ประมวลกฎหมาย-อาญา-มาตรา-67

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 กระทำความผิดด้วยความจำเป็น

ภาค 1, ประมวลกฎหมายอาญา, ประมวลกฎหมาย, กฎหมายอาญา1, กฎหมายอาญา

 

ภาค ๑ บทบัญญัติทั่วไป

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป

มาตรา ๖๗

หมวด ๔ ความรับผิดในทางอาญา

ลักษณะ ๑ บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไป

หมวด ๔ ความรับผิดในทางอาญา

 

     มาตรา ๖๗  ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น

    (๑) เพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ หรือ

    (๒) เพราะเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน

    ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 58)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 58 ปีการศึกษา 2548
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 25 กันยายน 2548

 

คำถาม


ข้อ 3.   นายหนึ่งปลูกข้าวไว้ในที่นาของตนซึ่งอยู่ติดกับถนนสาธารณะ ขณะนั้นเป็นฤดูฝน นายหนึ่งเกรงว่าหากฝนตกหนักน้ำจะท่วมที่นาของตนทำให้ข้าวที่ปลูกไว้ตาย นายหนึ่งจึงขุดถนนสาธารณะข้างที่นาของตนเพื่อทำเป็นทางระบายน้ำจากที่นาลงหนองน้ำสาธารณะ นอกจากนั้น นายหนึ่งยังถ่อเรือเข้าไปตัดใบบัวที่งอกขึ้นเองในหนองน้ำนั้นเพื่อให้น้ำไหลสะดวกหากฝนตก และนายหนึ่งเห็นอยู่แล้วว่ามีต้นข้าวขึ้นสูงจะออกรวงอยู่แล้วปะปนอยู่ระหว่างกอบัวและนายหนึ่งทราบดีว่านายสองผู้เป็นชาวนาเป็นคนปลูกตันข้าวนั้น ปรากฎว่าต้นข้าวของนายสองถูกนายหนึ่งตัดขาดไปหลายต้น
ให้วินิจฉัยว่า นายหนึ่งมีความรับผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  การที่นายหนึ่งขุดถนนสาธารณะเพื่อทำเป็นทางระบายน้ำ นายหนึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ฐานทำให้เสียทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยนายหนึ่งจะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพื่อให้ตนพ้นจากภยันตรายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 (2) ไม่ได้ เพราะขณะที่นายหนึ่งขุดถนน ฝนยังไม่ตก น้ำจึงยังไม่ท่วมต้นข้าวของนายหนึ่ง จึงไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึงชึ่งนายหนึ่งจะต้องหลีกเลี่ยงด้วยการขุดถนน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2529)
การที่นายหนึ่งถ่อเรือเข้าไปตัดใบบัวโดยเห็นต้นข้าวชึ่งตนทราบอยู่แล้วว่านายสองเป็นผู้ปลูกขึ้นปะปนอยู่กับกอบัว แม้นายหนึ่งจะมีเจตนาประสงค์ต่อผลในการตัดใบบัว แต่ก็ย่อมเล็งเห็นผลอยู่ว่าการถ่อเรือเข้าไปตัดใบบัวดังกล่าวจะทำความเสียหายให้แก่ต้นข้าวของนายสองได้ จึงถือว่ามีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ในการทำให้เสียทรัพย์ของนายสอง นายหนึ่งจึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นพืชผลของกสิกร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359 (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1155/2520 ) โดยนายหนึ่งจะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพื่อให้ตนพ้นภยันตรายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 (2) ไม่ได้ เพราะไม่ใช่ภยันตรายที่ใกล้จะถึง

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 61)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 61 ปีการศึกษา 2551
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 22 กันยายน 2551

 

คำถาม


ข้อ 2.  นายเอกต้องการฆ่านายโทจึงเล็งปืนจ้องจะยิงนายโททางด้านหลัง นายตรีและนายจัตวาเห็นเหตุการณ์ จึงเข้าช่วยนายโทมิให้ถูกยิง โดยนายตรีใช้ปืนยิงนายเอก กระสุนถูกนายเอกบาดเจ็บ ส่วนนายจัตวาช่วยนายโท ด้วยการผลักนายโทล้มลงทําให้นายโทศีรษะแตก หลังจากนั้นนายจัตวาเข้าไปประคองนายโท นายโทเข้าใจผิดว่า นายจัตวาแกล้งผลักตนล้มลงจึงแสดงอาการโกรธ นายจัตวาเห็นนายโทโกรธจึงตกใจวิ่งหนี นายโทซึ่งยังโกรธอยู่ วิ่งไล่ติดตามไปทันทีและใช้ไม้ตีทําร้ายนายจัตวาเป็นเหตุให้นายจัตวาศีรษะแตก
ให้วินิจฉัยว่า นายตรี นายจัตวา และนายโทมีความรับผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

     นายตรี ใช้ปืนยิงนายเอกบาดเจ็บเพื่อช่วยนายโทมิให้ถูกนายเอกยิง นายตรีอ้างป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ได้ และเป็นการกระทําที่พอสมควรแก่เหตุ นายตรีจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่านายเอก ตามมาตรา 288 ประกอบกับมาตรา 80
    นายจัตวา ผลักนายโทล้มลงเพื่อมิให้ถูกนายเอกยิง นายจัตวาจะอ้างป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 ไม่ได้ เพราะมิได้กระทําต่อนายเอกผู้ก่อภัย แต่นายจัตวาอ้างว่าเป็นการกระทําโดยจําเป็นเพื่อให้ผู้อื่นพ้นภยันตรายตามมาตรา 67 (2) ได้ เมื่อเป็นการกระทําที่พอสมควรแก่เหตุ นายจัตวาจึงไม่ต้องรับโทษ ในความผิดฐานทําร้ายร่างกายนายโทตามมาตรา 295
    นายโท ใช้ไม้ตีนายจัตวาศีรษะแตกในขณะที่นายโทโกรธโดยตีเมื่อนายจัตวาวิ่งหนีไปแล้ว จึงไม่เป็นการกระทําโดยป้องกันแต่เป็นการกระทําโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 และสําคัญผิดในข้อเท็จจริงตามมาตรา 62 เพราะเข้าใจผิดไปว่านายจัตวาข่มเหงตนอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมโดยการแกล้งผลักตนล้มลง ศาลจึงอาจลงโทษนายโทน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดฐานทําร้ายร่างกาย นายจัตวาตามมาตรา 295 เพียงใดก็ได้

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 63)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 63 ปีการศึกษา 2553
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 26 กันยายน 2553

 

คำถาม


ข้อ 3.   นายเบี้ยวจ้างนายแบนไปฆ่านายทอง นายแบนไปที่บ้านนายทองเห็นนายทองกําลังยืนคุยกับนายเงิน แต่นายแบนไม่เคยรู้จักนายทองมาก่อน จึงถามนายทองว่าคนไหนคือนายทอง นายทองรู้ว่านายแบนเป็นมือปืนรับจ้างจะมาฆ่าตน จึงชี้ไปที่นายเงินและบอกว่านี่คือนายทอง นายแบนสําคัญผิดว่านายเงินคือนายทอง จึงชักปืนยิงนายเงินถึงแก่ความตาย
ให้วินิจฉัยว่า นายแบน นายทอง และนายเบี้ยวมีความผิดฐานใดหรือไม่


ธงคำตอบ

  การที่นายแบนยิงนายเงินโดยเข้าใจผิดว่าเป็นนายทอง ต้องถือว่านายแบนมีเจตนาฆ่านายเงิน โดยนายแบนจะยกเอาความสําคัญผิดว่านายเงินคือนายทองเป็นข้อแก้ตัวว่ามิได้กระทําโดยเจตนาต่อนายเงินไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 61 เมื่อนายแบนรับจ้างมาฆ่าเป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามมาตรา 289 (4)
การที่นายทองบอกนายแบนว่านายเงินคือนายทอง จึงทําให้นายแบนฆ่านายเงินเป็นการก่อให้นายแบน กระทําความผิดต่อนายเงินด้วยวิธีอื่นใด เพราะนายแบนไม่มีเจตนาจะฆ่านายเงินมาก่อน นายทองจึงเป็นผู้ใช้ให้นายแบนกระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 วรรคหนึ่ง เมื่อนายแบนผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดตามที่ใช้ นายทองผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามมาตรา 84 วรรคสอง นายทองจึงมีความผิดตามมาตรา 289 (4) โดยเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84
นายทองจะอ้างว่าการกระทําของตนเป็นการกระทําความผิดด้วยความจําเป็นเพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตราย ที่ใกล้จะถึงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 (2) ไม่ได้ เพราะนายทองสามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นภยันตรายโดยวิธีอื่นใดได้ (เช่น อ้างว่าไม่รู้จักนายทองฯ)
นายเบี้ยวจ้างนายแบนไปฆ่านายทอง เป็นการก่อให้นายแบนกระทําความผิดโดยการจ้าง จึงเป็นผู้ใช้ให้ กระทําความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 เมื่อนายแบนฆ่านายเงินโดยสําคัญผิดว่าเป็นนายทอง ถือว่าผู้ถูกใช้ได้กระทําความผิดตามที่ใช้ นายเบี้ยวผู้ใช้จึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ตามมาตรา 84 วรรคสอง กรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าผู้ถูกใช้กระทําเกินขอบเขตที่ใช้ ตามมาตรา 87 นายเบี้ยวจึงมีความผิดตามมาตรา 289 (4) โดยเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84

