มาตรา-264-ทำเอกสารปลอม

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ความผิดฐานปลอมเอกสาร

ประมวลกฎหมายอาญา

 

หนังสือประมวลกฎหมายอาญา หนังสือประมวลกฎหมายอาญา point

ภาค ๒ ความผิด

ลักษณะ ๗ ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง

มาตรา ๒๖๔

หมวด ๓ ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

ลักษณะ ๗ ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง

หมวด ๓ ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

 

     มาตรา ๒๖๔  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

* มาตรา ๒๖๔  แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒๖) พ.ศ.๒๕๖๐ (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอนที่ ๓๒ ก หน้า ๕๙ วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐)



คำพิพากษาศาลฎีกา ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2526

1046-47/2526
จำเลยทั้งสองทำเอกสารขายและเช่าซื้อรถยนต์ลงชื่อตนเอง ลงวันที่ย้อนหลังอันเป็นเท็จ เพื่อต่อสู้คดีที่ลูกจ้างถูกฟ้องเรื่องละเมิด ดังนี้ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสารที่จำเลยทั้งสองร่วมกันทำขึ้นเป็นเอกสารของจำเลยทั้งสอง ซึ่งได้ลงลายมือชื่อของตนเองมิได้ปลอมลายมือชื่อผู้ใด แม้ข้อความในเอกสารจะไม่ตรงต่อความจริง หรือเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสองก็ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และ มาตรา 268


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4/2486

ผู้รับมอบอำนาจแปลข้อความในใบมอบอำนาจ ซึ่งทำเป็นภาษาอังกฤษออกเป็นภาษาไทย เติมข้อความในคำแปลลงไปอีกว่า “มอบฉันทะให้ขายที่ดินโดยเร็ว” ดังนี้ แม้ข้อความดังกล่าวไม่มีในต้นฉบับก็ไม่เป็นความผิดเพราะเอกสารคำแปลนั้นเป็นของผู้แปลเอง ผู้ที่เห็นเอกสารนั้นไม่มีใครเข้าใจว่าเป็นใบมอบอำนาจของผู้มอบอำนาจ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 510/2530

คำพิพากษาย่อสั้น
การที่จำเลยตัดเลขหมายประจำแชชซีรถยนต์คันสีแดงออกแล้วตัดเอาหมายเลขประจำแชชซีของรถยนต์คันสีฟ้ามาเชื่อมต่อไว้แทน เมื่อหมายเลขประจำแชชซีรถยนต์คันสีฟ้าเป็นหมายเลขประจำรถยนต์ที่แท้จริง แม้จะนำมาติดกับรถยนต์คันอื่นแต่ไม่มีการขูดลบแก้ไข เปลี่ยนแปลงตัวอักษร หรือตัวเลขหมายแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารเพราะความผิดฐานปลอมเอกสารนั้นจะต้องมีการปลอมแปลงเอกสารขึ้นทั้งฉบับหรือแต่บางส่วน หรือกระทำให้ข้อความหรือความหมายในเอกสารที่แท้จริงเปลี่ยนแปลงไป

คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันปลอมเอกสารโดยตัดเอาแชชซีรถยนต์คันสีแดงหมายเลขทะเบียน 5ม - 8188 ช่วงที่มีตัวอักษรตัวเลข เอ็น 620-304483 อันเป็นเอกสารที่แท้จริงออกทิ้ง แล้วตัดเอาแชชซีรถยนต์คันสีฟ้าของเทศบางเมืองสมุทรปราการ หมายเลขทะเบียน น.0355 สมุทรปราการ ช่วงที่มีตัวอักษร ตัวเลข เอ็น 620 - เอ 82682 ออกแล้วนำไปต่อเชื่อมกับแชชซีของรถยนต์คันสีแดงหมายเลขทะเบียน 5ม - 8188 แทนเอกสารที่แท้จริงในช่วงที่ตัดทิ้งไปดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการทำปลอมขึ้น ซึ่งเอกสารเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารหมายเลขแชชซีของรถคันหมายเลขทะเบียน 5ม - 8188 ที่แท้จริง และจำเลยกับพวกได้ถอดเครื่องยนต์ของรถคันหมายเลขทะเบียน 5ม - 8188 ออกแล้วนำเครื่องยนต์ของรถคันหมายเลขทะเบียน น.0355 สมุทรปราการ มาติดตั้งใส่ไว้แทน และนำแผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.0355 สมุทรปราการไปใส่แทนแผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5ม-8188 และพ่นเปลี่ยนสีรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5ม-8188 จากสีแดงเป็นสีฟ้าแล้วนำส่งคืนเทศบาลเมืองสมุทรปราการเพื่อให้เทศบาลเมืองสมุทรปราการ นายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดสมุทรปราการเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสภาพรถยนต์ และกรมตำรวจหลงเชื่อว่ารถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5ม-8188 หมายเลขเครื่อง เจ 15-444308 หมายเลขแชชซี เอ็น620-304483 เป็นรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.0355 สมุทรปราการ หมายเลขเครื่อง เจ 15-829139 หมายเลขแชชซี เอ็น 620-82682 ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่เทศบาลเมืองสมุทรปราการ นายทะเบียนยานพาหนะจังหวัดสมุทรปราการ เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสภาพรถยนต์และกรมตำรวจ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 จำคุก 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าจำเลยตัดเอาแผ่นโลหะที่มีเลขหมายประจำแชชซีรถยนต์คันสีฟ้าของเทศบาลเมืองสมุทรปราการมาต่อเชื่อมแทนที่เลขหมายประจำแชชซีรถยนต์คันสีแดงที่จำเลยตัดออกไปก็ตาม แต่ความผิดฐานปลอมเอกสารนั้น จะต้องมีการปลอมแปลงเอกสารขึ้นทั้งฉบับ หรือแต่บางส่วนหรือกระทำให้ข้อความ หรือความหมายในเอกสารที่แท้จริงเปลี่ยนแปลงไป ในเรื่องนี้ได้ความว่า เลขหมายประจำแชชซีรถยนต์คันสีฟ้าของเทศบาลเมืองสมุทรปราการที่จำเลยนำมาต่อเชื่อมรถยนต์คันสีแดงเป็นหมายเลขประจำรถยนต์ที่แท้จริง แม้จะนำมาติดกับรถยนต์คันอื่นแต่ก็ไม่มีการขูดลบแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัวอักษร ตัวเลขหมายประจำแชชซีแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารดังโจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน

ผู้พิพากษา
ชวลิต นราลัย
อภินย์ ปุษปาคม
ประวิทย์ ขัมภรัตน์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3078/2525

คำพิพากษาย่อสั้น
การที่จำเลยนำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลข น.0311พังงาซึ่งเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ทางราชการออกให้แก่รถยนต์ของ ส. นำไปใช้ติดกับรถยนต์จำเลยซึ่งเป็นรถยนต์อีกคันหนึ่ง แม้จะโดยมีเจตนาแสดงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของจำเลยเป็นรถยนต์ที่มีหมายเลขทะเบียน น.0311 พังงา ก็ตามเมื่อแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่แท้จริงซึ่งทางราชการออกให้แก่รถยนต์คันอื่น จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารหรือใช้เอกสารราชการปลอม (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1141/2523)

คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจนำรถยนต์ไม่เสียภาษีประจำปีรถยนต์ไปใช้ในถนนหลวงโดยไม่ได้รับอนุญาต และปลอมแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลขน. 0311 พังงา อันเป็นเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการดังกล่าวนำไปติดกับรถยนต์ของจำเลย ซึ่งเป็นรถยนต์อีกคันหนึ่ง โดยมีเจตนาให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของจำเลยเป็นรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.0311 พังงาที่ถูกต้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 91 พระราชบัญญัติรถยนต์พ.ศ. 2522 มาตรา 6, 59
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานใช้รถไม่เสียภาษีตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 6 ลงโทษปรับ ส่วนความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมนั้นไม่เป็นความผิด ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้นำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลข ทะเบียน น. 0311 พังงา ซึ่งเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ทางราชการออกให้แก่รถยนต์ของนายสมาน นำไปใช้ติดกับรถยนต์ของจำเลย ซึ่งเป็นรถยนต์อีกคันหนึ่งโดยมีเจตนาที่จะให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของจำเลยเป็นรถยนต์ที่มีหมายเลขทะเบียน น. 0311 พังงาถูกต้อง และวินิจฉัยว่าสำหรับข้อหาฐานปลอมเอกสารนั้น เมื่อปรากฏว่าแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ของกลางเป็นแผ่นป้ายทะเบียนที่แท้จริงซึ่งทางราชการออกให้แก่รถยนต์ของบุคคลอื่น จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร และการที่จำเลยเอาแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์นั้น ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่แท้จริงมาใช้กับรถยนต์ของจำเลยเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของจำเลยเป็นรถยนต์หมายเลขทะเบียน น. 0311 พังงา จำเลยไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1141/2523
พิพากษายืน

ผู้พิพากษา
อำนวย อินทุภูติ
สุทิน เลิศวิรุฬห์
เริ่ม ธรรมดุษฎี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1141/2523

คำพิพากษาย่อสั้น
จำเลยเอาป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลข ส.ฎ.00890 ของรถยนต์ยี่ห้อเฟียตมาติดใช้กับรถยนต์ของกลาง เมื่อป้ายทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นเอกสารแท้จริงที่ราชการทำขึ้นไม่ใช่เอกสารปลอม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและการที่จำเลยนำป้ายทะเบียนนั้นมาใช้กับรถยนต์ของกลางเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของกลางเป็นรถยนต์หมายเลขทะเบียน ส.ฎ.00890. จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม
จำเลยรู้ว่าหมายเลขประจำเครื่องยนต์ของกลาง 215173 เป็นเลขประจำเครื่องยนต์ปลอม แล้วจำเลยนำรถยนต์ของกลางไปตรวจเครื่องยนต์แสดงว่ามีเลขหมายนั้นต่อเจ้าหน้าที่และนำไปขายแก่ผู้อื่น จำเลยมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้เครื่องยนต์ที่ปลอมลงในรถยนต์ของห้าง ง. ซึ่งอยู่ในความดูแลของ จ. แต่ทางพิจารณาปรากฏว่าเลขจำเลยใช้เลขเครื่องยนต์ที่ปลอมลงในรถยนต์คันอื่นข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายลักรถยนต์เก๋งยี่ห้อเฟียต หมายเลขเครื่องประจำรถ 0101444 หมายเลขทะเบียน ก.ท.ช - 6555 ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ง. ซึ่งอยู่ในความดูแลรักษาของ จ. ไป และจำเลยรับของโจรรถยนต์นั้น แล้วจำเลยปลอมเอกสารโดยขูดลบเลข 0101444 ของเครื่องรถยนต์ออกโดยตอกเลข 215173 ลงไปแทนและปลอมแผ่นป้ายทะเบียนสำหรับติดรถยนต์ซึ่งเป็นเอกสารราชการกรมตำรวจ 2 แผ่น ใส่ตัวเลขและอักษรปลอม ส.ฎ.00890 ลงในแผ่นป้าย ความจริงแผ่นป้ายตัวเลขและอักษรดังกล่าวเจ้าหน้าที่แผนกรถยนต์ กรมตำรวจออกให้แก่ผู้อื่น จำเลยใช้เอกสารปลอมโดยนำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ปลอมขึ้นมาติดกับรถยนต์ที่จำเลยรับไว้ขับไปตามถนน และขายรถยนต์แก่ จ. ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 357, 264, 265, 268 ริบป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมคืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357, 265, 268 จำคุกตามมาตรา 357 สี่ปี จำคุกตามมาตรา 265, 268 สองปี ริบป้ายทะเบียนปลอม รถยนต์ของกลางคืนเจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นรถยนต์ที่ จ. เช่าซื้อไว้และถูกลักไป จึงลงโทษจำเลยฐานรับของโจรไม่ได้ สำหรับข้อหาฐานปลอมป้ายทะเบียนรถยนต์และใช้ป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมนั้น โจทก์ไม่มีพยานมาสืบว่าป้ายทะเบียนรถยนต์ ส.ฎ.00890 ที่นำมาใช้กับรถยนต์ของกลางเป็นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอม ทั้งปรากฏว่าป้ายหมายเลขทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นเลขของรถยนต์ที่จำเลยซื้อไว้ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องทำปลอมขึ้นใหม่อีก เชื่อได้ว่าจำเลยเอาป้ายรถยนต์หมายเลข ส.ฎ.00890 ของรถยนต์จำเลยมาติดใช้กับรถยนต์ของกลาง เมื่อป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลข ส.ฎ.00890 ไม่ใช่เอกสารปลอม จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร และการที่จำเลยนำป้ายทะเบียนรถยนต์ซึ่งเป็นเอกสารราชการที่แท้จริงมาใช้กับรถยนต์ของกลางเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของกลางเป็นรถยนต์หมายเลขทะเบียน ส.ฎ.00890 จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมป้ายทะเบียนรถยนต์นั้นจึงมิใช่ทรัพย์ที่จะต้องถูกริบตามกฎหมาย
ข้อหาฐานปลอมหมายเลขประจำเครื่องยนต์ โจทก์ไม่มีพยานมาสืบว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมหรือร่วมปลอม จึงลงโทษจำเลยฐานปลอมหมายเลขประจำเครื่องยนต์ของกลางไม่ได้ส่วนข้อหาฐานใช้หมายเลขเครื่องยนต์ปลอมนั้นเห็นว่า หมายเลขเครื่องยนต์ 215173 เป็นเลขหมายเครื่องยนต์ของรถยนต์เลขหมายทะเบียน ส.ฎ.00890 ที่จำเลยซื้อจาก อ. โดยลงชื่อ ช. บุตรจำเลยเป็นผู้ครอบครองในใบอนุญาตทะเบียนและระบุว่าเป็นรถยนต์สีเทา จำเลยย่อมทราบเลขเครื่องยนต์และสีรถยนต์ได้ดีเมื่อมีผู้ไปติดต่อซื้อรถยนต์ของกลางจากจำเลย จำเลยนำรถยนต์ของกลางไปพ่นสีเป็นสีฟ้าและนำไปตรวจเครื่องยนต์ ผู้ซื้อนำเงินไปชำระแก่จำเลยแล้วนำรถยนต์ของกลางจากจำเลยไปใช้ จึงเชื่อได้ว่าจำเลยรู้ว่าหมายเลขประจำเครื่องยนต์ 215173 เป็นหมายเลขประจำเครื่องยนต์ปลอม จำเลยจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมแม้คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้เลขเครื่องยนต์ที่ปลอมลงในรถยนต์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ง. ซึ่งอยู่ในความดูแลของ จ. แต่ทางพิจารณาปรากฏว่า จำเลยใช้เลขเครื่องยนต์ที่ปลอมลงในรถยนต์คันอื่น ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 ประกอบด้วยมาตรา 264 จำคุก 1 ปี จำเลยอายุ 70 ปี ไม่ปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ป้ายทะเบียนรถยนต์ไม่ริบ รถยนต์ของกลางคืนเจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

ผู้พิพากษา
ไพบูลย์ เพียรรู้จบ
วิถี ปานะบุตร
อำนัคฆ์ คล้ายสังข์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2541

นำป้ายวงกลมการแสดงเสียภาษี รถอีกคันหนึ่งมาติด รถตนไม่ผิดฐานใช้เอกสารปลอมเพราะเป็นเอกสารที่แท้จริง
....
เปรียบเทียบดูจะเห็นชัดเจนว่าผิดหรือไม่ผิดเพราะอะไร ปลอมเอกสาร แม้จะทำเพียงส่วนหนึ่งส่วนใดก็ผิด เอกสารก็อาจทำทั้งฉบับแล้วก็เป็นปลอมส่วนหนึ่งส่วนใด
ปลอมบางส่วนแล้วก็เป็นปลอมสำเร็จด้วย ตัวอย่าง ปลอมข้อความในบันทึกการขาย โดยปลอมหมายเลขผู้ถือบัตรเครดิตร ที่เรียกเซลสลิป แม้ยังไม่อาจนำไปเรียกเก็บเงินได้เพราะยังไม่ได้กรอกข้อมูลของร้านค้า จำนวนเงิน ก็น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ถือบัตรแล้ว เป็นการปลอมเอกสารแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4495/2548

คำพิพากษาย่อสั้น
คำว่า "เอกสาร" ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งทำให้ปรากฏความหมายด้วยอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นใดอันเป็นหลักฐานความหมายนั้น ดังนั้น เอกสารจะมีขึ้นในรูปใด ๆ ก็ได้ การปลอมเอกสารจึงไม่ต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน
จำเลยปลอมหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคำรับรองความเห็นชอบของกำนันโดยลงลายมือชื่อปลอมบุคคลทั้งสองในหนังสือลาออก กับปลอมหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านโดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมของกำนันลงในเอกสารเพื่อแสดงว่าจำเลยได้ร่วมกับกำนันพิจารณาคัดเลือกและจัดทำหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสนอต่อนายอำเภอตามระเบียบ เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำปลอมขึ้นซึ่งหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคำรับรองว่าความเห็นชอบของกำนันอันเป็นเอกสารราชการขึ้นทั้งฉบับโดยนำแบบพิมพ์หนังสือลาออกของที่ว่าการอำเภอพานทองมาเขียนกรอกข้อความว่า "เขียนที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน วันที่ 30 เดือน พ.ย. พ.ศ.2543 เรื่อง ขอลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เรียน นายอำเถอพานทอง เนื่องด้วย ข้าพเจ้า นายแมน เขียวสม ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามตำแหน่งที่ได้รับมอบหมายให้ได้ดีเท่าที่ควร อาจเกิดความเสียหายแก่ทางราชการและประชาชน จึงขอลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ตำบางนาง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่วันที่ 30 เดือน พ.ย. พ.ศ.2543 ขอได้โปรดพิจารณาอนุญาตให้ข้าพเจ้าลาออกจากตำแหน่งได้ตามประสงค์ด้วย ขอแสดงความนับถือ ลงชื่อ แมน เขียวสม ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลบางนาง ความเห็นกำนันผู้ใหญ่บ้านท้องที่ เห็นสมควรตามที่ผู้ช่วยขอลาออก ลงชื่อ (ลายมือชื่อ) ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ลงชื่อ สายสุนีย์ บุญมี ตำแหน่งกำนันตำบลบางนาง" เพื่อให้นายอำเภอพานทองหลงเชื่อว่า นายแมนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ขอลาออกจากตำแหน่งจะได้ออกคำสั่งอนุญาต ความจริงแล้วนายแมนไม่ได้เขียนหนังสือออกแต่อย่างใด และจำเลยนำเอกสารราชการปลอมดังกล่าวไปใช้อ้างแสดงต่อนางสาวนพรัตน์ กุญแจทอง และนายอำเภอพานทอง ว่า นายแมนขอลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 เพื่อให้นางสาวนพรัตน์ดำเนินการตรวจสอบเอกสารและนำเสนอนายอำเภอพานทองเพื่ออนุมัติ นางสาวนพรัตน์ตรวจสอบแล้วเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง จึงนำเสนอนายอำเภอพานทอง นายอำเภอพานทองหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง จึงออกคำสั่งให้นายแมนออกจากตำแหน่งได้ ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายอำเภอพานทอง นางสายสุนีย์ บุญมี นางสาวนพรัตน์ กุญแจทอง นายแมน เขียวสม ผู้อื่นหรือประชาชน ต่อมาจำเลยปลอมเอกสารหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อันเป็นเอกสารราชการโดยจำเลยในฐานะผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลบางนางในขณะนั้น ได้จัดทำหนังสือถึงนายอำเภอพานทองขอแต่งตั้งนางสาวนวลลักษณ์ ชลา เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แทนบุคคลเดิมที่ลาออก โดยปลอมลายมือชื่อของนางสายสุนีย์ บุญมี กำนันตำบลบางนาง ลงในเอกสารดังกล่าวเพื่อให้นายอำเภอพานทองหลงเชื่อว่านางสายสุนีย์ได้ร่วมกับจำเลยพิจารณาคัดเลือกและจัดทำหนังสือขอแต่งตั้งดังกล่าวเสนอต่อนายอำเภอตามระเบียบ ต่อมาจำเลยนำเอกสารราชการปลอมดังกล่าวอ้างแสดงต่อนางสาวนพรัตน์ กุญแจทอง และนายอำเภอพานทอง นางสาวนพรัตน์ตรวจสอบเอกสารแล้วเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ได้นำเสนอนายอำเภอพานทองและนายอำเภอพานทองตรวจสอบเอกสารแล้วหลงเชื่อว่าเป็นความจริง จึงดำเนินการแต่งตั้งนางสาวนวลลักษณ์เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ความจริงแล้วนางสายสุนีย์ไม่ได้ร่วมพิจารณาคัดเลือกและไม่ได้ลงชื่อดังกล่าว ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นางสายสุนีย์ บุญมี นายอำเภอพานทอง ผู้อื่นหรือประชาชน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 265, 268 จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 จำคุกกระทงละ 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 12 เดือน และริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธร์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคหนึ่ง, 268 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 264 วรรคหนึ่งเพียงกระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ส่วนกำหนดโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า การปลอมเอกสารจำต้องปลอมจากเอกสารที่มีอยู่จริงก่อนหรือไม่ เห็นว่า คำว่า "เอกสาร" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งให้ปรากฏความหมายด้วยอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นใดอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น ดังนั้นเอกสารจะมีขึ้นในรูปใด ๆ ก็ได้เหตุนี้การปลอมเอกสารจึงไม่ต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน การที่จำเลยปลอมหนังสือลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและคำรับรองความเห็นชอบของกำนันโดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมของบุคคลทั้งสองในหนังสือลาออกดังกล่าว กับการที่จำเลยปลอมหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยใหญ่บ้านโดยจำเลยลงลายมือชื่อปลอมของกำนันลงในเอกสารดังกล่าวเพื่อแสดงว่าจำเลยได้ร่วมกับกำนันพิจารณาคัดเลือกและจัดทำหนังสือขอแต่งตั้งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเสนอต่อนายอำเภอตามระเบียบ เช่นนี้ จึงเป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้วางโทษปรับจำเลยกระทงละ 6,000 บาท อีกสถานหนึ่งลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษปรับกระทงละ 3,000 บาท เรียงกระทงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมลงโทษปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีกกับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
ผู้พิพากษา
สุรพล เอกโยคยะ
ชวลิต ตุลยสิงห์
เกษม วีรวงศ์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 317/2521

จำเลยเขียนหมายเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ของผู้อื่นลงไว้ที่แผ่นเหล็กท้ายรถจักรยานยนต์คันของกลางแม้จำเลยจะเขียนหมายเลขดังกล่าวด้วยตนเองโดยมีลักษณะขนาดตัวหนังสือและตัวเลขไม่เหมือนกับป้ายหมายเลขทะเบียนที่แท้จริง ซึ่งทางราชการกรมตำรวจจัดทำขึ้นก็ตามแต่เมื่อจำเลยกระทำด้วยเจตนาทำเทียมเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง และโดยลักษณะที่อาจจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนแล้วการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและเมื่อจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางที่ติดป้ายหมายเลขทะเบียนปลอมที่จำเลยทำขึ้นดังกล่าวขับขี่ไปจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2347/2561

แม้หนังสือมอบอำนาจกับหนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ทำปลอมขึ้นจะเป็นเอกสารคนละประเภทกันและเขียนวันที่คนละวันกัน แต่ก็เป็นการกระทำที่มีเจตนาเดียวกันคือเพื่อให้ได้เงินกู้จากโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
หนังสือมอบอำนาจเป็นเพียงเอกสารที่บุคคลหนึ่งเป็นผู้มอบอำนาจมอบหมายให้บุคคลอีกคนหนึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจให้มีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทน มิได้เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ หนังสือมอบอำนาจจึงไม่เป็นเอกสารสิทธิ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 1 (9)
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน แม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นเอกสารราชการ แต่มีเพียงการปลอมลายมือชื่อของเจ้าของบัตรและเจ้าของทะเบียนบ้านลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านที่แท้จริง โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านให้แตกต่างไปแต่อย่างใด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านดังกล่าว ยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การปลอมลายมือชื่อเจ้าของบัตรและเจ้าของทะเบียนบ้านลงในสำเนาบัตรและสำเนาทะเบียนบ้าน จึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารตาม ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12137/2558

ความผิดฐานปลอมเอกสารต้องเป็นการกระทำต่อเอกสารอันเป็นผลให้เอกสารนั้นผิดแผกแตกต่างไป ด้วยเจตนาให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารนั้นเป็นเอกสารที่แท้จริง แม้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจะเป็นเอกสารราชการ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่ามีเพียงการปลอมลายมือชื่อของโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงของโจทก์ร่วม โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้แตกต่างไปจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนนี้แต่อย่างใด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนดังกล่าวยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การปลอมลายมือชื่อโจทก์ร่วมลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนจึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น เมื่อจำเลยใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ร่วมดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม คงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2563

แม้โจทก์จะฟ้องว่าจําเลยทั้งสองปลอมสำเนาบัตรประจําตัวประชาชนซึ่งเป็นเอกสารราชการ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้องว่าจําเลยทั้งสองเพียงแต่ปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 ลงในสำเนาบัตรประจําตัวประชาชนที่แท้จริงของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อรับรองความถูกต้อง โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขสำเนาบัตรประจําตัวประชาชนให้แตกต่างไปจากสำเนาบัตรประจําตัวประชาชนนี้แต่อย่างใด สำเนาบัตรประจําตัวประชาชนดังกล่าวยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายที่ 1 ลงในสำเนาบัตรประจําตัวประชาชน จึงเป็นเพียงการปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก (เดิม) เท่านั้น
เมื่อจําเลยทั้งสองใช้สำเนาบัตรประจําตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 ดังกล่าว จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม คงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม) ซึ่งจําเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม จึงต้องลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1572/2557

องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสาร ที่ว่า..โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย เมื่อไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร
คำพิพากษาย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้ แม้ ล.จะอนุญาตหรือให้ความยินยอม และเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบันทึกแนะนำให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ล. ในเอกสารหมาย จ. 2 ถึง จ. 4 จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร แต่ในความผิดฐานแจ้งความเท็จและความผิดฐานปลอมเอกสารนี้จะต้องได้ความด้วยว่าอยู่ในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนหรือไม่ เมื่อได้ความจากโจทก์ร่วมว่าโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อโอนลอยในคำร้องโอนสิทธิการเช่าสัญญาเช่าอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้สนใจว่าใครจะนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความอย่างไร แสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมพอใจในราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเช่าเสียมากกว่า หาใช่มีข้อตกลงโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเจาะจงแต่อย่างใดไม่ สอดคล้องกับที่ ส. เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสตึก พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับคำร้องโอนสิทธิการเช่าเบิกความว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่ ล. ทั้งใบเสร็จรับเงินค่าคำร้องโอนสิทธิการเช่าอาคารตามเอกสารหมาย จ. 5 ก็ระบุว่าได้รับเงินจาก ล. จากพฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์ร่วมและเทศบาลตำบลสตึกไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานปลอมเอกสารตามฟ้อง
คำพิพากษาย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 264, 265, 266, 267, 268
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางดารารัตน์ ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าอาคารพิพาทจากเทศบาลตำบลสตึก อำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ปี 2547 จำเลยที่ 1 โอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทตีใช้หนี้ให้แก่โจทก์ร่วม เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2550 โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองไปโอนสิทธิการเช่าสัญญาเช่าอาคารพิพาทที่สำนักงานเทศบาลตำบลสตึก โดยจำเลยที่ 2 ใช้ชื่อลัดดา และลงลายมือชื่อ ลัดดา พี่สาวของจำเลยที่ 2 ในช่องผู้รับโอนในคำร้องโอนสิทธิการเช่าสัญญาเช่าอาคาร ในบันทึกตกลงการโอนสิทธิการเช่า และในช่องผู้เช่าในสัญญาเช่าอาคารหรือสิ่งก่อสร้าง ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ ลัดดา ไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้ แม้นางลัดดา จะอนุญาตหรือให้ความยินยอม และเจ้าหน้าที่ผู้จัดทำบันทึกแนะนำให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ นางลัดดา ก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อนางลัดดา ในเอกสาร จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร แต่ในความผิดฐานแจ้งความเท็จและความผิดฐานปลอมเอกสารนี้จะต้องได้ความด้วยว่าอยู่ในลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนหรือไม่ เมื่อได้ความจากโจทก์ร่วมว่าโจทก์ร่วมลงลายมือชื่อโอนลอยในคำร้องโอนสิทธิการเช่าสัญญาเช่าอาคารดังกล่าวโดยไม่ได้สนใจว่าใครจะนำเอกสารดังกล่าวไปกรอกข้อความอย่างไร แสดงให้เห็นว่า โจทก์ร่วมพอใจในราคาค่าตอบแทนการโอนสิทธิการเช่าเสียมากกว่า หาใช่มีข้อตกลงโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โดยเจาะจงแต่อย่างใดไม่ สอดคล้องกับที่นางสุวรรณี เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลสตึก พยานโจทก์และโจทก์ร่วม ซึ่งเป็นผู้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับคำร้องโอนสิทธิการเช่าเบิกความว่า โจทก์ร่วมประสงค์จะโอนสิทธิการเช่าอาคารพิพาทให้แก่นางลัดดา ทั้งใบเสร็จรับเงินค่าคำร้องโอนสิทธิการเช่าอาคารก็ระบุว่าได้รับเงินจากนางลัดดา จากพฤติการณ์ดังกล่าวโจทก์ร่วมและเทศบาลตำบลสตึกไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานปลอมเอกสารตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

ผู้พิพากษา
ชูเกียรติ ตันทวีวงศ์
ประทีป ดุลพินิจธรรมา
ทรงศิลป์ ธรรมรัตน์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2092/2564

การปลอมเอกสาร ไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อน
------------------------
คำพิพากษาฎีกาที่ 2092/2564
เอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ เมื่อพิจารณาหนังสือจะซื้อจะขายที่ดินกับกรมบังคับคดี มีข้อความระบุข้อตกลงจะซื้อจะขายที่ดินระหว่างกรมบังคับคดีฝ่ายจำหน่ายทรัพย์ภายในผู้จะขายกับนาย ส.ผู้จะซื้อ
ส่วนหนังสือเรื่อง คำสั่งรอการพิจารณาการจำหน่ายทรัพย์ มีข้อความแจ้งนาย ส.ว่าจำเลย ที่เป็นผู้ถือครองทรัพย์ที่ดินเดิม ขอโอกาสไถ่ถอนซื้อคืนทรัพย์ ซึ่งหากไถ่ถอนชื้อคืนได้ฝ่ายจำหน่ายทรัพย์กรมบังคับคดี จะคืนเงินให้แก่นาย ส. แต่หากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติตามคำร้องขอต่อศาลได้ จะแจ้งให้ทราบ เพื่อมาทำ สัญญาต่อไป หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวด้านบนระบุชื่อของกรมบังคับคดี และมีข้อความในบรรทัดแรกว่าทำที่กรมบังคับคดี ซึ่งเป็นส่วนราชการโดยมีเนื้อหาข้อความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติราชการของกรมบังคับคดี ทั้งยังระบุตำแหน่งและลายมือชื่อปลอมของผู้อำนวยการกองจำหน่ายทรัพย์ อันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การปลอมรูปแบบ เนื้อหาข้อความลายมือชื่อ รวมทั้งตำแหน่งของผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือ ล้วนมุ่งประสงค์ให้นาย ส. และผู้พบเห็นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงซึ่งเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีที่ได้ทำขึ้นในหน้าที่ เพื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับนาย ส.และแจ้งผลการดำเนินการให้นาย ส.ทราบ แม้ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าหนังสือจะซื้อจะขายที่ดินและหนังสือเรื่องคำสั่งรอการพิจารณาการจำหน่ายทรัพย์ ไม่ใช่หนังสือราชการของกรมบังคับคดีที่ต้องมีเครื่องหมายครุฑและกรมบังคับคดี ไม่เคยมีหนังสือลักษณะดังกล่าวก็ตาม แต่การทำเอกสารปลอมนั้น ไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงอยู่ก่อนและไม่จำต้องทำให้เหมือนจริง ดังนั้น หนังสือดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารปลอม ที่มุ่งประสงค์ให้นาย ส.และผู้พบเห็นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงซึ่งเจ้าพนักงานกรมบังคับคดีได้ทำขึ้นในหน้าที่ จึงเป็นเอกสารราชการปลอม การที่จำเลยนำหนังสือจะซื้อจะขายที่ดินกับกรมบังคับคดีและหนังสือเรื่องคำสั่งรอการพิจารณาการจำหน่ายทรัพย์ไปมอบให้แก่นาย ส.จึงเป็นการกระทำความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 155/2566

จำเลยกับพวกเพียงแต่ปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหายที่ 1 และ ที่ 3 ลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่แท้จริงของผู้เสียหายที่ 1 และ ที่ 3 โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนให้แตกต่างไปจากสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริงการปลอมลายมือชื่อผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 ลงในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเป็นเพียงการปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก การที่จำเลยใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2566

พนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต โจทก์
นาย ณ. โจทก์ร่วม
นางสาว ป. จำเลย

จำเลยเป็นกรรมการบริษัทคนหนึ่งจึงมีอำนาจหน้าที่ต้องจัดให้จดบันทึกรายงานการประชุมและข้อมติทั้งหมดของที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1207 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีการประชุมผู้ถือหุ้นและวาระการประชุมและข้อมติจะเป็นความเท็จ รายงานการประชุมก็ไม่เป็นเอกสารปลอมคงเป็นรายงานการประชุมที่จำเลยทำขึ้นเป็นเท็จ ส่วนที่จำเลยลงลายมือชื่อในรายงานการประชุม 2 แห่งใต้ข้อความว่า รับรองรายงานการประชุมถูกต้อง ย่อมเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการบริษัทที่มีหน้าที่จัดทำรายงานการประชุม ส่วนอีกแห่งหนึ่งแม้น่าจะเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะประธานที่ประชุม ซึ่งจำเลยไม่อาจเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ แต่ก็ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของประธานที่ประชุมที่ต้องจัดทำหรือรับรองรายงานการประชุม การที่จำเลยลงลายมือชื่อในฐานะประธานที่ประชุมแม้เป็นความเท็จแต่เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อขอตนเอง จึงเป็นการลงลายมือชื่อจำเลยว่าเป็นประธานที่ประชุมอันเป็นความเท็จเท่านั้น ไม่เป็นการทำปลอมรายงานการประชุม จึงไม่เป็นการปลอมเอกสาร และไม่อาจเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม
(พิศิฏฐ์ สุดลาภา-สมชัย ที่ฆาอุตมากร-ชูศักดิ์ ทองวิทูโกมาลย์)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 56)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 56 ปีการศึกษา 2546
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 5 ตุลาคม 2546

 

คำถาม


ข้อ 4.  นายแดงเป็นคนไทยอยู่ต่างประเทศทำหนังสือมอบอำนาจเป็นภาษาอังกฤษที่สถานทูตไทย ให้นายดำไปดำเนินการให้เช่าที่ดินของตนที่อยู่ในประเทศไทย แต่นายดำไม่สามารถหาผู้เช่าได้ มีแต่ผู้ต้องการซื้อ นายดำจึงได้ดำเนินการขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายเขียวโดยแปลหนังสือมอบอำนาจของนายแดงเป็นภาษาไทย โดยเพิ่มเติมข้อความในคำแปลว่า นายแดงมอบอำนาจให้นายดำ ดำเนินการขายที่ดินแปลงดังกล่าวได้ด้วย แล้วนำหนังสือมอบอำนาจฉบับภาษาอังกฤษและคำแปลภาษาไทยไปยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขาย เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินสอบถาม นายดำก็ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า นายแดงมอบอำนาจให้นายดำให้เช่าหรือขายที่ดินแปลงดังกล่าวได้ เจ้าพนักงานที่ดินได้จดถ้อยคำดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานและดำเนินการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่ดินให้ โดยให้นายดำลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายด้วยจากนั้นนายดำได้ส่งเงินค่าขายที่ดินทั้งหมดให้นายแดง ให้วินิจฉัยว่า นายดำมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 นายดำเป็นผู้ทำคำแปลหนังสือมอบอำนาจภาษาไทยขึ้นเอง คำแปลดังกล่าวจึงเป็นเอกสารของนายดำ ผู้ที่อ่านเอกสารดังกล่าวไม่มีใครเข้าใจว่าเป็นเอกสารที่นายแดงทำขึ้น เอกสารดังกล่าวจึงไม่ใข่เอกสารปลอมทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด นายดำไม่ได้เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในหนังสือมอบอำนาจฉบับภาษาอังกฤษของนายแดง ซึ่งเป็นเอกสารที่แท้จริง ทั้งนายดำไม่ได้ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารใดๆ นายดำจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 การที่นายดำให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินเป็นการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ โดยมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานว่านายแดงมอบอำนาจให้ขายที่ดินได้ เจ้าพนักงานที่ดินได้จดถ้อยคำดังกล่าวไว้ และให้นายดำลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขาย บันทึกถ้อยคำของนายดำและหนังสือสัญญาซื้อขายเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำขึ้นในหน้าที่ จึงเป็นเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน และการกระทำของนายดำดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่นายแดง นายดำจึงมีความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 267 และฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 4/2486)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 57)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 57 ปีการศึกษา 2547
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 3 ตุลาคม 2547

 

คำถาม


ข้อ 4.  นายดำเป็นลูกจ้างมีหน้าที่รับและจ่ายเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัด แดงก่อสร้าง ซึ่งมีนายแดงเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายเขียวลูกหนี้ของห้างฯ สั่งจ่ายเช็คของธนาคารแห่งหนึ่งให้แก่ห้างฯ เพื่อชำระหนี้ โดยนำเช็คไปมอบให้นายดำ นายดำเห็นว่านายแดงไม่อยู่ที่ห้างฯ จึงลงลายมือชื่อของนายดำด้านหลังเช็คแล้วนำตราของห้างฯ ประทับกำกับลายมือชื่อของนายดำ เพื่อให้พนักงานธนาคารหลงเชื่อไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารในวันรุ่งขึ้น แต่ปรากฎว่านายดำป่วย จึงไม่ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามที่ตั้งใจไว้
ให้วินิจฉัยว่า นายดำมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 เช็คที่นายเขียวสั่งจ่ายเป็นเอกสารที่แท้จริง การที่นายดำลงลายมือชื่อและประทับตราของห้างฯ ด้านหลังเช็คเป็นการเติมข้อความลงในเช็ค
ซึ่งเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยไม่มีอำนาจ เมื่อได้กระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นคือธนาคาร และกระทำโดยมีเจตนาเพื่อลวงให้พนักงานธนาคารหลงเชื่อว่าเป็นการลงลายมือชื่อสลักหลังโดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนห้างฯ แม้นายดำยังไม่ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว ดำจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264
เช็คเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิ จึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) นายดำจึงมีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 265
เช็คเป็นตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 298 นายดำจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (4) ด้วย (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2022/2531, 769/2540, 4073/2545)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 58)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 58 ปีการศึกษา 2548
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 25 กันยายน 2548

