คำแถลงขอให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง

คำแถลงขอให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง

คำแถลงขอให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง, คำแถลงขอปิดหมายและส่งหมายข้ามเขต, คำแถลง, ติวสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ
คำแถลงขอให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง
คำแถลงขอให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79

    “ถ้าการส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นไม่สามารถจะทำได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตราก่อน ศาลอาจสั่งให้ส่งโดยวิธีอื่นแทนได้ กล่าวคือปิดคำคู่ความหรือเอกสารไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของคู่ความหรือบุคคลผู้มีชื่อระบุไว้ในคำคู่ความหรือเอกสาร หรือมอบหมายคำคู่ความหรือเอกสารไว้แก่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในท้องถิ่นหรือเจ้าพนักงานตำรวจ แล้วปิดประกาศแสดงการที่ได้มอบหมายดังกล่าวแล้วนั้นไว้ดังกล่าวมาข้างต้น หรือลงโฆษณาหรือทำวิธีอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควร

   การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยวิธีอื่นแทนนั้น ให้มีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลาสิบห้าวันหรือระยะเวลานานกว่านั้นตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ได้ล่วงพ้นไปแล้วนับตั้งแต่เวลาที่คำคู่ความหรือเอกสารหรือประกาศแสดงการมอบหมายนั้นได้ปิดไว้ หรือการโฆษณาหรือวิธีอื่นใดตามที่ศาลสั่งนั้นได้ทำหรือได้ตั้งต้นแล้ว”

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173

    “เมื่อศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดี และภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง ให้โจทก์ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายนั้น

     นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้

     (1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นและ

     (2) ถ้ามีเหตุเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพฤติการณ์อันเกี่ยวด้วยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้น เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนาของจำเลย การเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้หาตัดอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีไว้ในอันที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไม่”

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174

“ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้อง คือ

     (1) ภายหลังที่ได้เสนอคำฟ้องแล้ว โจทก์เพิกเฉยไม่ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายเรียกให้แก้คดีแก่จำเลย และไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้นภายในกำหนด ๗ วันนับแต่วันยื่นคำฟ้อง

     (2) โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยได้ส่งคำสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว”

 

หลักการบรรยาย

  1. คดีอยู่ในขั้นตอนใด
  2. ยืนยันว่าจำเลยมีภูมิลำเนาตามฟ้องโดยอ้างสำเนาทะเบียนราษฎร์หรือทะเบียนบ้านเป็นหลักฐาน
  3. หากไม่พบตัวจำเลยหรือไม่มีบุคคลใดรับหมายเรียกสำเนาฟ้องไว้แทนโดยชอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งปิดหมาย
  4. คำลงท้าย
  5. ลงชื่อโจทก์
  6. ลงชื่อ ผู้เรียง/พิมพ์/เขียน

ตัวอย่างที่ 1 (จำเลยเป็นบุคคลธรรมดา)

ข้อ 1 โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลในวันนี้

โจทก์ขอยืนยันว่าจำเลยมีภูมิลำเนาที่แน่นอนตามฟ้องของโจทก์จริง ปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย เอกสารท้ายคำแถลงนี้

ในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลย หากไม่พบตัวจำเลยและไม่มีบุคคลใดรับไว้แทนโดยชอบ ขอความกรุณาต่อศาลได้โปรดมีคำสั่งให้ปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยไว้แทนการส่งด้วยวิธีธรรมดาด้วย ขอศาลได้โปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

 

คำแถลงขอให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง-หน้า1
คำแถลงขอให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง-หน้า1

 

คำแถลงขอให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง-หน้า2
คำแถลงขอให้ปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง-หน้า2

 

ตัวอย่างที่ 2 (จำเลยเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลและขอให้ส่งหมายข้ามเขต)

ข้อ 1 คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ในวันนี้

เนื่องจากจำเลยทั้งสี่มีภูมิลำเนาเป็นที่แน่นอนตามที่โจทก์ระบุในคำฟ้อง รายละเอียดประกฎตามสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และสำเนาหนังสือรับรองของจำเลยที่ 3 เอกสารท้ายคำแถลง

ดังนั้นในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสี่ หากไม่มีผู้รับโดยชอบโจทก์ขอกราบเรียนต่อศาลที่เคารพ ได้โปรดมีคำสั่งให้พนักงานส่งหมายให้แก่จำเลยทั้งสี่ด้วยการปิดหมายไว้ ณ ภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสี่ด้วย

อนึ่งเนื่องจากจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดนนทบุรี โจทก์จึงขอศาลได้โปรดมีหนังสือถึงศาลจังหวัดนนทบุรี ขอให้จัดการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 แทนศาลนี้ด้วย ขอศาลได้โปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

ข้อสังเกต

  1. จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 4 เป็นบุคคลธรรมดาอ้างสำเนาทะเบียนบ้าน ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคล อ้างหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพานิชย์ เอกสารท้ายคำแถลง เพื่อยืนยันว่าจำเลยมีภูมิลำเนาตามฟ้องสามารถปิดหมายได้จริง
  2. การส่งหมายข้ามเขต เนื่องจากจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตอำนาจศาลที่ยื่นฟ้องในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลที่ยื่นฟ้องจึงไม่มีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานเดินหมายส่งหมาย และปิดหมายได้จึงต้องมีหนังสือขอความร่วมมือจากศาลที่จำเลยที่ 2 อยู่ในเขตอำนาจ มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานของศาลนั้นเป็นผู้ส่งหมายและปิดหมายแทน

 

 

Comment

 

การส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องข้ามเขต

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องหากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้มิฉะนั้นจะถือว่าทิ้งฟ้องเป็นการสั่งให้โจทก์เป็นผู้นำส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องแต่คดีนี้ เป็นการส่งหมายข้ามเขต ศาลแขวงนครปฐมดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองแทน เมื่อส่งให้ไม่ได้ ศาลชั้นต้นได้สั่งว่า รอโจทก์แถลง ดังนี้จึงเป็นการแสดงว่าโจทก์มิได้เป็นผู้นำส่ง หากแต่เป็นการส่งหมายข้ามเขตซึ่งศาลเป็นผู้ส่งเอง เมื่อศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผลการส่งหมายให้โจทก์ทราบ โจทก์ย่อมไม่มีทางทราบถึงผลการส่งหมายการที่โจทก์มิได้ยื่นคำแถลงให้ดำเนินการต่อไปจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5397/2540

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยภายใน 7 วัน หากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ มิฉะนั้นจะถือว่าทิ้งฟ้องเป็นการสั่งให้โจทก์เป็นผู้นำส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้อง แต่ปรากฏว่าคดีนี้ จำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแขวงนครปฐม ศาลชั้นต้นคือศาลแขวงพระนครใต้จึงมีหนังสือแจ้งให้ศาลแขวงนครปฐมให้ดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองแทน ต่อมาศาลแขวงนครปฐมได้แจ้ง ผลการส่งหมายมายังศาลชั้นต้นว่า ส่งให้ไม่ได้ ศาลชั้นต้นได้สั่งว่า รอโจทก์แถลง ดังนี้จึงเป็นการแสดงว่าโจทก์มิได้เป็นผู้นำส่ง หากแต่เป็นการส่งหมายข้ามเขตซึ่งศาลเป็นผู้ส่งเอง เมื่อศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผลการส่งหมายดังกล่าว ให้โจทก์ทราบ โจทก์ย่อมไม่มีทางทราบถึงผลการส่งหมายดังกล่าวการที่โจทก์มิได้ยื่นคำแถลงให้ดำเนินการต่อไปจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ได้ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดอันเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ศาลชั้นต้นสั่งว่า รับฟ้องนัดไต่สวนมูลฟ้องให้โจทก์นำส่งสำเนาคำฟ้องและหมายนัดให้จำเลยทราบภายใน 7 วัน หากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ มิฉะนั้นให้ถือว่าทิ้งฟ้อง” ในชั้นส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสอง เจ้าหน้าที่ศาลรายงานเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2539 ว่า คดีนี้ส่งหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องให้แก่จำเลยไม่ได้ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2539 ให้รอโจทก์แถลง จนถึงวันนี้โจทก์ยังไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลประการใดศาลชั้นต้นสั่งว่า โจทก์ทราบคำสั่งศาลโดยชอบแล้วว่า หากส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยไม่ได้ ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลแสดงว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนดไว้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์ทิ้งฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์ยื่นคำแถลงให้ส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องไปขอให้ศาลแขวงนครปฐม ซึ่งเป็นศาลที่จำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจจัดการส่งให้ โดยโจทก์ได้แนบตั๋วแลกเงินมาพร้อมคำแถลงเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมในการส่งและแถลงว่าหากไม่พบจำเลยทั้งสอง ณ ภูมิลำเนาตามฟ้องให้ปิดหมายการกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลที่ว่าให้โจทก์นำส่งสำเนาคำฟ้องและหมายนัดให้จำเลยทราบภายใน 7 วันหากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วันแล้ว เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยเป็นการสั่งให้โจทก์เป็นผู้นำส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้อง แต่ปรากฏว่าคดีนี้ จำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแขวงนครปฐม ศาลชั้นต้นคือศาลแขวงพระนครใต้จึงมีหนังสือแจ้งให้ศาลแขวงนครปฐมให้ดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองแทน ต่อมาศาลแขวงนครปฐมได้แจ้งผลการส่งหมายมายังศาลชั้นต้นคือศาลแขวงพระนครใต้ว่า ส่งให้ไม่ได้ ศาลแขวงพระนครใต้ได้สั่งว่ารอโจทก์แถลง ดังนี้ จึงเป็นการแสดงว่าโจทก์มิได้เป็นผู้นำส่ง หากแต่เป็นการส่งหมายข้ามเขตซึ่งศาลเป็นผู้ส่งเองเมื่อศาลชั้นต้นคือศาลแขวงพระนครใต้ มิได้แจ้งผลการส่งหมายดังกล่าวให้โจทก์ทราบ โจทก์ย่อมไม่มีทางทราบถึงผลการส่งหมายดังกล่าว การที่โจทก์มิได้ยื่นคำแถลงให้ดำเนินการต่อไปจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ได้ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดอันเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15

          พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการแจ้งผลการส่งหมายนัดและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยทั้งสอง ให้โจทก์ทราบแล้วดำเนินการต่อไป

( ชวลิต ศรีสง่า – ไพโรจน์ คำอ่อน – วิเทพ ศิริพากย์ )
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15
มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติ ไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174
มาตรา 174 ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้อง คือ
(1) ภายหลังที่ได้เสนอคำฟ้องแล้ว โจทก์เพิกเฉยไม่ร้องขอต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายเรียกให้แก้คดีแก่จำเลยและ ไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุแห่งการเพิกเฉยเช่นว่านั้นภายในกำหนด เจ็ดวัน นับแต่วันยื่นคำฟ้อง
(2) โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควร กำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยได้ส่งคำสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว   

Sheet-สรุป-แบบฝึกหัด-สอบทนายความ
Sheet-สรุป-แบบฝึกหัด-สอบทนายความ

______________________________

นับถอยหลัง สอบทนายความภาคทฤษฎี รุ่นที่ 62

กำหนดสอบวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567

______________________________

 

ติวสอบทนายความ(Online)

3.5 2 votes
Article Rating
(Visited 19,068 times, 2 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
2 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments