มาตรา 327 | ประมวลกฎหมายอาญา |

 

ประมวลกฎหมาย
อาญา
ภาค ๒ ความผิด

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๑๑ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง

หมวด ๓ ความผิดฐานหมิ่นประมาท

หน้าก่อน

 

     มาตรา ๓๒๗  ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้ บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒๖ นั้น

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา

 

คำอธิบาย

    ...

คำพิพากษาศาลฎีกา

  • นาวิน_ขำแป้น_1591689625_5.png
    นาวิน ขำแป้น
    [ทนายความ]
    วันที่เพิ่ม : วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 03:49:15
    ปรับปรุงล่าสุด : วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 03:49:15


    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง :
    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59    มาตรา ๕๙
        บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิด แม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
        กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
        ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
        กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
        การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83    มาตรา ๘๓
        ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326    มาตรา ๓๒๖
        ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 327    มาตรา ๓๒๗
        ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้ บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๓๒๖ นั้น

    ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332    มาตรา ๓๓๒
        ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง
        (๑) ให้ยึด และทำลายวัตถุหรือส่วนของวัตถุที่มีข้อความหมิ่นประมาท
        (๒) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้งโดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา


    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ : 3493 / 2562 (ประชุมใหญ่)

    (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2562)

    ความผิดฐานหมิ่นประมาท ถึงแม้ไม่ได้ระบุชื่อ แต่คนทั่วไปรู้ว่าหมายถึงใคร หากถ้อยคำนั้นเป็นการใส่ความคนอื่น ก็ผิดฐานหมิ่นประมาทได้
    ---------------------
    แม้ข้อความที่ลงพิมพ์ดังกล่าวจะมิได้ระบุชื่อหรือชื่อ สกุลของโจทก์หรือชื่อร้านค้าของโจทก์ แต่เมื่อร้านขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้าม บริษัท ค. มีร้านค้าของโจทก์เพียงร้านเดียว การที่หนังสือพิมพ์ ท. ลงพิมพ์ข้อความว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ตรงข้ามบริษัท ค. ขายอาหารบังหน้า แต่เบื้องหลังปล่อยยาบ้า บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความดังกล่าวย่อมทราบหรือเข้าใจได้ทันที่ว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวของโจทก์จำหน่ายยาเสพติดซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ท. ดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามทำให้โจทก์เสื่อมเสีย ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และมิไช่เป็น การแสดงความคิดเห็นหรือข้อความ โดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์
    --------------------
    คำพิพากษาย่อสั้น
    พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ผู้พิมพ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ "ผู้โฆษณา" หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า "บรรณาธิการ" หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดของบุคคลผู้เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รับผิดชอบในการพิมพ์ และรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ ท. จึงต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ท. มิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เมื่อกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณามีหน้าที่กระทำการดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบ คัดเลือก หรือควบคุมข่าวที่ลงพิมพ์ โดยปล่อยให้มีการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ ท. ที่ไม่เป็นความจริง กระทบสิทธิและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการไม่รักษาจริยธรรมของสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำการโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคท้าย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและต้องรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์ หากข้อความนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 83
    ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ป.อ. มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ดังนั้น แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์ โดยมิได้มีคำขอให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อเป็นอำนาจของศาล การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ ท. 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

    คำพิพากษาย่อยาว
    โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 327 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันลงโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์
    ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบมาตรา 83 ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
    จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
    ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 คำขออื่นให้ยก และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1
    โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
    ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
    โจทก์ฎีกา
    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์ประกอบอาชีพค้าขาย โดยใช้บ้านของโจทก์ ซึ่งเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวด้านหน้าเป็นร้านค้าขายก๋วยเตี๋ยว อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าเบ็ดเตล็ด เปิดร้านตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกา ถึง 22 นาฬิกา ด้านหลังใช้พักอาศัย บ้านของโจทก์ตั้งอยู่ริมถนนโพธาราม - ช่องพราน ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวัน "ไทยรัฐ" โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับปีที่ 66 ฉบับที่ 20986 วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม 2558 คอลัมน์ห้องร้องทุกข์หน้าที่ 10 ย่อหน้าสุดท้ายลงข้อความว่า "สุดท้าย ที่หมู่ 1 ต.ท่าชุมพล อ.โพธาราม จังหวัดราชบุรี มีร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น เป็นบริษัททำรั้วสำเร็จรูป ขายอาหารบังหน้า แต่เบื้องหลังปล่อยยาบ้า กลางคืนลูกค้าเพียบ! แจ้ง! สภ.โพธาราม ก็เฉย ฝาก! คสช. ลงพื้นที่ปราบหน่อย" ต่อมาวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ได้มีเจ้าพนักงานเข้าตรวจค้นร้านค้าของโจทก์ดังกล่าว ผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ภายหลังจำเลยที่ 1 ได้ลงแก้ข่าวให้แก่โจทก์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7
    คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเฉพาะคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะมีความผิดอาญา หากข้อความที่ลงในหนังสือพิมพ์เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์นำสืบว่า เมื่อร้านค้าของโจทก์ถูกตรวจค้นจากการที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงข้อความดังกล่าวในคอลัมน์ห้องร้องทุกข์ที่ระบุเพียงหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อ ไม่ปรากฏชื่อผู้รับผิดชอบคอลัมน์ โจทก์จึงโทรศัพท์ไปยังหมายเลขที่ระบุในคอลัมน์ห้องร้องทุกข์เพื่อสอบถามถึงชื่อผู้แจ้งข่าวและผู้เขียนบทความ แต่ก็ถูกปฏิเสธไม่ได้รับคำตอบ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 มาตรา 4 บัญญัติว่า ในพระราชบัญญัตินี้ "ผู้พิมพ์" หมายความว่า บุคคลซึ่งจัดการและรับผิดชอบในการพิมพ์ "ผู้โฆษณา" หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า "บรรณาธิการ" หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทำ และควบคุมเนื้อหา ข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์ โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการกำหนดความรับผิดของบุคคลผู้เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ รับผิดชอบในการพิมพ์ และรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใด ๆ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจึงต้องรับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหาข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ที่จำเลยที่ 2 นำสืบปฏิเสธว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ โดยมีหน้าที่เพียงติดต่อกับบุคคลหรือองค์กรภายนอก เข้าร่วมประชุม เข้าร่วมสัมมนา รับรางวัลในฐานะตัวแทนของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไม่มีหน้าที่ตรวจข่าวที่ลงในหนังสือพิมพ์ การดูแลข่าวในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นหน้าที่บรรณาธิการข่าวแต่ละแผนกเป็นผู้ดูแลนั้น ก็ปรากฏว่าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีเพียงจำเลยที่ 2 ที่มีชื่อเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาแต่ผู้เดียว เมื่อกฎหมายกำหนดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณามีหน้าที่กระทำการดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 กลับไม่ได้ใส่ใจตรวจสอบ คัดเลือก หรือควบคุมข่าวที่ลงพิมพ์ โดยปล่อยให้มีการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ไม่เป็นความจริง กระทบสิทธิและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เป็นการไม่รักษาจริยธรรมของสื่อมวลชน อันเป็นการกระทำการโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคท้าย ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและต้องรับผิดในข้อความที่ลงพิมพ์ หากข้อความนั้นเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาร่วมกับผู้เขียนข้อความในการกระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
    เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว และศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ และของจำเลยที่ 2 อีกหลายข้อ แต่เมื่อคู่ความได้สืบพยานมาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์และของจำเลยที่ 2 ไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย
    คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์เบิกความว่า บ้านของโจทก์ที่พักอาศัยอยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ด้านหน้าเปิดเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยว อาหาร เครื่องดื่ม ด้านหลังใช้พักอาศัย ร้านที่ขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้ามบริษัทดังกล่าวมีร้านเดียวคือร้านของโจทก์ จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่า ร้านขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด มีร้านอื่นนอกจากร้านของโจทก์ด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ ดังนั้น แม้ข้อความที่ลงพิมพ์ดังกล่าวจะมิได้ระบุชื่อหรือชื่อสกุลของโจทก์ หรือชื่อร้านค้าของโจทก์ แต่เมื่อร้านขายอาหารและก๋วยเตี๋ยวที่อยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น คอนกรีตแมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด มีร้านค้าของโจทก์เพียงร้านเดียว การที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐลงพิมพ์ข้อความว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ตรงข้ามบริษัทคิวเฟร้น ขายอาหารบังหน้า แต่เบื้องหลังปล่อยยาบ้า บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความดังกล่าวย่อมทราบหรือเข้าใจได้ทันทีว่า ร้านอาหารและร้านก๋วยเตี๋ยวของโจทก์จำหน่ายยาเสพติดซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ และมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำดังที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
    มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 (2) ให้อำนาจศาลสั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ดังนั้น แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันโฆษณาขอโทษโจทก์ในหนังสือพิมพ์ โดยมิได้มีคำขอให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ แต่เมื่อเป็นอำนาจของศาล การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ครั้ง ภายใน 1 เดือน โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
    มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า ภายหลังจากที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐซึ่งจำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการได้ลงพิมพ์ข้อความหมิ่นประมาทโจทก์แล้วปรากฏว่าได้มีการลงแก้ข่าวให้แก่โจทก์ในภายหลัง นับว่าเป็นการพยายามแก้ไขเยียวยาความเสียหายให้แก่โจทก์ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กรณีมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
    พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ประกอบมาตรา 83 ส่วนโทษให้บังคับคดีจำเลยที่ 2 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

    กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
    ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192

    ผู้พิพากษา
    ชัยเจริญ ดุษฎีพร
    วรงค์พร จิระภาค
    ชูชีพ ปิณฑะสิริ




    กดถูกใจเป็นคนแรกสิ!

แสดงความคิดเห็น

    ...

บันทึกส่วนตัว

Visitor Statistics
» 6 Online
» 295 Today
» 438 Yesterday
» 2455 Week
» 6525 Month
» 120728 Year
» 1372133 Total
Record: 10208 (10.06.2023)
Free PHP counter