 

คำถาม


ข้อ 4.   นายชัยมีความประสงค์ที่จะขายที่ดินพร้อมบ้านไม้สักสองชั้นของตนให้แก่นายชม แต่นายชัยเกิดป่วยหนักไม่สามารถดำเนินการเองได้ จึงตั้งใจจะทำหนังสือมอบอำนาจให้นายชาญจัดการแทน นายชัยเพียงแต่ลงลายมือชื่อของตนในหนังสือมอบอำนาจ และมอบหมายให้นายชาญกรอกข้อความเอง แต่นายชัยถึงแก่ความตายเสียก่อนมีการกรอกข้อความ นายชาญจึงนำหนังสือมอบอำนาจที่นายชัยเพียงแต่ลงลายมีอชื่อไว้ไปกรอกข้อความว่า นายชัยมอบอำนาจให้นายชาญขายที่ดินพร้อมบ้านไม้สักสองชั้นให้แก่นายชม ซึ่งตรงตามความประสงค์ของนายชัย ทั้งที่นายชาญรู้ว่านายชัยถึงแก่ความตายแล้ว และนำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปให้นายชม โดยที่นายชมไม่รู้ว่านายชัยถึงแก่ความตาย วันต่อมา นายชาญและนายชมนำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปยื่นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านไม้สักสองชั้นให้แก่นายชม
ให้วินิจฉัยว่า นายชาญมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  นายชาญนำหนังสือมอบอำนาจที่มีแต่ลายมือชื่อของนายชัย แต่ยังมิได้มีการกรอกข้อความโดยที่นายชาญรู้ว่านายชัยถึงแก่ความตายแล้ว การมอบอำนาจยังไม่สมบูรณ์ โดยผู้มอบอำนาจถึงแก่ความตายเสียก่อน การมอบอำนาจก็สิ้นผล นายชาญผู้รับมอบอำนาจไม่มีสิทธิดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว แต่นายชาญกลับทำให้การมอบอำนาจซึ่งยังมิได้เกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ ดูเสมือนเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ด้วยการกรอกข้อความ จึงอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน แม้มีข้อความตรงตามความประสงค์ของนายชัย นายชาญก็มีความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6898/2539)
นายชาญนำเอกสารปลอมไปยื่นแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านไม้สักสองชั้นให้แก่นายชม นายชาญมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรกและเมื่อนายชาญเป็นผู้ปลอมเอกสารเองต้องลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมแต่เพียงกระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 59)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 59 ปีการศึกษา 2549
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 24 กันยายน 2549

 

คำถาม


ข้อ 4.  นายเดชตัดเลขหมายประจําแชสซีของรถยนต์โตโยต้าออก แล้วตัดเลขหมายประจําแชสซีของรถยนต์ฮอนด้ามาเชื่อมต่อไว้แทน เอาป้ายทะเบียนรถยนต์ฮอนด้าที่ทางราชการออกให้ไปติดใช้กับรถยนต์โตโยต้าซึ่งป้ายทะเบียนหลุดตกหายไป และเอาแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจําปีที่แท้จริงของรถยนต์ฮอนด้าไปติดไว้ที่กระจกหน้ารถยนต์โตโยต้าซึ่งมิได้เสียภาษีรถยนต์ประจําปี แล้วนํารถยนต์โตโยต้าไปใช้งานเพื่อให้คนหลงเชื่อว่ารถยนต์โตโยต้าคันดังกล่าวมีเลขหมายประจําแชสซี หมายเลขป้ายทะเบียน ตามที่นายเดชทําและเสียภาษีรถยนต์ประจําปีถูกต้องแล้ว
ให้วินิจฉัยว่า นายเดชมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด หรือไม่


ธงคำตอบ

 นายเดชไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 265 เพราะเลขหมายประจําแชสซีของรถยนต์ฮอนด้าเป็นหมายเลขประจํารถยนต์ที่แท้จริง ป้ายทะเบียนรถยนต์ฮอนด้า ป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ประจําปีก็เป็นเอกสารที่แท้จริงที่ทางราชการทําขึ้น นายเดชไม่ได้ทําปลอมเอกสารทั้งสามฉบับดังกล่าวขึ้น และสําหรับแชสซีก็ไม่ได้มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ขูด ลบ ตัวอักษรหรือตัวเลขหมายประจําแชสซีแต่อย่างใด แม้นายเดชจะกระทําโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และกระทําโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่ารถยนต์โตโยต้ามีหมายเลขแชสซี ป้ายทะเบียนที่เป็นของรถยนต์ฮอนด้าและเสียภาษีถูกต้องแท้จริงแล้วก็ตาม ดังนั้น เมื่อการกระทําของนายเดชไม่เป็นการปลอมเอกสารและปลอมเอกสารราชการเสียแล้ว การที่นายเดชนําเอกสารดังกล่าวไปใช้อ้าง นายเดชจึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารและเอกสารราชการปลอม ตามมาตรา 268 วรรคแรก แต่อย่างใด (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 510/2530, 3078/2525 และ 1347/2541)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 60)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 60 ปีการศึกษา 2550
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 30 กันยายน 2550

 

คำถาม


ข้อ 4.  นายสมได้นําแบบพิมพ์หนังสือลาออกมาเขียนข้อความว่า “เขียนที่ทําการผู้ใหญ่บ้าน วันที่ 1 สิงหาคม 2550 เรื่องขอลาออกจากตําแหน่งผู้ใหญ่บ้าน เรียน นายอําเภอพานทอง เนื่องด้วยข้าพเจ้า นายแสง ไม่สามารถปฏิบัติ หน้าที่ในตําแหน่งผู้ใหญ่บ้านได้ เพราะมีปัญหาสุขภาพ จึงขอลาออกจากตําแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2550 ขอใด้โปรดพิจารณาอนุญาตให้ข้าพเจ้าลาออกจากตําแหน่งผู้ใหญ่บ้านด้วย ขอแสดงความนับถือ ลงลายมือชื่อ นายแสง ผู้ใหญ่บ้าน” และในช่องความเห็นกํานันท้องที่ นายสมได้กรอกข้อความว่า “เห็นสมควรตาม ที่ผู้ใหญ่บ้านขอลาออก” และได้ลงลายมือชื่อ นายสาย กํานันตําบลบางนาง ความจริงแล้วนายแสงไม่ให้ลาออกจาก ตําแหน่งผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด และนายสมได้นําหนังสือลาออกดังกล่าวไปยื่นต่อนายอ้าเภอพานทอง นายอําเภอพานทองจึงออกคำสั่งให้นายแสงลาออกจากตําแหน่งผู้ใหญ่บ้านได้
ให้วินิจฉัยว่า นายสมมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

 การที่นายสมปลอมเอกสารหนังสือลาออกจากตําแหน่งผู้ใหญ่บ้านของนายแสง และคํารับรองความเห็นของ นายสาย กํานันตําบลบางนาง โดยนายสมลงลายมือชื่อปลอมของบุคคลทั้งสองในเอกสารหนังสือลาออกดังกล่าว เป็นการทําเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายแสง ผู้ใหญ่บ้าน และนายสาย กํานันตําบลบางนาง การกระทําของนายสม จึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก และการที่นายสมได้นําเอกสารหนังสือลาออกดังกล่าวไปใช้อ้างแสดงต่อนายอําเภอพานทอง นายสมจึงมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ให้ลงโทษนายสมฐานใช้เอกสารปลอม ตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เพียงกระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง (คําพิพากษาฎีกาที่ 4495/2548)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 64)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 64 ปีการศึกษา 2554
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 25 กันยายน 2554

