คำร้องขอขยายเวลาสืบหาภูมิลำเนาจำเลย

คำร้องขอขยายเวลา

คำร้อง : คดีแพ่ง, คำร้องขอขยายระยะเวลา, ติวสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความ
คำร้องขอขยายเวลาสืบหาภูมิลำเนาจำเลย
คำร้องขอขยายเวลาสืบหาภูมิลำเนาจำเลย

การคำนวณระยะเวลา

       ในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่างๆ นั้นจะต้องมีการกำหนดระยะเวลา เพื่อให้คดีได้ดำเนินไปตามระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อความยุติธรรม ซึ่งจะเป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดไว้ โดยคู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามระยะเวลาดังกล่าว มิฉะนั้นจะเกิดผลเสียแก่คดีหรืออาจต้องเสียสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้

       สำหรับการคำนวณระยะเวลานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ได้บัญญัติวิธีการในการคำนวณระยะเวลาไว้โดยตรง แต่ได้มีการบัญญัติไว้ให้คำนวณตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยระยะเวลาดังที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 22

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 22

       “กำหนดระยะเวลาทั้งปวงไม่ว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือที่ศาลเป็นผู้กำหนดก็ดี เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้นให้ศาลคำนวณตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยระยะเวลา”

  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย “ระยะเวลา” บัญญัติไว้ในมาตรา 193/1 ถึง มาตรา 193/8 จึงจำเป็นต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณนับระยะเวลา

การขอขยายหรือย่นระยะเวลา

  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23

          “เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือตามที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในกฎหมายอื่น เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น แต่การขยายหรือย่นเวลาเช่นว่านี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย

       ตามบทบัญญัตินี้ เป็นอำนาจของศาลที่จะมีคำสั่งให้ขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่ได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และตามกฎหมายอื่นๆ เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณา เพื่อให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาภายในเวลาที่กำหนด หรือห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น รวมทั้งระยะเวลาที่ศาลกำหนด เช่น เมื่อโจทก์ฟ้องแล้วโจทก์มีหน้าที่ต้องร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันยื่นคำฟ้องตาม มาตรา 173 วรรคหนึ่ง และจำเลยเมื่อได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยชอบแล้ว มีหน้าที่ต้องยื่นคำให้การเป็นหนังสือต่อศาลภายใน 15 วันตาม มาตรา 177 หรือการยื่นอุทธรณ์และการยื่นฎีกา จะต้องยื่นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ตามมาตรา 229 และมาตรา 247 แล้วแต่กรณี หรือกรณีการยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ จะต้องยื่นภายใน 1 ปี นับแต่วันที่คู่ความมรณะตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง

      ส่วนกำหนดเวลาบางอย่างแม้จะได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องของระยะเวลาที่กฎหมายสันนิษฐาน เช่นกรณีตามมาตรา 296 จัตวา (3) หากไม่ยื่นคำร้องว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ภายใน 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศให้สันนิษฐานว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งกรณีนี้แม้จะมีการกำหนดระยะเวลาเหมือนกันแต่ไม่ใช่ระยะเวลาตาม มาตรา 23 ศาลจึงสั่งขยายไม่ได้ 

      นอกจากนี้ ระยะเวลาตาม มาตรา 23 นี้ต้องไม่ใช่อายุความเพราะหากเป็นอายุความแล้วก็ไม่สามารถขยายได้ เพราะเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้ฟ้องคดีจะต้องใช้สิทธินั้นภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวศาลจึงไม่อาจขยายหรือย่นได้ แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นกำหนดระยะเวลาในการบังคับคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีภายในสิบปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยอาศัยตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งจึงมิใช่กำหนดอายุความเพื่อฟ้องร้อง แต่เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ที่คู่ความผู้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิ์ขอขยายระยะเวลาดังกล่าวนี้ได้ 

      แม้แต่กำหนดระยะเวลาให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วันตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 ก็ถือว่าเป็นระยะเวลาตาม มาตรา 23 ที่สามารถขยายได้เช่นกัน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5521/2534 (ประชุมใหญ่)  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6013/2539, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4869/2541, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2546, และ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3453/2548)

      การขอขยายหรือย่นระยะเวลาตาม มาตรา 23 นี้ อาจมีการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า

          ระยะเวลาดังกล่าวนั้น ถ้าไม่สามารถดำเนินการภายในกำหนดได้ ก็ต้องขอขยายระยะเวลาออกไป แต่หากต้องการที่จะดำเนินการก่อนกำหนดก็ต้องขอย่นระยะเวลาเข้ามา “ 

     ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้น

      เพราะ กำหนดระยะเวลาที่จะขยายหรือย่นได้นั้น จะแยกออกจากกันอย่างชัดเจนโดยหากเป็นระยะเวลาประเภทที่กฎหมายกำหนดให้มีการดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้นระยะเวลาพวกนี้จะขอขยายได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้นจะขอย่นเข้ามามิได้ เพราะ โดยสภาพของระยะเวลาประเภทนี้หากคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการให้เร็วกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็สามารถทำได้โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว เพราะยังเป็นการดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดอยู่จึงไม่มีเหตุผลและความจำเป็นใดที่จะต้องมาขอต่อศาลเพื่อย่นระยะเวลาดังกล่าวดังนั้นระยะเวลาประเภทนี้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจะขอขยายระยะเวลาได้เท่านั้นโดยไม่สามารถขอย่นระยะเวลาได้

     ส่วนระยะเวลาอีกประเภทหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อไม่ให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องดำเนินพิจารณาก่อนสิ้นระยะเวลา เช่นกรณีตาม มาตรา 88 ที่กำหนดให้คู่ความต้องยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ดังนี้หากคู่ความไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานได้ล่วงหน้าก่อน 7 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด ก็สามารถใช้สิทธิ์ในการขอย่นระยะเวลาลงเพื่อจะได้ยื่นบัญชีระบุพยานล่วงหน้าน้อยกว่า 7 วันได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560/2541)

    การยื่นขอขยายหรือย่นระยะเวลานั้นต้องยื่นก่อนระยะเวลาสิ้นสุด 

    และต้องเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษว่า คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดำเนินการได้ตามระยะเวลาที่กฎหมายหรือศาลได้กำหนดไว้ ซึ่งพฤติการณ์พิเศษนี้เป็นพฤติการณ์ที่มีลักษณะพิเศษแตกต่าง จากเหตุการณ์ปกติธรรมดาโดยเป็นกรณีที่มีเหตุใดเหตุหนึ่งเกิดขึ้น อันจะทำให้เป็นการขัดขวางหรือเหนี่ยวรั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาที่จะต้องทำนั้นให้ไม่สามารถทำได้ภายในกำหนด แต่ไม่ถึงขนาดต้องเป็นเหตุสุดวิสัยก็สามารถขอขยายหรือย่นระยะเวลาได้โดยคู่ความที่เกี่ยวข้องจะต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล เพื่อขอขยายหรือย่นระยะเวลาและในคำร้องจะต้องปรากฏพฤติการณ์พิเศษด้วยว่า เหตุใดจึงไม่สามารถดำเนินการภายในกำหนดได้ และพฤติการณ์พิเศษนั้น ต้องมิใช่เกิดจากความบกพร่องอันเกิดจากการละเลยของคู่ความหรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่ยื่นคำขอ หรือเป็นเรื่องธุรกิจของผู้ขอ เช่น การที่ไม่ดำเนินการเสียแต่เนิ่นๆ หรือความหลงลืม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1900/2535)

   ยื่นคำขอขยายหรือย่นระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว 

    กรณียื่นคำขอขยายหรือย่นระยะเวลาเมื่อพ้นกำหนดเวลาแล้ว คู่ความจะขอได้ต่อเมื่อ มีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถยื่นคำขอได้ก่อนกำหนด โดยจะต้องแสดงเหตุสุดวิสัยไว้ในคำร้องด้วย ซึ่งเหตุสุดวิสัยนั้น หมายความถึงพฤติการใดๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งไม่สามารถป้องกันได้ ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งหรือคู่ความไม่สามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8659/2548) สำหรับเหตุสุดวิสัย มาตรา 23 นี้ ไม่ต้องถึงขนาดเป็นเหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเกิดจากภัยธรรมชาติ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 695/2519) และอาจเป็นเหตุเดียวกับพฤติการณ์พิเศษที่จะขอขยายหรือย่นระยะเวลาก็ได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2398/2545) ดังนั้น หากมีการยื่นคำขอขยายระยะเวลาภายหลังเมื่อพ้นกำหนดเวลา ผู้ขอจะต้องอ้างทั้งพฤติการณ์พิเศษที่ไม่อาจยื่นคำขอภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย และผู้ขอจะต้องอ้างเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถยื่นคำขอขยายระยะเวลาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนดด้วย จะอ้างเพียงเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งก็ยังไม่ถือว่าเป็นคำร้องขอขยายระยะเวลาตาม มาตรา 23 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4340 – 4341/2535)

    การขอขยายหรือย่นระยะเวลานั้น หากยื่นคำขอแล้วข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำขอ ศาลจะสั่งอนุญาตให้ขยายหรือย่นระยะเวลาตามจำนวนที่ขอหรือจะอนุญาตให้น้อยกว่าที่ขอก็ได้ แต่มีแนวฎีกาที่ 1058/2545 วินิจฉัยว่าศาลจะอนุญาตให้ เกินกว่าที่ขอ ก็ได้ เพราะถือว่าเป็นดุลพินิจของศาล และเมื่อศาลอนุญาตแล้วผู้ขอจะขอขยายหรือย่นระยะเวลาอีกกี่ครั้งก็ได้ ไม่มีข้อห้าม ส่วนศาลจะอนุญาตกี่ครั้งก็ได้ เพราะเป็นดุลพินิจของศาล  นอกจากนี้แม้จะไม่มีเหตุที่คู่ความจะขอขยายระยะเวลาได้ตาม มาตรา 23 แต่หากศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาเองก็ได้ เพราะเป็นอำนาจทั่วไปของศาล  (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9213/2539)

 

สรุป

     ผู้ขอต้องยื่นคำร้องต่อศาลก่อนสิ้นระยะเวลา โดยผู้ขอต้องแสดงถึงพฤติการณ์พิเศษที่ไม่สามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดเวลาแต่ถ้าสิ้นกำหนดระยะเวลาการขอขยายระยะเวลานอกจากจะมีพฤติการณ์พิเศษแล้วผู้ขอต้องแสดงมาในคำร้องด้วยว่าผู้ขอมีเหตุสุดวิสัยจึงไม่สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนสิ้นระยะเวลาดังกล่าวด้วย

 

หลักการบรรยาย

  1. คดีอยู่ในขั้นตอนใด
  2. มีเหตุขัดข้องอย่างไร
  3. ขอขยายระยะเวลากี่วัน นับตั้งแต่วันใด

ตัวอย่างการบรรยาย ขอขยายเวลาสืบหาภูมิลำเนาจำเลย

ข้อ 1 คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลย เมื่อวันที 1 มกราคม 2558

เนื่องจาก เจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยไม่ได้ รายละเอียดปรากฏตามรายงานการเดินหมาย

โจทก์ขอประทานกราบเรียนต่อศาลขอเวลา 15 วัน นับแต่วันนี้เพื่อสืบหาภูมิลำเนาของจำเลย โดยโจทก์จะแถลงให้ศาลทราบเพื่อดำเนินการต่อไปภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ขอศาลได้โปรดอนุญาต

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

 

คำร้องขอขยายเวลาสืบหาภูมิลำเนาจำเลย-หน้าแรก
คำร้องขอขยายเวลาสืบหาภูมิลำเนาจำเลย-หน้าแรก

 

คำร้องขอขยายเวลาสืบหาภูมิลำเนาจำเลย-หน้าหลัง
คำร้องขอขยายเวลาสืบหาภูมิลำเนาจำเลย-หน้าหลัง
Sheet-สรุป-แบบฝึกหัด-สอบทนายความ
Sheet-สรุป-แบบฝึกหัด-สอบทนายความ

______________________________

นับถอยหลัง สอบทนายความภาคทฤษฎี รุ่นที่ 63

กำหนดสอบวันที่ 4 สิงหาคม 2567

______________________________

0 0 votes
Article Rating
(Visited 7,639 times, 1 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
2 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments
trackback
5 years ago

[…] คำร้องขอขยายระยะเวลา […]

นาวิน ขำแป้น
5 years ago

คำร้องขอขยายระยะเวลา