ข้อบังคับสภาทนายความ
ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ. ๒๕๒๙

หมวด ๒

มรรยาทต่อศาลและในศาล

 

     ข้อ ๗  กล่าวความ หรือทำเอกสารหรือหลักฐานเท็จ หรือใช้กลอุบายลวงให้ศาลหลง หรือกระทำการใดเพื่อทราบคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลที่ยังไม่เปิดเผย

คำอธิบาย

หลักการของมรรยาททนายความข้อนี้ เป็นการยึดถือตามหลักการของประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตประเพณี ที่ถือว่าทนายความเป็นเจ้าหน้าที่ของศาล หรือตามหลักการของประเทศที่ใช้กฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ถือว่า ทนายความเป็นเครื่องมือในกระบวนการยุติธรรมซึ่งทนายความตามระบบกฎหมายดังกล่าวมีหน้าที่ในการรักษาความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรมการกระทำใดที่เป็นการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม จะถือเป็นความผิดที่ร้ายแรง ความผิดในข้อนี้กำหนดขึ้นเพื่อให้ทนายความทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา
------------------------
ทนายความเป็นผู้นำข้อเท็จจริงที่ถูกต้องไปสู่ศาล
------------------------
เพื่อศาลจะพิจารณาคดีได้อย่างถูกต้องยุติธรรม หากทนายความไม่ทำหน้าที่อย่างซื่อตรงต่อกระบวนการยุติธรรม ศาลในฐานะผู้ตัดสินชี้ขาดคดี โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ทนายความเป็นผู้นำเสนอ ก็จะทำให้ไม่อาจตัดสินคดีความอย่างยุติธรรมได้
-----------------------
เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 442/2457 วินิจฉัยว่า
"การว่าความย่อมอาศัยความเฉลียวฉลาดไหวพริบ อันมีประจำกับสรรพการงานทั้งปวงแต่กรณีจะต้องตั้งอยู่บนมูลฐานแห่งความซื่อสัตย์สุจริต อันเป็นหัวใจของกฎหมายและความยุติธรรมทั่วทั้งโลก จึงสามารถให้ชนะได้ไม่เลือกบุคคลไม่เลือกเวลา"
----------------------
ความผิดในข้อนี้แบ่งได้เป็น 4 ประการคือ
- กล่าวความเท็จ
- ทำเอกสารหรือหลักฐานเท็จ
- ใช้กลอุบายให้ศาลหลง และ
- กระทำการเพื่อทราบคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลที่ยังไม่เปิดเผย

