คลังข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 57)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 57 ปีการศึกษา 2547
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 3 ตุลาคม 2547

คำถาม 10 ข้อ ให้เวลาตอบ 4 ชั่วโมง (14.00 น. ถึง 18.00 น.) ให้ยกเหตุผลประกอบคำตอบด้วย

 


ข้อ 3.  คุณยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ

ธงคำตอบ

คุณยังไม่ได้เข้าสู่ระบบ

คำอธิบาย

...

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 3089/2541
การที่ผู้เสียหายที่ 1 ไปท้าทายจำเลยโดยพูดเพียงว่า"มึงออกมาต่อยกับกูตัวต่อตัวถ้าแน่จริง" แม้จำเลยไม่มีหน้าที่ จะต้องหลบหนีก็ตาม แต่หากจำเลยไม่สมัครใจที่จะวิวาท หรือต่อสู้กับผู้เสียหายที่ 1 จำเลยก็ชอบที่จะไม่ตอบโต้ หรือ ออกไปพบผู้เสียหายที่ 1 แต่จำเลยกลับออกไปพบผู้เสียหายที่ 1 โดยพกอาวุธปืนไปด้วย แสดงว่าจำเลยสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับผู้เสียหายที่ 1 และเข้าสู่ภัยโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ แม้ผู้เสียหายที่ 1 จะชักมีดออกมาเพื่อจ้วงแทงจำเลย ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะวิวาทกัน จำเลยไม่มีสิทธิ ใช้ไม้ตีผู้เสียหายทั้งสองและใช้ปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 โดยอ้างเหตุป้องกันตามกฎหมาย ทั้งการที่ผู้เสียหายที่ 1มาเรียกจำเลยให้ออกไปชกต่อยกันตัวต่อตัว ไม่เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 จำเลยใช้ไม้กลมยาวประมาณ 1 ศอก ตีที่ศีรษะ ผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้มีรอยช้ำที่บริเวณท้ายทอยใช้เวลารักษาประมาณ 5 วัน เป็นการใช้อาวุธทำร้ายที่บริเวณอวัยวะสำคัญ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 80, 288, 295, 297 และริบของกลาง
จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 295, 297 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1 และฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี และความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 10 ปี 6 เดือน จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 12 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวในฟ้อง จำเลยได้ใช้ไม้ของกลางตีศีรษะนายวีระชัย หลำวรรณะ ผู้เสียหายที่ 1และนายกิจจา หลำวรรณะ ผู้เสียหายที่ 2 และใช้อาวุธปืนสั้นยิงผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 3 นัด เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับบาดเจ็บ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.4และ จ.5 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสองเป็นพยานเบิกความฟังประกอบกันว่าจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 และพวกเคยมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันมาก่อนและก่อนเกิดเหตุ 1 วัน ผู้เสียหายที่ 1 ได้ไปยืนท้าทายจำเลยให้ออกมาต่อสู้กัน แต่จำเลยไม่ออกมา ในวันเกิดเหตุนายสุทัน ลัดลอยพี่จำเลยมาเรียกผู้เสียหายที่ 1 ให้ออกไปต่อสู้กัน โดยพูดว่า"มึงต้องมาเอากับกูนี่" เมื่อผู้เสียหายที่ 1 เดินตามออกไปถึงหน้าบ้านมารดาจำเลยและพูดกับนายสุทันว่าเรื่องนี้ให้เลิกกันเสียที จำเลยซึ่งอยู่ในบ้านดังกล่าวก็ถือไม้ของกลางวิ่งออกมาตีศีรษะผู้เสียหายที่ 1 จนล้มลงแล้วใช้อาวุธปืนที่พกติดตัวมายิงผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 3 นัด ส่วนจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ในวันเวลาเกิดเหตุ ขณะที่จำเลยยืนอยู่หน้าบ้านจำเลย ผู้เสียหายที่ 1 ได้เดินมาที่หน้าบ้านดังกล่าวและพูดท้าทายจำเลย จำเลยจึงหยิบไม้ของกลางวิ่งออกไปตีศีรษะผู้เสียหายที่ 1 เมื่อผู้เสียหายที่ 2 วิ่งเข้ามาจะทำร้าย จำเลยจึงใช้ไม้นั้นตีศีรษะผู้เสียหายที่ 2 จนล้มลง ผู้เสียหายที่ 2เตะรวบเท้าจำเลยล้มลงบ้าง ผู้เสียหายที่ 1 ชักมีดซึ่งมีลักษณะคล้ายมีดปอกผลไม้ยาวประมาณ 1 คืบ ออกมาจะจ้วงแทงจำเลยจำเลยไม่สามารถหลบหลีกได้จึงใช้อาวุธปืนที่พกติดตัวมายิงผู้เสียหายที่ 1 จำนวน 3 นัด โดยมีนายสุทันเป็นพยานเบิกความสนับสนุน ดังนี้ เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเคยทะเลาะวิวาทกับจำเลยมาก่อน และก่อนเกิดเหตุเพียง 1 วัน ผู้เสียหายที่ 1ก็ได้ไปยืนหน้าบ้านมารดาจำเลยและท้าทายจำเลยให้ออกมาต่อสู้กันครั้งหนึ่งแล้วการที่ผู้เสียหายที่ 1 ไปยังบริเวณที่เกิดเหตุในวันเกิดเหตุอีก เชื่อว่าเป็นการไปท้าทายให้จำเลยออกมาต่อสู้กันตามทางนำสืบของจำเลยมากกว่า มิใช่ตามไปพูดกับนายสุทันเพื่อขอเลิกราต่อกันตามทางนำสืบของโจทก์ การที่ผู้เสียหายที่ 1ไปท้าทายจำเลยโดยพูดเพียงว่า "มึงออกมาต่อยกับกูตัวต่อตัวถ้าแน่จริง" ตามคำเบิกความของนายสุทันพยานจำเลยนั้น แม้จำเลยไม่มีหน้าที่จะต้องหลบหนีก็ตาม แต่หากจำเลยไม่สมัครใจที่จะวิวาทหรือต่อสู้กับผู้เสียหายที่ 1 จำเลยก็ชอบที่จะไม่ตอบโต้หรือออกไปพบผู้เสียหายที่ 1 เพราะคำพูดดังกล่าวไม่ร้ายแรงอะไรแต่จำเลยกลับออกไปพบผู้เสียหายที่ 1 โดยพกอาวุธปืนไปด้วยซึ่งอาวุธปืนดังกล่าวนี้จำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่าในวันเกิดเหตุจำเลยพกอาวุธปืนเนื่องจากทราบว่าผู้เสียหายทั้งสองจะมาทำร้ายจำเลย ซึ่งเป็นการตระเตรียมเพื่อจะวิวาทต่อสู้กับพวกผู้เสียหายที่ 1 มาแต่ต้น พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีลักษณะเป็นการสมัครใจก่อและเข้าสู้ภัยโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ แม้ผู้เสียหายที่ 1จะชักมีดออกมาเพื่อจ้วงแทงจำเลยตามทางนำสืบของจำเลย ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะวิวาทกัน จำเลยไม่มีสิทธิใช้ไม้ของกลางตีผู้เสียหายทั้งสองและใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 โดยอ้างเหตุป้องกันตามกฎหมาย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้นชอบแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะหรือไม่ เห็นว่า การกระทำโดยบันดาลโทสะนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72บัญญัติว่า "ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้" ซึ่งหมายความว่า จำเลยจะอ้างเหตุบันดาลโทสะได้ต่อเมื่อถูกผู้เสียหายทั้งสองข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า ผู้เสียหายที่ 1มาเรียกจำเลยให้ออกไปชกกันตัวต่อตัวโดยไม่มีพฤติการณ์อื่นซึ่งมิใช่เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด และด้วยเหตุเพียงเท่านั้นจำเลยถึงกับใช้ไม่ของกลางทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ก่อนการที่ผู้เสียหายทั้งสองทำร้ายจำเลยบ้างจึงเป็นเหตุที่เกิดในขณะสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ไม่ใช่เป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 หรือไม่เห็นว่าการที่จำเลยใช้ไม้ของกลางซึ่งเป็นไม้กลมยาวประมาณ 1 ศอกตีที่ศีรษะผู้เสียหายที่ 2 เป็นเหตุให้มีรอยช้ำที่บริเวณท้ายทอยต้องใช้เวลารักษาประมาณ 5 วัน ตามรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารหมาย จ.5 นั้น เป็นการใช้อาวุธทำร้ายที่บริเวณอวัยวะสำคัญเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยกล่าวอ้างมาในฎีกาของจำเลยเป็นเรื่องทำร้ายโดยไม่ใช้อาวุธและผู้เสียหายได้รับบาดเจ็ดเพียงเล็กน้อยข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
พิพากษายืน

ผู้พิพากษา
บุรินทร์ โชคเกิด
บุญธรรม อยู่พุก
ไชยวัฒน์ สัตยาประเสริฐ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 4686/2545
ก่อนเกิดเหตุผู้ตายกับครอบครัวจำเลยมีเรื่องทะเลาะกันอย่างรุนแรง ต่อมาผู้ตายได้มาโต้เถียงกับจำเลยเป็นเวลานาน จำเลยย่อมจะมีความโกรธเคืองผู้ตายเป็นอย่างมากถึงกับมีการท้าทายให้ไปตกลงกันที่ฟากคลองฝั่งตรงกันข้าม และจำเลยได้ถือมีดปลายแหลมขนาดใหญ่ออกเดินนำหน้าไปก่อนอันถือได้ว่าจำเลยได้สมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับผู้ตาย เป็นการเข้าสู้ภัยโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ แม้ผู้ตายถือจอบขนาดใหญ่เดินตามจำเลยและได้ทำร้ายจำเลยก่อนก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะที่จำเลยกับผู้ตายสมัครใจวิวาทกัน ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจที่จะอ้างสิทธิป้องกันได้ตามกฎหมาย และเมื่อจำเลยสมัครใจที่จะไปต่อสู้กับผู้ตายเอง จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้เช่นเดียวกัน

คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2541 เวลากลางวันจำเลยได้พาอาวุธมีดปลายแหลมยาวประมาณ 24 นิ้ว ความกว้างของตัวมีดประมาณ 3 นิ้ว ติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร และจำเลยได้ใช้มีดดังกล่าวเป็นอาวุธฟันนายสุนทร ชิวภักดี โดยเจตนาฆ่าที่บริเวณลำคอซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญหลายครั้งเป็นเหตุให้เส้นเลือดแดงดำและกล้ามเนื้อบริเวณลำคอของนายสุนทรขาด ทำให้สมองขาดเลือดและถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 288, 371
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 72, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่น โดยบันดาลโทสะ จำคุก 4 ปี ฐานพกอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 จำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการแก้บทกฎหมายที่ลงโทษโดยไม่ได้แก้โทษเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งที่จำเลยฎีกาว่าไม่ได้ประสงค์ให้ผู้ตายถึงแก่ความตายหรืออีกนัยหนึ่งคือไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตายและขอให้ศาลฎีกาลงโทษสถานเบากับรอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้ว จากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งศาลอุทธรณ์รับฟังมาว่าบ้านพักของนางบุญศรีทองกรรณ แม่ยายของจำเลยกับบ้านพักของนายสุนทร ชิวภักดี ผู้ตายอยู่ติดกันมีเพียงรั้วกั้นอยู่เท่านั้น และผู้ตายกับนางบุญศรีมีเรื่องไม่ถูกกันโดยมักจะมีเรื่องทะเลาะดุด่ากันอยู่เนือง ๆ ในวันเกิดเหตุตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา นายบุญศรีกับจำเลยพร้อมญาติของจำเลยพากันไปซ่อมรั้วบ้านที่กันบริเวณบ้านของนางบุญศรีกับบ้านผู้ตายโดยนำแผ่นสังกะสีมาตีปะเข้ากับรั้วไม้เดิม ผู้ตายกลับมาจากภายนอกบ้านมาพบก็เกิดความไม่พอใจ ผู้ตายมีอาการมึนเมาสุรามาด้วยจึงได้เข้าไปต่อว่าและดุด่านางบุญศรี นอกจากนี้ผู้ตายยังได้ใช้มือเขย่ารั้วสังกะสีอย่างแรงจนรั้วจะพัง แม้นางบุญศรีจะได้ว่ากล่าวห้ามปราม แต่ผู้ตายก็ไม่ยอมเชื่อฟังจนนางบุญศรีขู่ว่าจะไปแจ้งความแก่เจ้าพนักงานตำรวจ ครั้นนางบุญศรีออกไปข้างนอกผู้ตายกลับมีปากเสียงโต้เถียงกับจำเลยแทน จำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกันเป็นเวลานาน ในที่สุดก็เกิดการท้าทายกันขึ้นโดยให้ไปตกลงกันที่ฟากคลองแสนแสบฝั่งตรงกันข้ามด้านหน้าวัดพิชัยซึ่งต้องเดินข้ามสะพานไป จำเลยเดินถือมีดปลายแหลมขนาดใหญ่นำหน้าไป ส่วนผู้ตายถือจอบสำหรับดายหญ้าด้ามยาวประมาณ1.5 เมตร เดินตามไปห่างจำเลยประมาณ 1 เมตร ขณะคนทั้งสองเดินลงสะพานผู้ตายอยู่ในระดับที่สูงกว่าจำเลย ผู้ตายได้พูดขึ้นว่า "กูเอามึงก่อนนะ" พร้อมกับยกจอบขึ้นฟันจำเลยถูกที่ศรีษะบริเวณกกหูด้านซ้าย จำเลยซึ่งได้ยินคำพูดของผู้ตายได้ใช้มีดปลายแหลมที่ถืออยู่ฟันสวนไปทันทีถูกที่บริเวณลำคอของผู้ตาย คมมีดตัดเส้นเลือดดำและแดงที่ลำคอผู้ตายล้มลงและถึงแก่ความตายในอีก 2 วันต่อมา เห็นว่า ก่อนเกิดเหตุผู้ตายกับครอบครัวจำเลยมีเรื่องทะเลาะกันอย่างรุนแรง ต่อมาผู้ตายก็ได้มาโต้เถียงกับจำเลยโดยตรงเป็นเวลานาน ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจว่าจำเลยย่อมมีความโกรธเคืองผู้ตายเป็นอย่างมากถึงกับมีการท้าทายให้ไปตกลงกันที่ฟากคลองฝั่งตรงกันข้าม และจำเลยได้ถือมีดปลายแหลมขนาดใหญ่ออกเดินนำหน้าไปก่อนอันถือได้ว่า จำเลยได้สมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับผู้ตายเป็นการที่จำเลยเข้าสู้ภัยโดยที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ แม้ผู้ตายถือจอบขนาดใหญ่เดินตามจำเลยและได้ทำร้ายจำเลยก่อนก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่จำเลยกับผู้ตายสมัครใจวิวาทกัน ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจที่จะอ้างสิทธิป้องกันได้ตามกฎหมาย และเมื่อจำเลยสมัครใจที่จะไปต่อสู้กับผู้ตายเอง จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้เช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน

ผู้พิพากษา
วิบูลย์ มีอาสา
ศุภชัย ภู่งาม
วีระศักดิ์ รุ่งรัตน์

Visitor Statistics
» 1 Online
» 20 Today
» 47 Yesterday
» 253 Week
» 173 Month
» 1938 Year
» 68919 Total
Record: 15081 (20.04.2022)
Free PHP counter