 

คำถาม


ข้อ 4.  นางดําปลอมบัตรเครดิตของนายเขียวซึ่งเป็นบัตรที่ธนาคารแห่งหนึ่งออกให้แก่นายเขียว โดยบัตรที่นางดําปลอมนั้นมีขนาด รูปร่างและข้อความเหมือนกับที่ธนาคารออกให้แก่นายเขียว นอกจากนี้นางดํายังปลอมลายมือชื่อของนายเขียวในบัตรปลอมนั้นด้วย แล้วนางดําเก็บบัตรปลอมนั้นไว้ในลิ้นชักโต๊ะทํางานและตั้งใจว่าจะนําบัตรปลอมนั้นไปใช้ซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าในวันรุ่งขึ้น
ให้วินิจฉัยว่า นางดํามีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  การที่นางดําปลอมบัตรเครดิตของนายเขียวและปลอมลายมือชื่อของนายเขียวในบัตรเครดิตที่ทําปลอมขึ้นนั้น เป็นการปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก และเมื่อบัตรเครดิตนั้นเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิ์ จึงเป็นเอกสารสิทธิตามมาตรา 1(9) นางดําจึงมีความผิดตามมาตรา 265
การปลอมบัตรเครดิตเป็นการปลอมบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/1 ด้วย เพราะบัตรเครดิตเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1 (14) (ก) และเมื่อบัตรดังกล่าวธนาคารผู้ออกบัตรได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้เพื่อใช้ประโยชน์ในการชําระค่าสินค้าแทนการชำระด้วยเงินสด นางดําจึงมีความผิด ตามมาตรา 269/1 ประกอบมาตรา 269/7
ส่วนที่นางดําตั้งใจว่าจะนําบัตรเครดิตปลอมนั้นไปใช้ซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้าในวันรุ่งขึ้นนั้น การที่มีบัตรนั้นไว้จึงมีความผิดฐานมีไว้เพื่อใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 269/7 ด้วย

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 65)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 65 ปีการศึกษา 2555
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 30 กันยายน 2555

 

คำถาม


ข้อ 4.  นายขาวทําเครื่องมือสําหรับทําเหรียญห้าบาท ซึ่งรัฐบาลออกใช้ขึ้นมา 1 ชุด แล้วเก็บไว้ วันรุ่งขึ้นนายขาวใช้เครื่องมือดังกล่าว ทำเหรียญห้าบาทขึ้นมาจํานวนหนึ่ง ตั้งใจว่าจะใช้เหรียญห้าบาทนั้นไปซื้อสิ่งของแต่ยังไม่ทันได้นําไปใช้ เจ้าพนักงานตํารวจจับกุมนายขาวได้เสียก่อน
ให้วินิจฉัยว่า นายขาวมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานใดบ้าง


ธงคำตอบ

 นายขาวทําเครื่องมือสําหรับปลอมเงินตราคือเหรียญห้าบาท ซึ่งเป็นเหรียญกระษาปณ์ซึ่งรัฐบาลออกใช้ และมีเครื่องมือเช่นว่านั้นเพื่อใช้ใน การปลอมเหรียญห้าบาท นายขาวจึงมีความผิดฐานทำและมีเครื่องมือทำปลอมเงินตรา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 เมื่อนายขาวใช้เครื่องมือดังกล่าวทำเหรียญห้าบาทขึ้นมา จึงเป็นการทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตรา เหรียญห้าบาท อันเป็นเหรียญกระษาปณ์ซึ่งรัฐบาลออกใช้ นายขาวจึงมีความผิดฐานปลอมเงินตรา ตามมาตรา 240 อีกกระทงหนึ่ง และการที่นายขาวตั้งใจว่าจะใช้เหรียญห้าบาทนั้นไปซื้อสิ่งของ แม้จะยังไม่ทันได้ใช้ก็เป็นการมีไว้เพื่อนําออกใช้ ซึ่งเหรียญห้าบาทปลอม ที่นายขาวได้มา โดยรู้ว่าเป็นของปลอมอันเป็นความผิดสำเร็จแล้ว นายขาวจึงมีความผิดฐานมีไว้เพื่อนําออกใช้ซึ่งเงินตราปลอม ตามมาตรา 244 อีกกระทงหนึ่ง แต่นายขาวเป็นผู้กระทําความผิดฐานปลอมเงินตรา ได้กระทําความผิดฐานทําและมีเครื่องมือทําปลอมเงินตรา และฐานมีไว้เพื่อนําออกใช้ซึ่งเงินตราปลอม จึงเป็นกรณีที่นายขาวกระทําความผิดตามมาตราอื่น อันเกี่ยวกับสิ่งที่ตนปลอมนั้นด้วย ต้องลงโทษนายขาวฐานปลอมเงินตรา ตามมาตรา 240 ประกอบมาตรา 248 กระทงเดียว (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 92/2521, 2846/2519)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 69)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 69 ปีการศึกษา 2559
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 25 กันยายน 2559

 

คำถาม


ข้อ 4.   บริษัทรัตนา จํากัด มีนายณรงค์ นายชัย นายรุ่ง และนายเรือง เป็นผู้ถือหุ้น บริษัทรัตนา จํากัด โดยนายณรงค์ กรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทน มอบอํานาจให้นายพงศ์ ทนายความไปยื่นคําขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิย้ายที่ตั้ง สํานักงานแห่งใหญ่ของบริษัทรัตนา จํากัด ต่อนายสุธี นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร โดยแนบเอกสารมีข้อความว่า นายณรงค์ได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และ ส่งมอบหนังสือนัดประชุมให้ผู้ถือหุ้นแล้ว มีกรรมการและผู้ถือหุ้นเข้าประชุม 4 คน นับจํานวนได้ 520,000 หุ้น นายณรงค์เป็นประธานที่ประชุม บริษัทมีมติพิเศษในการประชุมวิสามัญ ผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 ให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิย้ายที่ตั้งสํานักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจากเดิมซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ไปอยู่ที่จังหวัด ราชบุรี ซึ่งเป็นความเท็จ โดยนายพงศ์ไม่ทราบว่าเป็นความเท็จ และนายพงศ์ ทนายความ ได้ลงลายมือชื่อของนายณรงค์ รับรองสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนของนายณรงค์ว่าถูกต้อง แล้วนําไปยื่นต่อนายสุธี นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครดังกล่าวด้วย เป็นเหตุให้ นายสุธีหลงเชื่อและรับดําเนินการจดทะเบียนให้ตามคําขอ
ให้วินิจฉัยว่า นายณรงค์และนายพงศ์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด หรือไม่


ธงคำตอบ

  การที่นายณรงค์กรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนบริษัทรัตนา จํากัด มอบอํานาจ ให้นายพงศ์ทนายความไปยื่นคําขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิย้ายที่ตั้ง สํานักงานแห่งใหญ่ของบริษัทรัตนา จํากัด ต่อนายสุธี นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร โดยแนบเอกสารมีข้อความว่า นายณรงค์ได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และ ส่งมอบหนังสือนัดประชุมให้ผู้ถือหุ้นแล้ว และที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559 มีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิย้ายที่ตั้งสํานักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจากเดิมซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครไปอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นความเท็จ การกระทําของนายณรงค์จึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน และแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทําการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สําหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ประกอบมาตรา 267 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 9556/2558)
แม้สําเนาบัตรประจําตัวประชาชนเป็นเอกสารราชการ แต่นายพงศ์ทนายความ เพียงปลอมลายมือชื่อของนายณรงค์ รับรองสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนที่แท้จริงของนายณรงค์ โดยไม่มีการเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขสําเนาบัตรประจําตัวประชาชน ให้แตกต่างไปจากสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนแต่อย่างใด สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน ยังคงเป็นเอกสารที่แท้จริง การที่นายพงศ์ทนายความปลอมลายมือชื่อของนายณรงค์ลงในสําเนาบัตรประจําตัวประชาชนจึงเป็นเพียงความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก แต่ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ ตามมาตรา 265 การนําเอกสารดังกล่าวไปยื่นต่อนายสุธีจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 12137/ 2558)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 70)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2560
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 24 กันยายน 2560

 

คำถาม


ข้อ 4.   นายดํากับนางแดงจดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 1 คน ระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา นายดำกับนางแดงซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 11 พร้อมสิ่งปลูกสร้างร่วมกัน และได้จํานองไว้แก่ธนาคาร โดยต้องผ่อนชำระหนี้แก่ธนาคาร ต่อมานายดํากับนางแดงจดทะเบียนหย่าด้วยความยินยอม นายดำกับนางแดงทำบันทึกข้อตกลงในการหย่าว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 11 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง นายดํายินยอมให้นางแดงขายแล้วนำเงินส่วนที่เหลือจากการชําระหนี้ไถ่ถอนจํานองไปซื้อหรือวางเงินดาวน์บ้านหลังใหม่ และเงินที่เหลือให้ฝากธนาคารเป็นทุนการศึกษาของบุตร ต่อมานางแดงนําแบบพิมพ์หนังสือมอบอํานาจที่นายดําลงลายมือชื่อไว้โดยยังไม่ได้กรอกข้อความตั้งแต่ก่อนจดทะเบียนหย่ามากรอกข้อความว่า นายดํามอบอํานาจให้นางแดงไถ่ถอนจำนองและขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง หลังจากไถ่ถอนจํานอง นางแดงได้ขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่นำเงินไปซื้อหรือวางเงินดาวน์บ้านหลังใหม่ ทั้งไม่นําเงินไปฝากธนาคารเพื่อเป็นทุนการศึกษาของบุตร
ให้วินิจฉัยว่า นางแดงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  นางแดงนำแบบพิมพ์หนังสือมอบอํานาจที่นายดําเพียงแต่ลงลายมือชื่อไว้ตั้งแต่ก่อนที่นายดํากับนางแดงจะหย่ากันไปกรอกข้อความว่า นายดํามอบอํานาจให้นางแดงไถ่ถอนจํานองและขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แม้การกรอกข้อความดังกล่าวจะกระทําขึ้นภายหลังจากที่นายดํากับนางแดงทําบันทึกข้อตกลงในการหย่าแล้ว โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายดํา แต่กิจการตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอํานาจก็ตรงตามที่นายดํากับนางแดง ได้แสดงเจตนาไว้ ประกอบกับการที่นางแดงนําหนังสือมอบอํานาจไปใช้จดทะเบียนไถ่ถอนจํานองและขายที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างก็ตรงตามที่นายดํากับนางแดงทําบันทึกข้อตกลงว่าให้นางแดงนําที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปขายได้ การที่นางแดงกรอกข้อความลงในแบบพิมพ์หนังสือมอบอํานาจที่นายดําลงลายมือชื่อไว้ จึงมิได้เป็นการกระทํา เพื่อนําเอาหนังสือมอบอํานาจนั้นไปใช้ในกิจการอื่นนอกเหนือไปจากข้อตกลงในการหย่า อันอาจเกิดความเสียหายแก่นายดําหรือผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชนแต่ประการใด ดังนั้น นางแดงจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้ เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก
ส่วนการที่นางแดงขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปแล้ว ไม่นําเงินที่เหลือจากการชําระหนี้ไถ่ถอนจํานองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปซื้อหรือวางเงินดาวน์บ้านหลังใหม่ ทั้งไม่นําเงินที่เหลือไปฝากธนาคารเพื่อเป็นทุนการศึกษาของบุตรก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง อันเป็นเรื่องที่นางแดงมีหน้าที่ต้องกระทําภายหลังจากการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้ ไม่เกี่ยวกับการไถ่ถอนจํานองและขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยการใช้แบบพิมพ์หนังสือมอบอํานาจที่นายดําลงลายมือชื่อไว้แล้วนางแดงนําไปกรอกข้อความแต่อย่างใด (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 2317/2543)

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 72)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 72 ปีการศึกษา 2562
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 29 กันยายน 2562

 

คำถาม


ข้อ 4.  นายเอกทําสัญญากู้ยืมเงินจากนางโท 500,000 บาท โดยมีที่ดินของตนเป็นประกันหนี้เงินกู้ และมีนายตรีซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางโทลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญากู้ยืมเงิน แต่นายเอกไม่สบายจึงมอบโฉนดที่ดินของตนให้นางโทไปจดทะเบียนจํานองเพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้เอง นายเอกจึงทําหนังสือมอบอํานาจโดยมิได้กรอก ข้อความมอบให้แก่นางโท ในวันรุ่งขึ้น นางโทกรอกข้อความในหนังสือมอบอํานาจว่านายเอกมอบอํานาจให้นางโท ไปจดทะเบียนขายที่ดินให้แก่นางโท และนางโทให้นายตรีลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอํานาจ แล้วนายตรีเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนนางโทนําหนังสือมอบอํานาจและโฉนดที่ดินดังกล่าวไปดําเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นของตนที่สํานักงานที่ดิน
ให้วินิจฉัยว่า นางโทและนายตรีมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด หรือไม่


ธงคำตอบ

 นายเอกได้กู้ยืมเงินจากนางโท 500,000 บาท และทําหนังสือมอบอํานาจโดยมิได้กรอกข้อความมอบให้แก่นางโท ก็เพื่อให้นางโทไปจดทะเบียนจํานองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ แต่นางโทกลับไปกรอกข้อความว่า นายเอกมอบอํานาจให้นางโทไปจดทะเบียนขายที่ดินให้แก่นางโท เป็นการกระทําโดยฝ่าฝืนคําสั่งของนายเอก และการที่นางโทนําหนังสือมอบอํานาจดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายเอก จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 264
ส่วนนายตรีเป็นสามีนางโทและลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน แสดงว่านายตรีรู้เรื่องที่นายเอกกู้ยืมเงินจากนางโท และทําหนังสือมอบอํานาจให้นางโทไปจดทะเบียนจํานองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ ดังนั้น การที่นายตรีได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอํานาจที่นางโทได้กรอกข้อความ โดยฝ่าฝืนคําสั่งของนายเอกดังกล่าว พฤติการณ์ถือได้ว่านายตรีเป็นตัวการร่วมกับนางโทในการปลอมหนังสือมอบอํานาจด้วย และการปลอมหนังสือมอบอํานาจดังกล่าวก็โดยมีเจตนาจะนําไปใช้ในการจดทะเบียนโอนที่ดินมาเป็นของนางโท แม้นายตรีจะไม่ได้ไปด้วยในวันที่นําหนังสือมอบอํานาจปลอมไปจดทะเบียนโอนที่ดิน เนื่องจากเดินทางไปต่างประเทศ แต่เมื่อนายตรีร่วมกระทําผิดกับนางโทมาตั้งแต่ต้น ทั้งเป็นสามีภริยากันมีส่วนได้เสียในที่ดินที่รับโอน ถือได้ว่านายตรีเป็นตัวการร่วมในการปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมด้วย จึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 264, 83 (คําพิพากษาฎีกาที่ 176/2537)

มาตรา-264-ทำเอกสารปลอม
มาตรา-264-ทำเอกสารปลอม

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔

ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดเติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน “สามปี” หรือปรับไม่เกิน “หกหมื่นบาท” หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน

ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร
 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน

สารบัญ ประมวลกฎหมายอาญา

0 0 votes
Article Rating
(Visited 2,973 times, 2 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
1 Comment
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments