสร้างเท่านั้น จำเลยรับเงินค่าก่อสร้างจากกรมชลประทานมาแล้ว 3 งวดรวมเป็นเงินประมาณ 5,000,000 บาทก็ได้นำมาให้นางแตงกวาซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ทุกงวด ซึ่งการรับเงินดังกล่าวกรมชลประทานได้สั่งจ่ายเงินเป็นเช็คของธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นดังที่สั่งจ่ายเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 4 ตามเช็คเอกสารหมาย จ.2 ฉะนั้นแม้จำเลยจะมีอำนาจรับเงินหรือเช็คจากกรมชลประทานแทนโจทก์ได้ดังกล่าวแต่จำเลยก็ไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อจำเลยในเช็คตามเอกสารหมาย จ.2 ได้ จำเลยต้องนำเช็คดังกล่าวมาให้นางแตงกวาซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการลงชื่อและประทับตราห้างโจทก์เพื่อนำไปเบิกเงินจากธนาคารผู้จ่ายดังเช่นที่ได้ปฏิบัติมาใน 3 งวดแรก การที่จำเลยไม่นำเช็คดังกล่าวมามอบให้นางแตงกวาแต่กลับนำไปลงลายมือชื่อจำเลยสองชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ไว้ด้านหลังเช็คแล้วนำไปเข้าบัญชีของนายงามนั้นเป็นการทุจริต แม้จำเลยจะลงลายมือชื่อของจำเลยเองแล้วประทับตราของห้างโจทก์ แต่ก็เป็นการกระทำเพื่อลวงให้ผู้อื่น คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาอโศกดินแดง และธนาคารแห่งประเทศไทยหลงเชื่อว่าเป็นการลงชื่อสลักหลังเช็คโดยผู้มีอำนาจทำแทนห้างโจทก์ ทั้งจำเลยมิได้เป็นผู้แทนหรือตัวแทนของห้างโจทก์ไม่มีอำนาจลงชื่อเช่นนี้จนมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คนี้ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265.
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265
ผู้พิพากษา
ประชา บุญวนิช
ดุสิต วราโห
คำนึง อุไรรัตน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 4073/2545
จำเลยที่ 1 ถ่ายสำเนารายการจดทะเบียนรถจากฉบับที่แท้จริงซึ่งเป็นเอกสารราชการ แล้วแก้ไขรายการในช่องผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าสำเนาดังกล่าวมีข้อความตรงกับต้นฉบับ และน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แก้ไขรายการจดทะเบียนรถในเอกสารที่แท้จริง แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 แล้ว
การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกได้ร่วมกันปลอมสำเนารายการจดทะเบียนโดยมีเจตนาอย่างเดียวกับการปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์เพื่อให้เจ้าพนักงานเห็นว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ-6302 กรุงเทพมหานคร ได้จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องเพื่อจำเลยกับพวกจะได้ใช้รถยนต์นั้นโดยชอบ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในการปลอมรายการจดทะเบียนจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานปลอมและใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอมซึ่งจะต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265 และโดยที่เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิจารณาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่มิได้อุทธรณ์และฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่กรมการขนส่งทางบกออกให้แก่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียนผ - 7950 สุพรรณบุรี โดยแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเลขทะเบียนรถเป็น 7 พ - 6302 กรุงเทพมหานคร แก้ไขวันสิ้นอายุจากเดิมวันที่ 3 เมษายน 2542 เป็นวันที่ 1 สิงหาคม 2542 อันเป็นการแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารราชการและจำเลยทั้งสี่ร่วมกันปลอมแผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งเป็นเอกสารราชการของกรมการประกันภัย โดยนำแผ่นป้ายซึ่งกรมการประกันภัยออกให้แก่ยานพาหนะอื่น มาแก้ไขหมายเลขทะเบียนรถจากเดิมเป็นหมายเลขทะเบียน 7 พ - 6302 กรุงเทพมหานครอันเป็นการแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารราชการนอกจากนี้จำเลยทั้งสี่ยังร่วมกันปลอมเอกสารราชการสำเนารายการจดทะเบียนรถขึ้นทั้งฉบับแล้วจำเลยทั้งสี่ร่วมกันนำแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์และแผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถซึ่งเป็นเอกสารราชการที่จำเลยทั้งสี่ทำปลอมขึ้นไปติดไว้ที่กระจกด้านหน้ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ผ - 7950 สุพรรณบุรี ซึ่งติดแผ่นป้ายทะเบียน 7 พ - 6302 กรุงเทพมหานคร ของรถคันอื่นแล้วใช้อ้างแสดงต่อร้อยตำรวจโทมนต์ชัย พุ่มพูน กับพวกต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสี่ได้พร้อมยึดแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถและสำเนารายการจดทะเบียนรถยนต์ที่จำเลยทั้งสี่ทำปลอมขึ้นดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264, 265, 268, 91, 83, 33 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 41, 42 และริบของกลาง
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องมาเป็นคดีใหม่
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 91, 83, 33 พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 41, 42 ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ2 ปี รวม 3 กระทง จำคุกคนละ 6 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 3 ปี ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า เรียงกระทงลงโทษฐานปลอมและใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265 จำคุกคนละ 2 ปี ฐานปลอมและใช้แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถปลอม ลงโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 42 วรรคสอง ประกอบมาตรา 41 จำคุกคนละ 2 ปีฐานปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถ ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265จำคุกคนละ 2 ปี ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวมโทษทุกกระทงแล้วจำคุกคนละ 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีคงมีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมายมาสู่ศาลฎีกา ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 สำหรับคดีนี้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า การที่จำเลยที่ 1 ถ่ายสำเนารายการจดทะเบียนรถจากฉบับที่แท้จริงซึ่งเป็นเอกสารราชการแล้วแก้ไขรายการเจ้าของรถในสำเนาเอกสารดังกล่าวในช่องผู้ถือกรรมสิทธิ์จากเดิมเป็นชื่อผู้อื่นเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ได้แยกการกระทำเป็น 2 ประการ คือ การทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดประการหนึ่ง และการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง อีกประการหนึ่งการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดไม่จำต้องกระทำลงในเอกสารที่แท้จริง ต่างไปจากการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ซึ่งต้องกระทำในเอกสารที่แท้จริงเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด จำเลยที่ 1 ถ่ายสำเนารายการจดทะเบียนรถจากฉบับที่แท้จริงซึ่งเป็นเอกสารราชการแล้วจำเลยที่ 1 แก้ไขรายการในช่องผู้ถือกรรมสิทธิ์ เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าสำเนาดังกล่าวมีข้อความตรงกับต้นฉบับ และน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้แก้ไขรายการจดทะเบียนรถในเอกสารที่แท้จริง การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 แล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การปลอมและใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถปลอม และปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถ แม้เอกสารทั้ง 3 รายการ จะเป็นเอกสารคนละประเภทแต่จำเลยมีเจตนาประการเดียวคือเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเป็นเอกสารสำหรับใช้ประกอบกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ - 6302 กรุงเทพมหานคร การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น เห็นว่า สำหรับการปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ตามคำฟ้องของโจทก์นั้นปรากฏชัดเจนว่าเป็นการปลอมขึ้นสำหรับใช้กับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ - 6302 กรุงเทพมหานคร แต่การปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องระบุให้เห็นชัดเจนเช่นในข้อหาอื่นว่าเป็นการทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้รถยนต์คันดังกล่าวหรือต่างคันกันแต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาคำฟ้องโจทก์ทั้งฉบับแล้วก็พอจะแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่าเป็นการปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถหรือสำเนาใบคู่มือจดทะเบียนรถเพื่อใช้กับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ - 6302กรุงเทพมหานคร นั่นเอง ทั้งนี้เพราะการจะใช้รถยนต์คันนี้ได้นอกจากจะต้องติดแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์แล้ว ตามกฎหมายผู้ขับรถหรือควบคุมรถจะต้องมีสำเนาใบคู่มือจดทะเบียนรถด้วยเพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2และที่ 4 ในคดีนี้กับพวกได้ร่วมกันปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาอย่างเดียวกันกับการปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ เพื่อให้เจ้าพนักงานเห็นว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 7 พ - 6302 กรุงเทพมหานคร ได้จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องเพื่อจำเลยดังกล่าวกับพวกจะได้ใช้รถยนต์นั้นโดยชอบการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในการปลอมรายการจดทะเบียนจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานปลอมและใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอมซึ่งจะต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบมาตรา 265และโดยที่เป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาข้อนี้ให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 และที่ 4 ที่มิได้อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 225 ส่วนการปลอมและใช้แผ่นป้ายประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนั้น เห็นได้ว่าก็เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ามีการประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 อันเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกันดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยไว้อย่างละเอียดแล้ว ศาลฎีกาไม่ต้องกล่าวซ้ำอีกข้อนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีความผิดฐานปลอมแผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ ฐานปลอมสำเนารายการจดทะเบียนรถ และฐานใช้แผ่นป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอม ความผิดของจำเลยทั้งสามฐานนี้เป็นกรรมเดียวกันให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 265 จำคุกคนละ 2 ปี ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 1 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วจำคุกคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225

ผู้พิพากษา
ประเสริฐ เขียนนิลศิริ
สุเมธ ตังคจิวางกูร
ชวลิต ยอดเณร
ฎีกาน่าสนใจ

Visitor Statistics
» 1 Online
» 51 Today
» 109 Yesterday
» 315 Week
» 498 Month
» 2263 Year
» 69244 Total
Record: 15081 (20.04.2022)
Free PHP counter