การกล่าวความเท็จนี้ หมายถึง การแถลงด้วยวาจา หรือยื่นคำแถลงเป็นหนังสือ เช่น ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่า ทนายความติดว่าความในศาลอื่น หรืออ้างว่าทนายความป่วย ซึ่งศาลมีคำสั่งให้ทนายความยื่นรายงานกระบวนพิจารณาของคดีที่อ้างว่าติดว่าความ หรือให้นำใบรับรองของแพทย์มาแสดงต่อศาล แต่ปรากฏว่าทนายความไม่ได้ติดว่าความในคดีดังกล่าว หรือไม่ได้ป่วยจริง ทำให้ไม่สามารถนำใบรับรองแพทย์มายืนยันต่อศาล เป็นต้น
-----------------------
การที่ทนายความทำเอกสารหรือหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อนำมาแสดงต่อศาลให้คดีของตนชนะนั้น อาจมีความผิดในข้อหาปลอมแปลงเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ถึง 268 และเป็นการละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ด้วย
----------------------
ปรากฏว่า มีคำพิพากษาฎีกาที่ 165/2454
โวหารกรมสวัสดิ์ 192 วินิจฉัยว่า "ความประพฤติของหม่อมราชวงศ์เชยปรากฎในสำนวนนี้ว่า หาเลี้ยงชีพทางทนายความว่าความก็ชอบแต่จะตั้งหน้ารักษาสัตย์สุจริตเชิดชูราชนิติสาร แต่นี่กลับมาพยายามกระทำพยานเท็จทำลายล้างยุติธรรมดังนี้ เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ไม่ควรอนุญาตให้หม่อมราชวงศ์เชยเป็นทนายว่าความของราษฎรได้ในศาลยุติธรรมต่อไป"
----------------------
การใช้กลอุบายลวงให้ศาลหลงนี้ รวมถึงการที่ทนายความทราบข้อเท็จจริงบางประการไม่แถลงให้ศาลทราบ จนทำให้ศาลหลงผิดด้วย เช่น นาย น. ได้ว่าจ้างทนายความ ว. ให้ยื่นคำคัดค้านการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ในคดีที่นาง ส. เป็นผู้ร้อง ขณะเดียวกัน ทนายความ ว. ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกรายเดียวกันให้แก่นาย น. เป็นอีกคดีหนึ่ง และคดีดังกล่าวไม่มีผู้คัดค้านทำให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งนาย น. เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกดังกล่าว นาย น. และทนายความ ว. ได้ร่วมกันใช้คำสั่งศาลดังกล่าวไปเบิกเงินมรดกที่ธนาคารทันที ต่อมาคดีที่ นาย น. เป็นผู้คัดค้านการขอจัดการมรดกนั้นมีการเจรจาประนีประนอมกัน คู่ความตกลงเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ทนายความ ว. ทราบข้อเท็จจริงดีอยู่แล้วว่า ศาลในคดีอื่นได้มีคำสั่งแต่งตั้งนาย น. เป็นผู้จัดการมรดกรายพิพาทนี้แล้วแต่กลับนิ่งเฉย ไม่แถลงข้อความจริงให้ศาลทราบเพราะหากศาลทราบความจริงดังกล่าวแล้ว ศาลย่อมต้องมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีดังกล่าว และนาง ส. ก็ต้องไปร้องคัดค้านการเป็นผู้จัดการมรดกของนาย น. ในคดีที่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งนาย น. เป็นผู้จัดการมรดก การที่ทนายความ ว. ไม่แถลงข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ศาลทราบ ถือเป็นการใช้กลอุบายลวงให้ศาลหลง อันเป็นความผิดในข้อนี้
------------------------
ทนายความบางคนต้องการทราบคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาล ก่อนที่ศาลจะอ่านให้คู่ความฟัง เพื่อที่จะได้เตรียมการในกรณีที่คำสั่ง หรือคำพิพากษาดังกล่าวเป็นผลร้ายต่อลูกความของตน หรือไปใช้อ้างในการเรียกร้องเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทนจากลูกความของตนให้มากขึ้น เช่น ทนายความได้เปิดซองแอบอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา ซึ่งส่งมายังศาลชั้นต้นเพื่ออ่านให้คู่ความฟัง โดยศาลชั้นต้นยังมิได้เปิดอ่านให้คู่ความฟัง เมื่อรู้ว่าศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษลูกความ ก็ให้ลูกความหลบหนีไปก่อน หรือทนายความได้เข้าไปพบผู้พิพากษา แจ้งว่าคดีของตนได้มีคำพิพากษาแล้วหรือยัง ถ้ามีคำพิพากษาแล้ว ผลเป็นอย่างไร ถ้าลูกความของตนชนะ ก็จะได้ติดต่อลูกความเพื่อเรียกร้องเงินเพิ่มขึ้น และจะเรียกร้องเผื่อให้ผู้พิพากษาด้วย เพราะลูกความเป็นคนรวย ซึ่งถือว่าทนายความดังกล่าวมีความผิดในข้อนี้

คำสั่งสภานายกพิเศษ

แสดงความคิดเห็น

บันทึกส่วนตัว

Visitor Statistics
» 1 Online
» 3 Today
» 0 Yesterday
» 3 Week
» 8 Month
» 204 Year
» 1352 Total
Record: 163 (03.11.2023)
Free PHP counter