 

ข้อสอบเก่า เนติบัณฑิต

(อาญา สมัยที่ 70)

 

การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 70 ปีการศึกษา 2560
กฎหมายอาญา กฎหมายภาษีอากร กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน
กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายปกครอง

วันอาทิตย์ 24 กันยายน 2560

 

คำถาม


ข้อ 3.   นายสมต้องการฆ่านางใส จึงคิดวางแผนฆ่านางใส ด้วยการหาซื้อยาเบื่อหนู เมื่อได้มาแล้วได้เอายาเบื่อหนูใส่ในโอ่งน้ำดื่มของนางใส นายสองน้องชายของนางใสเห็นเหตุการณ์โดยตลอด จึงตะโกนร้องบอกนางใสพี่สาวในทันทีไม่ให้ดื่มน้ำในโอ่งนั้น นายสมตกใจที่ความแตก จึงรีบวิ่งหนี นายสองโกรธที่นายสมกระทํากับพี่สาวของตนเช่นนั้น จึงวิ่งไล่ยิงนายสมไปทันที ขณะที่นายสมวิ่งหนีไปตามทางแคบๆ มีรถจักรยายของนายเหลืองจอดขวางทางอยู่ นายสมจึงวิ่งชนรถนั้นเพื่อไม่ให้โดนยิง ทําให้รถล้มลงและได้รับความเสียหาย โดยนายสองยิงถูกนายสมได้รับบาดเจ็บสาหัส
ให้วินิจฉัยว่า นายสมและนายสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด


ธงคำตอบ

  นายสมมีเจตนาฆ่านางใส การเอายาเบื่อหนูใส่ในโอ่งน้ำดื่มของนางใส เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการดําเนินการในการฆ่านางใส อันเป็นการกระทําที่ใกล้ชิดต่อความผิดสําเร็จที่จะเกิดขึ้น จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านางใสโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และมีความผิดฐานปลอมปนเครื่องอุปโภคบริโภคเพื่อบุคคลอื่นเสพหรือใช้ และการปลอมปนนั้นน่าจะเป็นเหตุเกิดอันตรายแก่สุขภาพ ตามมาตรา 236 ด้วย (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 2143/2536)
นายสองมีความผิดฐานพยายามฆ่านายสม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แต่อ้างเหตุบันดาลโทสะตามมาตรา 72 ได้ เพราะการที่นายสม ลงมือฆ่านางใสเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมต่อนางใส และต่อนายสองน้องชาย ซึ่งเห็นเหตุการณ์โดยตลอดด้วย (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 1597/2497)
นายสมมีความผิดฐานทําให้เสียทรัพย์ของนายเหลือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 โดยจะอ้างว่าเป็นการกระทําความผิดด้วยความจําเป็นตามมาตรา 67 (2) เพื่อให้ตนพ้นจากภยันตรายจากการถูกไล่ยิงไม่ได้ เพราะภยันตรายนั้นนายสมเป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของนายสมเอง

กระทำความผิดด้วยความจำเป็น ตามมาตรา 67 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

 
          การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น 

ประมวลกฎหมาย-อาญา-มาตรา-67

นาวิน-ขำแป้น-Lawyer
นาวิน-ขำแป้น

สารบัญ ประมวลกฎหมายอาญา

0 0 votes
Article Rating
(Visited 2,724 times, 2 visits today)
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Inline Feedbacks
View all comments